กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
การประมูลคลื่นความถี่ในระบบเอฟเอ็ม สำหรับการให้บริการกระจายเสียง ประเภทกิจการทางธุรกิจ ผ่านพ้นไปเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา บรรยากาศแตกต่างจากการประมูลทีวีดิจิทัลเมื่อ 9 ปีก่อน
หากย้อนกลับไป สื่อแต่ละค่ายหมายปองที่จะมีช่องทีวีเป็นของตัวเอง ต่างทุ่มเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเพื่อให้ได้ใบอนุญาตมา แต่เมื่อเกิดวิกฤต Digital Disruption พฤติกรรมผู้ชมที่เปลี่ยนแปลงไป หลายช่องจึงล้มหายตายจาก
มาถึงการประมูลคลื่นวิทยุ เราจึงไม่เห็นสื่อยักษ์ใหญ่ให้ความสนใจ นอกจาก บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ประมูลคลื่นวิทยุที่ตัวเองส่งคืน สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
หรือจะเป็น บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) ประมูลคลื่น FM 106.5 ที่ใช้ผลิตรายการภายใต้ชื่อ “กรีนเวฟ” มาตั้งแต่สมัยยังเช่าสถานีวิทยุ 1 ปณ. ของกรมไปรษณีย์โทรเลข เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2534 ยาวนานกว่า 30 ปี
การประมูลคลื่นวิทยุครั้งนี้ สำนักงาน กสทช. นำคลื่นที่หน่วยงานต่างๆ ส่งคืนเพื่อนำมาจัดสรรใหม่ รวม 74 คลื่น ได้แก่ อสมท 60 คลื่น กรมประชาสัมพันธ์ 10 คลื่น และที่ กสทช. ถือครองต่อมาตั้งแต่กรมไปรษณีย์โทรเลขอีก 5 คลื่น
ปรากฏว่า มีผู้สนใจเข้าร่วมประมูล 71 คลื่น รวม 30 บริษัท แต่มีอยู่ 2 คลื่นที่มีผู้สนใจประมูลแต่ไม่มาวางเงินหลักประกัน ได้แก่ FM 97.5 กรุงเทพมหานคร (Mellow FM ของ อสมท เดิม) และ FM 91.75 พังงา (อสมท พังงา เดิม)
ส่วนคลื่นความถี่ไม่มีคนสนใจคือ FM 99.5 สตูล ของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (สวท.) จังหวัดสตูล เดิม ซึ่งนับจากนี้ทั้ง 3 คลื่นจะนำมาประมูลใหม่ หรือจะนำไปใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ก็ขึ้นอยู่กับ กสทช.
การประมูลคลื่นวิทยุครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 92 ปี นับตั้งแต่วิทยุกระจายเสียงก่อตั้งขึ้นที่วังพญาไท โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2473 เป็นต้นมา
กิจการวิทยุเริ่มเติบโตขึ้น เมื่อรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.การโฆษณากระจายเสียง ปี 2473 ประชาชนสามารถมีเครื่องรับวิทยุได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากทางราชการ พร้อมกับเปิดโอกาสให้หน่วยราชการอื่นจัดตั้งสถานีวิทยุได้
ผลก็คือมีส่วนราชการ โดยเฉพาะหน่วยทหาร จัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เปิดโอกาสให้เอกชนมารับช่วงผลิตรายการ เช่น รายการเพลง ละครวิทยุ ลิเก รายการตอบปัญหา ได้รับความนิยมจากผู้ฟัง
รูปแบบการรับช่วงผลิตรายการ มีตั้งแต่การทำสัญญาสัมปทาน เรียกสั้นๆ ว่าสัมปทานวิทยุ การร่วมผลิต การแบ่งเวลาให้เช่า ฯลฯ ซึ่งก็มีเนื้อหารายการที่หลากหลาย แล้วแต่วัตถุประสงค์และกลุ่มเป้าหมายที่แต่ละหน่วยงานกำหนด
วิทยุกระจายเสียงในยุคนั้น ถือเป็นสื่อหลักที่ได้รับความนิยมจากคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะรายการเพลง ยิ่งสถานีไหนได้รับความนิยม ค่าเช่าเวลาออกอากาศ และค่าโฆษณาก็ยิ่งแพงขึ้น
นอกจากนี้ สถานีวิทยุในต่างจังหวัด ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง สร้างคะแนนนิยมให้ฝ่ายตัวเอง ผลักดันให้คนในตระกูลและบริวารเจ้าของสัมปทาน เข้ามามีอำนาจในการเมืองท้องถิ่น
ผลประโยชน์จากคลื่นวิทยุจำนวนมหาศาล เคยเป็นชนวนเหตุถึงขั้น “นองเลือด” มาแล้ว เฉกเช่นคดีที่ นายแสงชัย สุนทรวัฒน์ ผู้อำนวยการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อ 11 เมษายน 2539
ชนวนเหตุมาจากนายแสงชัย ไม่ต่อสัญญาสัมปทานรายการวิทยุให้ นางอุบล บุญญชโลธร อดีต ส.ส.ยโสธร เจ้าแม่รายการวิทยุภาคเหนือ โดยที่มือปืนให้การซัดทอดว่า นายทวี พุทธจันทร์ อดีต ส.ส.เชียงราย ลูกเขยนางอุบลเป็นผู้จ้างวาน
แม้นางอุบลจะปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้อง แต่ 3 ปีให้หลัง นางอุบลถูกคนร้ายยิงถล่มด้วยอาวุธสงคราม เสียชีวิตที่หน้าบ้านในตัวเมืองยโสธร เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2542 ปิดฉากชีวิตเจ้าแม่วิทยุไปอย่างปริศนา
หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 เกิดกระแสการปฏิรูปสื่อ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 กำหนดให้คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ มีองค์กรอิสระจัดสรรและกำกับดูแลกิจการ
สำหรับคลื่นความถี่วิทยุ เดิม กสทช.กำหนดให้วิทยุคลื่นหลักทุกคลื่น รวม 512 คลื่นความถี่ จาก 27 หน่วยงาน ทดลองออกอากาศได้ถึง 3 เมษายน 2560 แต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 ยืดเวลาออกไปอีก 5 ปี
แต่ถ้าหน่วยงานราชการใดไม่อยากคืนคลื่น ก็ต้องยื่นขอใบอนุญาตฯ ประเภทกิจการบริการสาธารณะ ทำให้คลื่นทหาร กรมประชาสัมพันธ์ ส่วนราชการต่างๆ ไปยื่นขอใบอนุญาตฯ และมีคลื่น FM. ได้รับอนุญาตแล้ว 239 คลื่น
ถึงกระนั้น กรมประชาสัมพันธ์ได้ส่งคืนคลื่นวิทยุแก่สำนักงาน กสทช. ไปแล้วเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา จำนวน 41 คลื่น แบ่งเป็น FM. 9 คลื่น และ AM. 32 คลื่น ทำให้เหลือ 104 คลื่น แบ่งเป็น FM. 79 และ AM. 25 คลื่น
โดยลดคลื่นที่ซ้ำซ้อน ยุบสถานีย่อยไปรวมกับสถานีใหญ่ ยุบ “วิทยุเพื่อการศึกษา” ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2522 เพราะเครื่องส่งเก่าแล้ว เห็นว่าช่องทางออนไลน์มีประสิทธิภาพสูงกว่า จึงทบทวนภารกิจที่ไม่จำเป็นต่อการสื่อสารในยุคปัจจุบัน
ขณะที่ อสมท ก่อตั้งสถานีวิทยุมาตั้งแต่สมัยยังเป็น องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) แม้ขาข้างหนึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ในฐานะรัฐวิสาหกิจ แต่ขาอีกข้างหนึ่งเป็นธุรกิจในรูปแบบบริษัทมหาชน
จึงถูกจัดอยู่ในประเภทกิจการธุรกิจที่ต้องขออนุญาตใช้คลื่นด้วยวิธีการประมูล จำต้องคืนคลื่นวิทยุทั้งหมด 62 คลื่น (FM. 60 คลื่น AM. 2 คลื่น) เสียเงินหลักร้อยล้านเพื่อแลกกับการนำคลื่นที่ตัวเองเคยมีกลับมา
การประมูลคลื่นวิทยุครั้งนี้ จัดขึ้นที่ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทราฯ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ โดยมอบหมายให้ “สหการประมูล” ดำเนินการ และใช้ระบบคอมพิวเตอร์ภายใน (อินทราเน็ต) เคาะราคา
เท่าที่ทราบก็คือ การประมูลจะแบ่งออกเป็น 4 รอบ รอบละ 60 นาที แต่ละรอบจะมีจำนวนความถี่ไม่เหมือนกัน เมื่อถึงเวลาจะต้องเคาะราคาแรกภายใน 5 นาที ไม่เช่นนั้นถือว่าไม่อยากประมูล จะถูกตัดสิทธิและริบเงินประกัน
คลื่นวิทยุในกรุงเทพฯ เมื่อราคาเริ่มต้นที่สูง อีกทั้งมีผู้เข้าร่วมประมูลเพียงรายเดียว ส่วนใหญ่จึงเคาะราคาแรกครั้งเดียวจบ อย่างคลื่น FM 106.5 ราคาเริ่มต้น 54.83 ล้านบาท เคาะครั้งละ 5 แสนบาท จบลงที่ราคา 55.33 ล้านบาท
ผู้ประกอบการรายใหญ่ อสมท ประมูลคลื่นของตัวเอง 55 คลื่น ยกเว้น FM. 97.5 (Mellow เดิม) เพราะจะทำเป็น Pilot Project สำหรับธุรกิจดิจิทัลในอนาคต ส่วนต่างจังหวัดยอมตัดทิ้ง เช่น ลำพูน มหาสารคาม นราธิวาส และพังงา
ที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ คือ บริษัท ลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค 24 ชั่วโมง จำกัด ของ นายสุริยนต์ ตั้งขันติธรรม ที่ผลิตรายการแม่ข่าย FM 94.5 กระจายเสียงเครือข่ายทั่วประเทศอีก 45 สถานี คราวนี้เข้าร่วมประมูลอีก 45 คลื่น
บางบริษัทเป็นนิติบุคคลคนละชื่อ แต่ตรวจสอบกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์แล้ว พบว่ามีที่ตั้งบริษัทที่เดียวกัน แถวๆ ย่านสุขุมวิท ได้แก่ บริษัท เดือนเต็มธุรกิจ จำกัด ประมูลคลื่นที่เชียงใหม่และพิษณุโลก
บริษัท เค.ซี.เอส. แอ๊ดเวอร์ไทซิ่ง จำกัด ประมูลคลื่นที่จันทบุรี ชลบุรี สิงห์บุรี, บริษัท เจ.เอส.ไนน์ตี้วัน จำกัด ประมูลคลื่นที่ขอนแก่น ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี สุรินทร์ นครราชสีมา ชัยภูมิ อุดรธานี หนองคาย สกลนคร
และ บริษัท นานาเอนเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด ประมูลคลื่นที่สงขลา นราธิวาส ภูเก็ต นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี เป็นต้น เป็นไปได้ว่า 4 บริษัทเหล่านี้อาจแยกประมูลแต่ละภูมิภาค
การประมูลคลื่นวิทยุครั้งนี้มีเสียงสะท้อนมาว่าระบบไม่เสถียร ไม่สามารถเคาะประมูลได้ หรือเคาะไปตัวเลขค้าง แต่คู่แข่งกดราคาได้ปกติ ทำให้ราคาที่กดไปต่ำกว่าแล้วแพ้ประมูลในที่สุด
ความน่าสนใจอยู่ที่คลื่นวิทยุต่างจังหวัด โดยเฉพาะภาคอีสาน 21 จังหวัด ราคาเริ่มต้น 105,000 บาท เคาะราคาเพิ่มครั้งละ 4,000 บาท จึงมีหลายบริษัททั้งรายเล็กและรายใหญ่เข้าประมูลคึกคัก
จะมีตั้งราคาสูงๆ ก็เป็นจังหวัดใหญ่ๆ หัวเมืองหลัก ส่วนใหญ่เป็นคลื่น อสมท. เดิม เช่น เชียงใหม่ ราคาเริ่มต้นที่ 2.2 ล้านบาท, ระยอง ราคาเริ่มต้นที่ 3.18 ล้านบาท, ชลบุรี ราคาเริ่มต้นที่ 2.64 ล้านบาท เป็นต้น
เท่าที่ตามข่าว คลื่นต่างจังหวัดที่มีราคาประมูลสูงสุด ได้แก่ FM 104.5 นครศรีธรรมราช หรือ อสมท.นครศรีธรรมราชเดิม ราคาเริ่มต้นที่ 942,000 บาท เคาะราคาเพิ่มครั้งละ 20,000 บาท
แข่งกัน 3 บริษัท ได้แก่ อสมท, ลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค และนานาเอนเทอร์เทนเม้นท์ ปรากฎว่าปิดที่ 28.02 ล้านบาท เจ้าหน้าที่ต้องให้ผู้เข้าร่วมประมูลตรวจสอบล็อกไฟล์เพื่อยืนยันราคาที่ถูกต้อง กระทั่งในที่สุด อสมท ชนะประมูล
FM 100.75 เชียงใหม่ หรือ อสมท.เชียงใหม่เดิม ราคาเริ่มต้นที่ 2.2 ล้านบาท เคาะราคาเพิ่มครั้งละ 50,000 บาท แข่งกัน 4 บริษัท ได้แก่ อสมท, ลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค, บริษัท คาร์บอนเทกซ์ อินเตอร์เทรด จำกัด จากจังหวัดขอนแก่น และ เดือนเต็มธุรกิจ ปรากฏว่าปิดที่ 19.8 ล้านบาท โดยมี อสมท ชนะประมูล
FM 102 สุราษฎร์ธานี หรือ อสมท.สุราษฎร์ธานีเดิม ราคาเริ่มต้นที่ 105,000 บาท เคาะราคาเพิ่มครั้งละ 4,000 บาท แข่งกัน 3 บริษัท ได้แก่ อสมท, ลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค และนานาเอนเทอร์เทนเม้นท์ ปรากฏว่าปิดที่ 14.6 ล้านบาท โดยมี อสมท ชนะประมูล
ส่วนจังหวัดอื่นๆ ที่ราคาเริ่มต้นเพียง 105,000 บาท อสมท ทุ่มเม็ดเงินสู้ยิบตาเป็นล้านบาท
ตามรายงานข่าว เช่น FM 95.25 จันทบุรี อสมท ชนะลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค และเค.ซี.เอส. แอ๊ดเวอร์ไทซิ่ง ด้วยราคา 5.68 ล้านบาท
FM 107.25 ตราด อสมท ชนะลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค ด้วยราคา 3.91 ล้านบาท, FM 107.25 กาญจนบุรี อสมท ชนะลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค ด้วยราคา 3.32 ล้านบาท
FM 107.75 ชลบุรี หรือ อสมท.พัทยาเดิม ราคาเริ่มต้นที่ 2.64 ล้านบาท เคาะราคาเพิ่มครั้งละ 50,000 บาท แข่งกัน 4 บริษัท ได้แก่ อสมท, ลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค, บริษัท วี.ซี.สปอตโปรดั๊กชั่น จำกัด ผู้ผลิตรายการ Sunshine Radio และเค.ซี.เอส. แอ๊ดเวอร์ไทซิ่ง ปรากฏว่าปิดที่ประมาณ 19 ล้านบาท โดยมี อสมท ชนะประมูล
เห็นราคาแบบนี้เดาทางได้ว่า ศึกประมูลคลื่นวิทยุครั้งนี้ไม่มีใครยอมใคร
แม้ อสมท จะทุ่มงบกว่า 500 ล้านบาท คว้าคลื่นกลับมาได้ 47 คลื่น แต่ก็สูญคลื่นเดิมไปถึง 8 คลื่น ได้แก่ พะเยา อุทัยธานี กำแพงเพชร สุรินทร์ ให้กับลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค, ชัยภูมิ ให้กับเจ.เอส.ไนน์ตี้วัน
รวมทั้งกลุ่มทุนท้องถิ่นอีก 3 คลื่น ได้แก่ บริษัท ดินดิน จำกัด ของ มะลิดา ปทุมธนทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวาทศิลป์ จากขอนแก่น คว้าคลื่น FM 90.75 ขอนแก่น และ FM 101 ร้อยเอ็ด ของ อสมท เดิมไปครอง
“หนุ่ม มีซอ” หรือ สุริยันต์ มาลาคำ บุตรชาย “เฉลิมพล มาลาคำ” นักร้องหมอลำชื่อดัง ก็ยังคว้าคลื่น FM 95.25 ยโสธร ของ อสมท เดิม ในนาม หจก.สุภคพร กรุ๊ป ชนะ อสมท และลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค ด้วยราคาสูงถึง 4.21 ล้านบาท
ส่วนคลื่นที่ อสมท ไม่ได้ประมูล อย่าง FM 100.5 มหาสารคาม พบว่า หนุ่ม มีซอ ส่ง หจก.พีระยา มีเดียกรุ๊ป ที่เป็นหุ้นส่วนกับ ดีเจพีระยา ผาบชมภู (ลูกทุ่งบันเทิงมหาสารคาม) ชนะลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค ด้วยราคาสูงถึง 2.99 ล้านบาท
ในวันนั้นผู้บริหาร อสมท ให้ข่าวว่า บริษัทฯ เสนอราคาสูงสุดได้เกือบ 55 คลื่น มีเพียงไม่กี่คลื่นที่แพ้การประมูล ยอมรับว่าระบบการประมูลมีปัญหาในทุกรอบ ดังนั้น จำเป็นต้องส่งตัวแทนไปตรวจสอบราคากับ กสทช.
ขณะที่ลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค เดิมมีสถานีวิทยุเครือข่าย 45 สถานี แต่ชนะมาได้ 13 คลื่น โดยใช้กลยุทธ์ทุ่มงบไปที่หัวเมืองใหญ่ เช่น รอบที่ 2 สงขลา รอบที่ 3 สุรินทร์ รอบที่ 4 อุดรธานี ผสมกับประมูลคลื่นความถี่ได้อีกหลายคลื่น
ผลก็คือลูกทุ่งเน็ตเวิร์คจะมีสถานีวิทยุเครือข่ายเพิ่มเป็น 58 สถานี ตั้งเป้าให้เป็นสถานีวิทยุลูกทุ่งทั้งวันทั้งคืน เครือข่ายของคนฟังทั้งประเทศ มีผลไปถึงการยกระดับการใช้งานคลื่นความถี่ระดับชาติอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมี บริษัท สตูดิโอ ไลน์ เอเจนซี่ จำกัด ผู้ผลิตรายการ FM. 93 GREEN และ FM. 88 NICE PEAK จากจังหวัดภูเก็ต คว้าคลื่น FM. 90.5 ภูเก็ต ของกรมประชาสัมพันธ์แบบไม่มีคู่แข่งอีกด้วย
ความคึกคักของการประมูลคลื่นวิทยุต่างจังหวัด รวมทั้งคลื่นวิทยุกรุงเทพฯ มีราคาเริ่มต้นประมูลที่สูง ทำให้ กสทช. ได้เงินประมูลรวมประมาณ 700 ล้านบาท จากที่ตั้งเป้าหมายไว้ไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท
สำหรับผู้ชนะการประมูล จะได้ใบอนุญาตประกอบกิจการ มีอายุ 7 ปี โดยเงินรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่หลังหักค่าใช้จ่าย จะนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป
คำถามที่ตามมาก็คือ การประมูลคลื่นวิทยุครั้งนี้ จะซ้ำรอยเดิมกับทีวีดิจิทัลหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้มีค่ายสื่อเข้าร่วมประมูลหลายราย แล้วต่อมาเจ๊งกันไปทีละรายสองราย ส่วนเจ้าที่เหลือต่างแข่งขันด้านเรตติ้งเพื่อหนีตาย
ในความเป็นจริง การประมูลคลื่นวิทยุครั้งนี้ เป็นวิทยุในระบบ แอนะล็อก (Analog) ที่ทุกคนเข้าถึงเครื่องรับวิทยุอยู่แล้ว เพียงแต่ กสทช. จัดระเบียบคลื่นความถี่ไปสู่ระบบใบอนุญาต ให้แข่งขันอย่างเสรี และมีรายได้เข้ารัฐ
คลื่นวิทยุในกรุงเทพฯ อาจจะได้รับผลกระทบจากการพฤติกรรมของผู้ฟังที่เปลี่ยนแปลงไป แทนที่ด้วยบริการฟังเพลงออนไลน์ (Music Streaming) หรือฟังเพลงผ่านยูทูป ที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องยาวนาน
ปัจจุบันค่ายวิทยุในกรุงเทพฯ ต่างผลิตร่วมกับเจ้าของคลื่น เพื่อลดความเสี่ยง เช่น FM. 93 COOLfahrenheit ใช้คลื่นของกองทัพเรือ, FM. 94 EFM ใช้คลื่นของสถานีวิทยุกองทัพบก, FM. ONE 103.5 ใช้คลื่นของกรมการทหารสื่อสาร
แต่สำหรับวิทยุต่างจังหวัด คนทำวิทยุรายหนึ่งเคยกล่าวว่า แม้ตัวเลขราคาที่ชนะประมูลจะสูงก็จริง แต่เมื่อหารกับระยะเวลา 7 ปี ถือว่า “ไม่แพง” เพราะการตอบรับของคนต่างจังหวัดดีกว่า และใบอนุญาตยาวกว่า
“คลื่นความถี่ในกรุงเทพฯ ค่อนข้างสูงกว่าความเป็นจริงมากกว่า” คนทำวิทยุรายหนึ่ง กล่าว
สิ่งที่น่าคิดหลังจากนี้ คือ อสมท ในฐานะรัฐวิสาหกิจ จะทำอย่างไรกับธุรกิจวิทยุต่อจากนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาเคยทำรายได้เกือบ 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมด แต่ในยามนี้ธุรกิจวิทยุไม่ต่างจากโทรทัศน์ คือไม่ใช่บ่อเงินบ่อทองเหมือนอย่างในอดีต
ขณะเดียวกัน เมื่อค่ายสื่อที่ผลิตรายการวิทยุ ยังคงอาศัยคลื่นวิทยุกองทัพผลิตรายการ และมีสายสัมพันธ์อย่างยาวนาน จะเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกับผู้ประกอบการวิทยุที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. โดยตรงมากน้อยขนาดไหน
โดยเฉพาะคลื่นวิทยุในกรุงเทพฯ ที่ราคาประมูลสูงถึง 36-54 ล้านบาท หารด้วยจำนวนปี ตกปีละ 5-7 ล้านบาท ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตหรือไม่ ขณะที่พฤติกรรมผู้ฟังในกรุงเทพฯ เปลี่ยนไป ต้องแสวงหาทางรอด ออกอากาศคู่ขนานกับแพลตฟอร์มดิจิทัล
ขณะที่คลื่นวิทยุในต่างจังหวัด ยังคงเป็นสื่อหลักที่เข้าถึงผู้ฟังในวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มชาวบ้านในชนบท แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือ เนื้อหารายการจะยังมีวิทยุขายยา โฆษณาชวนเชื่อ และเป็นเครื่องมือทางการเมืองเหมือนในอดีตหรือไม่
เป็นเรื่องที่ผู้ฟังรายการวิทยุจะต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา เพื่อให้คลื่นความถี่ที่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติที่ประมูลและออกอากาศ 7 ปี เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์แก่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง