xs
xsm
sm
md
lg

โควิด-19 ซีซั่นนี้ไม่รอด (ว่ะ)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

ผู้เขียนเพิ่งติดเชื้อโควิด-19 ไปเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมานี่เอง ก่อนหน้านี้มีอาการเหมือนไม่สบาย น้ำมูกไหล มีไข้ ไอ เจ็บคอ ได้แต่กินยาแล้วก็นอนทั้งวัน แต่ก็ยังคงหนาวสั่น พอตรวจ ATK ขึ้นมา 2 ขีดนี่ชัดเลย!

ถามว่าติดมาจากไหน? ปกติสวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้านตลอด ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ไม่เคยขาด นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก

เข้าใจว่าน่าจะมาจากตอนที่ออกไปเดิน-วิ่งสะสมระยะทางที่สวนสุขภาพแถวบ้าน ตัดสินใจถอดหน้ากากเดิน-วิ่ง แล้วสวนแห่งนี้ไม่ค่อยจะทำความสะอาดนัก อาจจะมีเชื้อโรคเข้าไปก็เป็นได้

แม้ว่าวันที่เขียนต้นฉบับจะยังไม่พ้นระยะการรักษา แต่ก็พอจิ้มมือถือได้บ้าง ต่อจากนี้จะบอกเล่าถึงประสบการณ์เข้ารับการรักษา “ตามระบบ” แบบคร่าวๆ เผื่อใครที่ยังไม่เคยเป็นจะได้รับมือเสียแต่เนิ่นๆ

เพราะมีแพทย์บางท่านบอกว่า รอบนี้จะเก็บตกคนที่ยังไม่ติดให้ติดเหมือนกัน

เริ่มแรก นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นมา กระทรวงสาธารณสุขเปลี่ยนนโยบายรักษาโควิด-19 ใหม่ คือ ให้ไปโรงพยาบาลตามสิทธิการรักษาของตัวเอง เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายที่ให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น

สิทธิบัตรทอง ไปที่หน่วยบริการประจำหรือหน่วยบริการปฐมภูมิ ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ หมายความว่า ถ้าสิทธิบัตรทองอยู่ที่โรงพยาบาลไหน ให้ไปที่โรงพยาบาลนั้น หรือไม่อย่างนั้นก็ โทร. ประสานร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการของ สปสช.

สิทธิประกันสังคม ให้โทร.ติดต่อโรงพยาบาลที่เราเลือกสิทธิประกันสังคมเอาไว้

ส่วนการลงทะเบียนผ่านโทรศัพท์สายด่วน สปสช. หมายเลข 1330 ยกเลิกไปแล้ว แต่ยังคงโทร.สอบถามข้อมูลได้ตลอด

ถ้าเป็นแบบ Hospitel นอนนอกบ้านแบบฟรีๆ ตั้งแต่เปลี่ยนนโยบาย เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยจะมี มีแต่แบบเสียเงิน อย่างโรงแรมย่านพระนคร ที่ไม่ไกลจากออฟฟิศ ค่าห้อง 8 คืน เกือบ 20,000 บาท

ส่วนโรงพยาบาลสนาม ตอนนี้ก็กลายเป็นตำนานไปแล้ว เหลือตัวเลือกเดียว คือ กักตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation หากอาการหนักค่อยเข้าโรงพยาบาล

ผู้เขียนเป็นมนุษย์เงินเดือน เลือกประกันสังคมโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งแถวบ้าน เมื่อโทร. ไปที่โรงพยาบาล ปรากฎว่า ให้นำบัตรประชาชนตัวจริงวอล์กอินมาได้เลย ก่อน 5 โมงเย็น

เมื่อไปถึงโรงพยาบาล ปรากฎว่าตอนนี้แยกส่วนผู้ป่วยโควิด-19 ออกจากโซนผู้ป่วยนอก อยู่ที่เต็นท์ภายนอกอาคาร ขั้นตอนก็คือ ยื่นบัตรประชาชนตัวจริงพร้อมภาพถ่ายผลตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด

จากนั้น ให้นั่งรอคิววัดความดัน และออกซิเจนในเลือด บอกอาการที่เป็น แล้วรอพบแพทย์ ตรวจบริเวณลำคอ ก่อนกำชับว่า พักผ่อนเยอะๆ ดื่มน้ำมากๆ ให้กักตัวที่บ้านอย่าออกไปไหน

จากนั้นรอรับยาและชุดอุปกรณ์สำหรับรักษาด้วยตัวเอง แล้วแต่ทางโรงพยาบาลจะจัดไว้ให้ อย่างของผู้เขียนจะได้ยาฟาวิพิราเวียร์ 1 ชุด ยาพาราเซตามอล ยาแก้แพ้ ยาแก้ไอน้ำดำ

รวมทั้ง เครื่องวัดออกซิเจนในเลือดแบบปลายนิ้ว ปรอทวัดไข้ดิจิทัล หน้ากากอนามัย 10 ชิ้น

ด้วยความสงสัยจึงถามว่า ก่อนหน้านี้กินฟ้าทลายโจรอยู่แล้ว ต้องเปลี่ยนมากินฟาวิพิราเวียร์ใช่ไหม เภสัชกรอธิบายว่า “ต้องเปลี่ยน” เพราะยานี้จะเป็นยาแผนปัจจุบันมากกว่า 

ฟังแล้วอาจจะขัดใจคนที่ใช้สมุนไพรรักษาอาการอยู่บ้าง แต่ก็ถือเป็นตัวอย่างของความเห็นต่าง ระหว่างสมุนไพร กับยาแผนปัจจุบัน

ยาฟาวิพิราเวียร์ จะแบ่งออกเป็น 2 ซอง ซองที่ 1 ให้ทาน 9 เม็ด ทุก 12 ชั่วโมง ถ้ากะเวลาเองไม่ไดั เภสัชกรจะแนะนำให้ทาน เวลา 20.00 น. และ 08.00 น. ของวันรุ่งขึ้น รวม 18 เม็ด

ซองที่ 2 ให้ทาน 4 เม็ด เวลา 20.00 น. และ 08.00 น. ของวันรุ่งขึ้น รวม 32 เม็ด หรือ 8 มื้อ ประมาณ 4 วัน ซึ่งจะหมดในเช้าวันที่ 6 ของการกักตัว

นอกจากนี้ ทางโรงพยาบาลจะให้ผู้ป่วยแอดไลน์กลุ่ม เพื่อส่งผลการตรวจด้วยตัวเองเป็นประจำทุกวัน ได้แก่ อุณหภูมิร่างกาย ชีพจร ออกซิเจนปลายนิ้ว และแจ้งอาการให้ทราบ

ถามว่ายาฟาวิพิราเวียร์เป็นยังไง แม้ว่าการกินครั้งแรก 9 เม็ดจะฟังแล้วรู้สึกพะอืดพะอมก็ตาม แต่เอาเข้าจริงยาเม็ดไม่ใหญ่ กลิ่นไม่แรงเหมือนพวกยาแก้แพ้ รีบใส่ปากดื่มน้ำตามก็ผ่านไปได้แล้ว

วันแรกหลังพบแพทย์ พบว่าหลังกินยาทั้งฟาวิพิราเวียร์ พาราเซตามอล ยาแก้แพ้ จะรู้สึกง่วงนอน หลับเป็นหลับ สมองเบลอ ตัวร้อน เหงื่อออกชุ่ม แถมไม่ค่อยมีแรงจะทำอะไร

แต่ที่หนักกว่านั้น คือผู้เขียนเป็นคนที่ติดกาแฟ วันไหนไม่ได้ดื่มจะปวดหัว คราวนี้ปวดศีรษะแบบร้าวลึก พาราเซตามอลเอาไม่อยู่ ต้องทนนอนแบบทรมาณ เหมือนตอนที่เคยรักษาโรคอีสุกอีใส

ช่วงนั้นหลับแล้วตื่น หลับแล้วตื่น หลับแล้วตื่น เป็นแบบนี้ประมาณ 2 คืน ประมาณวันที่ 4 ของการกักตัวถึงค่อยๆ ตื่นตัวขึ้นมาบ้าง

อาการต่อมาหลังจากกินยาฟาวิพิราเวียร์หมดไปชุดแรก 18 เม็ด คือ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส เวลากินอะไรก็ไม่มีรสชาติ กินรสเปรี้ยวก็ไม่รู้สึกเปรี้ยว เวลาดมยาดม แปะยาหม่องน้ำก็ไม่มีกลิ่น

เมื่อรู้ว่าลิ้นไม่รับรส ทีแรกรู้สึกทรมาณมาก เพราะปกติเป็นคนชอบกิน รู้สึกอึดอัดเหมือนถูกปิดกั้น และไม่รู้ว่าเป็นแบบนี้อีกนานไหม เพราะบางครั้งมีงานรีวิวที่ต้องชิมอาหาร เท่ากับทำไม่ได้เลย

โชคดีที่เภสัชกรที่รู้จักกันบอกว่า จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ยังไม่ถือว่าเป็นลองโควิด เพราะลองโควิด คือ หลังหายป่วยสนิทแล้วมีอาการหลงเหลือ เช่น เหนื่อยตลอด หรือมีรอยโรคในปอด

เขากล่าวว่า ถ้าตรวจได้ 1 ขีด หมายถึงไม่พบเชื้อ อาการน่าจะหายไปภายใน 1 สัปดาห์ แต่ตอบยากว่าจะหายเร็วหรือช้า

อีกอย่างหนึ่ง ช่วงที่กักตัว ให้ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 3 ลิตร (หรือเท่ากับน้ำดื่มขวดใหญ่ 2 ขวด) ทีแรกสงสัยว่าทำไม ปรากฎว่าช่วงที่ทานยาฟาวิพิราเวียร์ คอจะแห้ง ปากจะแห้ง เหงื่อแตกพลั่ก ต้องคอยดื่มน้ำบ่อยครั้ง จึงต้องมีน้ำดื่มติดไว้ไม่ให้ขาด

สำหรับวิถีชีวิตในช่วงกักตัว บอกได้คำเดียวว่า นอนอย่างเดียว มีบ้างที่ลุกนั่งกินข้าว ไปอาบน้ำ ซึ่งวันแรกๆ จะรู้สึกเบื่ออาหาร ไม่อยากกิน ต้องใช้ตัวช่วยด้วยเครื่องดื่มเกลือแร่สักขวดถึงพอมีแรง จะกลับมารู้สึกหิวพอกินข้าวได้ก็ต่อเมื่อวันที่ 4 ของการกักตัว

ส่วนการใช้ห้องน้ำ บ้านไหนมี 2 ห้อง ก็แยกห้องน้ำกันไปเลย แต่ถ้ามีห้องเดียว ให้รอใช้ห้องน้ำเป็นคนสุดท้าย แล้วทำความสะอาดด้วยน้ำยาล้างห้องน้ำทุกครั้ง พยายามทำความสะอาดลูกบิด ที่จับ หรือจุดสัมผัสด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค

ถ้าเป็นเสื้อผ้าที่สวมใส่แล้ว ก่อนนำไปซักจะแช่ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคตามที่ระบุข้างขวด ก่อนนำไปซักตามปกติ ส่วนขยะให้แยกถุงเป็นของตัวเองต่างหากแล้วซ้อนกัน 2 ชั้นก่อนนำออกไปทิ้ง

เรื่องอาหารการกิน ที่โชคร้ายกว่าซีซั่นก่อนๆ คือ ทางโรงพยาบาลให้ผู้ป่วยสำรองจ่ายไปก่อน เก็บใบเสร็จเอาไว้ หรือจดคร่าวๆ ถ้าโรงพยาบาลเบิกจากส่วนกลางได้ค่อยมารับเงิน

ที่ผ่านมาคนที่ป่วยโควิด นอกจากจะเสียงานเสียการแล้ว ช่วงกักตัวไม่มีรายได้ บางคนแทบไม่มีเงินกินข้าวด้วยซ้ำ ในยุคที่ค่าครองชีพสูงขึ้นแบบนี้ ต่างจากซีซั่นก่อนๆ ที่ยังมีค่าอาหาร 3 มื้อ

ปัญหาก็คือ ผู้ป่วยฝากคนที่บ้าน พ่อแม่พี่น้องไปซื้อ ถ้าเป็นร้านอาหารตามสั่ง จะให้ไปเอาใบเสร็จตรงไหน? ถ้าจะต้องจดคร่าวๆ เวลาถูกตรวจสอบจะกลายเป็นความอึดอัดของผู้ป่วยหรือเปล่า? จนไม่กล้าจะเบิกเงิน ทั้งๆ ที่พวกเขาก็ป่วยจริง

ไม่นับรวมกระบวนการเบิกจ่ายที่ล่าช้าตามประสาระบบราชการไทยอีก เพราะฉะนั้นข่าวที่บอกว่า สปสช. ยืนยันไม่ได้ลอยแพผู้ป่วยโควิด ก็ไม่รู้ว่าในทางปฏิบัติจะจริงมากน้อยขนาดไหน?

ผู้เขียนคงไม่คาดหวังกับค่าอาหาร 3 มื้อเท่าไหร่หรอก แต่เป็นห่วงคนหาเช้ากินค่ำ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงาน หรือกลุ่มลูกจ้างรายวัน ช่วงที่ขาดรายได้ ป่วยก็ป่วย จะหาเงินกินข้าวที่ไหน?

ฝากไว้ให้ สปสช. หรือกระทรวงแรงงาน ที่รับผิดชอบสำนักงานประกันสังคม ช่วยพิจารณาเรื่องนี้ที

ช่วงนี้การสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือบ่อยครั้ง และเว้นระยะห่าง ยังคงช่วยป้องกันโควิด-19 ได้ดี อย่าเพิ่งผลีผลามถอดหน้ากากอนามัยเต็มเหนี่ยว เพราะต่อให้ฉีดวัคซีน 5-6 เข็มก็ยังมีโอกาสติดโควิด จากสายพันธุ์ที่เชื้อยังพัฒนาตัวเองอยู่เรื่อย

ส่วนใครที่บอกว่าเป็นโควิดเดี๋ยวก็หาย ในฐานะที่เป็นโควิดแล้ว แม้จะพยายามคิดอยู่เสมอว่า สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นดีเสมอ

แต่ขอบอกด้วยความเป็นห่วงว่า “อย่าเป็นเลย”

——-

คำแนะนำผู้ป่วยโควิด-19 การดูแลตัวเองที่บ้าน (Self Isolation)

การปฏิบัติตัวระหว่างการกักตัว

- กักตัวตามแพทย์กำหนด งดการเดินทางในแหล่งชุมชน
- ไม่รับประทานอาหารร่วมกับสมาชิกในบ้านคนอื่นๆ
- ในเวลาที่ต้องใช้พื้นที่ร่วมกัน รับส่งสิ่งของหรือพูดคุย ทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และอยู่ห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร
- หมั่นล้างมือและทำความสะอาดผิวสัมผัส เช่น ราวจับ ลูกบิดประตู ด้วยน้ำสบู่ หรือแอลกอฮอล์บ่อยๆ
- ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 3 ลิตร ในระหว่างกักตัว อาจเป็นน้ำอุ่นจิบบ่อยๆ
- ออกกำลังกายเบาๆ เช่น การเดิน เช้า เย็น ครั้งละ 15-30 นาที ลดการออกกำลังกายหักโหม
- ดูแลร่างกายให้อบอุ่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ๆ หลีกเลี่ยงอาหารหวาน มัน และอาหารที่กระตุ้นการไอ ระคายคอ

การจัดการสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน

- ผู้ป่วยควรมีห้องน้ำแยกส่วนตัว หากแยกไม่ได้ ควรใช้ห้องน้ำเป็นคนสุดท้าย และทำความสะอาดทุกครั้งที่ใช้
- แยกเครื่องใช้ส่วนตัวของผู้ป่วย เช่น จานชาม ช้อน ส้อม แก้วน้ำ
- แยกซักเสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน หากเป็นไปได้ ผู้ป่วยควรซักเอง
- แยกถังขยะติดเชื้อ (ถุงแดง) สำหรับใส่ขยะของผู้ป่วยทั้งหมด


กำลังโหลดความคิดเห็น