กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
หลายคนอาจยังไม่รู้ (หรือรู้แต่ลืมไปแล้ว) ว่าจังหวัดสุพรรณบุรีก็มีทางรถไฟ เพียงแต่ว่าเป็นทางรถไฟที่มีขบวนรถให้บริการเพียงน้อยนิด จากปัจจุบันคนสุพรรณบุรีนิยมนั่งรถตู้เข้ากรุงเทพฯ มากกว่า
ทางรถไฟสายสุพรรณบุรี แยกจากทางรถไฟสายใต้ที่สถานีชุมทางหนองปลาดุก อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ผ่านพื้นที่ อ.เมืองฯ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม, อ.สองพี่น้อง อ.บางปลาม้า และ อ.เมืองฯ จ.สุพรรณบุรี ระยะทาง 78 กิโลเมตร
ปัจจุบันมีรถไฟสัปดาห์ละ 2 ขบวน ได้แก่ ขบวนรถชานเมืองที่ 355 กรุงเทพ-สุพรรณบุรี มีเฉพาะวันอาทิตย์ ออกจากสถานีกรุงเทพ 16.40 น. และขบวนที่ 356 สุพรรณบุรี-กรุงเทพ มีเฉพาะวันจันทร์ ออกจากสถานีสุพรรณบุรี 04.30 น.
นอกนั้นเดินรถถึง “สถานีชุมทางหนองปลาดุก” เท่านั้น
แม้จำนวนผู้โดยสารแทบจะไม่มี แต่ที่ยังคงเดินรถไฟสายสุพรรณบุรีต่อไป ทราบว่าเพื่อรักษาเส้นทาง เนื่องจากหากปล่อยทิ้งไว้จะมีชาวบ้านมาบุกรุกเส้นทางยากที่จะขับไล่ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับทางรถไฟสายหาดใหญ่-สงขลา
เมื่อก่อนรถไฟสายสุพรรณบุรีมีให้บริการทุกวัน ถึงสถานีสุพรรณบุรีราว 2-3 ทุ่ม แล้วทำขบวนขากลับตอนตีสี่ครึ่ง แต่ภายหลังลดเหลือสัปดาห์ละครั้ง เพราะที่ผ่านมาแทบจะมีผู้โดยสารน้อยมาก
นานๆ ถึงจะมีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นสักครั้ง เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดทดลองขนส่งสินค้าทางรถไฟ กับ บริษัท ไทยเรลโลจิสติกส์ จำกัด และ บริษัท บุญซัพพลายเชน จำกัด
เป็นการทดลองขนส่งเบียร์บรรจุกล่อง จากต้นทาง ที่หยุดรถไฟศรีสำราญ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ถึงปลายทาง สถานีรถไฟชุมทางบ้านทุ่งโพธิ์ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ที่มีย่านเก็บกองตู้คอนเทนเนอร์ ระยะทางประมาณ 400 กิโลเมตร
ที่หยุดรถไฟศรีสำราญ ใกล้กับจุดตัดทางรถไฟถนนศรีสำราญ 3 ห่างจากถนนบางลี่-หนองวัลย์เปรียง 1 กิโลเมตร มาจากถนนมาลัยแมนก็ได้ หรือมาจากถนนสาย 340 เลี้ยวซ้ายเข้าถนนลาดบัวหลวง-สองพี่น้อง ผ่านวัดไผ่โรงวัวก็ได้
เหตุที่เลือกที่หยุดรถไฟศรีสำราญนั้น ณัฏฐา ธนกิจสถาพร ประธานบริหาร บริษัท ไทยเรลโลจิสติกส์ มองว่าทำเลเหมาะสม เพราะใกล้นิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง จากปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม อีกทั้งอยู่นอกชุมชน
แต่ที่ข่าวไม่ได้พูดถึงก็คือ บริษัท สิงห์ เบเวอเรช จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเบียร์ลีโอ ตั้งอยู่บนถนนลาดบัวหลวง-สองพี่น้อง ใกล้ถนนสาย 340 ต.บัวปากท่า อ.บางเลน จ.นครปฐม ห่างจากที่หยุดรถไฟศรีสำราญ 33 กิโลเมตร
ปัจจุบัน เบียร์ลีโอผลิตจากโรงงาน 3 แห่ง ได้แก่ ขอนแก่น บางเลน และปทุมธานี คาดว่าน่าจะขนลังเบียร์มาทดลองขนส่งสินค้าทางรถไฟ หลังจากที่ผ่านมาขนส่งทางรถบรรทุกเป็นหลัก
การทดลองขนส่งสินค้าทางรถไฟครั้งนี้ ใช้วิธีวางและผูกมัดกับแคร่สินค้าจำนวน 10 แคร่ ซึ่งการรถไฟฯ กำหนดความสูงของกล่องสินค้าไม่เกิน 3 เมตร คลุมด้วยผ้าใบพลาสติกพร้อมผูกรัดมัดกล่องเรียบร้อย
ทราบว่าออกจากที่หยุดรถไฟศรีสำราญประมาณ 6 โมงเย็นเศษ ถึงสถานีชุมทางบ้านทุ่งโพธิ์เกือบบ่าย 2 โมง กินเวลาราว 20 ชั่วโมง เพราะต้องคอยสับหลีกขบวนรถ และมีการก่อสร้างรถไฟทางคู่นครปฐม-ชุมพร ต้องใช้ความเร็วต่ำ
หลังทดลองการเดินรถครั้งนี้ ไทยเรลโลจิสติกส์ จะประเมินผลและปรับแก้การหุ้มห่อสินค้าให้ลงตัว คาดว่ากลางปี 2565 จะเริ่มขนส่งสินค้าจากที่หยุดรถศรีสำราญ ไปยังปลายทางสถานีปาดังเบซาร์ ฝั่งประเทศมาเลเซียทุกวัน
ขากลับจะมีสินค้ากลับมาด้วย เป็นยางพาราและกลุ่มสินค้าอะไหล่อิเล็กทรอนิกส์จากอินเดีย ขึ้นท่าเรือปีนังของมาเลเซีย มาถึงปาดังเบซาร์ ก็จะนำขบวนรถนี้ขนสินค้ากลับมา เพื่อส่งต่อไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนและไต้หวันต่อไป
ถือเป็นครั้งแรกที่ขนส่งสินค้าบนเส้นทางรถไฟสายสุพรรณบุรี จากเดิมขนส่งทางรางในกลุ่มอุตสาหกรรมหนัก เช่น ปูนซีเมนต์ น้ำมัน สินค้านำเข้า-ส่งออกต่างๆ บนเส้นทางสายอีสานและสายตะวันออก
ย้อนกลับไปถึงที่มาที่ไปของทางรถไฟสายนี้ ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เห็นว่าทางคมนาคมระหว่างจังหวัดสุพรรณบุรี กับจังหวัดพระนครและจังหวัดใกล้เคียงยังไม่สะดวกพอ สมควรจะสร้างทางรถไฟเพื่อส่งเสริมทางให้สะดวกยิ่งขึ้น
สมัยนั้นรัฐบาลมีแผนจะก่อสร้างทางรถไฟสายตะวันตก จากชุมทางหนองปลาดุก ถึงชุมทางตาก บรรจบกับโครงการสายบ้านดารา-สวรรคโลก-ตาก-เมาะละแหม่ง และแนวเส้นทางสุพรรณบุรี-ชุมทางบ้านภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา
เริ่มต้นสำรวจแนวทางการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2496 จากนั้นเริ่มก่อสร้างงานดินและวางรางรถไฟเมื่อปี พ.ศ. 2497
ขณะนั้นรัฐบาลจอมพล ป. จะสร้างทางรถไฟต่อจากจังหวัดสุพรรณบุรีไปยังจังหวัดลพบุรี เพื่อให้ทางรถไฟสายเหนือและสายใต้ติดต่อกันได้อีกทางหนึ่ง โดยมีการออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินเมื่อปี พ.ศ. 2498
แต่หลังจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เข้าควบคุมอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 ทำให้ในปี พ.ศ. 2501-2504 โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายสุพรรณบุรี ต้องหยุดก่อสร้างชั่วคราว เนื่องจากขาดงบประมาณ
เมื่อได้รับงบประมาณในปี พ.ศ. 2505 รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์จึงได้สั่งให้ก่อสร้างต่อ เมื่อวางรางรถไฟมาถึงที่หยุดรถไฟมาลัยแมนในต้นปี พ.ศ. 2505 ทำให้ทางรถไฟสายนี้สิ้นสุดที่สถานีสุพรรณบุรี เป็นสถานีปลายทาง
เมื่อไม่มีงบประมาณก่อสร้างต่อ ทางรถไฟสายสุพรรณบุรีจึงหยุดอยู่ที่ถนนมาลัยแมนถึงปัจจุบัน
16 มิถุนายน 2506 จอมพลสฤษดิ์ ทำพิธีเปิดเส้นทางรถไฟสายหนองปลาดุก-สุพรรณบุรี ที่สถานีชุมทางหนองปลาดุก และให้บริการเดินรถเป็นครั้งแรก โดยมีสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 15 (วัดสระเกศ) เสด็จฯ มาทำพิธีเจิมหัวรถจักร
ขณะนั้นมีรถไฟให้บริการวันละ 4 ขบวนไป-กลับ ได้แก่ ขบวนที่ 347 ออกจากสถานีธนบุรีตอนเช้า ถึงสุพรรณบุรีตอนเที่ยง ต่อด้วยขบวนที่ 348 ออกจากสถานีสุพรรณบุรีหลังเที่ยง ถึงสถานีธนบุรีตอนเย็น ค่าโดยสารเที่ยวละ 12 บาท
อีกขบวนหนึ่ง คือ ขบวนที่ 345 ออกจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ตอนบ่าย ถึงสถานีสุพรรณบุรีตอนเย็น รุ่งเช้า ขบวนที่ 346 ออกจากสถานีสุพรรณบุรีเช้าตรู่ ถึงสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ก่อนเที่ยง ค่าโดยสารเที่ยวละ 13 บาท
ที่ผ่านมาการเดินรถสายสุพรรณบุรีได้รับความนิยมน้อย เนื่องจากเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทางเร็วกว่า ที่ผ่านมากรมทางหลวงก่อสร้างถนนตลิ่งชัน-สุพรรณบุรีเมื่อปี พ.ศ. 2521 แล้วสร้างต่อไปถึงจังหวัดชัยนาท ทำให้การเดินทางสะดวกขึ้น
สมัยรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา จากพรรคชาติไทย ซึ่งเป็นคนสุพรรณบุรี แม้จะมีความพยายามที่จะนำรถไฟเข้าจังหวัดเพื่อเป็นทางเลือก โดยเฉพาะการนำรถดีเซลรางปรับอากาศแดวูมาให้บริการ
5 มกราคม 2539 สถานีสุพรรณบุรี ได้มีพิธีเปิดเดินรถขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศ สายกรุงเทพ-สุพรรณบุรี โดยมีนายบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ ประธานรัฐสภาขณะนั้น เป็นประธานเปิดการเดินรถ แต่สุดท้ายก็หยุดให้บริการ
ที่สุดแล้วทางรถไฟสายสุพรรณบุรี ถูกลดบทบาทลง เหลือเพียงแค่ขบวนรถวันละครั้ง ก่อนจะเหลือสัปดาห์ละครั้ง ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2558 การรถไฟฯ ได้ปรับปรุงทางรถไฟ โดยก่อสร้างคันดิน และเปลี่ยนไม้หมอนเป็นคอนกรีตทั้งหมด
ส่วนสถานีรถไฟสุพรรณบุรี เป็นอาคารเก่าแก่และสวยงามคลาสสิก รวมทั้งรางรถไฟ ไม้หมอน ตู้สินค้าเก่าๆ ทำให้มีผู้สนใจภาพถ่ายแนววินเทจ แวะเวียนไปถ่ายรูปเป็นที่ระลึกเป็นประจำ
แม้หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า อนาคตของทางรถไฟสายสุพรรณบุรีจะเป็นอย่างไร แต่การรถไฟฯ ก็มีแผนที่จะทำโครงการรถไฟสายใหม่ ช่วงกาญจนบุรี-ชุมทางบ้านภาชี ระยะทาง 221 กิโลเมตรในอนาคต
จุดเริ่มต้นที่สถานีรถไฟท่ากิเลน อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ก่อสร้างทางคู่ขนานไปกับทางรถไฟเดิม ถึงสถานีวังเย็น หลังจากนั้นจะเป็นทางรถไฟใหม่ เพื่อเลี่ยงสะพานข้ามแม่น้ำแคว บรรจบกับทางรถไฟเดิมที่สถานีท่าเรือน้อย อ.ท่ามะกา
จากนั้นจะเป็นทางคู่ขนานถึงสถานีชุมทางหนองปลาดุก ต่อเนื่องทางรถไฟสายสุพรรณบุรี ถึงที่หยุดรถไฟหนองผักชี อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี จะเป็นทางรถไฟใหม่ไปทางทิศตะวันออก ผ่านถนนสาย 340 บางบัวทอง-สุพรรณบุรี
เข้าเขต อ.บางซ้าย จ.พระนครศรีอยุธยา ผ่านตอนเหนือของ อ.เสนา อ.บางบาล แล้วข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านถนนสาย 309 อยุธยา-อ่างทอง, สาย 347 ปทุมธานี-บางปะหัน ช่วงเหนือแยกทุ่งมะขามหย่อง ข้ามแม่น้ำลพบุรี
ผ่านถนนสายเอเชีย ข้ามแม่น้ำป่าสัก ก่อนบรรจบกับทางรถไฟสายเหนือที่สถานีมาบพระจันทร์ อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา แล้วก่อสร้างต่อ สิ้นสุดที่สถานีชุมทางบ้านภาชี อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา
หากก่อสร้างแล้วเสร็จ ขบวนรถจากจากภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งท่าเรือแหลมฉบัง สามารถอ้อมจากชุมทางบ้านภาชี ไปออกชุมทางหนองปลาดุก เพื่อไปยังภาคใต้ได้โดยไม่ต้องเข้ากรุงเทพฯ และสะพานพระราม 6
แม้ปัจจุบันโครงการนี้อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น ยังไม่มีอะไรคืบหน้าก็ตาม แต่ก็พอวาดฝันได้ว่า ในอนาคตทางรถไฟสายสุพรรณบุรีที่เงียบเหงา จะกลายเป็นทางผ่านสำคัญของการขนส่งทางราง
ขึ้นอยู่กับว่าผู้นำในอนาคตจะมีวิสัยทัศน์ต่อโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้หรือไม่ ถึงจะได้ฝันที่เป็นจริง