กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
คนเรามักมีภาพจำการใช้บัตรเครดิต เปรียบเหมือนการเอาเงินอนาคตมาใช้ก่อน แล้วค่อยจ่ายที่หลัง หากเป็นรายการซื้อสินค้าและบริการจะมีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย 45-50 วัน
หากใช้จ่ายผ่านบัตรมากเกินไป จ่ายเต็มจำนวนไม่ได้ จ่ายเฉพาะขั้นต่ำ จะกลายเป็นการติดกับดักหนี้บัตรเครดิต และหากควบคุมการใช้บัตรเครดิตไม่ดี มีความเสี่ยงที่ผิดนัดชำระ นำไปสู่หายนะทางการเงิน
อีกด้านหนึ่ง บัตรเครดิตถือเป็นเครื่องมือในการใช้จ่ายยอดนิยม ด้วยสิทธิประโยชน์เฉพาะผู้ถือบัตร ส่วนลดและโปรโมชันต่างๆ รวมไปถึงโปรแกรมผ่อนชำระ ดอกเบี้ย 0% ยอดนิยม ทำให้เราใช้จ่ายถูกกว่า เมื่อเทียบกับชำระเป็นเงินสด
ส่วนวงเงินที่ได้รับ ซึ่งมากกว่ารายได้ต่อเดือน มีไว้เพื่อเป็นวงเงินสำรองยามฉุกเฉิน เผื่อมีเหตุการณ์จำเป็นต้องใช้จ่ายแบบคาดไม่ถึง หากเงินสดที่มีอยู่ในตัวไม่พอ ก็ใช้บัตรเครดิตจ่ายไปก่อน แล้วพอมีรายรับเข้ามาก็ค่อยใช้คืน
ไม่นับรวมข้อดีของ “สังคมไร้เงินสด” (Cashless Society) เดิมมีเป้าหมายเพื่อลดการใช้ธนบัตร แต่สถานการณ์โควิด-19 ธนบัตรเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค รวมทั้งเชื้อโควิด-19 ทำให้มีผู้คนใช้จ่ายผ่านช่องทางอื่นแทนเงินสดมากขึ้น
ปัจจุบัน พัฒนาการด้านการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต ไม่ได้จำกัดเพียงแค่การรูดบัตรผ่านเครื่อง EDC เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงธุรกรรมออนไลน์ ทั้งการชอปออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ หรือผูกข้อมูลบัตรกับแอปพลิเคชันต่างๆ
นอกจากนี้ ยังมีระบบชำระเงิน ระบบคอนแทคเลส (Contactless) เพียงแตะบัตรเข้ากับเครื่องอ่านบัตร โดยไม่ต้องเซ็นชื่อในเซลสลิป นำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย ตั้งแต่ร้านอาหารฟาสฟู้ด ซูเปอร์มาร์เก็ต ยันระบบคมนาคมขนส่ง
แทบจะเรียกได้ว่า บัตรเครดิตอยู่ล้อมรอบตัวเรา อยู่ในมือเรา ในทุกแพลตฟอร์มก็ว่าได้
ยุคนี้ คนที่ใช้บัตรเครดิตแทนเงินสดในชีวิตประจำวัน จึงเป็นการใช้จ่ายเพื่อวัตถุประสงค์ตามสิทธิประโยชน์ของบัตร ที่กำลังได้รับความนิยมในขณะนี้ คือ บัตรประเภทเงินคืน (Cashback)
ปกติบัตรเครดิตประเภทเงินคืน เมื่อใช้จ่ายผ่านบัตรจะได้รับเครดิตเงินคืนตั้งแต่ 0.25 ถึง 1% ของยอดการซื้อสินค้าและบริการ แต่อาจจะมีบัตรเครดิตบางแห่ง เลือกหมวดการใช้จ่ายที่ต้องการ เพื่อให้ได้เครดิตเงินคืนที่มากขึ้น
รูปแบบเครดิตเงินคืนมีทั้งเข้าบัญชีบัตรเครดิต หรือเป็นเงินโอนเข้าบัญชีธนาคาร บางรายเป็นรูปแบบคะแนนสะสม (Points) ของแพลตฟอร์มการชำระเงินออนไลน์ชื่อดัง ใช้แทนเงินสดตามร้านค้าที่ร่วมรายการ หรือจ่ายบิลได้เลย
ในปี 2564 มีอยู่สองธนาคาร ที่ออกบัตรเครดิตประเภท Cashback ที่สร้างความฮือฮา ด้วยจุดขายก็คือ เงินคืนเข้าไว นำไปใช้ได้ทันที โดยไม่ต้องรอวันสรุปยอดบัญชี
ธนาคารแรก เป็นบัตรเครดิตร่วมกับแพลตฟอร์มชำระเงินออนไลน์ ให้เงินคืนในรูปแบบคะแนนสะสม 1 พอยต์มีค่าเท่ากับ 1 บาท คะแนนเข้าไวภายใน 1-3 วัน หลังร้านค้าเรียกเก็บเงินจากธนาคาร ไม่ต้องรอให้ถึงวันสรุปรอบบัญชี
ช่วงเปิดตัวสร้างความฮือฮา ด้วยการให้คะแนน 3% ต่อเซลสลิป ทุกหมวดแบบไม่มีเพดาน ก่อนที่ปีต่อไปจะเหลือ 2% และปีที่ 3 เหลือ 1% ตามปกติ ไม่นับรวมลายหน้าบัตรที่มีแบบ Limited Edition ก็มีคนสมัครบัตรใบนี้อย่างล้นหลาม
ปรากฏว่า มีผู้ถือบัตรบางคนหัวใส เอาบัตรใบนี้มารูดซื้อทองคำเพื่อเอาพอยต์ แล้วขายทองคำคืนที่หลัง ได้พอยต์ไปจำนวนมาก ภายหลังจึงงดให้คะแนนรายการซื้อจากร้านค้าทองคำ และรายการซื้อธนบัตรต่างประเทศผ่านบัตรเครดิต
ล่าสุด เปลี่ยนเงื่อนไขจำกัดการได้รับคะแนนสูงสุด เพียงแค่วงเงินบัตรเครดิตถาวรของรอบบัญชีนั้นๆ เพราะฉะนั้นคนที่ใช้บัตรเครดิตเต็มวงเงิน ไปชำระบิลก่อนวันสรุปยอดบัญชี จะไม่ได้รับพอยต์จนกว่าจะเข้าสู่รอบบัญชีใหม่
เช่น คนที่ได้วงเงินบัตรเครดิตถาวร 15,000 บาท รูดบัตรไป 15,000 บาท ได้มา 450 คะแนน จากนั้นจ่ายบิล 15,000 บาท ก่อนวันสรุปยอดบัญชีแล้วรูดต่อ ยอดใช้จ่ายส่วนที่เหลือจากวงเงินถาวร 15,000 บาท จะไม่ได้คะแนนอีก
อีกธนาคารหนึ่ง ให้เงินคืนในรูปแบบเครดิตเงินคืน 5% ของยอดใช้จ่ายออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน ทุก 500 บาทต่อเซลสลิป (ยกเว้นประกันและท่องเที่ยว) จำกัดเครดิตเงินคืนสูงสุด 300 บาทต่อเดือน
แต่ถ้าใช้จ่ายผ่านร้านค้าทั่วไป ยังได้คะแนนสะสม 25 บาทเท่ากับ 1 คะแนน เพื่อนำไปใช้แลกของรางวัลต่างๆ และหากใช้จ่ายที่ร้านอาหารที่ร่วมรายการ ได้รับคะแนน 2 เท่า หลังเปิดตัวก็ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน
ถ้าถามว่า วิธีใช้บัตรเครดิตในชีวิตประจำวันอย่างไรถึงจะคุ้มค่าที่สุด เนื่องจากบัตรเครดิตแต่ละใบมีสิทธิประโยชน์ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ของผู้ถือบัตรว่าต้องการแบบไหน แต่ขออนุญาตแนะนำแบบรวมๆ ก็คือ
- ก่อนสมัครบัตรเครดิต อย่าลืมดูเรื่องค่าธรรมเนียมรายปี และเงื่อนไขที่จะได้รับการยกเว้น เช่น ใช้จ่ายมากกว่ากี่ครั้งต่อปี หรือมียอดใช้จ่ายสะสมต่อปีเท่าไหร่ ซึ่งธนาคารกำหนดไว้เพื่อให้เราได้มีโอกาสนำบัตรออกมาใช้
- ถ้าไม่แน่ใจว่านิสัยการใช้บัตรเครดิตของตัวเองเป็นอย่างไร ควรตัดปัญหาด้วยการใช้บัตรเครดิตเพียงใบเดียว หรือถ้าจะมีมากกว่า 1 ใบ ควรอยู่ภายใต้ธนาคารเดียวกัน วงเงินเดียวกัน จะได้บริหารจัดการได้ง่าย
- หากคิดว่าวงเงินที่ได้รับสูงเกินกว่าที่จะชำระเต็มจำนวน สามารถยื่นคำร้องขออนุมัติลดวงเงินถาวรกับธนาคารได้ หรือบางธนาคารสามารถปรับเพิ่ม-ลดวงเงินบัตรเครดิตได้ด้วยตัวเองผ่านแอปพลิเคชัน ต่ำสุดคือ 15,000 บาท
- พยายามศึกษาสิทธิประโยชน์หลักว่า รูดแล้วได้อะไร มีเงื่อนไขอะไรบ้าง และสรุปยอดบัญชีทุกวันที่เท่าไหร่ เพราะจะได้วางแผนการใช้บัตรได้ถูก เพราะหากรูดบัตรแบบไม่ตรงตามเงื่อนไข ก็จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์นั้นๆ
เช่น บัตรเครดิตธนาคารหนึ่ง ให้เงินคืน 1% เข้าบัญชีธนาคาร แต่มีเงื่อนไขต้องใช้จ่ายมากกว่า 100 บาทต่อเซลสลิป ถ้าใช้จ่ายเพียงแค่ 80-90 บาทจะไม่ได้รับเงินคืน ควรเปลี่ยนไปใช้บัตรสะสมคะแนน 25 บาทเท่ากับ 1 คะแนนดีกว่า
กรณีบัตรแบบสะสมคะแนน ควรศึกษาเงื่อนไขด้วยว่า รายการใช้จ่ายแบบไหนจะไม่ได้คะแนนสะสม เช่น ค่าสาธารณูปโภค การซื้อประกันชีวิต ซื้อกองทุน หรือบางธนาคารไม่ให้คะแนนสะสม หมวดขนส่งสาธารณะก็มี
- พยายามเช็กรายการย้อนหลังว่า ใช้จ่ายอะไรไปบ้าง จะได้ประมาณตนเองและเตรียมเงินไว้จ่ายค่าบัตรเครดิต สมัยก่อนต้องคอยจด หรือเก็บเซลสลิป สมัยนี้แอปพลิเคชันธนาคารตรวจสอบวงเงินคงเหลือ และรายการย้อนหลังได้
- เมื่อถึงคราวใบแจ้งยอดบัตรเครดิตมาถึง ให้จ่ายเต็มจำนวน ธนาคารจะไม่ได้ดอกเบี้ยจากเรา แต่ถ้าจ่ายขั้นต่ำไปเรื่อยๆ ธนาคารก็จะคิดดอกเบี้ยจากเราทุกเดือนไปเรื่อยๆ เปรียบเหมือนแก้วน้ำที่เติมเท่าไหร่ก็ไม่เคยเต็ม
- อย่าถอนเงินสดออกจากบัตรเครดิตถ้าไม่จำเป็น เพราะจะถูกคิดค่าธรรมเนียมเบิกถอนเงินสด 3% และคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่กดเงินสด ถ้าจำเป็นต้องใช้เงิน มีบริการเปลี่ยนวงเงินบัตรเครดิตเป็นเงินสด โดยแบ่งผ่อนชำระทุกเดือน
อีกวิธีที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ ใช้บัตรเครดิตให้เหมือนบัตรเติมเงิน คือรูดบัตรไปแล้วสักพักค่อยจ่าย แต่วิธีการนี้ควรระวังเรื่องวันสรุปยอดบัญชี และวันครบกำหนดชำระ ไม่เช่นนั้นอาจกลายเป็นการจ่ายล่าช้าได้
มีคนกล่าวไว้ว่า บัตรเครดิตมีไว้ใช้แทนเงินสดในชีวิตประจำวัน ไม่ได้มีไว้เพื่อสร้างความมั่งคั่ง ถ้าเป็นไปได้แนะนำให้ใช้เป็นเครื่องมือแทนเงินสดแบบพอประมาณ แล้วจ่ายเต็มจำนวนเพื่อไม่ให้เป็นภาระ
ส่วนใครที่จ่ายขั้นต่ำมาตลอด อาจจะรู้สึกทรมานเมื่อจ่ายแล้วยอดหนี้ไม่ลดสักที เห็นค่า INTEREST เป็นพันบาท แล้วปวดใจ ถ้าเป็นไปได้พยายามจ่ายให้มากกว่าขั้นต่ำ อดทนอีกนิด เมื่อหนี้บัตรเครดิตหมดแล้ว ก็จะรู้สึกเป็นไทขึ้นมา
หากตัดภาระตรงนี้ได้เราจะคล่องตัวมากขึ้น ดอกเบี้ยที่เราต้องจ่ายให้ธนาคารนับพันบาทในแต่ละเดือนก็จะหมดไป ระหว่างนั้นเราก็สร้างนิสัยการออมควบคู่ไปด้วย รู้จักออมก่อนใช้ ออมแล้วนำไปลงทุนให้งอกเงยจะดีที่สุด
ขอให้มีความสุขกับโลกของสังคมไร้เงินสดครับ