กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
เมื่อวันก่อนอ่านบทสัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ภูมิภาคที่ชื่อ “โคราชคนอีสาน” มีน้องอยู่คนหนึ่ง ชื่อว่า “น้องอามมี่” หรือ ณัฐวรรธน์ ไชยสระแก้ว อายุ 18 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยเซนต์หลุยส์
แต่อีกสถานะหนึ่ง น้องเป็นแอดมินเพจที่ชื่อว่า “ที่นี่ ท่าอากาศยานนครราชสีมา Nakhon Ratchasima Airport VTUQ” คอยอัปเดตข่าวสารแวดวงการบิน พร้อมกับผลักดันสายการบินให้มาลงที่โคราช
ใครจะเชื่อว่า จากเพจเล็กๆ มีผู้ติดตามไม่มาก แต่แฝงไปด้วยพลังและความฝัน ที่อยากจะให้โคราชพัฒนามากกว่าที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะการผลักดันให้มี “สายการบิน” เปิดเส้นทางการบินมาลงที่โคราชอย่างจริงจังและยั่งยืน
น้องอามมี่ชื่นชอบเรื่องสายการบินมาตลอด เคยมีความฝันอยากเป็นสจ๊วตมาตั้งแต่อายุ 6 ขวบ แต่ผลกระทบจากโควิด-19 เห็นข่าวแต่ละสายการบินปลดพนักงานเพื่อความอยู่รอด จึงต้องหันไปเรียนพยาบาลแทน
เดิมเกิดที่กรุงเทพฯ แต่ครอบครัวเป็นคนโคราช ย้ายมาเรียนที่นี่เมื่อขึ้น ม.1 เมื่อทราบว่าโคราชจะมีสายการบินมาลง จึงอยากมาช่วยผลักดันอีกแรงโดยเปิดเพจขึ้นมา เป็นสื่อกลางประชาสัมพันธ์สายการบินที่จะบินมาลงที่โคราชบ่อยครั้ง
ครั้งหนึ่ง เคยมีความคิดที่จะทำหนังสือถึงผู้บริหารระดับต่างๆ ในจังหวัดนครราชสีมา แต่ขณะนั้นเรียนอยู่แค่ ม.4 อาจจะยังเด็กเกินไป อาจจะโดนตำหนิได้ จึงคิดว่ารอให้โตก่อน ให้มีประสบการณ์ความรู้ ถ้ามีเวลาก็จะลองทำหนังสือ
แรงผลักดันของน้องอามมี่ ทำให้ครั้งหนึ่งสายการบินโลว์คอสต์อย่างไทยเวียตเจ็ท สนใจที่จะมาเปิดเส้นทางบินโคราช ขอหนังสือที่เป็นรายงานเรื่องศักยภาพด้านต่างๆ ทั้งลูกค้า ผู้โดยสาร จำนวนชาวต่างชาติที่มาโคราช
ทั้งๆ ที่เรื่องแบบนี้ คนที่ควรจะช่วยกันซัปพอร์ตจริงๆ ต้องเป็นผู้ใหญ่ระดับจังหวัด หอการค้า และภาคธุรกิจของจังหวัดแล้ว แต่พลังของเยาวชนแม้จะเป็นเสียงสะท้อนขนาดเล็ก แต่ก็มีคุณค่าอย่างยิ่ง
เป็นที่ทราบกันดีว่า ท่าอากาศยานนครราชสีมา หรือ สนามบินหนองเต็ง เกิดขึ้นในสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี เปิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2540 แต่สายการบินที่มาลงล้วนแล้วแต่ต้องม้วนเสื่อกลับ
ไล่ตั้งแต่การบินไทย แอร์อันดามัน ไทยแอร์เอเชีย แฮปปี้แอร์ ไทยรีเจียนัลแอร์ไลน์ เปิดเส้นทางกรุงเทพฯ แต่ที่ดีขึ้นมาหน่อยคือกานต์แอร์ เปิดเส้นทางเชียงใหม่-นครราชสีมา แต่ต้องหยุดบินเนื่องจากปัญหาด้านใบอนุญาตทำการบิน
รายล่าสุดคือ นิวเจนแอร์เวย์ เปิดเส้นทางบิน ดอนเมือง-นครราชสีมา, เชียงใหม่-นครราชสีมา และ ภูเก็ต-นครราชสีมา แต่บินได้ 4 เดือนก็ต้องหยุดบิน เพราะผู้โดยสารน้อยมาก บางเที่ยวบินมีผู้โดยสารไม่ถึง 50 คน
มาคราวนี้มีข่าวว่า สายการบินนกแอร์ เตรียมเปิดเส้นทางบินใหม่ โดยบรรจุเส้นทางโคราชไว้ด้วยในปี 2565 ซึ่งน้องอามมี่มองว่า ถ้าใช้เครื่องบินลำเล็กอย่าง Q400 อาจจะตอบโจทย์ผู้โดยสาร และต้นทุนอาจลดลง
บทสัมภาษณ์ของน้องอามมี่ แสดงให้เห็นถึง “การทำการบ้านมาอย่างดี” ซึ่งเป็นคุณลักษณะเด่นของ คนเจนแซด (Gen Z) หรือเกิดหลังปี 2540 ที่เติบโตมากับเทคโนโลยี รับรู้ข่าวสารอย่างรวดเร็ว และตัดสินใจรวดเร็ว
โดยชี้ให้เห็นว่าทำไมแต่ละสายการบินเปิดเส้นทางบินโคราชถึงล้มเหลว เหตุผลหลักก็คือ 1. ผู้โดยสารไม่เพียงพอ 2. สายการบินมีแต่เครื่องบินลำใหญ่ และ 3. ตารางบินไม่ตอบสนองต่อความต้องการของคนโคราช
เช่น กรณีของนิวเจนแอร์เวย์ พบว่าบินไปภูเก็ตวันอังคาร แต่ไม่มีไฟลต์กลับ ถ้าจะกลับก็ต้องรอกลับวันพฤหัสบดี อีกทั้งโดยปกติเป็นสายการแบบเช่าเหมาลำ และเป็นแบบฟูลเซอร์วิส ค่าโดยสารจึงแพงกว่า
ส่วนข้อสังเกตที่ว่า “สนามบินโคราชอยู่ไกลจากตัวเมือง” นั้น น้องอามมี่กล่าวว่า บุรีรัมย์ไกลกว่าก็ยังอยู่ได้ ภูเก็ตอย่างไกลเลย ดังนั้นเรื่องระยะทางตัดออกได้ เพราะบางสายการบินมีบริการต่อรถไปยังปลายทาง (Fly ‘n’ Ride)
ส่วนเส้นทางการบินที่จะตอบโจทย์คนโคราชมากที่สุด น้องอามมี่บอกว่า มีอยู่ 4 เส้นทาง ได้แก่ นครราชสีมา-เชียงใหม่ ช่วงที่นิวเจนเข้ามาประสบความสำเร็จ มีผู้โดยสารมากกว่า 100 คน
ส่วนอีก 3 เส้นทาง เป็นเมืองชายทะเล ได้แก่ นครศรีธรรมราช, หัวหิน และกระบี่ เขายกตัวอย่างนครศรีธรรมราช มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว มีทะเลขนอม มีหาดทรายสวย และช่วงโควิดก็เนื้อหอมมีคนแห่ไปหาไอ้ไข่ด้วย
ขณะที่เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา น้องอามมี่มองว่าทำได้ แต่จะต้องกำหนดตารางบินในวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ และจันทร์ หรือช่วงเทศกาลก็อาจจะทำได้ เพราะถ้าจะกลับภาคอีสานต้องผ่านโคราช ซึ่งรถจะติดมาก
น้องอามมี่กล่าวว่า หากมีสายการบินมาเปิดเส้นทางนครราขสีมา อยากให้หอการค้าและองค์กรต่างๆ ช่วยผลักดันให้อยู่รอด ทำอย่างไรเขาจึงจะอยู่ได้ หากบอกว่าสนามบินไกล ควรติดต่อบริษัทรถทัวร์ขอรถมารับ
“ที่ผ่านมาสายการบินมีการปรับตารางการบินก็เพื่อความอยู่รอดของตัวเอง แต่หากต้องการให้ตอบสนองการเดินทางของผู้โดยสารด้วย ก็ควรมาหาทางออกด้วยการคุยกัน น่าจะไปรอด” น้องอามมี่ ระบุ
อ่านบทสัมภาษณ์จบแล้ว นึกถึงตอนที่ไปภูเก็ตและบุรีรัมย์ สนามบินไกลจริงอย่างที่ว่า เพราะอย่างสนามบินภูเก็ตห่างจากตัวเมือง 32 กิโลเมตร ค่าแท็กซี่แพงมาก ส่วนรถประจำทางอย่างแอร์พอร์ตบัสใช้เวลา 1 ชั่วโมงครึ่งกว่าจะถึง
ส่วนสนามบินบุรีรัมย์ก็ไกลจากตัวเมืองพอๆ กับภูเก็ต เคยนั่งเครื่องบินลำเล็ก Q400 ของนกแอร์ มี 86 ที่นั่ง เสียงจะดังกว่าเครื่องใหญ่อยู่บ้าง ดูเหมือนว่ามีผู้โดยสารไม่น้อยเลย เมื่อไปถึงที่นั่นแล้ว จะมีรถตู้เข้าเมือง คนละ 200 บาท
ส่วนตัวอยากให้มีเที่ยวบิน “นครราชสีมา-เชียงใหม่”มากที่สุดเพราะถ้านั่งรถทัวร์จะใช้เวลาราว 13-14 ชั่วโมง ที่ผ่านมามักจะใช้วิธีนั่งรถทัวร์จากนครราชสีมาไปกรุงเทพฯ แล้วขึ้นเครื่องไปเชียงใหม่ รวมกันแล้วประมาณ 6-7 ชั่วโมง
ผู้เขียนเคยขึ้นเครื่องบินจากเชียงใหม่ตอน 1 ทุ่มครึ่ง ถึงกรุงเทพฯ เกือบ 3 ทุ่ม แล้วต่อรถทัวร์ที่หมอชิตใหม่ รถออกประมาณ 5 ทุ่ม ถึง บขส. 2 นครราชสีมา เวลาตี 3 ของอีกวันหนึ่ง เบ็ดเสร็จใช้เวลาประมาณ 7-8 ชั่วโมง
เข้าใจความลำบากของคนโคราช หรือจังหวัดใกล้เคียงอย่างชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ที่จะเดินทางข้ามภาค ถ้ามีเที่ยวบินมาลงโคราช แล้วมีระบบขนส่งที่เป็นฟีดเดอร์ เช่น รถประจำทาง ไปยังตัวเมืองจะช่วยประหยัดเวลาไปไม่น้อย
ห่างออกไปไม่ถึง 10 กิโลเมตร จะมี สถานีรถไฟท่าช้าง ทางรถไฟสายอีสาน (ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี) หากพัฒนาเป็นรถไฟทางคู่ มีรถไฟออกตรงเวลา มีระบบฟีดเดอร์ไปสนามบิน ยิ่งรองรับคนที่มาจากบุรีรัมย์และสุรินทร์ได้อีก
การฟื้นสนามบินร้างให้มีเที่ยวบินมาลง นึกย้อนไปถึงท่าอากาศยานหัวหิน หรือที่เรียกกันว่า สนามบินบ่อฝ้าย พยายามจะฟื้น ด้วยการให้แอร์เอเชียเปิดเส้นทางบินทั้งในและต่างประเทศ
ที่ผ่านมาสายการบินแอร์เอเชีย มาเลเซีย เปิดเส้นทาง กัวลาลัมเปอร์-หัวหิน เมื่อปี 2561 ก่อนที่ไทยแอร์เอเชียจะเปิดเส้นทางบินข้ามภาค เชียงใหม่-หัวหิน และอุดรธานี-หัวหิน เมื่อกลางปี 2563
แต่สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ทุกเที่ยวบินหยุดให้บริการไป กระทั่งกลับมาทำการบินใหม่อีกครั้งในเส้นทางเชียงใหม่-หัวหิน เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2564 สัปดาห์ละ 2 เที่ยวบิน ทุกวันศุกร์และวันอาทิตย์
แต่กว่าที่แอร์เอเชียจะทำการบินสนามบินหัวหินได้ กรมท่าอากาศยานก็ต้องลดแลกแจกแถม ด้วยการลดค่าธรรมเนียมต่างๆ ไปไม่น้อยเหมือนกัน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเส้นทางบินใหม่ และการท่องเที่ยวเมืองรอง
ในประเทศไทยยังมีท่าอากาศยานอีกมาก ที่ไม่มีเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ให้บริการ โดยเฉพาะของกรมท่าอากาศยานมีอย่างน้อย 2-3 สนามบิน ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย กับโครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนาไว้แล้ว กลับไม่ได้ถูกใช้ให้เต็มศักยภาพ
คนเจนวาย เจนแซด เกิดในยุคที่มีอินเทอร์เน็ตเข้าถึง ใช้คอมมูนิตี้แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ตัดสินใจได้ว่าจะชี้ชะตาอนาคต ตั้งแต่เรื่องส่วนตัวหรือส่วนรวมอย่างไร ถือเป็นฟันเฟืองเล็กๆ แต่ทรงพลัง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
จากการอ่านบทสัมภาษณ์ของน้องอามมี่ สิ่งที่อยากจะฝากก็คือ คนเป็นผู้ใหญ่ “อย่าดูเบา” กับความคิดของคนที่อยู่ต่างเจน แต่ควรใช้ศักยภาพของเจนที่ต่างกัน ช่วยกันตกผลึกและผลักดันเพื่ออนาคตของทุกคน
หมายเหตุ : อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่เว็บไซต์ http://www.koratdaily.com/blog.php?id=13769