กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
14 มีนาคม 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ทำพิธีเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ ดอนเมือง-เบตง ของสายการบินนกแอร์ ที่ท่าอากาศยานเบตง จ.ยะลา
หลังจากนั้น สายการบินนกแอร์ กลับยกเลิกเที่ยวบินวันที่ 16 และ 18 มีนาคม 2565 พร้อมงดทำการบินแบบไม่มีกำหนด ให้เหตุผลว่า “จำนวนผู้โดยสารไม่เป็นไปตามคาด” แต่ยืนยันว่าพร้อมให้บริการสู่ท่าอากาศยานเบตง
จะมีก็แต่เที่ยวบินพิเศษวันที่ 18 มีนาคม 2565 ที่เชิญบรรดานักข่าว ยูทูบเบอร์ โซเชียลมีเดีย อินฟลูเอนเซอร์ และบริษัททัวร์มาเที่ยวเบตง รวม 35 คน ก็ยังแปลกใจอยู่ว่า ให้คนบินฟรีได้ แต่ทำไมยกเลิกไฟล์ทที่คนจองไม่ถึง 20-30 คน
กลายเป็นที่วิจารณ์จากชาวเน็ตว่า สนามบินเบตง ไม่เจ๊งแต่จอด!
ขณะเดียวกัน ในห้วงเวลาที่เปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ ก็มีเสียงวิจารณ์หลายเรื่อง ทั้งมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดเกินเบอร์ ถึงขนาด “นักข่าวห้ามเข้า” ทั้งที่นักข่าวและทีมรายงานสด ก็ส่งรายชื่อไปแล้ว แต่ไม่รู้ไปตกหล่นที่ใคร
นักข่าวติดต่อทั้งหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง กองทัพภาคที่ 4 ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ไปถึงกรมท่าอากาศยาน โยนกันไปมา ทำอะไรไม่ได้สักอย่าง สุดท้ายทีมกองงานโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี ต้องการันตีให้สื่อเข้าไปได้ 2 ชั่วโมงถัดมา
นักข่าวบางคนถึงกับกล่าวว่า “บอกเลย...ไม่ให้อภัย 100%”
ส่วนบริษัททัวร์แห่งหนึ่ง จะนำนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมท่าอากาศยานเบตง ก็ถูกเจ้าหน้าที่สนามบินเบตง “เชิญออก” ซึ่งภาษาชาวบ้านพอเดาออกคงว่า “ไล่เหมือนหมูเหมือนหมา” นั่นแหละ อ้างว่ายังเก็บของไม่เสร็จ เลยไม่ให้เข้าชม
ทั้งๆ ที่ในช่วงที่สนามบินยังไม่มีเที่ยวบิน เพราะยังไม่มีใบรับรองสนามบินสาธารณะ ก็ยังมีชาวบ้านมาถ่ายรูปเช็กอินกันเป็นแถว แล้วก็ถูกค่อนแคะว่า สร้างเสร็จมาแล้ว 2-3 ปี เป็นได้แค่ที่เช็กอินถ่ายรูป
ท่าอากาศยานเบตง ตั้งอยู่ที่ตำบลยะรม ห่างจากหอนาฬิกาเบตง 13 กิโลเมตร ก่อสร้างเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558 แล้วเสร็จในปี 2563 เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ใช้งบประมาณราว 1,900 ล้านบาท
ประกอบด้วยทางวิ่ง หรือรันเวย์ กว้าง 30 เมตร ยาว 1,800 เมตร ลานจอดเครื่องบิน รองรับเครื่องบินลำเล็ก ATR72 ได้ 3 ลำ พร้อมอาคารผู้โดยสารและอาคารประกอบ รวม 7,000 ตารางเมตร รองรับได้ 300 คนต่อชั่วโมง
ประกาศให้เป็นสนามบินอนุญาต เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมามีความพยายามที่จะนำเที่ยวพาณิชย์มาลงที่นี่ แต่ติดขัดตรงที่ไม่มีใบรับรองสนามบินสาธารณะ กระทั่งได้รับใบรับรองเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 ที่ผ่านมานี้เอง
ขออนุญาตหยิบยกข้อความบางช่วงบางตอนจาก คุณเถกิง สมทรัพย์ สื่อมวลชนอาวุโส กล่าวถึงปัญหาของการท่องเที่ยวเบตง หลังเกิดปัญหานายกรัฐมนตรีพร้อม ประชาชนคนเบตงพร้อม แต่สายการบินและสนามบินไม่พร้อม
คุณเถกิง กล่าวว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพราะรัฐบาลทุ่มเงินพีอาร์ไปมากมายแล้ว รวมทั้งเที่ยวบินพิเศษหลายเที่ยวบิน
แต่ปัญหาหลักมีอยู่ 3 ประการ คือ 1. สายการบินนกแอร์ไม่บินตามที่ประกาศ 2. ราคาตั๋วไปเบตงของนกแอร์ยังแพง และ 3. เจ้าหน้าที่สนามบินเบตงขาด “เซอร์วิสมายด์”
การรับรู้ว่าเบตงน่าเที่ยวยังไงนั้น คนเขารู้กันทะลุปรุโปร่งมานานแล้ว ไม่จำเป็นต้องเสียเงิน เสียเวลา ทำพีอาร์กันในช่วงนี้อีกแล้ว
คุณเถกิงข้อสังเกตประการหนึ่ง คือ อำเภอเบตงไม่มีแหล่งท่องเที่ยวเพียงพอที่จะจัดทำโปรแกรมขายทัวร์ให้ได้รับความนิยมในระยะยาว ต้องบวกกับพื้นที่สงขลา ปัตตานี ยะลา จะเสริมซึ่งกันและกันได้ดีมาก
โปรแกรมทัวร์ส่วนใหญ่จะพาเที่ยวตั้งแต่ สงขลา ปัตตานี ยะลา แล้วค่อยมาถึงเบตง หมายความว่า ต้องบินลงที่หาดใหญ่ นั่งรถต่อไปที่เบตง และพอเที่ยวจบก็นั่งรถกลับมาสนามบินหาดใหญ่
ถ้าสนามบินเบตงเรียบร้อย มีสายการบินบินประจำ ก็สามารถขึ้น-ลงสนามบินหาดใหญ่ หรือสนามบินเบตงได้ดี แต่เพราะสนามบินเบตงมีสายการบินนกแอร์เพียงเจ้าเดียว บินสัปดาห์ละ 3 วัน จึงไม่ลงตัวมากนักต่อการทำทัวร์
จะบินไปหาดใหญ่ด้วยนกแอร์ กลับจากเบตงด้วยนกแอร์ ก็ไม่สะดวกเท่ากับใช้สายการบินอื่นร่วมด้วย ทั้งเหตุผลเรื่องราคาถูกกว่า จำนวนเที่ยวบินมากกว่า เวลา และสถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลายกว่า
ถ้าราคาตั๋วเที่ยวละ 3,500 บาทขึ้นไป จะให้บริษัททัวร์ส่วนใหญ่พาลูกค้าบินมาลงคงจะไม่ได้มากนัก และความแน่นอนของการบินมาเบตงยังเปลี่ยนตลอดเวลา การจัดทัวร์มากันมากๆ ก็ทำไม่ค่อยได้ ถ้าจองแล้วเกิดยกเลิก ทัวร์ก็พัง
ไม่นับรวมสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน จำนวนคนมาเบตงก็คงจะยังไม่มาก ถ้าหากโอมิครอนลดลง และ อนาคตด่านมาเลเซียเปิดการคมนาคมคนเข้าไปออกมาเที่ยวกันได้ สนามบินคงคึกคักกว่านี้
คุณเถกิงเสนอว่า ช่วงนี้ทำตารางบินให้นิ่ง ลดแลกแจกแถมสักหน่อย และเจ้าหน้าที่สนามบินเบตง ต้อนรับขับสู้คนท่องเที่ยวกันบ้าง น่าจะค่อยๆ ดีขึ้น เปรียบเหมือน “ลงทุนวันนี้รับทรัพย์วันพรุ่งนี้”
แต่เสียงสะท้อนอีกด้าน พบว่าการจะให้ราคาตั๋วเครื่องบินเบตง ถูกแบบจับต้องได้ มีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น ค่าใช้จ่ายที่สายการบินต้องจ่ายให้ภาครัฐ ค่าใช้จ่ายพนักงานภาคพื้น ไป-กลับอยู่ที่หลักล้านบาทต่อเที่ยวบิน
และเมื่อสนามบินเบตงมีข้อจำกัดตรงที่มีรันเวย์ขนาดเล็ก เพียง 1,800 เมตร จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องบินขนาดเล็ก อย่าง Bombardier Q400 จำนวนที่นั่งเพียง 86 ที่นั่ง ซึ่งมีค่าบำรุงรักษาสูงกว่าเครื่องบินลำใหญ่
ตอนที่สายการบินนกแอร์เปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ 14 มีนาคม 2565 ราคาบัตรโดยสารเริ่มต้นที่ 3,200 บาท เป็นราคาที่ไม่มีน้ำหนักกระเป๋า แต่ถ้าจะบวกน้ำหนักกระเป๋า ราคาอยู่ที่ 3,530 บาท สูงสุด 3,850 บาท
ราคานี้ไม่ใช่ราคาตายตัว แต่จะเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้โดยสารแบบขั้นบันได จองก่อนถูกกว่า จองที่หลังแพงกว่า ช่วงที่ใกล้จะขายหมด ราคาเริ่มต้นที่ 4,500 บาท ถ้าบวกน้ำหนักกระเป๋า ราคาอยู่ที่ 4,830 บาท สูงสุด 5,150 บาท
เห็นแบบนี้ คนที่ควักบัตรเครดิตเตรียมจะจองตั๋วไป-กลับคงต้องเก็บบัตรเข้ากระเป๋าสตาค์รัวๆ เพราะแพงเกินไป ทั้งๆ ที่ราคานี้ควรบวกน้ำหนักสัมภาระฟรี อาหารว่างฟรีด้วยซ้ำ
แล้วอย่าไปเปรียบเทียบกับเส้นทางสมุยของบางกอกแอร์เวย์ส เพราะยังได้โหลดกระเป๋าฟรี 20 กิโลกรัม อีกทั้งสนามบินสมุยเอกชนเขาลงทุนเอง และปลายทางสมุยมีโรงแรมที่พัก สถานประกอบการรองรับไปถึงระดับลักชัวรี ผู้ที่มีกำลังซื้อสูงอยู่แล้ว
ข้อมูลโรงแรมจากจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า อำเภอเบตงมีโรงแรมที่ได้รับใบอนุญาตรวม 28 แห่ง 1,682 ห้อง แต่โรงแรมที่ได้รับมาตรฐาน SHA มีเพียง 12 แห่ง หนึ่งในนั้นมีมาตรฐาน SHA PLUS แค่ 7 แห่ง
เมื่อมาดูโปรแกรมบริษัททัวร์ต่างๆ ที่นำเที่ยวเบตง พบว่าที่ผ่านมาขึ้น-ลงเครื่องบินที่สนามบินหาดใหญ่ แต่ไม่ได้มุ่งหน้าเบตงอย่างเดียว จะแวะแหล่งท่องเที่ยวระหว่างทาง เช่น หลวงปู่ทวดวัดช้างให้, ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว
การก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง แม้มองผิวเผินจะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยว แต่ปัญหาสารพัดทั้งข้อจำกัดของสนามบิน ความไม่พร้อมของสายการบิน บัตรโดยสารที่แพง กลายเป็นปัญหาที่กลืนไม่เข้า คายไม่ออกมาถึงทุกวันนี้
แล้วปัญหานี้จะลามไปถึงสนามบินและเส้นทางบินในอนาคต เช่น ท่าอากาศยานนครราชสีมา ที่สายการบินนกแอร์สนใจเปิดเส้นทางบินนครราชสีมา-เชียงใหม่ ระยะแรกจะใช้เครื่องแบบ Q400 เหมือนกัน ถ้ามาจริงจะไปรอดหรือไม่?
เห็นราคาตั๋วเครื่องบินแพงแบบตีหัวเข้าบ้านแบบนี้ ก็อยากให้ทุกภาคส่วนตั้งแต่ภาครัฐยันสายการบินหาทางออกร่วมกันให้ได้ ทราบมาว่านกแอร์จะประชุมกับผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวอีกครั้งในวันที่ 21 มีนาคมนี้
ในฐานะนักท่องเที่ยวคนหนึ่ง เส้นทางบินในประเทศแบบนี้ ตั๋วเที่ยวเดียวขาละ 3-4 พันบาท ถ้าเป็นฟลูเซอร์วิสจะไม่ว่าเลย แต่อันนี้ไม่ใช่ แถมแพงตั้งแต่จองล่วงหน้า แล้วยังให้แบกสัมภาระขึ้นเครื่อง 7 กิโลกรัม คิดว่าคงไม่แฟร์นัก
นึกถึงเพลงๆ หนึ่งที่ร้องว่า “ถ้าจะมาไม่มาทั้งใจ ก็กลับไปเสียดีกว่า”