xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมรับมือรถทัวร์ลดเที่ยววิ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


แฟ้มภาพ
กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

1 กรกฎาคม 2565 ผู้ประกอบการรถโดยสารประจำทางทั่วประเทศ 32 บริษัท รวม 165 เส้นทาง จะปรับลดเที่ยววิ่ง ตามมติของสมาคมกิจการรถโดยสารประจำทางไทย อันเนื่องเนื่องจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น

บางบริษัทได้ปรับเที่ยววิ่งลงแล้ว อาทิ บริษัท ชัยพัฒนาขนส่งเชียงใหม่ จำกัด หรือรถเมล์เขียว (กรีนบัส) นอกจากจะลดเที่ยววิ่งลง 16 เส้นทาง ซึ่งประกาศผ่านเฟซบุ๊ก Greenbusthailand แล้ว ยังประกาศหยุดเดินรถ 4 เส้นทาง

ได้แก่ เชียงใหม่-เชียงราย-สามเหลี่ยมทองคำ, เชียงใหม่-เทิง, เชียงใหม่-เชียงม่วน และ เชียงใหม่-แพร่ จนกว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันจะดีขึ้น หรือได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ

คนที่จะนั่งรถทัวร์จากเชียงใหม่ บางเส้นทางยังมีอีกเส้นทางหนึ่งทดแทน เช่น เชียงใหม่-แพร่-น่าน, เชียงใหม่-เชียงม่วน-น่าน แต่บางเส้นทางอาจจะต้องไปต่อรถกลางทาง อาจจะใช้เวลาเดินทาง และรอต่อรถนานกว่าปกติ

นอกจากนี้ยังพบว่า บางเส้นทางของกรีนบัส ยังปรับลดเที่ยววิ่งในวันธรรมดา แล้วเพิ่มเที่ยววิ่งวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ บางเส้นทางวิ่งสลับวัน บางเส้นทางวิ่งเฉพาะวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ หรือบางเส้นทาง วิ่งเพียงแค่สัปดาห์ละเที่ยวก็มี

ภาพ : PRD.GO.TH
ด้านผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีเส้นทางครอบคลุมทั่วประเทศอย่าง บริษัท สมบัติทัวร์ จำกัด แจ้งความประสงค์ลดเที่ยววิ่งลง 32 เส้นทาง โดยพบว่าเว็บไซต์สมบัติทัวร์ sombattour.com ได้อัปเดตตารางเดินรถกันบ้างแล้ว

โดยพบว่าส่วนใหญ่มีรถให้บริการเหลือวันละ 1-2 เที่ยว บางเส้นทางอย่าง กรุงเทพฯ-บ้านท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ จะเริ่มวิ่งวันเว้นวัน ตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป นอกเหนือจากเส้นทาง กรุงเทพฯ-เกาะสมุย

ส่วนเส้นทางยอดนิยม หรือมีจุดจอดระหว่างทางเยอะ อย่าง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-เชียงราย, กรุงเทพฯ-ทุ่งช้าง, กรุงเทพฯ-ลำปาง, กรุงเทพฯ-เชียงของ พบว่าจะมีรถให้บริการมากกว่า 4 เที่ยว

ขณะที่ บริษัท นครชัยแอร์ จำกัด ได้แจ้งว่าจะลดเที่ยววิ่งลง 29 เส้นทาง จากทั้งหมด 51 เส้นทาง แม้จะยังไม่ประกาศออกมา แต่ที่ผ่านมามักจะมีประกาศเที่ยวรถเสริมผ่านเฟซบุ๊ก ในวันที่มีผู้โดยสารใช้บริการมากกว่าวันอื่น

ภาพ : PRD.GO.TH
ส่วนเส้นทางยอดนิยมอย่าง สาย 21 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา พบว่ามี 2 บริษัท แจ้งว่าจะลดเที่ยววิ่งลง ได้แก่ บริษัท แอร์โคราชพัฒนา จำกัด และ บริษัท นครชัย 21 จำกัด จากผู้ประกอบการทั้งหมด 4 บริษัท

ปัจจุบันเส้นทางโคราชทั้ง 4 บริษัท มีเที่ยววิ่งรวมกันเกือบ 60 เที่ยวต่อวัน ตามรายงานข่าวระบุว่า อาจจะปรับลดเที่ยววิ่งลงครึ่งหนึ่ง ช่วงกลางวันเฉลี่ย 50 นาทีต่อเที่ยว บางบริษัทให้บริการ 24 ชั่วโมง จะเว้นช่วงเป็น 2 ชั่วโมงต่อเที่ยว

เพราะฉะนั้น คนที่เดินทางจากกรุงเทพฯ จะกลับโคราชในช่วงค่ำวันเดียวกัน ควรวางแผนการเดินทาง แนะนำให้เผื่อเวลาเดินทางอย่างน้อย 30 นาที เพราะเส้นทางโคราชรถอาจเต็มก่อนเวลา และต้องรอเที่ยวต่อไปนานขึ้น

ผลกระทบจากรถทัวร์ลดเที่ยววิ่ง ทำให้ผู้โดยสารส่วนหนึ่งหันมาใช้บริการรถไฟมากขึ้น เพราะค่าตั๋วรถไฟยังไม่ปรับเพิ่ม โดยที่สถานีนครราชสีมา มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 30% ส่วนสถานีอุบลราชธานี มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 20%

แฟ้มภาพ
อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ประกอบการรถโดยสารจะปรับลดเที่ยววิ่งทั่วประเทศ แต่ บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส. ยืนยันว่ายังคงเปิดให้บริการเดินรถทุกเส้นทางตามปกติ และตรึงค่าโดยสารไว้ก่อนในระยะนี้

พร้อมกันนี้ จะหารือร่วมกับผู้ประกอบการรถร่วม บขส. เพื่อปรับการเดินรถและเที่ยววิ่งให้สอดคล้องกัน แต่การลดเที่ยววิ่งต้องอยู่ภายใต้สัญญาร่วมกับ บขส. ที่กำหนดเที่ยววิ่งขั้นต่ำไว้ หากไม่ทำตามถือว่าผิดสัญญา

ถึงกระนั้น ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางบก เคยออกมาตรการให้ผู้ประกอบการสามารถลดเที่ยววิ่งได้ เพื่อลดผลกระทบ โดยคงเส้นทางละอย่างน้อย 1 เที่ยววิ่ง (ไป-กลับ)

ขณะนี้เกิดปัญหาราคาน้ำมันสูง และเป็นผลกระทบต่อผู้ประกอบการ คาดว่ากรมการขนส่งทางบก อาจจะมีการพิจารณามาตรการช่วยเหลือผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการลดเที่ยววิ่งได้เหมือนช่วงเกิดโควิด-19

แต่ฝั่งสมาคมกิจการรถโดยสารประจำทางไทย ก็ระบุว่า มาตรการที่กรมการขนส่งฯ ให้ผู้ประกอบการลดเที่ยววิ่ง เป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้า เพราะ บขส. ยังคงเดินหน้าเก็บค่าบริการต่อเที่ยวตามปกติ

ปัญหาก็คือ ราคาค่าโดยสารที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือวันที่ 22 เมษายน 2562 กิโลเมตรละ 53 สตางค์ ราคาน้ำมันดีเซลขณะนั้นอยู่ที่ 27.79 บาทต่อลิตร แต่ปัจจุบันราคาสูงถึง 32 บาทต่อลิตร

โดยปกติรถทัวร์สายยาว ระยะทาง 600-700 กิโลเมตร ต้องเติมน้ำมันดีเซลประมาณ 250 ลิตร เมื่อราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกภาระค่าน้ำมันเพิ่มขึ้นถึง 1,000 บาทต่อเที่ยว


15 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2549 ถึง 22 เมษายน 2562 ปรับค่าโดยสารมาแล้ว 10 ครั้ง โดยปรับขึ้นเพียง 4 ครั้ง แต่ปรับลดลงถึง 6 ครั้ง เท่ากับลดลงไป 1 สตางค์ต่อกิโลเมตร ทั้งๆ ที่ต้นทุนการเดินรถปรับเพิ่มสูงขึ้นตลอดมา

จึงเสนอรัฐบาลให้กำหนดค่าโดยสารแบบขั้นบันได โดยอิงจากราคาน้ำมันดีเซล ตามมติคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางเมื่อปี 2548 มาใช้ เพื่อสะท้อนต้นทุนค่าโดยสารตามจริง ให้ผู้ประกอบการอยู่ได้

เท่าที่ตามข่าว ปัญหาในช่วงที่ผ่านมา คือนโยบายบริหารจัดการรถโดยสารสาธารณะ ของกระทรวงคมนาคม และกรมการขนส่งทางบก พบว่าเพิ่มกฎหมายและระเบียบ ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น แต่เก็บค่าโดยสารต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง

ฝั่งผู้ประกอบการ นอกจากจะต้องแบกรับภาระน้ำมันแล้ว ยังต้องเจอเงื่อนไขประกอบการเดินรถที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเที่ยววิ่ง (ค่าขา) แม้บางวันจะไม่มีผู้โดยสาร หรือมีเที่ยววิ่งน้อยลงก็ตาม

นอกจากนี้ ยังต้องทำประกันภัย 1 คันต่อ 1 ปี, ค่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ต้องบังคับให้ติดตั้งอุปกรณ์ GPS Tracking ซึ่งต้องเสียค่าอุปกรณ์ และค่าบริการรายเดือน รวมทั้งมีรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ อีกเพียบ

อีกด้านหนึ่ง พฤติกรรมของผู้เดินทางที่เปลี่ยนไป ส่วนหนึ่งนิยมนั่งเครื่องบิน เพราะถึงที่หมายรวดเร็วกว่า ค่าโดยสารสายการบินขึ้น-ลงได้ตามใจ อีกส่วนหนึ่งหันมาออกรถยนต์ รถกระบะส่วนตัว เพราะไปไหนมาไหนได้คล่องตัวกว่า

สถานการณ์โควิด-19 เป็นตัวฉุดให้ธุรกิจหลายภาคส่วนล้มหายตายจากเร็วขึ้น ไม่เว้นแม้แต่รถโดยสารประจำทาง ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการเลิกวิ่ง ส่วนหนึ่งก็ขายเบอร์รถให้กับนายทุนที่มีสายป่านธุรกิจยาวกว่า

แฟ้มภาพ
เมื่อสงสัยว่า ทำไมไม่ใช้รถโดยสารพลังงานไฟฟ้า เท่าที่ทราบก็คือ รถเมล์ไฟฟ้าที่เห็นทุกวันนี้ วิ่งได้เฉพาะในเมืองเท่านั้น ยังไม่รองรับการเดินทางระยะไกลได้ แถมยังต้องชาร์จไฟเป็นเวลานานกว่า ผู้โดยสารเสียเวลารอคอย

รถเมล์ไฟฟ้าที่วิ่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑลปัจจุบันเป็นยี่ห้อ MINEBUS ใช้แบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ขนาด 250-350 กิโลวัตต์ เดินทางได้ 250-350 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง ปัจจุบันราคาคันละ 6,900,000 บาท

คงต้องรอให้เทคโนโลยีรถเมล์ไฟฟ้า ถูกพัฒนาให้รองรับการเดินทางมากกว่า 300-400 กิโลเมตร รวมถึงมีสถานีชาร์จไฟฟ้าแบบชาร์จเร็วครอบคลุมภูมิภาคต่างๆ เราอาจจะได้เห็นรถทัวร์ไฟฟ้าในเส้นทางไกลๆ เกิดขึ้นมาก็เป็นได้

ในห้วงเวลาที่ผู้ประกอบการเดินรถ กำลังลดเที่ยววิ่งลงในขณะนี้ คนที่จำเป็นต้องเดินทางโดยรถทัวร์บริษัทนั้นๆ อาจจะต้องปรับตัว ด้วยการวางแผนการเดินทางล่วงหน้า และตรวจสอบตารางเวลาก่อนซื้อตั๋วโดยสารทุกครั้ง

หากไปวัดดวงที่สถานีขนส่งฯ ในวันเดินทาง บางเส้นทางอาจจะไม่ได้เดินรถในวันนั้น ส่วนเส้นทางยอดนิยมหากเป็นช่วงที่มีการเดินทางสูงก็อาจจะเจอที่นั่งเต็ม ช่วงเทศกาลอาจจะต้องเจอรถเสริม ที่บางครั้งไม่สะดวกอย่างที่คิด

ทางที่ดีแนะนำให้ซื้อตั๋วล่วงหน้า อย่างน้อยมีที่นั่งชัวร์ๆ หรือถ้ายังไม่ซื้อตั๋ว ก็ติดตามประกาศจากผู้ประกอบการ ที่จะแจ้งผ่านเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดีย ไม่อย่างนั้นโทรศัพท์กับทางบริษัทโดยตรง จะได้คำตอบที่ดีกว่า 

ไม่อยากให้ไปถึงสถานีขนส่งฯ แล้วต้องรอนาน หรือรอเก้อ


กำลังโหลดความคิดเห็น