xs
xsm
sm
md
lg

ชิมลางไทยสมายล์บัส สาย 35 พระประแดง-สายใต้ใหม่ ก่อนวิ่ง 10 เส้นทางทั่วกรุงฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

ในที่สุด บริษัท ไทยสมายล์บัส จำกัด ผู้ประกอบการเดินรถโดยสารประจำทางรายล่าสุด ก็เริ่มให้บริการกับคนกรุงเทพฯ แล้ว ประเดิมด้วยสาย 35 พระประแดง-สายใต้ใหม่ เดินรถไปเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา

ส่วนเส้นทางที่เหลือ ขณะนี้กำลังทยอยนำรถโดยสารมาตรวจสภาพ และจดทะเบียนที่กรมการขนส่งทางบก คาดว่าภายในเดือนตุลาคมนี้ จะเริ่มให้บริการรับส่งผู้โดยสาร ประเดิม 10 เส้นทางทั่วกรุงเทพฯ

ทราบมาว่า ไทยสมายล์บัส ใช้วิธีร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการรถร่วมบริการเดิม ซึ่งได้รับใบอนุญาตเดินรถ หรือสัมปทานจากกรมการขนส่งทางบกโดยตรง ทำให้บริเวณข้างรถจะเห็นโลโก้และชื่อผู้ประกอบการเดิมอยู่ข้างรถนั่นเอง

รถโดยสารที่นำมาใช้ เป็นยี่ห้อ ไมน์บัส (MINEBUS) รุ่น EV-X12 ยาว 12 เมตร บรรทุกผู้โดยสาร 33 ที่นั่ง ขับเคลื่อนด้วยพลังงานจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ขนาด 250-350 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ขับเคลื่อนได้ระยะทางถึง 250-350 กิโลเมตร

ที่ผ่านมา ไมน์บัสได้วิ่งทดสอบรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ มานานกว่า 1 ปี พร้อมกับพัฒนาระบบชาร์จไฟที่เรียกว่า Ultra-Fast Charger ทำให้จากเดิมใช้เวลาชาร์จไฟประมาณ 2 ชั่วโมง เหลือเพียง 15 นาทีเท่านั้น

ไทยสมายล์บัส จัดซื้อรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าไมน์บัส จำนวน 500 คัน จากบริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX นำมาให้บริการ ทดแทนรถโดยสาร 10 เส้นทาง ที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดยใช้งบลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท

ที่ผ่านมา ผู้เขียนพยายามหาโอกาสใช้บริการรถเมล์ไฟฟ้าคันนี้ แต่ด้วยจังหวะที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้ไม่ได้ใช้บริการเสียที ผ่านไป 2 สัปดาห์ เมื่อได้เห็นรถเมล์สาย 35 ด้วยตัวเอง จึงได้มีโอกาสใช้บริการเสียที

ภาพ : Google StreetView
ต้องบอกกันก่อนว่า รถเมล์สาย 35 จากพระประแดงไปสายใต้ใหม่ ไม่ได้วิ่งแบบทางตรง แต่จะอ้อมไปทางถนนพระราม 3 แล้วเลาะขึ้นมาทางเจริญกรุง หัวลำโพง โรงพยาบาลกลาง ถนนราชดำเนิน สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า มาเรื่อยๆ

สมัยก่อนสาย 35 เดินรถร้อนสีขาว-น้ำเงิน แค่ช่วงสาธุประดิษฐ์ ถึงเสาชิงช้า คนที่ใช้บริการส่วนใหญ่บ้านอยู่ทางฝั่งถนนสาธุประดิษฐ์ ถนนจันทน์ ไปเยาวราช หัวลำโพง เสาชิงช้า ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ศาลาว่าการ กทม.)

กระทั่งมีผู้ประกอบการอีกรายหนึ่ง นำรถปรับอากาศสีเหลือง เดินรถตั้งแต่พระประแดงถึงสายใต้ใหม่ ไม่เลี้ยวเข้าศาลาว่าการ กทม. อีก กลายเป็นรถสายยาวที่มีคนบ่นว่ารอรถนานกว่าปกติ ขึ้นอยู่กับสภาพการจราจร

ผู้เขียนเคยนั่งรถสาย 35 จากป้ายตรงข้ามโรบินสันบางรัก ไปลงป้ายบางปะแก้ว พบว่ารถตรงไปทางถนนเจริญกรุง แล้วเลี้ยวอ้อมไปทางถนนจันทน์ ถนนสาธุประดิษฐ์ก่อน แล้วเลี้ยวขวาถนนพระราม 3 ไม่ได้ตรงไปแล้วเลี้ยวขวาที่แยกถนนตก

ตอนนั้นเป็นช่วงเวลากลับบ้าน เลยไม่ได้ซีเรียสอะไร แต่ถ้าเป็นช่วงที่ต้องทำเวลา เป็นได้หงุดหงิดกันไปข้าง เปรียบได้กับเวทีมวย ที่คู่ชกมัวแต่ไหว้ท่าเทพพนม ต่อด้วยกราบเบญจางคประดิษฐ์ แล้วอีกสารพัดท่า แต่ยังไม่ต่อยกันเสียที

มาคราวนี้จะทดลองนั่งรถเมล์สาย 35 ด้วยความรู้สึกที่แตกต่างจากก่อนหน้านี้ เพราะหวังแต่เพียงแค่อยากรู้ว่า รถเมล์ไฟฟ้า 100% ที่คนรักรถเมล์ร่ำลือกันเป็นยังไง อยากรู้ว่าดีจริงหรือไม่?






ที่ป้ายรถเมล์บิ๊กซีดาวคะนอง เราใช้เวลารอรถนานพอสมควร เนื่องจากช่วงนี้ยังปล่อยรถไม่มาก ระหว่างนั้นรถเมล์ ขสมก. ผ่านไปทีละคัน สองคัน ทั้งรถเมล์ครีมแดง รถเมล์เอ็นจีวีสีฟ้า และรถยูโรทูสีส้มที่นำมาทดแทนรถ ปอ.สีขาว

ประมาณครึ่งชั่วโมงต่อมา รถเมล์สาย 35 ก็มาถึง ความแตกต่างระหว่างรถเมล์สายอื่นคือ ตัวรถเป็นสีน้ำเงินเข้ม แตกต่างจากรถเมล์เอ็นจีวีรุ่นใหม่ ทั้ง ขสมก. สมาร์ทบัส และรถร่วมบริการอื่นๆ ที่เป็นสีฟ้า ต้องคอยมองไกลๆ อยู่เรื่อย

เมื่อขึ้นไปบนรถ พนักงานจะให้เรานำฝ่ามือสแกนเครื่องวัดอุณหภูมิ บริเวณประตูหน้าก่อนใช้บริการ เหมือนเวลาที่เราเข้าอาคาร ซึ่งอาจจะดูแปลกๆ เมื่อเทียบกับรถเมล์สายอื่นๆ แม้แต่รถเมล์ ขสมก. เองก็ไม่มีแบบนี้

สแกนฝ่ามือเสร็จก็ไปยังที่นั่ง ในตอนนั้นเนื่องจากมีฝนตก ทั้งคันจึงมีผู้โดยสารคือผู้เขียนเพียงคนเดียว พนักงานเก็บค่าโดยสารก็มาถึง ผิดหวังเล็กน้อยตรงที่ถามว่าใช้บัตรจ่ายได้ไหม พนักงานแจ้งว่า เครื่อง EDC กำลังปรับปรุงอยู่

ที่ผ่านมาเวลานั่งรถเมล์ ขสมก. จะแตะบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตจ่ายตลอด เพราะไม่อยากจ่ายเงินสด ทำกันจนเป็นนิสัย ทุกวันนี้ยังรอความหวังให้ระบบขนส่งมวลชนในไทย ใช้ระบบ EMV แทนที่จะพกบัตรโดยสารแยกทีละใบเหมือนปัจจุบัน

สำหรับค่าโดยสาร จะคิดตามรถเมล์รุ่นใหม่ที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด ได้แก่ 1-4 กิโลเมตรแรก 15 บาท, 4-16 กิโลเมตร 20 บาท มากกว่า 16 กิโลเมตร สูงสุด 25 บาท (เส้นทางไหนต้องขึ้นทางด่วนให้คิดเพิ่มอีก 2 บาท เป็นสูงสุด 27 บาท)

ระหว่างนั้นพนักงานเก็บค่าโดยสารแนะนำว่า ถ้าอยากเห็นถนนหนทางให้นั่งบริเวณที่นั่งหน้าบันไดทาง จะมองเห็นได้ทั่วถึงกว่า (เพราะเป็นรถชานต่ำ) พร้อมกับแนะนำว่าถ้ามีสายชาร์จมือถือให้นำมาชาร์จบนรถได้






อาจมีคนสงสัยว่า บนรถเมล์ชาร์จแบตมือถือได้ด้วยเหรอ?

ต้องขอบอกว่า รถเมล์คันนี้ มีช่องเสียบชาร์จแบตมือถือแบบ USB จำนวน 2 ช่อง จากที่นับด้วยสายตาจะมีอยู่ทั้งหมด 13 จุด ประจำอยู่ที่บริเวณเสาของรถเมล์ ถ้ามีสายชาร์จก็นำมาชาร์จแบตมือถือได้เลย ลองเสียบชาร์จดูปรากฎว่าใช้ได้จริง

แม้จะมีช่อง USB อยู่ 2 ช่อง แต่อยู่ใกล้บริเวณทางเดิน ต่างจากรถทัวร์ต่างจังหวัดที่อยู่ตรงกลางเบาะ สมมติว่าคนที่นั่งอยู่ริมหน้าต่าง ถ้าจำเป็นต้องชาร์จแบต อาจจะต้องรบกวนขออนุญาตคนที่นั่งริมทางเดินก่อนเพราะอยู่ใกล้ช่องเสียบ

จากบิ๊กซีดาวคะนอง ถึงถนนสาธุประดิษฐ์ มีผู้เขียนนั่งเพียงคนเดียว กระทั่งมาถึงแยกสาธุประดิษฐ์-ถนนจันทน์ มีชายสูงวัยรายหนึ่ง น่าจะเป็นคนไทยเชื้อสายจีน โบกรถกลางแยกไฟแดงแล้วรีบวิ่งขึ้นไปบนทางเท้า กลัวว่าจะไม่ได้ขึ้น

รถเมล์เลี้ยวขวาไปตามถนนเจริญกรุง ผ่านใต้สะพานตากสิน โรบินสันบางรัก โรงเรียนอัสสัมชัญ ไปรษณีย์กลาง แต่ไม่ผ่านหัวลำโพง รถจะบังคับเลี้ยวเข้าถนนข้าวหลาม เลียบคลองผดุงกรุงเกษม เลี้ยวซ้ายถนนพระรามที่ 4 เลี้ยวขวาแยกหมอมี

เราลงรถที่ป้ายซอยมะขาม ถนนมิตรพันธ์ แม้จะไม่ผ่านสถานีรถไฟหัวลำโพงตรงๆ แต่ยังพอเดินเท้าย้อนไปทางถนนเจริญกรุง เพื่อไปขึ้นรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีวัดมังกร ซึ่งห่างจากป้ายรถเมล์ประมาณ 450 เมตร

จากที่ทดลองใช้บริการในระยะเวลาอันสั้น สิ่งที่ประทับใจอย่างแรกก็คือ เครื่องยนต์เงียบกว่ารถเมล์เอ็นจีวีเล็กน้อย วิ่งได้ราบเรียบไม่มีสะดุด อย่างต่อมาคือห้องโดยสารโล่ง เย็นสบาย ไม่หนาวจัด และไม่ร้อนเกินไป

ที่เหนือความคาดหมายก็คือ ช่องเสียบ USB สำหรับชาร์จแบตมือถือ ปกติจะเห็นเฉพาะรถเมล์ต่างจังหวัด เช่น กรุงเทพ-นครราชสีมา เท่านั้น แต่วันนี้รถเมล์ในกรุงเทพฯ ชาร์จแบตได้แล้ว ขอแค่นำสายชาร์จมาเองเท่านั้น

แต่สิ่งที่เป็นข้อสังเกตก็คือ ความไม่พร้อมในการให้บริการบางประการ เช่น เครื่อง EDC ที่ใช้แตะบัตรเพื่อจ่ายค่าโดยสาร ยังปรับปรุงระบบ ทำให้ในขณะนี้จ่ายได้เฉพาะเงินสดเท่านั้น

หรือจะเป็นการไม่มีระบบติดตามรถ GPS แม้จะทำแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า TSB GO แยกต่างหาก แต่ขณะนี้ยังไม่เปิดบริการ ซึ่งอันที่จริงเท่าที่ฟังจากคนที่ใช้รถเมล์ น่าจะเชื่อมระบบกับแอปพลิเคชันยอดนิยมอย่าง VIABUS มากกว่า




สำหรับรถเมล์ 10 เส้นทางที่ไทยสมายล์บัสจะให้บริการ ประกอบด้วย

- สาย 6 พระประแดง-บางลำพู ผ่านวัดแจงร้อน, ธนาคารกสิกรไทย สำนักราษฎร์บูรณะ, ถนนเจริญนคร, วัดเศวตฉัตร, ใต้สะพานตากสิน, ไอคอนสยาม, โรงพยาบาลตากสิน, สะพานพุทธฯ, พาหุรัด, สนามหลวง

- สาย 7 โรงเรียนศึกษานารีวิทยา-หัวลำโพง ผ่านถนนเอกชัย, ถนนบางบอน 3, ตลาดคลองขวาง, ถนนเพชรเกษม, เดอะมอลล์บางแค, วงเวียนใหญ่, สะพานพระปกเกล้า, พาหุรัด, ถนนเจริญกรุง, คลองถม, วงเวียน 22 กรกฎา

- สาย 35 พระประแดง-สายใต้ใหม่ ผ่านตลาดบางปะกอก, แยกบางปะแก้ว, ดาวคะนอง, แยกถนนตก, สาธุประดิษฐ์, ถนนจันทน์, ถนนเจริญกรุง, หัวลำโพง, โรงพยาบาลกลาง, ถนนราชดำเนิน, สะพานพระปิ่นเกล้า, เซ็นทรัลปิ่นเกล้า, สน.ตลิ่งชัน

- สาย 39 รังสิต-อนุสาวรีย์ชัย ผ่านสะพานควาย, บีทีเอสหมอชิต, เซ็นทรัลลาดพร้าว, เสนานิคม, ม.เกษตรศาสตร์, กรมทหารราบที่ 11, สะพานใหม่, โรงพยาบาลภูมิพล, กองทัพอากาศ, แยกลำลูกกา, ตรงข้ามเซียร์รังสิต, ตลาดรังสิต

- สาย ปอ.56 วงกลมสะพานกรุงธน-บางลำพู ผ่านตลาดพงษ์ทรัพย์, บางขุนนนท์, แยกไฟฉาย, วัดชิโนรส, แยกบ้านแขก, สะพานพระปกเกล้า, แยกสามยอด, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, วัดบวรนิเวศวิหาร, แยกวังแดง, วัดราชผาติการาม

- สาย 80ก หมู่บ้าน วปอ.11–สวนหลวงพระราม 8 ผ่านถนนเลียบคลองภาษีเจริญฝั่งเหนือ, ตลาดคลองขวาง, ถนนเพชรเกษม, ถนนกาญจนาภิเษก, ถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4, แยกไฟฉาย, บางขุนนนท์, พาต้าปิ่นเกล้า

- สาย 120 สมุทรสาคร-แยกบ้านแขก ผ่านโพธิ์แจ้, โรงเรียนศึกษานารีวิทยา, แยกบางบอน 3, ตลาดบางบอน, วัดสิงห์, แยกวุฒากาศ, บิ๊กซีดาวคะนอง, โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า, บีทีเอส วงเวียนใหญ่, ไอคอนสยาม

- สาย 132 พระโขนง-การเคหะบางพลี ผ่านถนนสุขุมวิท, อ่อนนุช, บางจาก, ปุณณวิถี, อุดมสุข, ถนนบางนา-ตราด, เซ็นทรัลบางนา, โลตัสบางนา, ตลาดกิ่งแก้ว, ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ, การเคหะบางพลี

- สาย 133 เคหะบางพลี-สถานีรถไฟฟ้าเอกมัย ผ่านตลาดพระโขนง, ถนนสุขุมวิท 71, แยกคลองตัน, ถนนพัฒนาการ, ถนนศรีนครินทร์, ซีคอนสแควร์, ถนนบางนา-ตราด, โลตัสบางนา, ตลาดกิ่งแก้ว, ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ, การเคหะบางพลี

- สาย ปอ. 207 มหาวิทยาลัยรามคำแหง 1 (หัวหมาก)-มหาวิทยาลัยรามคำแหง 2 (บางนา) ผ่านแยกลำสาลี, ถนนศรีนครินทร์, แยกพัฒนาการ, ซีคอนสแควร์, ถนนบางนา-ตราด, ปากซอยจรรยาวรรธ, ตลาดนัมเบอร์วัน ราม 2

ทั้งหมดนี้คือการชิมลางขึ้นรถเมล์ไฟฟ้า 100% ในกรุงเทพฯ ครั้งแรก ต้องรอดูว่าหลังเปิดให้บริการครบ 10 เส้นทาง ผลตอบรับจะเป็นอย่างไร แต่ในตอนนี้ถือว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งของระบบขนส่งมวลชนบ้านเราแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น