กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
เมื่อเทศกาลปีใหม่ 2565 ได้มีโอกาสมาเยือนศรีสะเกษ จังหวัดเมืองรองแถบอีสานใต้ ซึ่งที่ผ่านมาไปเยือนแค่นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และอุบลราชธานี ส่วนศรีสะเกษเป็นเพียงแค่ทางผ่านเท่านั้น
ช่วงที่นั่งรถไฟผ่านสถานีศรีสะเกษเมื่อสักปี-สองปีก่อน เคยคิดในใจว่าสักวันหนึ่งคงได้มาเยือนที่นี่ กระทั่งกลับจากการเที่ยวชมเทศกาลว่าวที่บุรีรัมย์แล้วเวลาเหลือ เลยตัดสินใจโฉบไปเปิดหูเปิดตาสักวันหนึ่ง
หากกล่าวถึงจังหวัดอีสานใต้ มีคนแนะนำว่าถ้าจะให้เร็วต้องนั่งรถไฟ เพราะแนวเส้นทางตั้งแต่สถานีชุมทางถนนจิระ ถึงปลายทางอุบลราชธานีจะตัดผ่านเมืองต่างๆ ถ้าเป็นทางถนนจะเป็นถนนเส้นเล็กๆ เลาะตามอำเภอต่างๆ ซึ่งช้ากว่า
จะมีก็แต่ถ้ามาจากกรุงเทพฯ ถึงอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ก็ใช้ถนนโชคชัย-เดชอุดม แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนสายรองไปตัวจังหวัด เช่น ไปบุรีรัมย์เลี้ยวซ้ายที่นางรอง ไปสุรินทร์เลี้ยวซ้ายที่ปราสาท ไปศรีสะเกษเลี้ยวซ้ายที่ขุขันธ์
แม้ปัจจุบัน ทางหลวงหมายเลข 226 นครราชสีมา-อุบลราชธานี จะขยายเป็นถนน 4 เลนไปแล้วหลายช่วง แต่ถนนก็ยังซิกแซกผ่านอำเภอนั้นอำเภอนี้ ซึ่งถ้าเป็นรถทัวร์จากโคราชไปอุบลฯ ผ่านตัวเมืองทุกจังหวัด จะใช้เวลา 6-7 ชั่วโมง
เทียบกับรถไฟ ถ้าเป็นรถด่วนพิเศษจากนครราชสีมาไปอุบลราชธานี ถ้าเป็นรถด่วนพิเศษใช้เวลา 4 ชั่วโมง ถ้าเป็นรถท้องถิ่น แม้จะใช้เวลาประมาณ 6-7 ชั่วโมง แต่ค่าโดยสารถูกกว่า เพียงแค่ 58 บาทเท่านั้น
ประชาชนแถบจังหวัดอีสานใต้ ส่วนหนึ่งยังคงนิยมเดินทางด้วยรถไฟ หนึ่งในขบวนรถยอดนิยมคือ รถด่วนพิเศษขบวน 21 กรุงเทพ-อุบลราชธานี เป็นรถดีเซลรางปรับอากาศ ออกจากหัวลำโพงเช้ามืด ถึงอุบลราชธานีราวบ่ายสองโมง
ในวันที่มาจากบุรีรัมย์ ใช้บริการรถด่วนพิเศษขบวนที่ 21 แม้ค่าโดยสารไปลงที่ศรีสะเกษ จะสูงถึง 376 บาท แต่เป็นรถปรับอากาศ ใช้เวลาเดินทางไม่ถึง 2 ชั่วโมง อีกทั้งมีบริการอาหารและน้ำดื่มอีกด้วย
ส่วนคนที่มาจากสถานีกรุงเทพ ไปศรีสะเกษ ค่าโดยสาร 561 บาท ออกจากกรุงเทพฯ 05.45 น. ใช้เวลาเดินทาง 7 ชั่วโมงครึ่ง ถึงศรีสะเกษ 13.20 น. แต่ถ้าเป็นรถทัวร์จากหมอชิตจะใช้เวลาเกือบ 9 ชั่วโมง ค่าโดยสาร 481-641 บาท
บ่ายโมงยี่สิบ เราเดินทางมาถึงสถานีรถไฟศรีสะเกษ ท่ามกลางอากาศร้อนนิดๆ ถ้าจะไปโรงแรมที่พักมีรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แต่ราคาอาจจะสูงไปหน่อย ขนาดไปโรงแรมที่อยู่ห่างกันไม่ถึง 1 กิโลเมตร ยังคิด 40 บาท
ที่มาที่ไปของจังหวัดศรีสะเกษ สรุปให้ฟังคร่าวๆ เดิมที่ตั้งของเมืองไม่ได้อยู่ที่นี่ แต่อยู่ที่อำเภอขุขันธ์ ซึ่งอยู่ห่างจากจังหวัดศรีสะเกษไปทางทิศใต้ราว 50 กิโลเมตร แต่ได้ย้ายศาลากลางจังหวัด มายังที่ตั้งปัจจุบันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2449
ช่วงที่ไปเยือน เพิ่งเฉลิมฉลอง “239 ปี ศรีสะเกษ” เพราะย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2325 สมัยรัชกาลที่ ๑ พระภักดีภูธรสงคราม (ท้าวอุ่น) ปลัดเมืองขุขันธ์ ขอตั้งบ้านโนนสามขา สระกำแพงใหญ่ขึ้นเป็นเมืองศรีสะเกษ ขึ้นตรงกับเมืองขุขันธ์
กระทั่งมาสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้ย้ายที่ทำการเมืองขุขันธ์มาตั้งอยู่ที่เมืองศรีสะเกษ แล้วยุบเมืองขุขันธ์เดิมเป็นอำเภอห้วยเหนือ ผ่านการเปลี่ยนรูปแบบแบ่งเขตการปกครอง เคยเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาล ขึ้นตรงกับมณฑลอุบล
เมื่อประเทศไทยเปลี่ยนรูปแบบการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ได้ยกเลิกระบบมณฑลเทศาภิบาล กลายมาเป็นเขตการปกครองย่อยในรูปแบบจังหวัด ก็เปลี่ยนชื่อเป็นจังหวัดขุขันธ์ แล้วกลายมาเป็นจังหวัดศรีสะเกษเมื่อปี พ.ศ. 2481
การเปิดใช้ ทางรถไฟสายนครราชสีมา-อุบลราชธานี โดยเปิดการเดินรถถึงสถานีศรีสะเกษเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2471 ก่อนจะเปิดถึงสถานีวารินชำราบในวันที่ 1 เมษายน 2473 ส่งผลทำให้ความเจริญกระจุกตัวโดยรอบสถานีรถไฟ
แต่ถามคนที่อยู่ศรีสะเกษ เดี๋ยวนี้อำเภอที่เจริญที่สุด คือ กันทรลักษ์ ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ 62 กิโลเมตร เป็นแหล่งเพาะปลูกทุเรียนภูเขาไฟ และมีแหล่งท่องเที่ยวโบราณสถานที่มีชื่อเสียง อย่างปราสาทเขาพระวิหาร
ด้วยความที่ตัวเมืองศรีสะเกษไม่ได้ใหญ่โตมาก การจัดวางผังเมืองจึงไม่ค่อยสลับซับซ้อนนัก มีถนนสายหลักในตัวเมือง ได้แก่ ถนนขุขันธ์ รับรถจากอำเภอขุขันธ์และอำเภอกันทรลักษ์ เข้าไปในตัวเมือง
ถนนอุบล รับรถจากจังหวัดอุบลราชธานี ตัดกับถนนขุขันธ์ที่ห้างแต้ฮกเซ้ง ไปสิ้นสุดที่ถนนกสิกรรม บริเวณโรงพยาบาลศรีสะเกษ ส่วนถนนศรีสะเกษ-อุทุมพรพิสัย จะมีสะพานขาว ก่อนจะถึงสี่แยกถนนเทพากับถนนกสิกรรม
ถนนกสิกรรม เริ่มต้นจากสำนักงานเกษตรจังหวัด ผ่านแยกสะพานขาว โรงพยาบาลศรีสะเกษ วิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษ สิ้นสุดที่ถนนศรีสะเกษ-ขุขันธ์, ถนนวันลูกเสือ ผ่านศูนย์การค้าซุ่นเฮงพลาซ่า ไปสิ้นสุดที่ถนนศรีสุมังค์ เป็นต้น
ส่วนละแวกริมทางรถไฟ ถัดจากสถานีรถไฟศรีสะเกษแล้ว จะมีตลาดสดที่ชื่อว่า ตลาดต้นมะเกลือ ช่วงเช้ามืดถึงช่วงสาย จะเปิดขายริมทางรถไฟฝั่งทิศเหนือ ส่วนช่วงบ่ายถึงค่ำจะเน้นเปิดขายฝั่งทิศใต้ ยาวไปถึงถนนวิจิตรนคร
ด้วยความที่เป็นจังหวัดเล็กๆ หลังสามทุ่มเป็นต้นไปบรรยากาศจะเริ่มเงียบแล้ว แต่คนที่อยู่ศรีสะเกษมองว่า ถ้าเป็นอีกจังหวัดหนึ่งในภาคอีสานที่อยู่ใกล้กันจะหนักกว่านี้ เพราะหลัง 1 ทุ่มก็เริ่มหาของกินยากแล้ว
ถึงกระนั้น ทางรถไฟสายอีสานใต้ ยังคงมีรถไฟผ่านเข้า-ออกตลอด มีทั้งขบวนรถโดยสารวันละ 24 ขบวน และขบวนรถสินค้าวิ่งผ่าน เพราะฉะนั้นเวลาเข้านอนจะได้ยินเสียงรถไฟผ่านเข้าหูในยามวิกาลเข้ามาบ้าง
สิ่งหนึ่งที่บ่งบอกถึงความเจริญทางการค้าในอดีต คือ ตึกขุนอำไพพาณิชย์ บนถนนอุบล ใกล้แยกตัดกับถนนวิจิตรนคร ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2468 หรืออายุเกือบจะ 100 ปี ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ. 2538
เดิมเป็นบ้านส่วนตัวของ ขุนอำไพพาณิชย์ (อินทร์ นาคสีหราช) คหบดีชาวศรีสะเกษ ลักษณะเป็นอาคาร 2 ชั้น 6 คูหา บริเวณนั้นเรียกว่าตลาดใน (ตลาดเก่า) หลังถึงแก่กรรมได้เปิดให้เช่าประกอบกิจการทางการค้า
กระทั่งปี พ.ศ.2523 อาคารเกิดชำรุด เทศบาลจึงประกาศเป็นเขตหวงห้าม กรมศิลปากรได้เข้ามาบูรณะซ่อมแซม กลายเป็นร้านจำหน่ายสินค้าโอทอป ชั้นบนเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงประวัติและข้าวของเครื่องใช้เจ้าของบ้านหลังนี้
อีกจุดหนึ่งที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงไป คือร้านแต้ฮกเซ้ง ศูนย์จำหน่ายสินค้าปลีกในราคาส่ง ที่ยังเป็นอาคารครึ่งปูนครึ่งไม้ ต่างจากอาคารอื่นที่เป็นคอนกรีตหมดแล้ว เปิดให้บริการมานานกว่า 100 ปี ปัจจุบันดูแลโดยทายาทรุ่นที่สาม
แต่ห้างดังใจกลางเมืองศรีสะเกษ ที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองมานาน คือ ซุ่นเฮงพลาซ่า บนถนนกวงเฮงตัดกับถนนวันลูกเสือ เปิดให้บริการมานานกว่า 26 ปี มีทั้งหมด 3 ชั้น ชั้นล่างเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต ชั้นบนเป็นศูนย์อาหารและโรงภาพยนตร์
แม้จะมีห้างค้าปลีกโมเดิร์นเทรดเข้ามาเปิดสาขาที่นอกเมือง เช่น ห้างโลตัส ที่มีโรงภาพยนตร์เมเจอร์ อยู่ถนนอุบล และห้างบิ๊กซี ที่มีโรงภาพยนตร์เอ็มวีพี อยู่ถนนศรีสะเกษ-อุทุมพรพิสัย แต่ปัจจุบันก็ยังมีผู้คนมาใช้บริการที่นี่
เหตุที่ผู้คนยังเข้าซุ่นเฮงพลาซ่า เพราะมีโรงภาพยนตร์ที่ชั้น 3 ตั๋วหนังถูก นักเรียนนิยมมาดูหนังที่นี่ ส่วนชั้นล่าง ซูเปอร์มาร์เก็ตใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ รวมทั้งมีร้านสุกี้แบรนด์ภูธรอย่าง เอ็ม.ดี.สุกี้ จากเมืองโคราชมาเปิดสาขาที่นี่
ที่ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ไม่มาลงที่นี่ เพราะกำลังซื้อน้อย คนที่มีกำลังซื้อสูงนิยมขับรถไปช้อปปิ้งที่อุบลราชธานี ซึ่งห่างออกไปเพียง 65 กิโลเมตรมากกว่า จึงทำให้บางห้าง เช่น โฮมโปร อุบลราชธานี ติดป้ายโฆษณาโปรโมชันถึงที่นี่
ธุรกิจในตัวเมืองศรีสะเกษที่น่าสนใจคือร้านกาแฟ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะมีร้านกาแฟสมัยใหม่เข้ามาเปิดให้บริการในพื้นที่ตัวเมืองศรีสะเกษนับสิบร้าน แม้สถานการณ์โควิด-19 จะทำให้มีบางร้านต้องปิดกิจการไปบ้าง
มีอยู่แบรนด์หนึ่งที่นั่งรถผ่านแล้วน่าสนใจ แต่ไม่ได้แวะ คือร้าน คาเฟ่ราคอตต้า (Café Racotta) ถามคนพื้นที่ทราบว่าเจ้าของเป็นชาวอำเภออุทุมพรพิสัย ปัจจุบันมีอยู่ 6 สาขาที่ตัวเมืองศรีสะเกษ 1 สาขาที่กันทรลักษ์ และ 1 สาขาที่อุบลราชธานี
ศรีสะเกษแม้จะเป็นเมืองที่ไม่ใหญ่มากนัก เมื่อเทียบกับเมืองหลักอื่นๆ ในภาคอีสาน แต่ที่ผ่านมาก็มีความพยายามพัฒนาให้เป็นพื้นที่สีเขียว เป็นแหล่งออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจ เสมือนเป็นปอดของเมืองก็ว่าได้
เช่น เกาะกลางน้ำ หรืออ่างเก็บน้ำห้วยนำคำ อยู่ห่างจากตัวเมืองศรีสะเกษไปทางถนนขุขันธ์ เมื่อถึงแยก อ.ส. เลี้ยวขวาไปตามถนนเลี่ยงเมือง กลับรถที่หน้าสำนักงานที่ดินจังหวัดศรีสะเกษ ทางเข้าเกาะกลางน้ำจะอยู่ขวามือ
เดิมเป็นป่าละเมาะและทุ่งนา เทศบาลเมืองศรีสะเกษได้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยนำคำ มีเกาะอยู่ตรงกลาง และมีถนนรอบอ่างเก็บน้ำ ความยาวประมาณ 3 กิโลเมตร สำหรับปั่นจักรยานหรือเดินวิ่งออกกำลังกาย
บริเวณเกาะเป็นที่ตั้งของหอคอย มีชื่อว่า “หอศรีลำดวนเฉลิมพระเกียรติ” เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 16 ชั้น สูง 84 เมตร เปิดเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2559 เมื่อขึ้นไปด้านบนจะมองเห็นทัศนียภาพทั่วเมืองศรีสะเกษ
แต่ตอนที่นั่งรถผ่านในวันนั้นดูเหมือนว่าจะมืดสักหน่อย คงต้องรอให้เทศบาลเมืองศรีสะเกษปรับปรุงแก้ไขต่อไป
อีกแห่งหนึ่งที่ไม่ได้แวะ แต่เพิ่งเปิดไปเมื่อเร็วๆ นี้ คือ สวนสาธารณะกุดหวาย ถนนศรีสะเกษ-อุทุมพรพิสัย ติดกับห้างบิ๊กซี ศรีสะเกษ ทางจังหวัดศรีสะเกษก่อสร้าง “อนุสรณ์ 239 ปี จังหวัดศรีสะเกษ” ให้เป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่ของจังหวัด
สวนแห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ 24 ไร่ หนึ่งในนั้นคือ “หอขวัญเมืองศรี” หอชมสวนความสูง 3 ชั้น ที่ออกแบบทันสมัยใจกลางบึง พร้อมทางวิ่งสำหรับออกกำลังกาย ถือเป็นแลนด์มาร์กใหม่ของจังหวัดศรีสะเกษเลยก็ว่าได้
นอกจากนี้ ยังเป็นเมืองที่มีสถาบันอุดมศึกษาตั้งอยู่ เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ก่อตั้งมานานถึง 17 ปี, มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตศรีสะเกษ, วิทยาลัยสงฆ์ศรีสะเกษ และเอกชนอย่างมหาวิทยาลัยเฉลิมกาญจนา
ทั้งหลายทั้งปวงคือตัวเมืองศรีสะเกษที่ได้สัมผัสด้วยตัวเอง แม้จะไม่ได้มีแสงสีคึกคักเหมือนเมืองอื่น แต่ก็มีความเป็นเมืองเล็กๆ ที่เรียบง่าย นอกเหนือจากมีรถไฟเข้าถึง ใช้เวลาเดินทางเพียงครึ่งวันเช้าเท่านั้น