กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
ปัจจุบันการจองโรงแรมหรือที่พักผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว เพราะสามารถเทียบราคาและสถานที่ตั้งก่อนตัดสินใจจองห้องพัก รวมทั้งมีโปรโมชันส่วนลดอย่างต่อเนื่อง
แม้สถานการณ์โควิด-19 ในช่วงที่แพร่ระบาดหนักๆ และมาตรการล็อกดาวน์จะทำให้นักท่องเที่ยวหายไป ยอดผู้เข้าพักเหลือศูนย์ก็ตาม แต่เมื่อผ่อนคลายมาตรการ นักท่องเที่ยวก็กลับมา ยอดผู้เข้าพักก็ฟื้นตัวขึ้น
ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 ที่เปิดจองห้องพัก 2 ล้านสิทธิไปตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2564 พบว่าผ่านไปเกือบ 2 เดือน มีผู้ใช้สิทธิไปแล้ว 1.86 ล้านสิทธิ และสิทธิใกล้จะหมดลง
ปกติช่องทางการจองโรงแรมออนไลน์ มักจะนิยมจองผ่าน OTA หรือ Online Travel Agency มีทั้งจองที่พัก และที่พักพร้อมเที่ยวบิน ซึ่งมีอยู่หลายเจ้า ได้แก่ Agoda, Booking, Traveloka, Expedia, Ascend Travel ฯลฯ
ถ้าจองกับทางที่พักโดยตรง เครือโรงแรมจะมีโปรแกรมสมาชิก ที่สามารถสะสมคืนเข้าพักเพื่อรับสิทธิพิเศษ เช่น IHG Rewards Club, Marriott Bonvoy, Accor Live Limitless หรือกลุ่มโรงแรมราคาประหยัดก็มี Hop Inn Reward
แต่การแข่งขันของธุรกิจ OTA ในวันข้างหน้าอาจจะมีเรื่องสนุกๆ เกิดขึ้น เพราะตอนนี้เริ่มมีพันธมิตรรายใหม่เข้าร่วมกับ OTA ชั้นนำ หรือจะเป็นแพลตฟอร์ม OTA รายใหม่ที่กำลังน่าจับตามอง
เริ่มจากแพลตฟอร์มชอปปิ้งออนไลน์ “ชอปปี้” (Shopee) ที่ตอนนี้ไม่ได้มีเพียงแค่ซื้อของออนไลน์ จ่ายบิล และเติมเงิน แต่ยังขยายไปถึงอี-วอลเลต สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ฟู้ดดีลิเวอรี
ชอปปี้เปิดให้จองโรงแรมแล้วตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา โดยมีโปรโมชันรับเงินคืนสูงสุด 500 Coins พร้อมโค้ดส่วนลดพิเศษ โปรโมชันประจำเดือน และจองรถบัสได้อีกด้วย
โดยการจองโรงแรมผ่านชอปปี้ เป็นการร่วมมือกับ อโกด้า (Agoda) และ Booking.com เปิดระบบให้เข้าถึง ค้นหา และจองห้องพัก เริ่มจาก 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน
จุดแข็งของชอปปี้ที่ผู้บริโภคทราบกันดีก็คือ มีโปรโมชันที่หลากหลาย นอกจากโค้ดส่วนลดพิเศษ และโปรโมชันประจำเดือนแล้ว ยังแจกเหรียญที่เรียกว่า Shopee Coins ที่สามารถใช้เป็นส่วนลดแทนเงินสด 1 เหรียญเท่ากับ 1 บาท
เช่น ลูกค้าใหม่จะมีโค้ดรับเงินคืนเป็นชอปปี้คอยน์ 30% เมื่อจองโรงแรมขั้นต่ำ 1,500 บาท รับคืนสูงสุด 500 คอยน์ ซึ่งเหรียญที่ได้รับสามารถนำไปใช้ได้หลายบริการ เช่น ซื้อของออนไลน์ จ่ายบิล เติมเงิน สั่งอาหาร ฯลฯ
ข้อดีของการร่วมเป็นพันธมิตรกับอโกด้าก็คือ ชอปปี้ไม่ต้องนับหนึ่งใหม่ แต่ใช้วิธีเชื่อมแพลตฟอร์มและทรัพยากรของ Agoda ซึ่งดีลกับทางโรงแรมเอาไว้แล้ว เพียงแค่ลูกค้าชอปปี้เข้าไปจองและชำระเงินเท่านั้น
ต่างจากการทำฟู้ดดีลิเวอรีอย่าง Shopee Food ที่นับหนึ่งใหม่หมด แต่ยังพอมีตัวช่วยที่ SEA Group เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มบริหารจัดการร้านอาหารที่ชื่อว่า โอชา (Ocha) ซึ่งปัจจุบันรองรับบริการ Shopee Food แล้ว
เท่าที่ทดลองเข้าไปจองห้องพัก พบว่าใช้งานง่ายไม่ต่างจากการซื้อของออนไลน์ เพราะใช้คูปองส่วนลด คูปองรับเงินคืน และใช้เหรียญ Shopee Coins เป็นส่วนลดแทนเงินสดได้อีก จองแล้วจะมีอีเมลยืนยันการจองมาให้
วิธีการชำระเงิน มีทั้งผ่าน Shopee Pay เงินในวอลเล็ต หรือหักจากบัญชีธนาคารที่ผูกไว้ รวมทั้งชำระเงินผ่านบัตรเครดิต/บัตรเดบิต iBanking และ Mobile Banking ได้ เหมือนซื้อของออนไลน์
แต่ในขณะนี้ยังไม่สามารถใช้บริการ SPayLater บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ให้ช้อปก่อนจ่ายที่หลัง หรือแบ่งจ่าย 2-3 เดือน หรือสูงสุด 6-10 เดือนได้ แต่ถ้าหากการจองโรงแรมทำได้ บัตรเครดิตก็ไม่จำเป็น
ที่ผ่านมาชอปปี้ดิสรัปธุรกิจดั้งเดิมมาก็มาก อย่างเช่นห้างสรรพสินค้า ก็ถูกดิสรัปด้วยชอปปิ้งออนไลน์ ธุรกิจจ่ายบิลก็ถูกดิสรัปด้วยโปรแกรมจ่ายบิลในราคาที่ถูกกว่า สินเชื่อส่วนบุคคลก็ถูกดิสรัปด้วย SPayLater และ SEasyCash
ปัจจุบันชอปปี้กำลังบุกเบิก Shopee Food ท่ามกลางฟู้ดดีลิเวอรีรายใหญ่ที่มีมากกว่า 5-6 เจ้า และยังมีบริการจองโรงแรมกับรถโดยสารอีก อาจจะเรียกได้ว่าแทบจะเป็น “จักรวาลชอปปี้” เลยก็ว่าได้
แม้ว่าบริการจองที่พักจะผูกปิ่นโตอยู่กับอโกด้า แต่ด้วยกลยุทธ์จัดโปรโมชันช้อปออนไลน์ที่ทำเอากระเป๋าสตางค์นักช้อปในมือสั่นมาแล้ว คงต้องดูว่าโปรโมชันจองโรงแรมของชอปปี้ จะป้ายยาคนชอบเที่ยวได้มากน้อยขนาดไหน
อีกเจ้าหนึ่งที่กำลังมีแผนจะเปิดตัวต้นปี 2565 คือ โรบินฮู้ด แทรเวล (Robinhood Travel) ซึ่งต่อยอดมาจากบริการฟู้ดดีลิเวอรี ของกลุ่มไทยพาณิชย์ (SCB) ที่พลิกวงการก่อนหน้านี้ด้วยจุดเด่นคือไม่เก็บค่าจีพี
แพลตฟอร์มโรบินฮู้ด แทรเวล จะเป็น OTA ที่ครอบคลุมทั้งที่พัก สายการบิน ทัวร์และกิจกรรม บริการเช่ารถ และประกันภัยการเดินทาง โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ใช้แอปพลิเคชัน Robinhood ที่มีมากกว่า 2.3 ล้านคน
จุดเด่นก็คือคิดค่าคอมมิชชั่น 0% โอนเงินเข้ารวดเร็ว ภายใน 1 ชั่วโมงหลังเช็คเอาท์ จัดการแพ็คเกจและดีลต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง บริการหักภาษี ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมช่วยเหลือด้านการตลาด และสื่อออนไลน์จากผู้เชี่ยวชาญ
นอกจากนี้ ลูกค้ายังสามารถจองตั๋วเครื่องบินผ่านโรบินฮู้ด แทรเวล ได้อีกด้วย ซึ่งตอนนี้ดีลจบแล้ว 2 สายการบิน ได้แก่ ไทยสมายล์ และนกแอร์ รวมถึงการจองทัวร์ท้องถิ่น รถเช่า และบริการ Mart
เมื่อพิจารณาฐานลูกค้าโรบินฮู้ดพบว่า มาจากผู้ใช้แอปพลิเคชัน SCB Easy มากถึง 97% ผู้ใช้บัตรเดบิตเอสซีบี 49% ผู้ถือบัตรเครดิตไทยพาณิชย์ 31% และลูกค้าผลิตภัณฑ์การลงทุน 14%
ส่วนลูกค้าตามช่วงอายุพบว่า มีลูกค้าช่วงอายุ 20-29 ปี มากที่สุดถึง 39% รองลงมาคือช่วงอายุ 30-39 ปี 35% และอันดับ 3 ช่วงอายุ 40-49 ปี 17% แต่ลูกค้าอายุเกิน 50 ปีอยู่ที่ 7% สัดส่วนเพศพบว่าเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 70:30
ที่ผ่านมา โรงแรมที่ต้องพึ่งพา OTA ต้องจ่ายค่าคอมมิชชัน ถ้าเป็นโรงแรมขนาดใหญ่ มีอำนาจต่อรองมากกว่าจะเสียแค่ 10-15% แต่ถ้าเป็นโรงแรมขนาดเล็กอำนาจต่อรองน้อยกว่า ต้องจ่ายสูงถึง 10-20%
นอกจากนี้ ถ้าต้องการให้โรงแรมตนเองขึ้นเป็น Top Search บนแอปฯ OTA ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มอีก 3-5% ทำให้โรงแรมเล็กอยู่ได้ยากมาก โรบินฮู้ดจึงแก้ปัญหาตรงนี้เพื่อช่วยเหลือโรงแรมขนาดเล็กและขนาดกลางเป็นหลัก
ตอนนี้โรบินฮู้ดกำลังเปิดรับสมัครโรงแรมเข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล สมัครฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ติดต่อได้ที่ธนาคารไทยพาณิชย์สาขาที่สะดวก และเตรียมเปิดระบบประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2565
สำหรับผู้บริโภคคงต้องดูกันว่า ปีหน้าเปิดตัวโรบินฮู้ด แทรเวล จะมีโรงแรมเข้าร่วมมากน้อยขนาดไหน โปรโมชันจะโดนใจหรือไม่ ยังคงต้องรอลุ้น แต่สิ่งหนึ่งที่คาดหวังก็คือ จะได้เห็นโรงแรมเล็กๆ ที่พักหลักร้อยเข้าร่วมหรือไม่
เพราะที่ผ่านมาบางโรงแรมก็ไม่ได้เข้าร่วม OTA เพราะไม่อยากเสียค่าคอมมิชชั่น ถ้าโรบินฮู้ดเข้ามาแก้เพนพอนต์ตรงจุดนี้ได้ นอกจากเพิ่มทางเลือกแก่นักท่องเที่ยวแล้ว อาจจะ (ย้ำว่าอาจจะ) ได้รับโปรโมชันและบริการที่ดีจากทางโรงแรมเพิ่มขึ้น
เมื่อธุรกิจยานแม่ลงมาทำตรงนี้แล้วได้ผลดี บรรดา OTA และบริวารทั้งหลายเหล่านี้ คงไม่นิ่งเฉย อาจจะทางแก้เกมด้วยการจัดโปรโมชัน เพื่อดึงดูดลูกค้าไม่ให้ไหลออกไปยังแพลตฟอร์มอื่น
เก็บเงินไว้รอซัมเมอร์ปีหน้า การจองที่พักน่าจะสนุกและคุ้มค่ากว่าที่เป็นอยู่