กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
ฉะเชิงเทรา หนึ่งในสามจังหวัดเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่กำลังปลุกปั้นเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ทซิตี้ (Smart City) หนึ่งในนั้นคือการออกบัตรที่ชื่อว่า “แปดริ้วอีซี่การ์ด” (Padriew Easy Card)
จุดประสงค์ของการออกบัตรดังกล่าว เพื่อต้องการพัฒนาสู่ สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) มีให้เลือกเป็นบัตรวีซ่าเดบิต ค่าธรรมเนียม 200 บาทต่อปี และบัตรเติมเงิน (Top Up Card) ใบละ 30 บาท ไม่มีค่าธรรมเนียมรายปี
ส่วนตัวชอบบัตรเติมเงินลายนี้ เพราะนำอัตลักษณ์ของจังหวัดมาย่อส่วนเป็นรูปสัญลักษณ์ (Pictogram) ซึ่งดูทันสมัย คล้ายกับบัตรสมาชิกร้านสุกี้ชื่อดัง เลยยอมเดินทางมาเยือน เพื่อมาเที่ยวและมาขอทำบัตรไปในตัว
อาจจะมีคนมองว่า เดี๋ยวนี้เค้าสแกนจ่ายผ่านมือถือกันแล้ว จะพกบัตรพลาสติกให้หนักกระเป๋าสตางค์ไปทำไม ซึ่งก็จริง แต่ผู้เขียนสนใจ “กลไกที่อยู่ในบัตร” ซึ่งเป็นที่มาของบทความที่จะนำมาเล่าให้ฟัง
บัตรเติมเงินแปดริ้วอีซี่การ์ด มีให้สมัครเฉพาะธนาคารกรุงไทย 6 สาขาเท่านั้น ได้แก่ สาขาฉะเชิงเทรา สาขาถนนมหาจักรพรรดิ์ สาขา ม.ราชภัฏราชนครินทร์ สาขาถนนพานิช สาขาบิ๊กซี ฉะเชิงเทรา 2 และสาขาโรบินสันฉะเชิงเทรา
สองสาขาหลังนี้เป็นสาขาในห้างฯ เปิดให้บริการทุกวัน แต่สาขาโรบินสันฉะเชิงเทรา ถ้าเป็นวันหยุดอาจจะต้องรอคิวนานสักหน่อย เนื่องจากมีคนมาใช้บริการจำนวนมาก น่าจะเป็นศูนย์การค้ายอดนิยมแห่งเดียวในฉะเชิงเทรา
ขั้นตอนการออกบัตรไม่ยุ่งยาก แค่นำบัตรประชาชน ค่าธรรมเนียมบัตร 30 บาท และเงินที่ต้องการเติม ขั้นต่ำ 1 บาท พนักงานจะให้กดรหัส PIN 6 หลัก เซ็นเอกสารคำขอใช้บริการเล็กน้อย เป็นอันสำเร็จ
บัตรใบนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นชาวจังหวัดฉะเชิงเทราก็ได้ คนต่างจังหวัด หรือนักท่องเที่ยวที่อยากได้บัตรใบนี้เป็นที่ระลึกก็มาสมัครได้ เท่าที่สอบถามพนักงานทราบว่า มีผู้สนใจเข้ามาทำกันเยอะ เพราะบัตรสวย อยากเก็บไว้เป็นที่ระลึก
หลังออกจากห้างฯ มีรถเมล์ปรับอากาศ สาย 5 วิ่งผ่านตรงข้ามห้างโรบินสัน แม้จะมีรถเมล์น้อย แต่เช็กได้ว่ารถเมล์อยู่ที่ไหนได้จากแอปฯ VIABUS สายนี้จะผ่านวัดโสธรวรารามวรวิหาร ก่อนหมดระยะที่ตลาดทรัพย์สินฯ
รถเมล์ที่นี่เหมือนรถเมล์กรุงเทพฯ ตรงที่มีเครื่อง EDC ขนาดเล็ก สามารถใช้บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตแตะจ่ายค่ารถเมล์ หรือสแกนจ่ายผ่านแอปฯ ธนาคารก็ได้ ตอนนั้นเราก็จ่ายค่ารถเมล์ด้วยบัตรใบนี้ ซึ่งรองรับระบบ Contactless
แต่ปัญหาก็คือ เมื่อเงินในบัตรยังเหลือ ถ้ากลับถึงกรุงเทพฯ เราจะทำยังไงกับบัตรนี้ดี?
นึกขึ้นได้ว่า เดี๋ยวนี้ตามซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำเค้ามี “ช่องชำระเงินด่วนด้วยตัวเอง” (Self-Checkout) ซึ่งบรรดาคอไอที คอฟินเทค นิยมทดลองระบบการชำระเงินที่นี่ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเผชิญหน้ากับแคชเชียร์ เลยนำบัตรนี้ไปทดสอบดู
ที่ผ่านมาเราอาจจะมองว่า ถ้าจะรูดบัตร ต้องเป็นบัตร VISA, MasterCard, UnionPay ฯลฯ เพียงอย่างเดียว ปรากฏว่าพอเสียบบัตรนี้ มันจะขึ้นเครือข่ายที่เรียกว่า TBA ก่อนจะให้ใส่รหัส PIN 6 หลักที่ตั้งไว้ แล้วชำระเงินสำเร็จ
ส่วนการเติมเงินพบว่า จะมีคิวอาร์โค้ดด้านหลังบัตร ใช้แอปฯ ธนาคารไหนก็ได้ สแกนเพื่อเติมเงินลงในบัตร ส่วนการตรวจสอบยอดเงิน ปัจจุบันทำได้เฉพาะเครื่อง ATM ธนาคารกรุงไทยทั่วประเทศ โดยใช้รหัส 6 หลักที่ตั้งไว้ตอนสมัคร
แต่เนื่องจากเป็นบัตรเติมเงิน ไม่ใช่บัตรเดบิต จึงถอนเงินสด หรือโอนเงินไปยังบัญชีอื่นไม่ได้ และไม่สามารถใช้จ่ายผ่านร้านค้าออนไลน์ได้ เนื่องจากระบบ Payment Gateway แต่ละธนาคารยังไม่รองรับ PromptCard โดยตรง
เคล็ดไม่ลับของบัตรใบนี้ อยู่ที่สัญลักษณ์ “พร้อมการ์ด” (PromptCard) บนหน้าบัตร ที่ทำให้เราสามารถนำบัตรใบนี้ไปรูดซื้อของที่เครื่องรูดบัตร EDC ตามห้างร้านต่างๆ ในประเทศไทยได้สะดวก
PromptCard เป็นบริการออกบัตรเดบิตให้กับธนาคารที่เป็นสมาชิกของ บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ็กซ์ จำกัด (ITMX)ใช้ทำธุรกรรมผ่านเครื่องเอทีเอ็ม และรูดซื้อสินค้าหรือบริการผ่านเครื่อง EDC ภายในประเทศไทยเท่านั้น
โดยคำว่า TBA บนหน้าจอเครื่อง EDC และบนเซลสลิป หมายถึง มาตรฐานชิปการ์ดของ สมาคมธนาคารไทย (Thai Banker’s Association)สำหรับบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตที่ออกภายในประเทศ
เมื่อเรากดเงินที่เครื่องเอทีเอ็ม หรือรูดบัตร PromptCard ระบบจะส่งคำสั่งเพื่อหักเงินในบัญชีที่ผูกกับบัตรโดยใช้ ระบบเครือข่ายภายในประเทศ (Local Switching) ซึ่งข้อดีก็คือ ร้านค้าถูกหักค่าธรรมเนียมที่ต่ำ เพียง 0.55%
เมื่อเทียบกับสมัยก่อน ธนาคารบ้านเราต้องอาศัยเครือข่ายต่างประเทศที่มีต้นทุนสูง แต่เมื่อ ITMX พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงิน เช่น พร้อมเพย์ เมื่อธุรกรรมในไทยผูกกับ ITMX เป็นหลัก ค่าธรรมเนียมจึงถูกลง
นอกจากนี้ ยังมีภาคเอกชนทำระบบเครือข่ายบัตรเดบิตในประเทศที่เรียกว่า Thai Payment Network หรือ TPNซึ่งเปิดให้บริการเมื่อปี 2559 ปัจจุบันมีสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกประมาณ 16 แห่ง
ลักษณะเช่นนี้จะคล้ายกับประเทศมาเลเซีย ที่มีบัตรเดบิตสัญลักษณ์ MyDebit ควบคู่ไปกับบัตรเดบิต VISA หรือ MasterCard และอินโดนีเซียที่บัตรเดบิตมีสัญลักษณ์ GPN แบบเพียวๆ ที่ทำให้ไม่ต้องบังคับว่ารูดบัตรใบไหนต้องใช้เครื่องธนาคารนั้นอีก
บัตรเดบิต VISA หรือ MasterCard ถ้ารูดใช้จ่ายผ่านบัตรในประเทศไทย ก็วิ่งผ่านเครือข่ายในประเทศไทย ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ค่าธรรมเนียมไม่ต่างกัน แต่ถ้าใช้บัตรที่ต่างประเทศ จะพึ่งพาเครือข่ายของบัตรแบรนด์นั้นๆ
บริการ PromptCard แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1. PromptCard แบบเพียวๆ วิ่งเครือข่าย TBA โดยตรง, 2.PromptCard ร่วมกับ MasterCard ธุรกรรมในประเทศจะใช้ TBA ส่วนต่างประเทศจะใช้เครือข่าย MasterCard
และ 3. VISA Local Brand ที่ธุรกรรมในประเทศ ITMX รับเป็นเอาต์ซอร์ซประมวลผลให้วีซ่า ไม่มีสัญลักษณ์ PromptCard บนบัตร ส่วนต่างประเทศจะใช้เครือข่าย VISA
บัตร PromptCard เปิดตัวครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 เริ่มต้นที่ 4 ธนาคาร ได้แก่ ไทยพาณิชย์, ธนชาต, ยูโอบี และซิตี้แบงก์ ก่อนจะมีธนาคารออมสินและกรุงไทยตามมา
บัตร PromptCard ส่วนใหญ่จะมาพร้อมกับบัตรเดบิตมาสเตอร์การ์ด (MasterCard) มีเพียงสองแห่งที่ออกบัตรแบบเพียวๆ คือ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
ธนาคารกรุงไทย จะใช้สัญลักษณ์ PromptCard กับบัตรเติมเงิน (Top Up Card) เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, บัตรโดยสาร ขสมก., บัตรโดยสารเรือ (HOP CARD) บัตรแปดริ้วอีซี่การ์ด และเร็วๆ นี้จะมีบัตรรถเมล์ร่วม (TSB)
แต่สำหรับบัตรโดยสาร ขสมก. และบัตรโดยสารเรือ HOP CARD ระบบจะล็อกให้สามารถใช้ได้เฉพาะระบบขนส่งมวลชนนั้นๆ เท่านั้น ครั้งหนึ่งเคยนำบัตร HOP CARD แตะที่เครื่อง EDC ของรถเมล์ ขสมก. ปรากฏว่าแตะไม่ผ่าน
ส่วนบัตรแปดริ้วอีซี่การ์ด แบบเติมเงิน ที่รูดจ่ายผ่านเครื่อง EDC ตามร้านค้าต่างๆ ที่รับบัตรพร้อมการ์ด หรือเครือข่าย TBA ได้ นอกเหนือจากรถเมล์ปรับอากาศที่ฉะเชิงเทรา แต่ก็ยังแตะจ่ายค่ารถเมล์ในกรุงเทพฯ ไม่ได้
(เว้นแต่ถ้าเป็นบัตรแปดริ้วอีซี่การ์ด วีซ่าเดบิต แตะจ่ายระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ ได้เลย เช่น รถเมล์ ขสมก., ไทยสมายล์บัส, เรือ Mine Smart Ferry เร็วๆ นี้กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง แต่มีค่าธรรมเนียมรายปี 200 บาท)
ขณะที่ ธ.ก.ส.จะใช้กับบัตรเดบิต A-Gen ค่าธรรมเนียมแรกเข้า 100 บาท ค่าธรรมเนียมรายปี 150 บาท ซึ่งถูกกว่าบัตรเดบิตแบรนด์นอกประมาณ 50 บาท นอกนั้นจะเป็นบัตร Smart Card อสม. และ อสส. (เฉพาะกลุ่มลูกค้า)
ทราบมาว่าก็สามารถใช้ได้ตามร้านค้าที่รับบัตร ที่ผ่านมาก็มีการจัดสิทธิประโยชน์ เช่น เมื่อปี 2562 ให้นำบัตร Smart Card อสม. ลงทะเบียนแล้วใช้จ่ายที่ห้างบิ๊กซี ห้างโลตัส เพื่อรับสิทธิคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม จ่าย 7% คืน 5% สูงสุด 1,000 บาทต่อคน
แม้บัตร PromptCard แบบเพียวๆ จะใช้งานได้จำกัดเมื่อเทียบกับบัตรเดบิต แต่เนื่องจากยังไม่รองรับระบบ Payment Gateway ก็ปลอดภัยในระดับหนึ่ง นอกเสียจากว่าทำบัตรหาย แล้วคนที่เก็บบัตรนี้ได้กลับรู้รหัส PIN 6 หลัก อันนี้ก็ไม่ไหว
ใครที่มีบัตรแปดริ้วอีซี่การ์ดแบบเติมเงินพกติดกระเป๋า อาจจะเติมเงินแล้วหยิบขึ้นมาใช้ซื้อของเล็กๆ น้อยๆ ตามห้างค้าปลีกหรือซูเปอร์มาร์เก็ตได้ ส่วนเวลาช้อปออนไลน์ อาจจะใช้บัตร Virtual Card ที่ฟรีค่าธรรมเนียมแยกต่างหาก
แบบนี้ดูปลอดภัยกว่าบัตรเดบิต ที่ครั้งหนึ่งมี BIN Attack แล้วผู้ถือบัตรถูกดูดเงินในบัญชีจำนวนมาก ทำเอามีคนเข็ดขยาดยกเลิกบัตรเดบิตไปเลยก็มี นอกเหนือจากคนที่เปลี่ยนพฤติกรรมถอนเงินผ่านแอปฯ แทนบัตรเดบิตก่อนหน้านี้
แม้บ้านเรายังคงยึดติดกับบัตรเดบิตแบรนด์นอก แต่อย่างน้อยการมีอยู่ของ PromptCard ทำให้ได้มีทางเลือกใช้บัตรเดบิต หรือบัตรเติมเงินด้วยค่าธรรมเนียมถูกกว่า แบบไทยทำ ไทยใช้ แม้ผู้ถือบัตรอาจจะยังมองไม่เห็นก็ตาม