กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
หลังจากรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง ทดลองให้บริการระบบ EMV Contactless แตะเข้าออกระบบรถไฟฟ้าด้วยบัตรเครดิต ไปเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ได้รับความสนใจระดับหนึ่ง
โดยเฉพาะบรรดาคอไอที ที่สนใจเทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech) ต่างนำมือถือและอุปกรณ์ไอทีที่สวมใส่ประจำ (Wearable Device) อย่างนาฬิกาสมาร์ทวอตซ์ (Smart Watch) ที่ผูกกับบัตรเครดิต และบัตรพรีเพดแตะจ่ายเหมือนกัน
หนึ่งในนั้นก็คือ ระบบการชำระเงินที่เรียกว่า “แอปเปิลเพย์” (Apple Pay) ที่แม้จะยังไม่เปิดให้บริการในไทย แต่ก็มีคนหาบัตรจากต่างประเทศมาติดตั้งบนไอโฟนและแอปเปิลวอตซ์ (Apple Watch) เพื่อใช้จ่ายแทนบัตรเครดิตกันแล้ว
เห็นมีคนใช้บัตรจากต่างประเทศ ผูกกับแอปเปิลเพย์ แตะเข้าออกระบบรถไฟฟ้าด้วยไอโฟน แล้วน่าทึ่งมาก เพราะแทบไม่ต้องควักบัตรพลาสติกออกจากกระเป๋าสตางค์เลย มือถือเครื่องเดียวทำได้ทุกอย่าง
ยิ่งถ้าเป็นคนที่สวมนาฬิกาแอปเปิลวอตซ์ แค่กดปุ่มสองครั้ง แล้วเอาตัวนาฬิกาแตะใกล้ๆ หัวอ่านบัตร ยิ่งสะดวกเข้าไปใหญ่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกบัตรจะสามารถแตะเข้าระบบรถไฟฟ้าได้ เพราะบัตรบางค่ายแตะไม่ได้ก็มี
ส่วนการชำระเงินด้วยมือถืออย่าง “ซัมซุงเพย์” (Samsung Pay) ที่ใช้เทคโนโลยีทั้ง NFC และ MST โบกมือลาไทยไปแล้วเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2564 หลังให้บริการมา 4 ปี ระบุแต่เพียงว่า “เนื่องด้วยเหตุที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้”
ยังคงเหลืออี-วอลเลตที่ชื่อว่า “ชอปปี้เพย์” (ShopeePay) ที่มีบัตรเวอร์ชวลการ์ดบนแอปพลิเคชัน ได้ติดตั้งระบบที่เรียกว่า ShopeePay NFC ใช้ได้กับมือถือแอนดรอยด์ และเครื่อง EDC ที่รองรับฟังก์ชัน NFC เท่านั้น
แต่ข้อดีก็คือ Shopee Pay NFC ใช้ได้กับมือถือแอนดรอยด์ที่รองรับ NFC ทุกยี่ห้อ ไม่ได้จำกัดแค่ซัมซุงเพียงยี่ห้อเดียว โดยเฉพาะแบรนด์จีนที่ขับเคี่ยวส่วนแบ่งการตลาดอันดับต้นๆ อย่าง เสี่ยวมี่ (Xiaomi) และออปโป้ (OPPO)
แต่ปัญหาก็คือใช้งานไม่ได้ทุกร้านค้า บางร้านค้าอย่างเช่น ท็อปส์ มาร์เก็ต เครื่อง Self Checkout ใช้ไม่ได้ หรือเครื่องคีออสในร้านแมคโดนัลด์ก็ยังใช้ไม่ได้ เอามือถือจ่อที่เครื่อง EDC แล้วไม่ผ่าน
นอกนั้นจะเป็นพวกนาฬิกาสมาร์ทวอตซ์ นาฬิกาวิ่ง เช่น การ์มินเพย์ (Garmin Pay), ฟิตบิทเพย์ (Fitbit Pay) ที่ใช้ได้เฉพาะบัตรเครดิตบางธนาคารเท่านั้น เช่น กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ และเคทีซี เป็นต้น
ขอกล่าวถึงแอปเปิลเพย์ แม้จะยังไม่เปิดอย่างเป็นทางการในไทย แต่ความพยายามของคนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก สมัครบัตรต่างประเทศเพื่อใช้งานแอปเปิลเพย์ในไทยให้ได้ แม้จะยากเย็นแค่ไหนก็ยอม
บนโซเชียลฯ ชุมชนของกลุ่มผู้ใช้แอปเปิลเพย์ในไทย พบว่าที่ผ่านมาเริ่มมีคนใช้แอปเปิลเพย์ในชีวิตประจำวัน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน ตั้งแต่ซื้อของร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านกาแฟ ซึ่งปัจจุบันหลายแห่งชำระได้ไม่มีขั้นต่ำ
ด้วยความสนใจอยากลองประสบการณ์ใช้งานแอปเปิลเพย์กับเขาบ้าง จึงพยายามหาทางสมัครบัตรต่างประเทศ กระทั่งได้บัตรพรีเพดสัญชาติหนึ่ง ยอมเสียค่าธรรมเนียมให้กับเอเยนต์ โดยได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มผู้ใช้แอปเปิลเพย์ในไทย
ที่ลำบากอย่างหนึ่งก็คือ เนื่องจากแอปเปิลเพย์ไม่ได้ให้บริการในไทย เพราะฉะนั้นจึงต้องตั้งค่า Language & Region ที่ตัวเครื่องก่อน เป็นประเทศอื่นที่รองรับ Apple Pay เพื่อให้เพิ่มบัตรลงใน Wallet ได้
เมื่อสมัครและยืนยันตัวตนสำเร็จแล้ว ตัดสินใจทดลองใช้ที่เครื่องชำระเงิน Self-Checkout ในซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง ปรากฏว่าแม้จะติดปัญหาสวมหน้ากากอนามัย สแกนใบหน้าไม่ได้ แต่ก็ชำระเงินได้ไม่มีปัญหา
สารภาพว่าเป็นการใช้แอปเปิลเพย์ “ครั้งแรก” ในชีวิต ตอนที่อยู่หน้าเครื่อง EDC รู้สึกตื่นเต้น อารมณ์เหมือนเด็กเจอของเล่นแล้วอยากเล่น ได้มีโอกาสใช้เทคโนโลยีการชำระเงินที่รอคอยมานานสักที
ทราบมาว่า แอปเปิลกำลังพัฒนา iOS 15.4 ที่สามารถสแกนใบหน้าได้ แม้สวมหน้ากากอนามัย และสามารถเพิ่มประวัติการฉีดวัคซีนใน Wallet ได้ ขณะนี้กำลังทดสอบเวอร์ชันเบตา แต่ใช้ได้เฉพาะรุ่นไอโฟน 12 ขึ้นไป
แม้การใช้แอปเปิลเพย์จะสะดวกกว่าการใช้บัตร หรืออี-วอลเลต เพราะเพียงแค่กดปุ่ม 2 ครั้ง สแกนใบหน้า (หรือ Passcode 6 หลัก) แล้วแตะที่เครื่อง EDC ของร้านค้า แต่ก็ต้องแลกกับค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายมากกว่าปกติ
ตั้งแต่การเติมเงินเข้ากับผู้ให้บริการ เพื่อใช้งานแอปเปิลเพย์ ไม่ใช้บัตรเครดิตธนาคารไทย เพราะถูกบล็อกการใช้งาน ต้องเสียค่าธรรมเนียมเป็นค่าความเสี่ยงการแปลงสกุลเงิน (FX Rate) เช่นเดียวกับการใช้บัตรซื้อของต่างประเทศ
หรือการซื้อของ ที่เจอมากับตัว หากไม่ได้สมัครบริการเสริมที่เกี่ยวกับมัลติเคอเรนซี (Multicurrency) จะต้องเสียค่าธรรมเนียมประมาณ 13-14 บาทต่อการรูดบัตรหนึ่งครั้ง ซึ่งโหดพอๆ กับการถอนเงินต่างจังหวัดเลย
การใช้แอปเปิลเพย์ครั้งนี้ถือว่าซื้อประสบการณ์ อย่างน้อยได้บอกเล่าให้เพื่อนหรือญาติพี่น้องฟังว่าใช้งานยังไง สะดวกสบายแค่ไหน ไม่ต้องเปิดแอปฯ ใดๆ กดปุ่มสองครั้ง สแกนใบหน้า แตะที่เครื่อง EDC เท่านั้น
คำถามที่ยังคาใจตอนนี้ และยังคาใจต่อไปก็คือ ทำไมแอปเปิลเพย์ถึงยังไม่ให้บริการในไทย?
แอปเปิลเพย์ เปิดตัวเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2557 หรือเมื่อ 7 ปีก่อน ปัจจุบันให้บริการทั้งในอเมริกาและยุโรป ส่วนเอเชียแปซิปิค มีให้บริการที่ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน ญี่ปุ่น คาซัคสถาน นิวซีแลนด์ และสิงคโปร์
สำหรับประเทศไทย ที่ผ่านมาเคยมีข่าวลือเกิดขึ้นเป็นระลอกแต่ก็ไม่เกิดขึ้นจริง ขณะที่ธนาคารชั้นนำต่างๆ เคยออกมาระบุว่า ปัจจุบันยังไม่รองรับบริการ Apple Pay หากมีการเปิดให้บริการในอนาคตให้รอการประชาสัมพันธ์อีกครั้ง
ทำให้คนไทยที่อยากใช้แอปเปิลเพย์ ต้องขวนขวายสมัครบัตรจากต่างประเทศ ยอมเสียเงินค่าสมัครราคาแพง ยอมเสียค่าใช้จ่ายให้กับบริษัทรับส่งต่อพัสดุจากต่างประเทศ เพื่อให้ได้บัตรแข็งออกมา และเสี่ยงดวงว่าจะถูกแบนหรือไม่
ในขณะที่ประเทศไทยขับเคลื่อนสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสถานการณ์โควิด-19 ที่ไม่ต้องการเสี่ยงกับธนบัตรและเหรียญที่เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์กลายเป็นที่นิยม
เหตุผลที่บ้านเรายังไม่เปิดให้บริการแอปเปิลเพย์ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะผลประโยชน์ไม่ลงตัวหรือไม่?
เพราะการรูดบัตรเครดิตแต่ละครั้ง ก่อนที่ธนาคารจะโอนเงินให้กับร้านค้า ต้องถูกหักค่าธรรมเนียม แล้วนำมาแบ่งกัน 3 ส่วน ได้แก่ 1. ธนาคารผู้ออกบัตร 2. ธนาคารเจ้าของ EDC หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ และ 3. เครือข่ายรับบัตร
หากมีแอปเปิลเพย์เข้ามาอีก ก็เท่ากับว่ามีตัวหารเพิ่มขึ้น ไม่รู้ว่าทางแอปเปิลเรียกค่าธรรมเนียมจากธนาคารเท่าไหร่ การมีตัวหารเพิ่มขึ้น แต่ค่าธรรมเนียมร้านค้าเท่าเดิม ย่อมทำให้ธนาคารมีรายได้จากบัตรเครดิตและ EDC ลดลง
แอปเปิลเพย์จะให้บริการในไทยอย่างเป็นทางการหรือไม่ คำถามนี้จึงเป็นปริศนาต่อไป แต่เมื่อได้เห็นความตื่นตัวของผู้ใช้ไอโฟนและแอปเปิลวอชในไทยและทั่วโลก คงไม่มีสถาบันการเงินไหนละสายตาแน่นอน
ขึ้นอยู่กับว่าธนาคารไหนจะนำแอปเปิลเพย์มาให้บริการในไทย ในบรรดาคนใช้ไอโฟนนับล้านเครื่อง คนที่อยากใช้ คนที่รอใช้ย่อมมีแน่นอน แต่ด้วยเรื่องค่าธรรมเนียมของทางแอปเปิล อาจจะต้องรอดูกันอีกครั้ง