xs
xsm
sm
md
lg

ถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา (ว่าที่) ยาวอันดับ 2 ของไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


ภาพ : Google Street View
กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

ถนนวงแหวน (Ring Road) เป็นถนนที่สร้างขึ้นล้อมรอบตัวเมือง สามารถเดินทางจากฝั่งเมืองหนึ่ง ไปอีกฝั่งหนึ่งของเมืองได้โดยไม่ต้องเข้าเมืองเพื่อเปลี่ยนเส้นทาง ช่วยแบ่งเบาภาระการจราจรและรองรับการขยายตัวของเมือง

ต้นแบบของถนนวงแหวนในประเทศไทย คือ ถนนรัชดาภิเษก ตามพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ ก่อสร้างตั้งแต่ปี 2514 แล้วเสร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2536

ต่อมามีการก่อสร้างถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่อว่า “ถนนกาญจนาภิเษก” ระยะทางรวม 168 กิโลเมตร กระทั่งแล้วเสร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2550

รูปแบบถนนวงแหวนถูกนำไปใช้ในจังหวัดต่างๆ ปัจจุบัน ประเทศไทยมีถนนวงแหวนรอบเมืองรวมกัน 15 เส้นทาง ใน 12 จังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ มีถนนวงแหวนรอบเมืองถึง 2 เส้นทาง

จากการจัดลำดับพบว่า ถนนวงแหวนยาวที่สุดอันดับ 2 ของประเทศไทย คือ ถนนวงแหวนรอบนอกเมืองเชียงใหม่ (ทางหลวงหมายเลข 121) ความยาว 52.957 กิโลเมตร พาดผ่านถึง 6 อำเภอ

อันดับสาม ถนนวงแหวนรอบเมืองขอนแก่น (ทางหลวงหมายเลข 230) ความยาว 48.332 กิโลเมตร รองรับการจราจรจากถนนมิตรภาพ และถนนมะลิวัลย์ ที่กลายเป็นถนนเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก

อันดับสี่ ถนนวงแหวนรอบเมืองพิษณุโลก (ทางหลวงหมายเลข 126) ความยาว 47.147 กิโลเมตร อาจจะไม่ได้เป็นวงแหวนเต็มวง แบ่งเป็นช่วงสี่แยกอินโดจีน ถึงถนนพิษณุโลก-บางระกำ และช่วงสามแยกเอ็กซ์เรย์ถึงสามแยกซีพี

อันดับห้า ถนนวงแหวนรอบเมืองอุบลราชธานี (ทางหลวงหมายเลข 231) ความยาว 46.142 กิโลเมตร พาดผ่านอำเภอเมือง และวารินชำราบ ขณะนี้กำลังก่อสร้างอุโมงค์แยกดงอู่ผึ้งและแยกวนารมย์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566

แต่หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง อีกประมาณ 2-3 ปีข้างหน้า เรากำลังจะมีถนนวงแหวนรอบเมืองเส้นใหม่ ที่หากก่อสร้างแล้วเสร็จ จะกลายเป็นถนนวงแหวน ที่มีความยาวเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย


ถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา (ทางหลวงหมายเลข 290) ระยะทาง 110.3 กิโลเมตร ปัจจุบันเปิดการจราจรไปแล้ว 52.736 กิโลเมตร ส่วนที่เหลืออยู่ในระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในเดือนกันยายน 2566

ถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ก่อสร้างช่วงแรก ถนนสาย 304 (กบินทร์บุรี-นครราชสีมา) บริเวณ ต.ไชยมงคล อ.เมืองฯ ถึงถนนมิตรภาพ ต.นากลาง อ.สูงเนิน ระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร แล้วเสร็จเดือนพฤษภาคม 2552

ต่อมาก่อสร้างช่วงถนนสาย 304 ผ่านถนนสายสวนสัตว์นครราชสีมา ถึงถนนนครราชสีมา-โชคชัย ต.หนองบัวศาลา อ.เมืองฯ ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร แล้วเสร็จเดือนกรกฎาคม 2562


กระทั่งก่อสร้างช่วงถนนมิตรภาพ ถึงถนนโคกกรวด-โนนไทย อ.ขามทะเลสอ จ.นครราชสีมา ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร แล้วเสร็จเมื่อเดือนมกราคม 2563 ส่วนทางแยกต่างระดับถนนมิตรภาพ แล้วเสร็จเมื่อเดือนตุลาคม 2563

อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 กำลังก่อสร้างถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ให้ไปถึงถนนสุรนารายน์ (ทางหลวงหมายเลข 205) ที่ ต.โคกสูง อ.เมืองฯ ก่อสร้างแล้วเสร็จไปตอนหนึ่ง ส่วนอีกตอนหนึ่งคาดว่าแล้วเสร็จ พฤษภาคม 2565

อีกด้านหนึ่ง ช่วงจากถนนนครราชสีมา-โชคชัย ไปยังถนนเพชรมาตุคลา (นครราชสีมา-บุรีรัมย์) ระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร ใกล้แล้วเสร็จหนึ่งตอน เหลืออีกสองตอนรวมทางแยกต่างระดับ คาดว่าจะแล้วเสร็จ กันยายน 2565

หากเป็นเช่นนั้นจริง จะช่วยอำนวยความสะดวกช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 รถที่มาจากถนนมิตรภาพ ด้าน จ.สระบุรี เมื่อเลย อ.สูงเนิน และโรงงานซีเกทไปแล้ว จะพบกับทางแยกต่างระดับวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา

เลี้ยวซ้าย ไปออกถนนโคกกรวด-โนนไทย เข้าตัวอำเภอขามทะเลสอ และถนนสุรนารายน์ ที่ ต.โคกสูง เพื่อไปยัง อ.โนนไทย อ.พระทองคำ อ.โนนสูง โดยไม่ต้องตรงไปออกถนนเลี่ยงเมืองนครราชสีมา (บายพาส) ที่แยกเซฟวันอีกต่อไป

ช่วงแรกถนนอาจจะเปลี่ยว เต็มไปด้วยทุ่งนา ไม่มีบ้านคน แถมมีเด็กแว้นนำรถจักรยานมาซิ่ง ตำรวจ สภ.ขามทะเลสอ ต้องคอยนำรถสายตรวจเข้ามาห้ามบ่อยครั้ง แต่ต่อไปคงจะมีบ้านจัดสรรและโรงงาน หรือคลังสินค้าเกิดขึ้นมาบ้าง

ถ้าม้วนขึ้นสะพานเลี้ยวขวา ไปออกถนนสาย 304 ไป อ.ปักธงชัย, ถนนนครราชสีมา-โชคชัย ไป อ.โชคชัย และถนนเพชรมาตุคลา ไปจักราช ห้วยแถลง ลำปลายมาศ และบุรีรัมย์ โดยไม่ต้องเข้าเมืองโคราช ไปทางแยกหัวทะเลอีก


ช่วงที่กำลังก่อสร้างส่วนที่เหลือ ได้แก่ ช่วงถนนสุรนารายน์ บริเวณ ต.โคกสูง ถึงถนนมิตรภาพ ไปยัง จ.ขอนแก่น ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร กำลังก่อสร้าง คืบหน้าไปประมาณ 27% คาดว่าจะแล้วเสร็จ กันยายน 2566

แต่ช่วงถนนมิตรภาพ ต.หนองงูเหลือม ถึงถนนเพชรมาตุคลา บางช่วงยังติดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 12 กิโลเมตร มีทั้งหมด 2 ตอน เชื่อมกับถนนตอนที่จะไปถนนนครราชสีมา-โชคชัย คาดว่าจะแล้วเสร็จ กันยายน 2566

ที่พอจะใช้แทนกันได้ตอนนี้ ก็คงจะเป็น ทางหลวงชนบท นม.1111 ถนนเลี่ยงเมืองนครราชสีมา (ด้านตะวันออก) จากถนนมิตรภาพ บริเวณโรงเรียนมหิศราธิบดี ไปยังถนนนครราชสีมา-โชคชัย บริเวณห้างดูโฮม สาขานครราชสีมา


ความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ก็คือ ช่วงที่เลยถนนโคกกรวด-โนนไทย ไปทางถนนสุรนารายน์ จะเป็นทางแยกต่างระดับเข้า-ออกมอเตอร์เวย์ หมายเลข 6 บางปะอิน-นครราชสีมา

อธิบายง่ายๆ ก็คือ หลังผ่านด่านเก็บเงินขามทะเลสอ ซึ่งเป็นด่านสุดท้ายไปแล้ว จะเจอทางแยกต่างระดับของถนนวงแหวนสายใหม่ ถ้าตรงไปอีกประมาณ 10 กิโลเมตร จะไปออกถนนบายพาสเลี่ยงเมืองนครราชสีมา

ที่ผ่านมา กรมทางหลวงได้เปิดการจราจรมอเตอร์เวย์ชั่วคราว ช่วงก่อนขึ้นทางยกระดับที่ลำตะคอง ถึงด่านสีคิ้ว ระยะทาง 35.75 กิโลเมตร มาตั้งแต่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2564 ที่ผ่านมา เพื่อระบายการจราจรบนถนนมิตรภาพ

ซึ่งอันที่จริง ช่วงตั้งแต่ยกระดับลำตะคอง ถึงปลายทางถนนบายพาสเลี่ยงเมืองนครราชสีมา งานโยธาแล้วเสร็จ 100% แต่ยังไม่เปิดการจราจร เนื่องจากด่านขามทะเลสอ ยังคงเป็นลานดิน รอผู้ชนะการประมูลก่อสร้างด่านเก็บเงิน


ในช่วงที่มอเตอร์เวย์ช่วงที่มาจากบางปะอินยังสร้างไม่เสร็จ เป็นไปได้ไหมในช่วงเทศกาลปีใหม่ หรือสงกรานต์ จะเปิดมอเตอร์เวย์ช่วงยกระดับลำตะคอง ถึงตัวเมืองนครราชสีมา ระยะทางประมาณ 70 กิโลเมตร ให้ใช้ฟรีไปพลางก่อน

เพราะเอาเข้าจริง เปิดเฉพาะช่วงลำตะคองถึงด่านสีคิ้ว ทราบมาว่ารถก็ยังติด เพราะคนแห่ไปใช้มอเตอร์เวย์เส้นใหม่ แต่ถ้าเปิดยาวไปถึงตัวเมืองโคราชจะช่วยระบายรถไปยังขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย และแถบอีสานเหนือได้เลย

บางทีก็นึกเสียดาย เห็นภาพมอเตอร์เวย์ที่สร้างเสร็จแล้วแต่ไม่มีรถยนต์สักคันเข้ามาใช้งาน บางช่วงวัชพืชเริ่มเกาะไหล่ทางไปบ้างแล้ว หากเปิดให้ใช้ประโยชน์ไปพลางๆ ก่อนก็น่าจะดีไม่น้อย

การก่อสร้างถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ที่กำลังจะเต็มวงในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ด้วยระยะทางที่ไกลนับร้อยกิโลเมตร น่าสนใจว่าจะช่วยแบ่งเบาการจราจร และขยายความเจริญของเมืองโคราชได้มากน้อยขนาดไหน

ไม่นับรวมการทุบสะพานสีมาธานี เพื่อก่อสร้างทางยกระดับรถไฟทางคู่ ตามที่นักการเมืองบางคนผลักดัน ซึ่งปัจจุบันมียานพาหนะใช้สะพานสีมาธานีเฉลี่ยวันละ 118,000 คัน (ก่อนสถานการณ์โควิด-19)

หรือการก่อสร้างอุโมงค์สี่แยกประโดก (พิกาซัส) กับสามแยกนครราชสีมา ซึ่งคาดว่าจะได้รับงบประมาณในปี 2566 คนที่ใช้ถนนมิตรภาพ เข้าเมืองนครราชสีมา จะต้องทนรถติดไปอย่างน้อย 3-4 ปี

อย่างน้อยที่สุด เมื่อรถที่มาจากสระบุรีไม่ต้องเข้าเมืองโคราช กระจายไปยังถนนวงแหวนเส้นใหม่นี้ น่าจะทำให้การจราจรบนถนนมิตรภาพ และถนนบายพาส รวมทั้งบริเวณแยกหัวทะเลมุ่งหน้าจักราช บุรีรัมย์ คงเบาบางลงไปบ้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น