กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
เมื่อวันก่อน ศาลปกครองสูงสุด พิพากษายืนยกฟ้องค่ายมือถือแห่งหนึ่ง ที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งเลขาธิการ กทช. ปรับวันละ 1 แสนบาท เพราะกำหนดวันหมดอายุซิมเติมเงินฝ่าฝืนประกาศ กทช.
คดีนี้เป็นคดีเก่าตั้งแต่เมื่อหลายปีมาแล้ว สมัยที่ กสทช. ยังเป็น กทช. ได้ประกาศมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม ปี 2549 ที่กำหนดว่า มือถือระบบเติมเงิน ห้ามบังคับให้ต้องใช้บริการภายในระยะเวลาที่กำหนด
เรื่องนี้ทำให้นึกย้อนกลับไปในอดีต ผู้คนยังใช้มือถือแบบปุ่มกด มีแค่โทร.ออก รับสาย กับส่ง SMS เท่านั้น การเติมเงินมือถือยุคนั้น ต้องเติมอย่างต่ำ 300 บาท ใช้งานได้ประมาณ 30 วัน ซึ่งถ้าย้อนกลับไปถึงยุคนี้ถือว่าโหดมาก
กระทั่งมีค่ายมือถือบางค่ายคิดนอกกรอบ ด้วยการขายบัตรเติมเงินในราคาต่ำกว่า 300 บาท เหลือเพียงแค่ 50-100 บาท ตามร้านขายของชำ กระทั่งพัฒนาให้สามารถเติมเงินได้ต่ำสุด 10 บาทก็มีมาแล้ว
ยุคนั้นเราจะได้เห็นบรรดาร้านขายของชำ โชวห่วย รับเติมเงินมือถือ บวกค่าบริการเล็กน้อย แม้กระทั่งบนทางเท้าก็ยังมีคนตั้งโต๊ะ รับเติมเงินมือถือ พร้อมกับขายโปรเสริม สร้างรายได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
แต่เมื่อเติมเงินต่ำกว่า ก็ย่อมได้วันใช้งานที่น้อยกว่า เช่น เติมเงิน 50 บาท ได้วันใช้งานได้เพียง 5 วัน หรือแม้กระทั่งเติมเงิน 10 บาท ได้วันใช้งานเพียงวันเดียว ซึ่งเป็นการเร่งรัดให้ผู้ใช้งานต้องเติมเงินบ่อยครั้งไปโดยปริยาย
ถ้าไม่เติมเงิน ค่ายมือถือมีสิทธิ์ระงับโทร.ออก เหลือเพียงแค่รับสาย สุดท้ายเบอร์หมดอายุ ใช้งานไม่ได้อีกต่อไป โดยที่สมัยก่อน ยอดเงินคงเหลือที่เติมไปแล้ว ขอคืนจากค่ายมือถือไม่ได้ด้วย
สบช่องให้ค่ายมือถือบางแห่ง ออกซิมเติมเงินรูปแบบใหม่ เติมเงินเท่าไหร่ใช้งานได้นานกว่า 1 ปี เจาะกลุ่มลูกค้าครอบครัว เน้นรับสายมากกว่าโทรออก และซิมเติมเงินแบบได้วันใช้งานเพิ่ม 1,000 ชั่วโมง เมื่อโทร.ออกหรือส่ง SMS
อีกด้านหนึ่ง ยังพบปัญหาเลขหมายจำนวนมากไม่ได้ถูกใช้งาน ตอนนั้นอยู่ที่ประมาณ 30% ของเลขหมายทั้งหมด ขณะที่ค่ายมือถือยังต้องแบกรับภาระจ่ายค่าธรรมเนียมเลขหมายแทนลูกค้า ให้ กสทช. เดือนละ 1.50 บาท
ที่สุดแล้ว กสทช. จึงต้องวางกติกาใหม่เพื่อความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย กำหนดให้เติมเงินเท่าไหร่ ได้วันใช้งานอย่างน้อย 30 วัน ไม่ว่าจะเติม 5 บาท 10 บาทก็ตาม แต่ให้สะสมวันใช้งานสูงสุดเพียง 365 วันหรือ 1 ปี
และเมื่อเบอร์หมดอายุ ลูกค้าสามารถขอเงินคืนกับค่ายมือถือได้ ซึ่งปัจจุบันมีหลายตัวเลือก ง่ายที่สุดคือโอนยอดเงินคงเหลือไปยังเบอร์อื่นในค่ายเดียวกัน ตามที่ลูกค้าแจ้งมา
แรกๆ ก็มีเสียงสะท้อนจากผู้บริโภคว่า มือถือเติมเงินทำไมต้องกำหนดวันหมดอายุ ทำไมต้องสะสมวันใช้งานสูงสุดเพียง 1 ปี ถ้าไม่เติมเงินเข้าระบบก็ถูกยึดเบอร์อยู่ดี คนที่เน้นรับสายไม่โทร.ออก ก็ต้องเติมเงินโดยไม่จำเป็น
กสทช. เคยอธิบายว่า เลขหมายโทรคมนาคมเป็นทรัพยากรของชาติ ต้องบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สาธารณะอย่างเหมาะสม การที่ค่ายมือถือนำเลขหมายไปจัดสรรต่อ ก็คาดหวังว่าจะมีลูกค้าและมีรายได้เพิ่มขึ้น
เมื่อค่ายมือถือมีต้นทุนและค่าใช้จ่าย ถ้าลูกค้าเติมเงินแล้วแต่ไม่ได้ใช้บริการ ค่ายมือถือก็คิดค่าบริการไม่ได้ รายได้ก็ไม่เกิด มีแต่ค่าใช้จ่าย เพราะฉะนั้นเลขหมายไหนไม่ได้ใช้งานนานถึง 1 ปีก็น่าจะนำกลับมาจัดสรรใหม่
ส่วนการเติมเงินบ่อยๆ เพื่อให้สามารถรับสายได้อยู่นั้น ก็ไม่บ่อยครั้งเท่าแบบเดิม เพราะการเติมเงินทุกมูลค่าจะต้องได้จำนวนวันสะสมไม่น้อยกว่า 30 วัน ซึ่งสามารถวางแผนค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
“การเติมเงินเข้าสู่ระบบอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง ย่อมเป็นการแสดงเจตนาต่อผู้ให้บริการว่าได้ผู้ใช้บริการยังมีความประสงค์ที่จะใช้บริการอยู่ แม้ว่าบริการที่จะใช้คือ บริการรับสายหรือรับข้อความเป็นหลักก็ตาม” คำอธิบายจากสำนักงาน กสทช. ระบุ
ปัจจุบัน ค่ายมือถือที่เป็นเจ้าตลาด คือ เอไอเอส ข้อมูล ณ ไตรมาส 1/2565 มีจำนวนลูกค้า 42.76 ล้านราย เฉพาะลูกค้าระบบเติมเงิน 32.13 ล้านเลขหมาย รายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้ 1 คน (APRU) อยู่ที่ 150 บาทต่อเดือน
อันดับสอง คือ ทรูมูฟ เอช ข้อมูล ณ ไตรมาส 1/2565 มีจำนวนลูกค้า 32.6 ล้านราย เฉพาะลูกค้าระบบเติมเงิน 21.4 ล้านราย รายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้ 1 คน (APRU) อยู่ที่ 92 บาทต่อเดือน
อันดับสาม คือ ดีแทค ข้อมูล ณ ไตรมาส 1/2565 มีจำนวนลูกค้า 19.9 ล้านราย เฉพาะลูกค้าระบบเติมเงิน 13.7 ล้านราย รายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้ 1 คน (APRU) อยู่ที่ 114 บาทต่อเดือน
ค่ายมือถือแต่ละแห่งนอกจากจะขายซิมการ์ดแล้ว ก็มีซิมการ์ดแจกฟรีผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ศูนย์บริการลูกค้า ร้านสะดวกซื้อ ห้างค้าปลีก หรือแม้กระทั่งผ่านช่องทางออนไลน์ของค่ายมือถือ ที่ให้ได้เลือกเบอร์สวยด้วยตัวเองฟรี
ที่ผ่านมา คนที่มีเบอร์เติมเงินจำนวนมาก มักจะมีวัตถุประสงค์แตกต่างกันไป เช่น ไว้เป็นเบอร์สำรอง ไว้ใส่กับอุปกรณ์อื่น มีแพ็คเกจที่ใช้แยกต่างหาก เอาไปใช้สมัครบริการ หรือบางคนอาจจะได้มาเป็นเลขสวย จำง่าย จึงยอมเลี้ยงเบอร์เอาไว้ก่อนก็มี
มาถึงยุคนี้ มีช่องทางเติมเงินที่หลากหลายขึ้น ด้วยจำนวนเติมเงินขั้นต่ำที่น้อยลง แต่ได้วันใช้งานอย่างน้อย 30 วัน ตู้เติมเงินมือถือทุกตู้ จะต้องมีเติมเงินมือถือทุกค่าย ขั้นต่ำ 10 บาท บวกค่าบริการอีก 2 บาท
จากที่สังเกตพบว่า ช่องทางการเติมเงินมูลค่าต่ำที่สุดที่พบเห็นคือ 5 บาท ปัจจุบันยังมีให้บริการเฉพาะเติมเงินมือถือเอไอเอส ผ่านแอปฯ MyMo ของธนาคารออมสิน (ส่วนช่องทาง MyAIS และ Rabbit LINEPay ราคานี้ยกเลิกไปแล้ว)
นอกจากนี้ ยังมีชอปปิ้งออนไลน์บางแพลตฟอร์ม มีโปรโมชันเติมเงินมือถือผ่านแอปฯ ในช่วงเวลาที่เรียกว่า Flash Sale ซึ่งบางค่ายมีโปรโมชันเติมเงิน 10 บาท จ่ายในราคาไม่ถึง 10 บาทก็มี เช่น 1 บาท 4 บาท 9 บาท เป็นต้น
อีกด้านหนึ่ง ยังพบว่ามีค่ายมือถือแห่งหนึ่ง ปั้นแบรนด์ลูกขึ้นมา นำเสนอแพ็คเกจรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “NO EXPIRED” ซึ่งค่าบริการรายปีเริ่มต้นที่ 99 บาท ใช้งานได้ 365 วัน เจาะกลุ่มลูกค้าที่เติมเงินทุกเดือนเพื่อรักษาเบอร์
โดยพบว่า ค่าบริการรายปี 99 บาท (ตกเดือนละ 8.25 บาท) จะได้รับอินเทอร์เน็ต 10 GB โทรฟรี 10 นาที, รายปี 199 บาท (ตกเดือนละ 16.58 บาท) จะได้รับอินเทอร์เน็ต 50 GB โทรฟรี 50 นาที
และรายปี 599 บาท (ตกเดือนละ 49.91 บาท) จะได้รับอินเทอร์เน็ต 200 GB โทรฟรี 200 นาที ถ้าระหว่างนั้นอินเทอร์เน็ตหรือโทรฟรีหมด ยังสามารถซื้อแพ็คเกจเสริม ทั้งอินเทอร์เน็ตและการโทรเพิ่มเติมได้
จึงเหมาะสำหรับลูกค้าที่ชอบจัดการทุกอย่างด้วยตัวเอง อยากประหยัดค่าใช้จ่าย เดือนไหนใช้น้อยก็ไม่ต้องซื้อเยอะ ไม่ชอบการผูกมัด เพราะใช้งานได้ยาวนานสูงสุด 365 วันต่อครั้ง
ปัจจุบันทุกค่ายมือถือ สามารถลงทะเบียนซิมการ์ดแบบเติมเงินได้ไม่จำกัด ส่วนระบบรายเดือนจดทะเบียนได้สูงสุดไม่เกิน 5-6 เลขหมายต่อคน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของเครือข่ายนั้นๆ
สำหรับคนที่มีเบอร์เติมเงินจำนวนมาก นอกจากควรลงทะเบียนซิมการ์ดเพื่อยืนยันความเป็นเจ้าของเบอร์แล้ว ควรมี แอปพลิเคชัน 3 ชั้น ของสำนักงาน กสทช. สำหรับรักษาสิทธิการใช้เบอร์มือถือของเรา
เพราะเราไม่รู้ว่า มีเบอร์มือถือใช้เบอร์เรากี่เบอร์ บางคนอาจนำบัตรประชาชนของเราไปเปิดซิมใหม่โดยไม่รู้ตัว แอปฯ นี้นอกจากจะแสดงเบอร์รายเดือนและเติมเงินในชื่อของเราแล้ว ยังช่วยตรวจสอบกรณีมีเบอร์แปลกปลอมได้ด้วย
แม้การลงทะเบียนจะยุ่งยากในตอนแรก ต้องนำบัตรประชาชนตัวจริงไปที่ศูนย์บริการมือถือ แต่พอได้ใช้แล้วถือว่าสะดวก เพราะดูได้หมดว่าเรามีเบอร์แล้วกี่เบอร์ และสามารถล็อกการเปิดเบอร์ใหม่ โดยปลดล็อกได้ที่แอปฯ นี้เท่านั้น
สำหรับคนที่มีซิมเติมเงินจำนวนมาก อีกสิ่งหนึ่งที่ได้ยินมาบ่อยครั้งก็คือ ลืมเติมเงิน กระทั่งซิมการ์ดหมดอายุ ถ้าคนที่ไม่ต้องการใช้เบอร์นั้นก็ปล่อยทิ้งไป แต่คนที่อยากเก็บรักษาเบอร์เอาไว้ แนะนำให้เพิ่มเบอร์ในแอปฯ ของค่ายมือถือ
อย่างน้อยยังเช็กได้ว่าเบอร์ที่เรามีอยู่จะใช้งานได้ถึงเมื่อไหร่ จะได้เติมเงินมือถือเพื่อรักษาเบอร์ต่อไป หรือแม้กระทั่งบางค่ายที่มีแพ็คเกจได้วันใช้งานเพิ่ม แต่ต้องมียอดเงินคงเหลือ และค่าบริการที่แพงกว่า