กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
หากจะกล่าวถึงตระกูล “มานะศิลป์” นักธุรกิจค้าปลีกแห่งเมืองนครราชสีมา คนโคราชรู้จักกันดีในนาม “คลังพลาซ่า” ห้างสรรพสินค้าท้องถิ่น ที่อยู่คู่เมืองโคราชมานานกว่า 60 ปี
จุดเริ่มต้นจากร้านคูหาเดียวเล็กๆ หลังอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ที่ชื่อว่า “คลังวิทยา” ขายหนังสือพิมพ์ ขายลอตเตอรี่ ขายเรียงเบอร์ วันหนึ่งเจ้าของที่ชื่อ “ไพศาล มานะศิลป์” ขยับขยายมาขายหนังสือเรียน เครื่องเขียน อุปกรณ์การเรียน
กระทั่งเปิดห้างสรรพสินค้าเต็มรูปแบบ บนถนนอัษฎางค์ จากชื่อ “คลังวิทยาดีพาร์ทเม้นท์สโตร์” มาถึง “คลังพลาซ่า” ถือว่าเป็นห้างแห่งแรกที่ใหญ่ และทันสมัยที่สุดในภาคอีสานขณะนั้น
ก่อนจะเช่าที่ดินระยะยาว เปิดห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ สูง 9 ชั้น “คลังพลาซ่า จอมสุรางค์” หรือ คลังใหม่ บนถนนจอมสุรางค์ยาตร จุดเด่นคือตั้งอยู่ใจกลางเมือง ใกล้อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีเพียง 100 เมตร
แม้ไพศาลจะเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจมน้ำที่ประเทศมัลดีฟส์ แต่ก็ได้ลูกชายคนโตอย่าง “เสี่ยเหลียง” ไพรัตน์ มานะศิลป์ สานต่อกิจการ พร้อมกับเปิดคอมมูนิตีมอลล์ “คลังวิลล่า” หรือ คลังสาม บนถนนสุรนารายน์
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันของทุนค้าปลีกยักษ์ เข้ามาลงทุนในตัวเมืองโคราชถึง 2 เจ้า นอกจาก เดอะมอลล์ โคราช ที่เปิดมานาน ก็ยังมี เทอร์มินอล 21 โคราช ของกลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์ และ เซ็นทรัล โคราช ของกลุ่มเซ็นทรัล
แม้คลังพลาซ่า จอมสุรางค์ จะทุ่มงบปรับโฉมใหม่นับพันล้านบาท แต่การแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกที่ดุเดือด ประกอบกับเศรษฐกิจซบเซา ซ้ำด้วยวิกฤตโควิด-19 ทำให้คลังพลาซ่า จอมสุรางค์ จำต้องปิดตัวลงเมื่อ 1 พฤษภาคม 2564
รวมทั้ง โครงการคลัง สเตชั่น หรือ คลังสี่ บริเวณห้าแยกหัวรถไฟ ใกล้สถานีรถไฟนครราชสีมา ซึ่งเช่าที่ดินจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ก็ยังชะลอการก่อสร้างไว้ก่อนจากพิษเศรษฐกิจ และโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ยังไม่แน่นอน
ถึงกระนั้น ห้างคลังพลาซ่า จอมสุรางค์เดิม ก็เพิ่งจะเปลี่ยนป้ายใหม่เป็นชื่อ “อาภาญา” (ARPAYA) ในรูปแบบศูนย์การศึกษาและอาคารสำนักงาน โดยมีลูกสาวคนที่สามอย่าง ประภากร มานะศิลป์ เป็นผู้บริหาร ร่วมทุนกับกลุ่มใต้ฟ้าอิเล็กโทรนิกส์
แม้ว่าตึกอาภาญาจะเปิดแล้ว แต่ที่สังเกตด้วยตาก็มีผู้เช่าไม่มากนัก ด้านหน้าจะเป็นร้านชานม ส่วนทางเดินเข้าด้านหลัง บริเวณอาคารพาณิชย์ร้านเคเอฟซี เปิดเป็นศูนย์อาหาร ซึ่งเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิด-19
แม้ว่าธุรกิจค้าปลีกของตระกูลมานะศิลป์อย่างคลังพลาซ่า ยังคงได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจและโควิด-19 แต่สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อาจจะเรียกได้ว่ากำลังไปได้ดีพอสมควร
โดยเฉพาะ “โครงการซิตี้ลิ้งค์” (CITY LINK) บนที่ดินผืนใหญ่กว่า 250 ไร่ ร่วมทุนระหว่างลูกชายคนสุดท้อง “เสี่ยบู้” ไพจิตร มานะศิลป์กับตระกูล “พันธ์สายเชื้อ” นำโดย สุดที่รัก พันธ์สายเชื้อ เจ้าของ กลุ่มคาซ่า เอสเตท
กลายเป็นบริษัทร่วมทุนที่ชื่อ “คลังคาซ่า” (KLANG CASA) ประกอบด้วยกลุ่มคลังพลาซ่า กลุ่มคาซ่า เอสเตท และกลุ่มใต้ฟ้าอิเล็กโทรนิกส์ ของตระกูลจงเจริญใจ พัฒนาโครงการมาตั้งแต่ปี 2553 ด้วยงบลงทุนกว่า 3,800 ล้านบาท
จุดเปลี่ยนสำคัญ คือการยกถนนในโครงการซิตี้ลิ้งค์ กว้าง 16 เมตร ยาว 1 กิโลเมตร มูลค่า 220 ล้านบาท ให้กับเทศบาลนครนครราชสีมา เพื่อเป็นถนนสาธารณประโยชน์ ในปี 2557 ตั้งชื่อว่า “ถนนมานะศิลป์”
จุดเริ่มต้นจากถนนมิตรภาพ กิโลเมตรที่ 145 ห่างจากสี่แยกอัมพวันเดิม 750 เมตร ถ้าใครขับรถมาจากกรุงเทพฯ ลงสะพานสีมาธานีแล้ว ผ่านสี่แยกอัมพวันกับโรงแรมคิงส์ จะเห็นทางเข้าโครงการ THE LINK อยู่ซ้ายมือ
ถนนสายนี้จะเชื่อมกับ “ถนนพันธ์สายเชื้อ” ซึ่งยกให้เทศบาลก่อนหน้านี้ ไปออก ถนนสุรนารี 2 (คลองส่งน้ำ) และเชื่อมกับถนนเลี่ยงเมืองนครราชสีมา ข้างห้างโฮมโปร ใกล้ทางลง มอเตอร์เวย์หมายเลข 6 บางปะอิน-นครราชสีมา
เข้ามาแล้วจะเห็น โครงการซิตี้ลิ้งค์ คอนโดมิเนียม 10 อาคาร รวม 745 ยูนิต แบ่งออกเป็นอาคารต่างๆ ตามชื่อเรียกของเมือง เริ่มต้นจากแมนฮัตตัน ปารีส ซิดนีย์ มิลาน ไมอามี่ เมลเบิร์น มาดริด มิวนิก ซานฟราน และบอสตัน
จากนั้นจะเป็นทางแยกเข้า หมู่บ้านโมเดิร์นลิ้งค์ รูปแบบทาวน์โฮม ก่อนจะถึงสามแยกเข้า ถนนจงเจริญใจ เรียกว่า “ลอนดอน สแควร์” จะได้เห็นสนามหญ้ากว้างพร้อมกับลานเอนกประสงค์ที่เรียกว่า “เมย์แฟร์ มาร์เก็ต”
พอถึงสามแยก ถ้าตรงไปจะออกถนนบายพาส บริเวณหน้าห้างโฮมโปร นครราชสีมา แต่ถ้าเลี้ยวขวา ข้ามสะพานคลองลำตะคองเก่า จะผ่านหมู่บ้านเดอะเวนิชพาร์ค ไปออกถนนสุรนารี 2 กลับรถไปออกแยกประโดก หรือแยกพิกาซัส
สำหรับคนที่ไม่มีรถยนต์ส่วนตัว หากนั่งรถประจำทางสาย 21 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ให้ลงที่สี่แยกอัมพวัน แล้วต่อด้วยรถตุ๊กตุ๊ก (ค่าโดยสาร 40 บาท) หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่จอดอยู่หน้าสะพานลอย เพื่อเข้าไปในถนนมานะศิลป์
ความน่าสนใจของถนนสายนี้ นอกจากคอนโดมิเนียมระดับโลว์ไรส์ (Low Rise) นับสิบอาคารแล้ว ยังมีแมกเนตที่จะดึงดูดผู้คน ไม่ใช่แค่ผู้พักอาศัย แต่รวมทั้งชาวโคราชเข้ามาใช้ชีวิตที่นี่ เป็นเมืองใหม่อย่างสมบูรณ์แบบ
เริ่มจาก “โรงแรมบีทู โคราช พรีเมียร์” มาตรฐานเทียบเท่าโรงแรม 4 ดาว ของ กลุ่มจาวลาเชียงใหม่ ความสูง 7 ชั้น มีจำนวนห้องพักทั้งหมด 77 ห้อง เปิดให้บริการเมื่อปี 2562 นับเป็นสาขาที่สองของจังหวัดนครราชสีมา
ห้องพักที่นี่แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ซูพีเรีย พรีเมียร์ 20 ตารางเมตร, เดอลุกซ์ พรีเมียร์ 20 ตารางเมตร เดอลุกซ์ ทริปเปิล 23 ตารางเมตร มี 1 เตียงคู่และ 1 เตียงเดี่ยวสำหรับ 3 คน และลักชัวรี พรีเมียร์ 30 ตารางเมตร
โรงแรมนี้แตกต่างจากสาขาอื่น ชั้นล่างจะเป็นลานจอดรถยนต์ ส่วนล็อบบี้จะอยู่ที่ชั้น 2 ราคาเริ่มต้นที่ 690 บาทต่อคืน เจาะกลุ่มเป้าหมายคนเดินทางเพื่อทำธุรกิจหรือท่องเที่ยว และที่พักรองรับเพื่อนหรือญาติที่มาจากต่างจังหวัด
ด้วยความที่โรงแรมตั้งอยู่รายล้อมด้วยคอนโดมิเนียม บรรยากาศจึงเงียบสงบ ไม่วุ่นวายมาก มีร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น และตู้เอทีเอ็มธนาคารออมสิน ตั้งอยู่ตรงข้ามทางเข้าโรงแรม ใช้เวลาเดินเท้าไม่นานนัก
ถัดจากนั้นจะเป็นร้านอาหาร อยู่ฝั่งตรงข้ามคอนโดมิเนียม ที่มีให้เลือกหลายร้าน อาทิ ร้านจับปูกัน อาหารทะเลและบุฟเฟต์ซีฟู้ด, ร้านเอจไดนิง (8 Dining) ร้านอาหารไทยแนวฟิวชันที่มีเครื่องดื่มและดนตรีสด
ร้านฮ็อปเบียร์เฮ้าส์โคราช 2 (Hop Beer House Korat 2) เป็นร้านนั่งชิลล์ จำหน่ายเครื่องดื่มและอาหารไทย ยุโรป อีสาน, ร้านโชเน็น ยากินิกุ (Shounen Yakiniku) อาหารปิ้งย่างสไตล์ญี่ปุ่นแบบพรีเมียม
ร้านแฟต บอย ทาเวิร์น (FAT BOY Tavern) แหล่งแฮงเอาต์สำหรับวัยทำงาน, ร้านชาบู มอนสเตอร์ (Shabu Monster) สุกี้ยากี้แบบฉบับญี่ปุ่น, ร้านทาเคชิ โกลด์ โคราช (Takeshi Gold Korat) ร้านบุฟเฟต์อาหารญี่ปุ่น เป็นต้น
ที่เป็นหนึ่งในไฮไลต์ของโครงการ คือ “เมย์แฟร์ มาร์เก็ต” (Mayfair Market) สนามหญ้าสีเขียวพื้นที่ 7 ไร่ ที่รอการพัฒนา ระหว่างนั้นจึงทำเป็นสถานที่พักผ่อน ออกกำลังกายประจำวัน และสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆ
บางส่วนจะเป็นร้านอาหารฟู้ดทรัค (Food Truck) นับสิบกว่าร้าน ถัดมาจะเป็นตลาดเปิดท้าย และถัดจากนั้นจะเป็น เมย์แฟร์ ฟู้ดพาร์ค (Mayfair Foodpark) ศูนย์อาหารพร้อมที่นั่งรับประทานอาหาร เพิ่งเปิดไม่นานมานี้
ร้านยอดนิยมที่มีคนมานั่งกินกันอย่างไม่ขาดสาย หนึ่งในนั้นคือร้านราเมนที่ชื่อว่า เอบิสึ ราเมน (Ebisu Ramen) เป็นร้านราเมนราคากลางๆ ที่ทุกคนเข้าถึงได้ ซึ่งหุ้นส่วนลงขันกันซื้อแฟรนไชส์จากกรุงเทพฯ มาเปิดที่นี่
ปัจจุบันเมย์แฟร์มาร์เก็ตเปิดทุกวัน ตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม จะมีบางร้านที่มีวันหยุดบ้าง แต่ส่วนใหญ่นิยมมากันช่วงเย็นวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เหตุผลหนึ่งที่คนโคราชมาเที่ยวที่นี่ เพราะมีที่จอดรถด้านหลังตลาด
อย่างไรก็ตาม เมย์แฟร์มาร์เก็ตอาจจะอยู่ได้ไม่นานนัก เพราะถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง หลังปี 2567 จะรื้อถอนเพื่อก่อสร้างอาคารต่อไป ใครที่อยากจะมาซึมซับบรรยากาศสนามหญ้าแบบชิลล์ๆ ยามเย็น ก็ยังพอมีเวลาอีกสักปี-สองปี
อีกแมกเนตหนึ่งที่อยู่ในโครงการ คือ โรงเรียนนานาชาติแองโกล สิงคโปร์ นครราชสีมา เปิดสอนระดับชั้นอนุบาลและประถมศึกษา บนพื้นที่ 11 ไร่ มูลค่าการลงทุนกว่า 400 ล้านบาท
ในอนาคตพื้นที่เมย์แฟร์มาร์เก็ตจะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่เรียกว่า “เดอะลิ้งค์ 88” (The Link 88) ศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ (CBD) บนพื้นที่ 88 ไร่ ในรูปแบบอาคารสำนักงาน โรงพยาบาล คอนโดมิเนียม
โดยเริ่มจากอาคารออกซฟอร์ด ตรงหน้าโรงเรียนนานาชาติแองโกล สิงคโปร์ นครราชสีมา คอนโดมิเนียมสไตล์อังกฤษ สูง 8 ชั้น จำนวน 70 ห้อง ตามมาด้วยอาคารแคมบริดจ์ และแอสตันที่กำลังก่อสร้างตามมา
อย่างไรก็ตาม โครงการเดอะลิ้งค์ 88 ถือเป็นโครงการระยะยาว อยู่ระหว่างเปิดรับพันธมิตรร่วมลงทุน คาดว่าใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 5-8 ปีจึงจะเสร็จสมบูรณ์ โดยมีเป้าหมายให้เป็นสมาร์ทซิตี้ รองรับความเจริญเติบโตของเมือง
สอดรับกับโครงการมอเตอร์เวย์หมายเลข 6 บางปะอิน-นครราชสีมา ที่แม้จะต้องปรับแบบก่อสร้างอีก 17 ตอน ทำให้แผนเปิดให้บริการเต็มรูปแบบล่าช้าออกไป แต่ก็คาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบปลายปี 2566
รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐ เช่น โครงการรถไฟทางคู่มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ, รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา, ถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ฯลฯ ที่อาจจะมีส่วนช่วยให้เมืองใหม่แห่งนี้เติบโตยิ่งขึ้น
ก่อนจะร่ำลาจากที่นี่ สังเกตเห็นบริเวณปากทาง จะมีอนุสาวรีย์เล็กๆ ระบุชื่อ “ไพศาล มานะศิลป์” ประธานกรรมการ บริษัท คลังพลาซ่า จำกัด สร้างไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์หลังการเสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2551 อายุ 67 ปี
ข้อความที่ฐานอนุสาวรีย์ระบุว่า “จากเด็กชายขายล็อตเตอรี่ และเรียงเบอร์ สู่ตำนานผู้ก่อตั้ง “คลังวิทยา” และเปลี่ยนชื่อมาเป็น คลังวิทยาดีพาร์ทเม้นสโตร์ และบริษัท คลังพลาซ่า จำกัด
“ขยันขันแข็ง อดทน มีความตั้งใจจริงในการทำงาน มีสติปัญญาไหวพริบ มองการณ์ไกล มีเพื่อนร่วมงาน และลูกน้องที่ดี มีคุณธรรม” ความดีงามที่ยึดถือไว้อย่างมั่นคง
ถือเป็นคำสอนที่เรียบง่าย ควรค่าแก่การยึดถือเป็นแบบอย่างกับคนทุกเพศทุกวัย.