กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
ช่วงนี้จังหวัดภูเก็ตกำลังคึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ หลังทางการนำร่องเปิดภูเก็ตแซนด์บอกซ์ไปเมื่อ 1 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ก่อนที่รัฐบาลจะเปิดประเทศไปเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2564
ข้อมูลจากท่าอากาศยานภูเก็ต ระบุว่า เดือนตุลาคม 2564 มีผู้โดยสารระหว่างประเทศ (International) ขาเข้า 21,938 คน ขาออก 6,130 คน ส่วนผู้โดยสารในประเทศ (Domestic) ขาเข้า 57,573 คน ขาออก 65,306 คน
ยิ่งจังหวัดภูเก็ตผ่อนคลายมาตรการเข้าจังหวัด มาเป็นการให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบโดสตามที่กำหนด ไม่ต้องเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายตรวจ ATK อีก ยิ่งทำให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจเดินทางเข้าจังหวัดภูเก็ตง่ายขึ้น
ผู้เขียนมาเยือนภูเก็ตสองครั้ง เนื่องจากเลื่อนตั๋วเครื่องบินไปทาง เลื่อนที่พักไปทาง เมื่อเลื่อนให้ตรงกันไม่ได้ ก็จำใจเที่ยวสองรอบก็แล้วกัน แต่ระยะห่างเพียงแค่หนึ่งเดือน ก็มองเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด
เช่น รถประจำทางสนามบินภูเก็ต เดือนตุลาคมไม่มีให้บริการ ต้องเสียค่าแท็กซี่เข้าเมืองหรือไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ แม้ผู้ประกอบการจะยอมลดค่าโดยสารประมาณ 20% ก็ตาม เช่น จากสนามบินไปป่าตองเหลือ 600 บาท
มาถึงเดือนนี้ ผู้ประกอบการเดินรถอย่าง “แอร์พอร์ตบัสภูเก็ต” และ “ภูเก็ตสมาร์ทบัส” เริ่มกลับมาให้บริการแล้ว หลังหยุดเดินรถในช่วงการแพร่ระบาดหนักๆ ที่ผ่านมา แม้จะมีผู้โดยสารมาใช้บริการจำนวนไม่มากก็ตาม
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ภูเก็ตสมาร์ทบัส” จากสนามบินภูเก็ตไปหาดสุรินทร์ หาดกมลา หาดป่าตอง หาดกะรน หาดกะตะ สิ้นสุดที่หาดราไวย์ ยังลดค่าโดยสารจากเดิม 170 บาท เหลือ 100 บาท เพื่อจูงใจนักท่องเที่ยวอีกทางหนึ่งด้วย
แต่เอาจริงๆ เพื่อนผู้เขียนแนะนำว่า ถ้าขับรถเป็น มีใบขับขี่ แนะนำให้เช่ารถที่สนามบินเอาดีกว่า เพราะจะได้ไปไหนมาไหนในตัวจังหวัดภูเก็ตได้สะดวก
ช่วงนี้เหมาะอย่างยิ่งที่จะไปเที่ยวภูเก็ต ด้วยเหตุผลสองประการ คือ
1. มีที่พักเข้าร่วมโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” นอกจากรัฐบาลจะสนับสนุนค่าที่พัก 40% สูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อห้อง ต่อคืนแล้ว แต่ละโรงแรมต่างลดราคาที่พัก หรือบางโรงแรมมอบสิทธิพิเศษเพิ่มเติม เช่น ฟรีอาหารเช้า
บางโรงแรมจะให้ “รีสอร์ตเครดิต” สำหรับใช้รับประทานอาหาร เครื่องดื่ม และสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สปา ตลอดระยะเวลาที่เข้าพัก เพียงแค่แจ้งความประสงค์ขอใช้เครดิตโรงแรม และบอกเลขที่ห้องกับพนักงาน
2. ใช้โครงการคนละครึ่งได้ง่าย เพราะจังหวัดภูเก็ตมีร้านค้า ร้านอาหาร ร้านขายของฝาก ของที่ระลึก ที่เข้าร่วมโครงการมากมาย แม้กระทั่งร้านกาแฟในสนามบินภูเก็ตก็รับคนละครึ่ง แทบจะเรียกได้ว่าหยิบมือถือสแกนกันมันส์มือ
ใครที่พักในตัวเมืองภูเก็ต ไม่อยากออกไปข้างนอก ก็สั่งคนละครึ่งผ่านฟู้ดดีลิเวอรี่ อย่างไลน์แมน หรือแกร็บฟู้ดได้ ชำระเงินผ่านแอปฯ เป๋าตัง แล้วลงมารับอาหารที่ล็อบบี้เมื่อมาถึง แต่แนะว่าให้หาช้อนติดกระเป๋าเดินทางสักอันหนึ่งก็ดี
เรื่องของเรื่องก็คือ สั่ง หมี่ผัดฮกเกี้ยนสะปำ จากร้านอาหารแห่งหนึ่ง ซึ่งใช้เส้นหมี่เหลืองกลมที่มีขนาดใหญ่กว่าเส้นบะหมี่ทั่วไปมาผัด พร้อมด้วยกุ้ง ปลาหมึก ปรากฏว่าทางร้านคงลืมให้ช้อนส้อมหรือตะเกียบมาด้วย
ด้วยความที่หิวจัดและไม่อยากออกไปไหน ผลก็คือต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ขออนุญาตไม่เขียนว่าใช้วิธีกินยังไง เพราะมันน่าเกลียดมาก แต่บอกไว้ก่อนว่าตอนกินนี่ร้อนมือมาก แต่อร่อยดี ถือเป็นประสบการณ์กินหมี่ผัดฮกเกี้ยนที่ไม่มีวันลืม
มาถึงขากลับจากตัวเมืองภูเก็ต คืนสุดท้ายก่อนกลับกรุงเทพฯ ผู้เขียนหาที่พักใกล้สนามบินภูเก็ต ด้วยเหตุผลก็คือ เวลากลับกรุงเทพฯ จะได้เดินเท้าไปขึ้นเครื่องบินได้เลย ไม่ต้องนั่งรถแท็กซี่จากตัวเมืองมาที่สนามบิน
วิธีการก็คือ ไปเดินเล่น ซื้อเสบียงที่เซ็นทรัลภูเก็ตก่อน จากนั้นเดินออกมาทางฝั่งเฟสติวัล ออกถนนใหญ่ ก่อนถึงร้านดีแคทลอน (Decathlon) จะมีศาลารอรถประจำทางเล็กๆ ให้นั่งรอตรงนั้น ตามเวลาที่รถออก ไม่เกิน 20 นาทีรถก็มาถึง
ค่าโดยสารแอร์พอร์ตบัสภูเก็ต ยังอยู่ที่ 100 บาทเหมือนเดิม แจ้งว่าลงที่ “ในยาง ซอย 16” ก่อนถึงสนามบิน รถจะจอดส่งผู้โดยสารที่หน้าร้านคลังยาสนามบิน ก็เดินเท้าเข้าไปยังบริเวณที่พักได้เลย
ย่านในยาง สนามบิน อาจจะไม่ใช่ย่านที่พักยอดนิยมของนักท่องเที่ยว เมื่อเทียบกับย่านชายหาดชื่อดังอย่างหาดป่าตอง หาดสุรินทร์ หาดกะตะ กะรน หรือย่านเมืองเก่าภูเก็ต แต่ก็เป็นย่านที่พักที่น่าสนใจ
เหมาะสำหรับคนที่สะพายเป้ เที่ยวคนเดียว เวลาออกจากโรงแรม เดินเข้าสนามบิน ผ่านประตู X Terminal ผ่านอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ถึงอาคารผู้โดยสารในประเทศ เดินขึ้นบันไดเช็กอินได้ทันที ใช้เวลาไม่ถึง 15 นาที
แต่สิ่งที่เราคิดว่าน่าสนใจ มากกว่าที่พักใกล้สนามบิน ยังมีมนต์เสน่ห์มากกว่านั้น
ย่านสนามบิน-ในยาง ถือเป็นย่านชุมชนใกล้สนามบินภูเก็ต ความคึกคักจะอยู่ที่พนักงานสนามบินและส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมครอบครัวใช้ชีวิตอยู่ในนั้น อาจจะรู้สึกแปลกตาเมื่อเทียบกับแหล่งท่องเที่ยวที่อื่น
ท่าอากาศยานภูเก็ต ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 2479 เดิมใช้ในกิจการทหาร อยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพอากาศ ต่อมากรมการบินพาณิชย์ได้ปรับปรุง ยกฐานะเป็นท่าอากาศยานสากลระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2523
เที่ยวบินปฐมฤกษ์เส้นทางระหว่างประเทศ เที่ยวบินแรกของท่าอากาศยานภูเก็ต ได้แก่ เที่ยวบินกรุงเทพฯ (ดอนเมือง)-ภูเก็ต-สิงคโปร์-กรุงเทพฯ (ดอนเมือง) ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2526
ต่อมา การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) รับโอนท่าอากาศยานภูเก็ตมาอยู่ในความดูแล เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2531 ต่อจากท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่ และได้ปรับปรุงให้ทันสมัยมาถึงปัจจุบัน
ท่าอากาศยานภูเก็ตมีเนื้อที่ประมาณ 94,800 ตารางเมตร ประกอบด้วยแท็กซี่เวย์ 8 จุด ทิศเหนือเป็นภูเขา ทิศใต้เดิมเป็นสวนยางพารา ปัจจุบันเป็นชุมชน ส่วนทิศตะวันตกเป็นชายฝั่งทะเลอันดามัน รองรับผู้โดยสารได้ 12.5 ล้านคนต่อปี
ปัจจุบัน ทอท. ได้พัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต โดยก่อสร้างอาคาร X Terminal สำหรับเที่ยวบินเช่าเหมาลำ เปิดใช้ในปี 2557, อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ เปิดใช้ในปี 2559 และปรับปรุงอาคารผู้โดยสารในประเทศ เปิดใช้ในปี 2561
ส่วนด้านทิศใต้ของท่าอากาศยานภูเก็ต เดิมเป็นพื้นที่ทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์บ้านสาคู แต่พบว่ามีป่าสนทะเลธรรมชาติ หาดทรายขาว และเป็นที่วางไข่ของเต่าทะเล กรมป่าไม้จึงผลักดันขึ้นทะเบียนเป็น อุทยานแห่งชาติหาดในยาง เมื่อปี 2524
ต่อมาในปี 2533 ได้นำที่ราชพัสดุบริเวณท่าฉัตรไชย ให้เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล จึงได้ผนวกเข้ากับพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดในยาง กลายมาเป็นชื่อพระราชทาน “อุทยานแห่งชาติสิรินาถ” มาถึงปัจจุบัน
พื้นที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ ส่วนใหญ่เป็นหาดทรายกับทะเล ครอบคลุมตั้งแต่หาดท่าฉัตรไชย หาดทรายแก้ว หาดไม้ขาว หาดในยาง รวมทั้งหาดในทอน หาดในทอนน้อย เกาะแววและหาดลายัน
ศูนย์กลางของอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จะอยู่ที่บริเวณ หาดในยาง ซึ่งเข้าไปในซอยในยาง 16 ประมาณ 750 เมตร ที่นั่นจะมีหาดทรายขาว ห้องอาบน้ำ ห้องสุขา ร้านค้าสวัสดิการ และลานกางเต็นท์
เวลาจะไปเที่ยวหาดในยาง แค่เดินเท้าออกจากที่พักไม่ไกลนัก ผ่านหมู่บ้านวิทยุการบิน จะมีด่านเข้าอุทยานแห่งชาติ ส่วนที่ทำการอุทยานแห่งชาติ และศูนย์บริการนักท่องเที่ยวจะอยู่ด้านใน ก่อนถึงสถานีตำรวจภูธรสาคู
ที่นั่นเห็นผู้คนเดินทางกันมาแบบครอบครัว เล่นน้ำทะเลบริเวณชายหาดที่เป็นหาดทรายขาว นั่งปิกนิกสังสรรค์กันตามร่มไม้ต่างๆ บนป่าริมทะเลอันร่มรื่น และหากแดดจ้าลมสงบ ยังได้ชมพระอาทิตย์ตกดินที่สวยงามไม่แพ้กัน
ปัจจุบัน ทางอุทยานฯ ปิดทางเข้าหาดในยาง ด้านหมู่บ้านวิทยุการบินตั้งแต่ 17.00 น. ถึง 07.00 น. ของวันรุ่งขึ้น โดยให้ไปใช้ถนนสายใหม่ที่ก่อสร้างเมื่อปี 2559 แทน ทำให้ทุกเช้ากลายเป็นสถานที่ออกกำลังกายของผู้คนที่อยู่ในย่านนั้น
เคยได้มีโอกาสตื่นเช้ามืดมาเดินออกกำลังกายที่หาดในยาง ถนนลาดยางอย่างดีพร้อมกับร่มไม้จากป่าอันร่มรื่น ทำให้รู้สึกสดชื่น หลายคนวิ่งรอบถนนตั้งแต่ทางเข้าหาดในยาง ที่ทำการอุทยานฯ เข้าถนนสายใหม่วนไปก็มี
ทีแรกตั้งใจว่าจะเดินออกกำลังกายเป็นวงกลม ผ่านสถานีตำรวจภูธรสาคู เลี้ยวซ้ายตรงโรงแรมเดวาภูเก็ต ไปออกในยางซอย 2 ปรากฏว่าตรงโรงแรมร้างมีสุนัขจรจัด ดุไม่พอแถมมากันเป็นฝูง เดินหนีแบบหางจุกตูดแทบไม่ทัน
ไฮไลต์อีกอย่างหนึ่งของการมาเที่ยวหาดในยางก็คือ การถ่ายรูปเครื่องบินขึ้น-ลงรันเวย์ ท่าอากาศยานภูเก็ต ที่นักท่องเที่ยวสายแชะ นิยมสัมผัสประสบการณ์ถ่ายรูปเครื่องบินแบบไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน
ปกติคนที่มาถ่ายรูปเครื่องบิน มักจะเดินทางมาจากทางหาดไม้ขาว ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของสนามบิน ส่วนหาดในยางจะอยู่ทางทิศใต้ แต่สามารถเดินเท้าไปมาระหว่างทั้งสองหาดบนหาดทราย หัวรันเวย์ด้านทิศตะวันตกของสนามบินได้
ทีแรกมองไปจากหาดในยาง เห็นเครื่องบินขึ้น-ลงนึกว่าไม่ไกล แต่พอเดินเท้าลงไปในหาดทรายจริงๆ รู้สึกว่านานเอาเรื่องเหมือนกัน ประมาณ 20 นาทีถึง เมื่อวัดระยะทางจาก Google Maps จริงๆ พบว่าปาเข้าไปกว่า 1 กิโลเมตร
รันเวย์สนามบินภูเก็ตประกอบด้วย หัวรันเวย์ 09 ด้านทิศตะวันตก กับหัวรันเวย์ 27 ด้านทิศตะวันออก ปกติจะขึ้น-ลงหัวรันเวย์ 27 แต่ในช่วงตารางการบินฤดูหนาว (ตั้งแต่เดือนตุลาคม ถึงมีนาคมปีถัดไป) ส่วนหนึ่งจะลงหัวรันเวย์ 09
เอาจริงๆ ทางสนามบินภูเก็ตเป็นห่วงเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ได้ห้ามถ่ายรูปเครื่องบินโดยสิ้นเชิง เพียงแค่ขอความร่วมมืออย่าเข้าไปเกาะรั้วเขตหวงห้ามเฉพาะ ซึ่งจะเป็นร่องระหว่างหาดทรายกับรั้วสนามบิน สูงประมาณ 2 เมตร
รวมทั้งอย่าใช้แฟลชถ่ายรูป อย่าเล่นไคท์บอร์ด อย่าบินโดรน อย่ายิงเลเซอร์ อย่าปล่อยลูกโป่ง และอย่าปล่อยโคมลอยเด็ดขาด หากเกิดอันตรายต่อความปลอดภัยของเครื่องบิน ถึงขั้นทำให้เครื่องบินตก โทษสูงสุดประหารชีวิต
มีคนเตือนว่าการถ่ายรูปเครื่องบินอันตราย เพราะขณะนำเครื่องขึ้นจะมีไอพ่นเครื่องบินออกมา ไอพ่นที่ว่านั้นไม่ร้อนเหมือนไอพ่นตามที่เราเข้าใจกัน แต่ลมที่ออกมาแรงมาก แทบจะดีดตัวคนที่ยืนเฉยๆ ให้ล้มลงได้เลย
ทีแรกคิดว่าไม่เชื่อ แต่พอเอาเข้าจริงตอนยืนถ่ายคลิปเครื่องบินขณะเทคออฟ แม้จะอยู่ห่างจากรั้วสนามบินไปมากพอสมควร แต่ก็เซเกือบล้มลงเลยทีเดียว ตอนหลังตัดสินใจนั่งถ่ายคลิปโดยใช้วิธีซูม 2 เท่า จึงได้คลิปออกมา
ถ้าเป็นกล้องอย่างดี อาจจะไม่ต้องเข้าใกล้รันเวย์ก็ได้ แค่ซูมอยู่ห่างๆ ก็น่าจะได้ภาพที่สวยเพียงพอแล้ว สังเกตเห็นหลายคนเกาะกลุ่มตรงหาดไม้ขาว ห่างจากรันเวย์ไปพอสมควร แทบจะเรียกว่าเป็นมุมมหาชนเลยก็ว่าได้
ช่วงที่เข้าพักแถวหาดในยางก่อนเปิดประเทศ แม้บรรยากาศจะเงียบเหงา ร้านสะดวกซื้อเจ้าดังปิดบริการหลายร้าน แต่บริเวณถนนสนามบิน จะมีร้านสะดวกซื้อที่ชื่อว่า “ซูเปอร์ชีป 24 ชั่วโมง” แบรนด์ห้างภูธรยืนหนึ่งของจังหวัดภูเก็ต
ชาวบ้านย่านนั้น นิยมมาช้อปที่ซูเปอร์ชีป 24 ชั่วโมง นอกจากสินค้าราคาถูก มีตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ โดยโซนด้านหลังที่เป็นโกดังยังมีสินค้าอีกมากแล้ว ยังรับชำระเงินผ่านโครงการคนละครึ่งอีกด้วย ตอนเย็นคิวจะยาวเหยียด
ที่น่าสนใจก็คือ อาหารแช่แข็งของซูเปอร์ชีป ราคาเริ่มต้นกล่องละ 20 กว่าบาทเท่านั้น หากมาตอนกลางวันจะมีข้าวกล่องพร้อมทานจำหน่ายอีก อย่างข้าวหมกไก่กล่องละ 22 บาท หน้าตาดูธรรมดา แต่ว่าอร่อยกว่าบางร้านเสียอีก
แต่ถ้าต้องการอาหารสด ออกแนวสมัยใหม่ ฝั่งตรงข้ามจะเป็นร้านสะดวกซื้อ โลตัส โก เฟรช ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามเช่นกัน แต่ปัจจุบันหลังเปิดประเทศ เซเว่นอีเลฟเว่นบางสาขากลับมาเปิดแล้ว เช่น สาขาในยางซอย 16 ใกล้โรงแรมที่พัก
อาจจะมีคนสงสัยว่า ผู้เขียนพักที่ไหน จริงๆ ในยางซอย 16 ไปหาดในยาง มีโรงแรมที่พักประมาณ 5-6 แห่ง แต่ไปได้โรงแรมที่ชื่อว่า BS Airport Residence เหตุผลเพราะราคาประหยัด แต่สภาพห้องและสิ่งอำนวยความสะดวกใช้ได้
ห้องพักที่นี่มีทั้งหมด 25 ห้อง ห้องที่ใหญ่ที่สุดคือห้องแฟมิลี่รูม แต่ละห้องจะมีระเบียงและราวสำหรับตากผ้า ด้วยความที่โรงแรมอยู่ใกล้สนามบิน นอกจากระเบียงจะไม่หันตรงเข้าสนามบินแล้ว ยังมีประตูกั้นไว้ 2 ชั้นเพื่อกันเสียงอีกด้วย
ตอนที่ไปเข้าพักครั้งล่าสุด คุยกับป้าที่ดูแลที่นี่ กล่าวว่า เริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามาบ้างแล้ว ถือว่าสถานการณ์ดีขึ้น จากที่เมื่อก่อนโควิด-19 ระบาดทำให้ขาดรายได้ อีกทั้งร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ก็มีลูกค้าถามถึงและอุดหนุนอีกด้วย
ก่อนจากกัน ป้าที่ดูแลห้องพักกล่าวกับเราว่า “อย่าลืมกลับมาพักที่นี่อีกนะลูก คนไทยด้วยกัน”
แต่ถ้าอยากได้บรรยากาศสุดเอ็กซ์คูลซีฟใกล้สนามบิน จะมีรีสอร์ตที่ชื่อว่า “ภูเก็ต แมริออท รีสอร์ต แอนด์ สปา ในยาง บีช” ห่างจากท่าอากาศยานภูเก็ต ลงมาทางถนนเทพกระษัตรี-ในยาง ประมาณ 5 กิโลเมตร
ทีแรกไม่ได้ตั้งใจจะพักที่นั่น แต่เนื่องจากมีเหตุบางประการ จึงต้องย้ายที่พัก แนะนำว่าถ้าใครไม่มีรถ ขับรถไม่เป็น เช่ารถไม่ได้ มีบริการรถลิมูซีนจากสนามบินมายังที่พัก เที่ยวละ 400 บาท โดยจองกับทางโรงแรมล่วงหน้า
รีสอร์ตแห่งนี้เปิดมานาน 5 ปี มีห้องพักทั้งหมด 180 ห้อง หลากหลายประเภททั้งห้องพรีเมียม พูลวิว พูลแอสเซส การ์เด้นคาร์บานา บีชฟรอนท์ ฯลฯ ขนาดเล็กสุดจะเป็นห้องดีลักซ์ 46 ตารางเมตร แต่ของจริงกว้างขวางมาก
สิ่งอำนวยความสะดวก มีทั้งสระว่ายน้ำล้อมรอบรีสอร์ต มีสปา มีฟิตเนสเปิด 24 ชั่วโมง มีห้องอาหารอันดามันคิทเช่น สำหรับอาหารเช้า เมนูแนะนำคือไข่เจียวแกงปู และห้องอาหารบิ๊กฟิช ใกล้ชายหาด สำหรับมื้อเที่ยงและเย็น
ส่วนชายหาดด้านหน้า เล่นน้ำทะเลได้ เมื่อน้ำลดยังสามารถเดินข้ามไปยังเกาะปลิง ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติได้อีก รวมทั้งมีกิจกรรมนันทนาการภายในรีสอร์ต ทั้งปั่นจักรยาน โยคะ หรือมวยไทย
แม้ว่าที่พักระดับนี้ อาจจะดูเกินเอื้อมถึงสำหรับมนุษย์เงินเดือนไปบ้าง แต่ตอนเช็กเอาต์ ทางโรงแรมแนะนำว่าให้ดูโปรโมชันที่เฟซบุ๊กของโรงแรมฯ จะมีห้องพักราคาพิเศษออกมาเรื่อยๆ
แม้ว่าหาดในยาง นักท่องเที่ยวจะพูดถึงน้อยกว่าย่านเมืองเก่าภูเก็ต หรือแหล่งท่องเที่ยวหาดทรายยอดนิยมอย่างหาดป่าตอง หาดสุรินทร์ หรือแหลมพรหมเทพ แต่วิถีชีวิตแบบชาวบ้าน และธรรมชาติที่เหลืออยู่รอให้ผู้มาเยือนเข้ามาสัมผัส
โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่อัดอั้นจากมาตรการล็อกดาวน์ตลอดทั้งปี แม้สถานการณ์โควิด-19 จะยังไม่จบลง แต่เมื่อได้รับวัคซีน มีภูมิคุ้มกันในตัว เรียนรู้ที่จะดูแลตัวเองแบบการ์ดไม่ตก
ถึงเวลาที่จะต้องให้รางวัลกับตัวเอง