กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
เมื่อวันก่อนแวะไปเยือน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ก่อนจะกลับเข้ากรุงเทพฯ ปกติถ้าเอาสะดวกเข้าว่า ก็จะเลือกนั่งรถมินิบัส (สมัยก่อนคือรถตู้) กรุงเทพฯ-ปากช่อง เสียค่ารถ 160 บาท ใช้เวลาเดินทางราว 2-3 ชั่วโมง
แต่คราวนี้ครึ้มอกครึ้มใจอยากนั่งรถไฟ ก็เลยขอเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง
ทีแรกนึกว่าจะไม่ได้นั่งรถไฟกลับแล้ว เพราะวันนั้นเป็นวันหยุดยาววันสุดท้าย ก่อนจะถึงวันทำงาน ฟังจากพนักงานขายตั๋ว กล่าวกับคนข้างหน้าที่จะซื้อตั๋วไปลงอยุธยาว่า ขบวน 136 อุบลราชธานี-กรุงเทพ ที่จะเดินทางนั้นเต็มแล้ว
แต่พอมาถึงคิวผู้เขียนทราบว่า เหลือ 1 ที่นั่ง ก็เลยโชคดีไป เพราะถ้ารอขบวนต่อไปก็ช่วงทุ่ม-สองทุ่ม
เอาจริงๆ ค่าโดยสารจากปากช่องไปกรุงเทพฯ ถูกที่สุดคือขบวนรถธรรมดาที่ 234 สุรินทร์-กรุงเทพ เพิ่งจะเปิดเดินรถเมื่อ 2 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมานี่เอง ชั้น 3 ราคาเพียง 36 บาท แต่รถจะผ่านสถานีปากช่องเวลาประมาณ 10 โมงเช้า
ถ้าเป็นขบวนรถเร็ว ที่มี 2-3 ขบวน ค่าโดยสารชั้น 3 จะอยู่ที่ 86 บาท ชั้น 2 นั่งพัดลม 132 บาท แต่ถ้าเป็นรถด่วน เช่น ขบวน 72 อุบลราชธานี-กรุงเทพ ค่าโดยสารชั้น 3 ราคา 186 บาท แต่ถ้าเป็นชั้น 2 ปรับอากาศ ราคา 292 บาท
ยิ่งเป็นรถด่วนพิเศษ ขบวน 22 อุบลราชธานี-กรุงเทพ ชั้น 2 ปรับอากาศ มีบริการอาหาร ราคา 392 บาท หรือรถด่วนพิเศษอีสานวัตนา ขบวน 24 อุบลราชธานี-กรุงเทพ เป็นรถนอน มาตอนตีหนึ่งครึ่ง ราคาเริ่มต้นที่ 682 บาท
แต่การเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงปากช่องมีหลายตัวเลือก เพราะฉะนั้น สะดวกแบบก็ไหนเลือกแบบนั้น
สถานีรถไฟปากช่อง ขณะนี้ กำลังก่อสร้างอาคารใหม่ใน โครงการรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ แต่สถานีเดิมยังคงให้บริการตามปกติ จนกว่าอาคารใหม่จะแล้วเสร็จ
อาคารใหม่ของสถานีปากช่อง จะแบ่งออกเป็น 4 ชานชาลา โดยมีสะพานลอยจากตัวสถานี ไปยังชานชาลาที่ 2 และชานชาลาที่ 3-4 โดยจะเป็นชานชาลาสูง 1.10 เมตร รองรับผู้พิการ เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีสัมภาระติดตัวจำนวนมาก
แต่สถานีปากช่องแห่งนี้ ไม่ใช่ที่ตั้งเดียวกับ สถานีรถไฟความเร็วสูง (HSR) กรุงเทพฯ-นครราชสีมา เพราะสถานี HSR ปากช่องจะห่างออกไปอีก 5 กิโลเมตร ตั้งอยู่บนที่ดินของกรมพลาธิการทหารบก ปากช่อง ใกล้กับสถานีซับม่วง
ถ้านึกไม่ออกก็คือ จากตัวเมืองปากช่อง ถนนมิตรภาพสายเก่า เลี้ยวซ้ายที่หน้าธนาคาร ธ.ก.ส. ไปทางบ้านลำสมพุง อีก 4 กิโลเมตร ข้ามทางรถไฟ ตัวสถานีจะอยู่ขวามือ หากนับจากสถานีรถไฟปากช่อง ขับรถไปก็เกือบ 6 กิโลเมตร
ขบวนที่ 136 อุบลราชธานี-กรุงเทพ มาถึงสถานีปากช่องเวลา 14.20 น. ช้ากว่ากำหนดประมาณ 20 นาที วันนั้นผู้โดยสารเกือบเต็มขบวนแต่ไม่แน่น เพราะเป็นรถไฟแบบระบุเลขที่นั่ง
ระหว่างทางจะได้เห็นการก่อสร้างทั้งโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ และรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา เป็นระยะ โดยเฉพาะช่วงที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ คือ ช่วงกลางดง-ปางอโศก 3.5 กิโลเมตร
อาจจะมีคนค่อนแคะว่า รถไฟความเร็วสูงสร้างมาตั้งนาน เสร็จแค่ 3.5 กิโลเมตร อันนี้ไม่เถียง จากที่สังเกตริมหน้าต่าง เส้นทางนี้จะเห็นภูเขาและพระขาวองค์ใหญ่ วัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม ไกลสุดลูกหูลูกตา
แต่ต่อไปเมื่อมีการก่อสร้างรางรถไฟ ปักเสาจ่ายไฟฟ้าเหนือศีรษะแล้ว อาจจะไม่ได้เห็นภาพในแบบเดิมอีก
ไฮไลต์หนึ่งเมื่อผ่านสถานีกลางดงมาแล้ว จะเริ่มเห็น "ทางรถไฟยกระดับ" ตรงขึ้นไป ซึ่งก่อสร้างได้น่าตื่นตาตื่นใจมาก แต่ตอนนี้รถไฟจะเลี้ยวโค้งไปอย่างช้าๆ ม้วนไปรอบหนึ่ง เข้าโค้งแถววัดน้ำพุ ก่อนจะเข้าสถานีมวกเหล็ก จ.สระบุรี
จากตรงนี้เลยไปอีกหน่อย จะมี สถานีรถไฟมวกเหล็กใหม่ บริเวณด้านหลังโรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช มวกเหล็ก ห่างจากตัวอำเภอมวกเหล็กไปประมาณ 3-4 กิโลเมตร
วัตถุประสงค์ที่สร้างเป็นทางยกระดับ ด้วยเหตุผลทางด้านวิศวกรรม เนื่องจาก อ.มวกเหล็ก เป็นพื้นที่แอ่งกะทะ ล้อมรอบด้วยภูเขา จึงยกระดับและตัดทางรถไฟใหม่ ยาว 4.8 กิโลเมตร และมีความสูงถึง 40-50 เมตร
ในอนาคตนอกจากจะเป็นทางรถไฟยกระดับที่สูงที่สุด สวยที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทยแล้ว ยังช่วยลดระยะเวลาจากเดิมที่ต้องเข้าโค้งอ้อมไปอย่างช้าๆ กว่าจะถึงสถานีมวกเหล็ก ก็ขึ้นทางยกระดับตรงดิ่งไปเลย
อีกหนึ่งจุดที่เป็นไฮไลต์ คือ อุโมงค์รถไฟมาบกะเบา-หินลับ ระยะทาง 5.2 กิโลเมตร ว่าที่อุโมงค์รถไฟยาวที่สุดในประเทศไทย ก่อสร้างขึ้นเพื่อย่นระยะเวลาที่รถไฟผ่านภูเขาและป่าบริเวณผาเสด็จ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี
ใครที่นั่งรถไฟสายอีสานเป็นประจำจะทราบดีว่า หลังออกจากสถานีมาบกะเบาไปแล้ว รถไฟจะค่อยๆ เลาะไปตามป่าตามเขาอย่างช้าๆ ประมาณ 15-30 นาที กว่าจะกลับมาทำความเร็วได้ที่สถานีหินลับ
แต่เมื่อเปิดใช้อุโมงค์รถไฟแห่งนี้ จะช่วยให้การเดินรถไฟจากเดิมเสียเวลาเลาะภูเขาไปอย่างช้าๆ ประมาณ 15-30 นาที ให้เหลือเพียงแค่ประมาณ 10 นาที เพราะรถไฟจะลอดอุโมงค์ใต้ภูเขาไปเลย
ที่น่าสนใจก็คือ ผาเสด็จ ซึ่งเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ ในการก่อสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพ-นครราชสีมา สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เคยเสด็จมาประทับเมื่อคราวสร้างทางรถไฟ
สถานีนี้แม้จะไม่ได้ผ่านเขตชุมชน อยู่ห่างจากถนนมิตรภาพประมาณ 2.5 กิโลเมตร แต่ก็พัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ประกอบด้วย ชะง่อนหินใหญ่ริมทางรถไฟ ศาลหลวงพ่อผาเสด็จ และพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ ๕
แม้ในวันข้างหน้าจะเปิดใช้อุโมงค์รถไฟ แต่ก็คิดว่าจะคงทางรถไฟเดิมเอาไว้ เพราะยังมีภาคเอกชนอย่าง บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ใช้ทางรถไฟเส้นนี้ขนส่งสินค้าปูนซีเมนต์และปุ๋ย จากโรงงานย่านสถานีหินลับไปทั่วประเทศ
พ้นจากสถานีมาบกะเบาแล้ว จะเป็นทางคู่และทางสาม รถไฟเริ่มทำความเร็วขึ้นเรื่อย ๆ ผ่านสถานีชุมทางแก่งคอย สระบุรี ชุมทางบ้านภาชี อยุธยา รังสิต ดอนเมือง หลักสี่ บางเขน ชุมทางบางซื่อ ถึงสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง)
ระหว่างทางจะสังเกตได้ว่า ตอนนี้เริ่มก่อสร้าง โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา กันบ้างแล้ว ที่ชัดเจนที่สุดก็คือย่านสถานี HSR สระบุรี จะก่อสร้างใหม่บริเวณละแวกศูนย์ราชการจังหวัดสระบุรี (ด้านหลังห้างโรบินสัน สระบุรี)
ผ่านสถานีชุมทางบ้านภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา แม้ไอศกรีมกะทิใส่ถ้วยในตำนานจะไม่มีอีกแล้ว แต่ข้าวเหนียวหมูทอด เนื้อทอด แหนมหมู แหนมปลากราย ห่อถุงพลาสติกไว้อย่างเรียบร้อย คนกินอย่างเราก็สบายใจขึ้นมาหน่อย
มาถึงสถานีชุมทางบางซื่อ เราตัดสินใจลงรถตรงนี้ เนื่องจากจะเปลี่ยนหัวขบวนมุ่งหน้าสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) หากนั่งรอบนขบวนรถไฟจะกินเวลาไปอีกนาน อีกทั้งอยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บางซื่อ ยังไปไหนมาไหนต่อได้
โครงการรถไฟทางคู่มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ตอนนี้ก่อสร้างเฉพาะช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร ระยะทาง 58 กิโลเมตร ได้แก่ สัญญา 1 ค่าก่อสร้าง 7,560 ล้านบาท และสัญญา 3 งานอุโมงค์รถไฟ ค่าก่อสร้าง 9,290 ล้านบาท
ส่วนช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ อยู่ระหว่างปรับแบบก่อสร้าง ช่วงผ่านตัวเมืองนครราชสีมา สร้างเป็นทางยกระดับ ทุบสะพานสีมาธานีแล้วสร้างทางลอดแทน ขณะนี้จึงยังเป็นทางเดี่ยวอยู่
แม้ความคืบหน้าการก่อสร้างจะมีตัวเลขมากกว่า 90% และวางรางรถไฟกันบ้างแล้ว แต่ปัญหาก็คือ ทราบว่าบางช่วงยังเวนคืนที่ดินไม่เรียบร้อย ทำให้แผนการเปิดใช้งานทางคู่อาจต้องเลื่อนออกไป อย่างน้อยไปถึงปลายปี 2565
ส่วนตัวไม่ได้คาดหวังอะไรกับรถไฟความเร็วสูง เพราะตอนนี้เหมือนจะคืบหน้าแต่ไปไม่ถึงไหน แต่รถไฟทางคู่ที่ผ่านมา ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น เปิดใช้แล้วได้ผลดี หากเปิดได้ตลอดเส้นทางจากกรุงเทพฯ ขึ้นไปก็จะดีกว่านี้
ต่อไปรถไฟไม่ว่าจะขนคน ขนสินค้า ก็จะไม่ต้องคอยสับราง ไม่ต้องระวังคนหรือสัตว์รอบข้างเพราะเป็นระบบปิด มีรั้วรอบขอบชิด รถไฟทำเวลาได้มากขึ้น คนเดินทางมีโอกาสถึงที่หมายตรงเวลายิ่งขึ้น
ได้แต่รอโอกาสจะได้ขึ้นรถไฟลอยฟ้าที่มวกเหล็ก คิดว่าวิวด้านบนคงต้องสวยมากแน่ ๆ