xs
xsm
sm
md
lg

เราเที่ยวด้วยกัน พลัสโรงแรมลดค่าที่พัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้รับความนิยม นอกเหนือจากโครงการคนละครึ่งแล้ว ยังมี “โครงการเราเที่ยวด้วยกัน” ที่จำนวนสิทธิที่พักครบ 2 ล้านสิทธิไปเมื่อเร็วๆ นี้

โครงการนี้รัฐบาลสนับสนุนค่าโรงแรม 40% ของราคาที่พัก สูงสุด 3,000 บาทต่อห้องต่อคืน เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านการท่องเที่ยวภายในประเทศ เพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการต้องลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ แล้วยืนยันตัวตนก่อนใช้สิทธิผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” จองล่วงหน้าก่อนเข้าพักไม่น้อยกว่า 7 วัน เช่น จองที่พักวันที่ 1 จะได้เข้าพักวันที่ 8 โดยต้องชำระเงิน 60% ผ่าน G-Wallet

เมื่อเช็กอินแล้ว จะได้รับคูปองส่วนลดอาหาร/ท่องเที่ยว 40% สำหรับสแกนจ่ายตามร้านค้า ร้านอาหารที่ร่วมโครงการ สูงสุด 600 บาทต่อคืน และหลังเดินทางสามารถเบิกค่าตั๋วเครื่องบิน 40% สูงสุด 2,000-3,000 บาทต่อผู้โดยสาร

เริ่มต้นเฟสแรก 5 ล้านสิทธิ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 ครบ 5 ล้านสิทธิไปเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2563 ดำเนินโครงการเฟสที่ 2 เพิ่มอีก 1 ล้านสิทธิ และเพิ่มเพดานการใช้สิทธิต่อคน จาก 10 ห้องหรือคืน เป็น 15 ห้องหรือคืน

แต่ที่ผ่านมา โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เกิดอุปสรรคพอสมควร ตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงในช่วงกลางปี 2564 เกิดวิกฤตทางสาธารณสุข และมาตรการเข้าออกแต่ละจังหวัด กระทบต่อการเดินทางท่องเที่ยว

รวมไปถึงการทุจริตหลายรูปแบบ ทั้งการขายสิทธิให้พ่อค้าคนกลางโดยไม่ได้พักจริง กระทั่งทางโครงการได้เพิ่มมาตรการเข้ม ด้วยการให้ผู้ประกอบการโรงแรมใช้แอปฯ ถุงเงิน สแกนใบหน้าผู้เข้าพักตัวจริงเมื่อเช็กอิน

หรือการที่โรงแรมตั้งราคาห้องพักสูงขึ้นผิดปกติเพื่อหวังเงินส่วนต่าง เช่น โรงแรมแห่งหนึ่งที่ป่าตอง ภูเก็ต ปกติคืนละ 1,800 บาท ก็ขึ้นเป็น 7,500 บาท แล้วรวมหัวคนจัดทัวร์พาชาวบ้านยกโขยงจองห้องเกินจริงเต็มแม็กซ์คนละ 10 สิทธิ

หรือการเปิดขายห้องพักเกินจำนวน แล้วขายต่อให้อีกโรงแรมหนึ่งเพื่อกินส่วนต่าง ภายหลังทางโครงการฯ จึงต้องสกรีนกันละเอียดยิบ โดยให้ทางโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการ ต้องยื่นแสดงราคาค่าที่พักในอัตราต่ำสุดและสูงสุดมาด้วย

หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายในระดับหนึ่ง แต่ละจังหวัดออกมาตรการผ่อนคลาย โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 จึงกลับมาอีกครั้งเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 จำนวน 2 ล้านสิทธิ กระทั่งสิทธิเต็มเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564

มาถึงครั้งล่าสุด เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 จำนวน 2 ล้านสิทธิ คราวนี้รีเซตการใช้สิทธิต่อคนใหม่ สูงสุด 10 ห้องหรือคืน โดยไม่นับเฟส 1-3 ที่ใช้สิทธิไปแล้ว คนที่ใช้สิทธิเต็มจำนวนแล้วก็มีโอกาสใช้สิทธิอีกครั้ง

ปรากฏว่าผ่านไป 2 เดือน 16 วัน สิทธิที่พักเต็ม 2 ล้านสิทธิไปเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2565 ระหว่างที่ผู้คนเดินทางกลับบ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยโครงการเฟสที่ 4 จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 พฤษภาคม 2565

เป็นที่น่าสังเกตว่า โครงการเราเที่ยวด้วยกัน 2 ล้านสิทธิ ในเฟสที่ 3 และ 4 พบว่าสิทธิที่พักจะเต็มจำนวน ในระยะเวลาประมาณ 2 เดือนครึ่ง กระทั่งมีเสียงเรียกร้องให้ดำเนินโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟสที่ 5 ต่อเนื่อง

แต่ก็พบว่าสิทธิตั๋วเครื่องบินยังคงเหลือจำนวนมาก ช่วงที่สิทธิที่พักเฟสที่ 3 เต็ม สิทธิตั๋วเครื่องบินจาก 2 ล้านสิทธิเหลือ 1.17 ล้านสิทธิ ครั้งล่าสุด สิทธิที่พักเฟสที่ 4 เต็ม สิทธิตั๋วเครื่องบินจาก 6 แสนสิทธิ เหลือ 4.85 แสนสิทธิ

ล่าสุดทราบว่า นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เตรียมเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ ขอนำวงเงินที่เหลือราว 4,000 ล้านบาท มาเพิ่มจำนวนสิทธิที่พักใหม่อีก 1 ล้านสิทธิ

แม้วงเงินที่รัฐบาลจ่ายค่าห้องพัก 40% สูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อห้อง/คืน แต่พบว่าผู้มาใช้สิทธิจองห้องพักเฉลี่ยเพียงคืนละ 1,200 บาท จึงมองว่าถ้าเงินเหลือก็จะสามารถเพิ่มจำนวนสิทธิใหม่ได้อีก 1 ล้านสิทธิ

ยืนยันว่าไม่ใช่ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟสที่ 5” แต่เป็นการขยายโครงการโดยใช้วงเงินคงเหลือจากเฟสที่ 4 พร้อมขยายวันสิ้นสุดโครงการจากเดิม 31 พฤษภาคม 2565 ยาวไปถึงวันที่ 30 กันยายน 2565

พร้อมกันนี้ ยังมีโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน พลัส” เชิญชวนผู้ประกอบการโรงแรมที่มีห้องพักว่าง จัดโปรโมชันลดราคาห้องพักสูงสุด 50% โดยไม่ต้องใช้งบประมาณจากรัฐบาล ตั้งเป้าไว้ที่ 1 ล้านสิทธิ

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาบรรดาโรงแรม ที่พัก รีสอร์ตแต่ละแห่งต่างโปรโมตโปรโมชันเราเที่ยวด้วยกันผ่านโซเชียลฯ ถึงขนาดระบุว่าราคาหลังหักส่วนที่รัฐบาลออกให้จ่ายเพียงเท่าไหร่ต่อคน ให้นักท่องเที่ยวประกอบการตัดสินใจอย่างชัดเจน

แต่ก็พบว่าในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนที่สิทธิที่พักจะหมดลง มีการวิจารณ์ว่าบางโรงแรมกลับคิดราคาอย่างโหด ชนิดที่ว่าต้องร้อง อห. (ที่ไม่ได้แปลว่า โอ้โห) กลายเป็นว่าใช้สิทธิเราเที่ยวด้วยกัน ถูกลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

จากประสบการณ์ที่ใช้สิทธิเราเที่ยวด้วยกันมาตลอด พบว่าถ้าเป็นโรงแรมราคาประหยัด โครงการนี้ยังพอช่วยแบ่งเบาค่าที่พักได้บ้าง แต่ถ้าอยากจะเข้าพักห้องพักในระดับที่ดีขึ้น ก็จ่ายในราคาที่พอจะเอื้อมถึง

ถ้าโรงแรมไหนที่มีห้องอาหารหรือสปา นอกจากใช้คูปองอาหาร/ท่องเที่ยวได้แล้ว บางโรงแรมยังให้รีสอร์ตเครดิต หรือบัตรกำนัลสำหรับใช้จ่ายร้านอาหารหรือบริการต่างๆ ภายในที่พัก จึงแทบจะไม่ได้ใช้คูปองอาหาร/ท่องเที่ยวด้วยซ้ำ

ยกตัวอย่าง โรงแรมแห่งหนึ่งในภาคตะวันออก ห้องซูพีเรียราคาปกติ 2,500 บาทต่อคืน เมื่อใช้สิทธิเราเที่ยวด้วยกันเหลือ 1,500 บาทต่อคืน และเลือกได้ระหว่างอัพเกรดห้องระดับที่สูงขึ้น หรือบัตรกำนัลห้องอาหาร 500 บาท

หากไม่ได้ใช้สิทธิเราเที่ยวด้วยกันพบว่า ถ้าจองล่วงหน้าประมาณ 1 เดือน ราคาเฉพาะห้องอยู่ที่ประมาณ 1,800-1,900 บาทต่อคืน และเมื่อรวมอาหารเช้าจะอยู่ที่ประมาณ 2,200-2,300 บาทต่อคืน ยิ่งจองใกล้วันเดินทางยิ่งแพงขึ้น

แต่เอาจริงๆ ในช่วงฤดูฝนหรือหน้าโลว์ซีซัน เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ถ้าเป็นช่วงก่อนโควิด-19 ราคาที่พักรวมทั้งตั๋วเครื่องบินจะถูกลงอยู่แล้ว คนที่อยากจะเที่ยวในราคาประหยัด จึงมักจะเลือกช่วงเวลานี้ลางานไปเที่ยว

สำหรับสิทธิตั๋วเครื่องบิน มีข้อจำกัดอย่างหนึ่งก็คือ ใช้สิทธิได้เฉพาะตั๋วเครื่องบินที่ซื้อในช่วงระยะเวลาโครงการเท่านั้น ซึ่งคนที่นั่งเครื่องบินเป็นประจำจะทราบว่า ยิ่งใกล้วันเดินทางเท่าไหร่ ราคาก็ยิ่งแพงขึ้น

โดยค่าตั๋วเครื่องบินที่จะนำมาคำนวณเงินคืน 40% จะใช้ราคาค่าโดยสารตั้งต้น ตัวอย่างเช่น ค่าโดยสารเส้นทางสนามบินสุวรรณภูมิ-หาดใหญ่ 1,690 บาท จะได้เงินสนับสนุน 676 บาท เข้า G-Wallet ในแอปฯ เป๋าตัง

ส่วนใครที่ซื้อตั๋วเครื่องบินมาล่วงหน้าก่อนระยะเวลาโครงการ 1 กุมภาพันธ์ 2565 จะขึ้นสถานะว่า “เที่ยวบินผิดเงื่อนไขโครงการ เนื่องจากวันออกตั๋วโดยสารอยู่นอกระยะเวลาที่กำหนด”

ถ้าใครสอยตั๋วโปรโมชันราคาถูก มีค่าไม่ต่างกัน เพราะที่ยกตัวอย่างข้างต้น ยังต้องจ่ายเองประมาณพันกว่าบาท แต่ใครได้ตั๋วเครื่องบินราคาโปรโมชัน ไม่ถึง 500 บาทถือว่าโชคดีแล้ว (แม้จะต้องลุ้นว่าจะโดนยกเลิกเที่ยวบินหรือไม่ก็ตาม)

เมื่อเปรียบเทียบทั้งสองโครงการ พบว่า “เราเที่ยวด้วยกัน” ผู้ประกอบการโรงแรมจะมีรายได้ 2 ทาง คือ เงินอุดหนุนจากรัฐบาล 40% ซึ่งใช้วงเงิน พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 อีกทางหนึ่งคือนักท่องเที่ยวจ่ายเงินส่วนต่างล่วงหน้า 60%

แต่สำหรับ “เราเที่ยวด้วยกัน พลัส” ที่ผู้ว่าการ ททท. เสนอแนวคิดมา แม้จะไม่ได้ใช้งบประมาณรัฐบาล แต่จะให้โรงแรมที่มีห้องพักจำนวนมาก นำมาจัดโปรโมชัน ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของที่พักแต่ละแห่งว่าจะเข้าร่วมหรือไม่

ที่สำคัญ ราคาโปรโมชันที่โรงแรมแต่ละแห่ง จะลดราคามากน้อยขนาดไหน ยุคนี้โลกโซเชียลฯ เข้าถึงกันหมด หากราคาที่พักไม่เป็นที่สนใจตามที่นักท่องเที่ยวคาดหวัง จะกระทบภาพลักษณ์โครงการนี้ไปอย่างน่าเสียดาย

อีกด้านหนึ่ง ยังมีเรื่องการยกเลิกระบบ TEST & GO ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 เริ่มมีคนไทยสนใจเที่ยวต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เพราะกลับไทยได้โดยไม่ต้องเสียเงินอีก

ถือเป็นความท้าทายของโครงการเราเที่ยวด้วยกัน และเราเที่ยวด้วยกัน พลัส ที่กำลังจะเกิดขึ้น ว่าจะยังคงมีเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวเหมือนเฟสที่ผ่านมาหรือไม่ โดยเฉพาะช่วงโลว์ซีซันของปี 2565 ที่กำลังจะมาถึง


กำลังโหลดความคิดเห็น