กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อ ระลอกเดือนเมษายน 2564 ผ่านมาอย่างยาวนาน แม้สายพันธุ์เดลตาจะติดเร็ว ติดไว แต่เมื่ออยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ประชาชนก็เริ่มออกจากบ้านไปต่างจังหวัดมากขึ้น
ก่อนหน้านี้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เปิดให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศในจังหวัดพื้นที่สีแดง เริ่มวันที่ 1 กันยายน 2564 ขณะที่คณะกรรมการโรคติดต่อหลายจังหวัด ไฟเขียวให้ผู้รับวัคซีนครบโดสเข้ามาได้โดยไม่ต้องกักตัว
แต่ไม่ใช่จังหวัดภูเก็ต เพราะปัจจุบัน (ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2564) นอกจากจะต้องฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว ยังต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ RT-PCR หรือ Rapid Antigen แล้วนำผลตรวจที่ได้รับมาเป็นหลักฐานเดินทางเข้าจังหวัด
เกิดอะไรขึ้นสำหรับจังหวัดไข่มุกอันดามันแห่งนี้?
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 รัฐบาลเห็นชอบให้จังหวัดภูเก็ตดำเนินโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดส และมีผลตรวจโควิด-19 เป็นลบ เข้ามาท่องเที่ยวได้แบบไม่ต้องกักตัว
แต่ในขณะนั้นยอดผู้ป่วยระลอกเดือนเมษายน 2564 เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในเดือนกรกฎาคม ถึงสิงหาคม 2564 กระทั่งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ประกาศห้ามทำการบินสนามบินในจังหวัดพื้นที่สีแดง
จังหวัดภูเก็ตจึงออกมาตรการ ห้ามบุคคลและยานพาหนะที่ไม่มีความจำเป็นเข้าจังหวัดทุกช่องทาง ยกเว้นกลุ่มที่ได้รับการยกเว้น 12 กลุ่ม ก่อนจะเพิ่มเป็น 16 กลุ่ม โดยต้องได้รับวัคซีนครบโดส และตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ ATK
ช่วงนั้นได้รับเสียงบ่นจากคนที่เดินทางเข้า-ออกภูเก็ตว่า เวลาจะข้ามเกาะต้องเสียเงินตรวจหาเชื้อครั้งละ 500 บาท กลายเป็นการผลักภาระให้ประชาชน ไม่นับรวมเป็นที่กังขาว่าเอื้อประโยชน์ให้กับแล็บแห่งหนึ่งหรือไม่?
ภายหลังผู้ว่าฯ ภูเก็ต จึงอนุญาตให้ประชาชนซื้อชุดตรวจ ATK มาตรวจที่ด่านท่าฉัตรไชยได้ พร้อมกับเชิญชวนให้ผู้ประกอบการแล็บรายอื่นเข้ามาเปิดให้บริการที่ด่านท่าฉัตรไชย ค่าตรวจหาเชื้อจึงลดลงมาเหลือประมาณ 350 บาท
กระทั่งเดือนกันยายน 2564 สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย อนุญาตให้กลับมาทำการบินในพื้นที่สีแดงได้ จังหวัดอื่นต่างก็ออกมาตรการให้คนที่ฉีดวัคซีนครบ 2 โดสเข้าจังหวัดได้แบบไม่ต้องกักตัว
แต่สำหรับจังหวัดภูเก็ต ตอนนั้นคนที่จะเข้ามาท่องเที่ยว นอกจากต้องได้รับวัคซีนครบโดส และมีผลตรวจโควิด-19 เป็นลบแล้ว ต้องมีหลักฐานจองที่พัก และชำระเงินเรียบร้อย หากอยู่เกิน 7 วัน จะต้องตรวจโควิดอีกรอบในวันที่ 5 อีก
แม้หลายคนจะมองว่ามาตรการเข้าภูเก็ตดูเหมือนจะเรื่องเยอะ แต่ตลอดเดือนกันยายน 2564 พบว่าสนามบินภูเก็ตมีผู้โดยสารขาเข้า 13,646 คน ผู้โดยสารขาออก 19,698 คน
เมื่อศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ออกมาตรการผ่อนคลายในเดือนตุลาคม 2564 ขยายเวลาเคอร์ฟิวในพื้นที่สีแดงจาก 3 ทุ่มเป็น 4 ทุ่ม เปิดโรงภาพยนตร์ ฟิตเนส สปา แม้จะขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปถึง 30 พฤศจิกายน 2564
หลายคนคาดหวังว่า จังหวัดภูเก็ตน่าจะมีมาตรการผ่อนคลายให้คนที่จะเข้ามาท่องเที่ยวแบบยืนหยุ่นบ้าง เพราะหลายคนอัดอั้นไม่ได้ไปเที่ยว บางคนไม่ได้ออกต่างจังหวัดมานานกว่า 9 เดือน ภาคธุรกิจโรงแรมก็หวังที่จะต่อลมหายใจบ้าง
อีกทั้งเร็วๆ นี้จะมี โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 ที่จะเปิดจองห้องพักในวันที่ 8 ตุลาคม 2564 เริ่มเข้าพัก 15 ตุลาคม 2564 ซึ่งก็มีประชาชนส่วนหนึ่งคาดหวังโครงการนี้เป็นตัวช่วยให้ออกเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น
ปรากฎว่ามาตรการล่าสุด ณ ขณะนี้ ผลที่ออกมาแทบจะไม่ต่างกัน คือ ต้องได้รับวัคซีนครบโดส และต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 แล้วผลเป็นลบเหมือนเดิม เพียงแต่ไม่ต้องใช้หลักฐานการจองห้องพัก
ก่อนหน้านี้ผู้เขียนเคยมีแผนจะไปภูเก็ตเดือนกรกฎาคม ช่วงที่มีการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ใหม่ๆ จองโรงแรมเอาไว้แล้ว แต่เจอยอดผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศพุ่งสูงขึ้น เมื่อโรงแรมที่พักขอเงินคืนไม่ได้ ก็เลยต้องเลื่อนเข้าพักมาเป็นเดือนตุลาคม
พอเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนฟัง เพื่อนกล่าวว่า “ถ้าภูเก็ตเรื่องมากนักก็ไม่ต้องไป”
และบ่นว่า ก่อนหน้านี้ช่วงโควิด-19 ระบาดใหม่ๆ นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป เดือดร้อนจะเป็นจะตาย ชวนให้คนไทยไปเที่ยว พอฝรั่งมาเที่ยวแซนด์บ็อกซ์หน่อยก็ทำเป็นตั้งเงื่อนไขไว้เยอะ เหมือนไม่อยากต้อนรับคนไทย
เพื่อนเห็นว่า ความจริงคนที่ฉีดวัคซีนครบโดส ก็ควรจะให้เข้าจังหวัดภูเก็ตได้แล้ว ไม่ต้องเสียเวลาตรวจหาเชื้อโควิด-19 อีกรอบ แต่กฎระเบียบของภูเก็ตกลับเข้มงวด เปรียบยิ่งกว่าเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกา
ยกตัวอย่างเวลาจะนั่งเครื่องบินจากกรุงเทพฯ เข้าจังหวัดภูเก็ต จะเอาชุดตรวจ ATK ไปตรวจด้วยตัวเองที่สนามบินนานาชาติภูเก็ต เหมือนที่ด่านท่าฉัตรไชยก็ไม่ได้ ต้องมีผลตรวจโควิดยืนยันด้วย
“สมแล้วที่เขาว่าเป็นประเทศภูเก็ต” เพื่อนกล่าว
แต่ไหนๆ ก็ถึงคราวที่ต้องมาใช้สิทธิห้องพักที่จองไว้ เลยตัดสินใจมาเยือนภูเก็ตอีกสักครั้ง แม้จะยังไม่ได้จองตั๋วเครื่องบิน แล้วต้องทำใจว่าจะต้องจ่ายแพงกว่าปกติ แต่จะบอกเล่าถึงขั้นตอนการเข้าภูเก็ตให้ฟังตั้งแต่ต้น กระทั่งเดินทางมาถึง
เริ่มจากต้องหาข้อมูลโรงพยาบาลที่รับตรวจ ATK ก่อน ที่กรุงเทพฯ ราคาตรวจโควิด-19 ด้วยวิธี ATK มีไม่กี่แห่ง แถมราคาต่างกันลิบลับ ตั้งแต่หลักร้อยไปถึงหลักพัน แต่ถูกกว่าและเร็วกว่าตรวจแบบ RT-PCR แน่นอน
โรงพยาบาล A ค่าตรวจโควิด-19 แบบ ATK อยู่ที่ 700 บาท ไม่รวมค่าใบรับรองแพทย์ และไม่รับวอล์กอิน ต้องจองล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน ตัวเลือกนี้ตัดทิ้ง เพราะราคาสูงเกินไป
โรงพยาบาล B ค่าตรวจโควิด-19 แบบ ATK อยู่ที่ประมาณ 500 บาท รวมค่าใบรับรองแพทย์แล้ว เปิดรับแบบวอล์กอิน แต่โดยส่วนตัวมองว่าทางภูเก็ตเขาคงไม่เคร่งเรื่องใบรับรองแพทย์หรอก ถ้าเคร่งจริงป่านนี้คงมีคนออกมาดรามากันแล้ว
แต่สะดุดตาตรงที่ โรงพยาบาล C ค่าตรวจโควิด-19 แบบ ATK อยู่ที่ 300 บาทเท่านั้น เปิดรับทั้งวอล์คทรู (WALK THRU) และไดร์ฟทรู (DRIVE THRU) แถมโฆษณาอีกว่ารอรับผลภายใน 30 นาที จึงตัดสินใจเลือกโรงพยาบาลนี้
แต่ความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น ...
หลังแพ็คกระเป๋าเรียบร้อยแล้ว 9 โมงเช้าวันเดินทาง เรามาถึงโรงพยาบาลแห่งนี้ พบว่ามีผู้คนจำนวนมหาศาลมารวมตัวกันที่ลานจอดรถโรงพยาบาล ซึ่งเป็นสถานที่ชั่วคราว ขณะที่รถยนต์เข้ามาตรวจหาเชื้อแบบไดร์ฟทรูอย่างเนืองแน่น
คนที่มาตรวจ ATK มีทั้งคนที่ไม่แน่ใจว่าตัวเองและคนในครอบครัวจะติดหรือไม่ บางคนมาตรวจเพื่อใช้ทำงาน และบางคนมาตรวจเพื่อเดินทางไปภูเก็ต และเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี รถยนต์บางคันที่มาตรวจทะเบียนภูเก็ตก็มี
ขั้นตอนการตรวจโควิด-19 ของโรงพยาบาลนี้ก็คือ สแกน QR CODE กรอกข้อมูลลงใน Google Form แล้วรอเจ้าหน้าที่เรียก ปรากฎว่าตอน 9 โมงเช้า มีคนมาใช้บริการจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ต้องขออภัยในความไม่สะดวกเป็นระยะ
กระทั่งประมาณ 10 โมงเช้า ทราบมาว่ามีผู้มาลงทะเบียนกว่า 300 คน ทำให้จากที่เคยโฆษณาไว้ว่ารอรับผลตรวจภายใน 30 นาทีก็ผิดคาด ทางโรงพยาบาลพยายามแก้ปัญหาด้วยการเรียกทีละ 5 คิว ก่อนจะเพิ่มมาเป็น 10 คิว
จริงๆ ต้องชื่นชมโรงพยาบาลแห่งนี้ ที่เปิดให้ตรวจ ATK ถูกกว่าโรงพยาบาลอื่น และด้วยความที่ราคาประหยัด คนก็แห่มาใช้บริการเกินความคาดหมาย เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลต้องทำงานเหน็ดเหนื่อย แถมยังต้องรองรับอารมณ์ผู้มาใช้บริการอีก
แต่เมื่อคนแห่มาใช้บริการกันเยอะ น่าเป็นห่วงก็คือเมื่อเกิดการแออัด คนที่ไม่รู้จะติดไหมเข้ามาตรวจ กับคนที่ต้องใช้ผลตรวจไปต่างจังหวัด หรือไปทำงานปะปนรวมกัน หากจัดระเบียบไม่ดี ก็น่าเป็นห่วงว่าจะเกิดคลัสเตอร์ใหม่หรือไม่
ทุกวันนี้ดูเหมือนว่าทางโรงพยาบาลต้องคอยปรับปรุงระบบการให้บริการอยู่เรื่อย ล่าสุดเห็นว่าเพิ่งปรับปรุงระบบไดร์ฟทรูไป แต่ด้วยลานจอดรถโรงพยาบาลแห่งนี้ไม่ได้กว้างขวาง ก็เข้าใจว่าจะขยับขยายอะไรก็ลำบาก
10.45 น. เจ้าหน้าที่เรียกชื่อผู้เขียน จึงได้รับการตรวจเสียที โดยขั้นตอนต่อมาคือ ยื่นบัตรประชาชนพร้อมเงิน 300 บาทให้เจ้าหน้าที่ แล้วเข้าคิวตรวจทีละคนจนครบ เมื่อตรวจเสร็จให้ไปนั่งรอผลตรวจพร้อมบัตรประชาชนและใบเสร็จรับเงิน
ความรู้สึกเวลาโดนแยงจมูกเจ็บจี๊ดเล็กน้อย แต่เคยผ่านการตรวจโควิด-19 แบบ RT-PCR มาแล้วสองครั้ง จึงทำใจไว้แล้วว่าจะเจ็บแบบนี้ แต่ก็ยังดีกว่าให้ตรวจด้วยตัวเอง แยงจมูกเองก็เสียวเอง แล้วรู้สึกขยาดไม่กล้าทำต่อ
ระหว่างที่นั่งรอผู้คนจากทั่วสารทิศเข้ามาสมทบ พร้อมกับรถยนต์ที่มาตรวจแบบไดร์ฟทรู เจ้าหน้าที่จึงแจ้งว่าวันนี้ใครที่ตรวจต้องรอคิวประมาณ 1-3 ชั่วโมง ใครสะดวกก็รอ ใครไม่สะดวกให้กลับบ้าน จะเปลี่ยนมาเป็นส่งผลตรวจทางไลน์แทน
ระหว่างนั้นพยายามรอผลตรวจจากเจ้าหน้าที่แต่ไม่มีชื่อมาสักที คนที่ตรวจก่อนหน้าจากผู้เขียนได้รับผลตรวจก่อน นึกว่าจะถึงคิวผู้เขียนแต่ก็ยังไม่มา บางคนต้องเข้าไปถามเจ้าหน้าที่เป็นระยะด้วยความร้อนใจ
ในช่วงที่ยังรอผลตรวจ ก็นั่งดูตั๋วเครื่องบินไปด้วย ที่ตัดสินใจไม่จองแต่แรกเพราะกลัวเจอแจ็คพ็อต จองไปแล้วแต่ผลกลับเป็นบวก นอกจากต้องเข้าบ้านเอเอฟ เอ๊ย! ฮอสพิเทลแล้ว ตั๋วเครื่องบินที่ซื้อไว้ก็สูญเปล่า ต้องทิ้งตั๋วไปฟรีๆ
ปรากฎว่าเช็กไปเช็กมา ไทยสมายล์ตั๋วเครื่องบินราคาดีที่สุด เพราะมีมากถึงวันละ 6 เที่ยวบิน และได้โหลดกระเป๋าฟรี 20 กิโลกรัม ส่วนสายการบินอื่นมีเที่ยวบินเพียงไม่กี่เที่ยว บางแห่งเหลือเที่ยวบินเดียว แถมค่าโดยสารยังแพงอีก
ที่น่าตกใจก็คือ คนที่นั่งถัดจากผู้เขียนไปไม่กี่คน เจ้าหน้าที่เรียกชื่อให้มาพบ ปรากฎว่าผลเป็นบวก และแนะให้ไปตรวจแบบ RT-PCR ซ้ำอีกครั้งฟรี ซึ่งหากมีผลเป็นบวกจริงก็จะต้องเข้ารับการรักษาตามขั้นตอน
เห็นแบบนี้ก็เกิดความรู้สึกหวั่นไหวอยู่บ้าง คิดในใจว่า “กูจะติดไหมวะ?”
ในที่สุด 12.25 น. เอกสารผลตรวจ ATK ก็มาเสียที ปรากฎว่าเป็นลบ ก็ตัดสินใจกดซื้อตั๋วเครื่องบินทันที เพราะราคามันเปลี่ยนกันได้ ต่อด้วยจองโรงแรมคืนที่เหลือซึ่งยังไม่ได้จอง ไปป่าตองคืนแรก แล้วค่อยกลับมาโรงแรมที่จองไว้ก่อนหน้านี้
ขั้นตอนต่อไป คือกรอกข้อมูลในเว็บไซต์ gophuget.com ซึ่งจะเป็นแพลตฟอร์มลงทะเบียนรายงานตัวเข้าจังหวัดภูเก็ต ซึ่งทุกคนต้องกรอกรายละเอียด แนบเอกสารประกอบ แล้วจะได้คิวอาร์โค้ด เพื่อนำไปแสดงที่ด่านตรวจ
สิ่งที่ต้องเตรียมแนบไฟล์ก็คือ 1. รูปถ่ายหน้าตรง ถ้าในมือถือไม่มีให้เซลฟี่ใบหน้าตรงแก้ขัดก็ได้ 2. หลักฐานการฉีดวัคซีน แคปหน้าจอจากแอปพลิเคชันหมอพร้อมก็ได้ 3. หลักฐานผลตรวจโควิด ให้ถ่ายภาพผลตรวจเป็นไฟล์ภาพที่ชัดเจน
กรอกเสร็จแล้ว ระบบจะแสดงคิวอาร์โค้ด ให้บันทึกไว้ด้วยการแคปหน้าจอ เพื่อแสดงต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรค แต่ถ้าลืม สามารถเข้าไปที่เมนู “ตรวจสอบการลงทะเบียน” ใส่เลขที่บัตรประชาชน 13 หลักลงไป
มาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ระหว่างรับบัตรโดยสาร (เพราะเช็กอินจากมือถือเรียบร้อยแล้ว) พนักงานจะถามว่าเดินทางไปไหน ก่อนที่จะขอหลักฐานประกอบ ถ้าเป็นจังหวัดภูเก็ต ต้องใช้ผลฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม และผลตรวจโควิด-19
จึงเปิดแอปฯ หมอพร้อม เข้าไปที่หน้า “Vaccine Covid-19 Certificate” แล้วแสดงหน้าจอเอกสารรับรองการได้รับวัคซีนโควิด-19 ให้เจ้าหน้าที่ พร้อมผลตรวจ ATK ที่เป็นกระดาษ เจ้าหน้าที่ก็จะคีย์ข้อมูลลงไปในระบบ
ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่จะให้สแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อกรอกข้อมูลใน gophuget.com ซึ่งเรากรอกข้อมูลมาตั้งแต่ข้างนอกแล้ว ก็ผ่านขั้นตอนนี้ไป แล้วรับบัตรโดยสารตามปกติ ใครมีสัมภาระก็โหลดสัมภาระได้ ที่นี่โหลดกระเป๋าฟรี 20 กิโลกรัม
เมื่อผู้โดยสารทยอยขึ้นเครื่อง ระหว่างนั้นจะประกาศชื่อผู้โดยสารให้มาพบที่ลูกเรือ ปรากฎว่าผู้โดยสารเหล่านั้นยังไม่ได้แสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนและผลตรวจโควิด ลูกเรือก็จะเดินไปขอดูหลักฐาน และวิทยุสื่อสารแจ้งต่อกัน
ทุกอย่างเรียบร้อยหมดแล้ว เครื่องบินก็ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่สนามบินภูเก็ต
เราใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง ถึงสนามบินภูเก็ต ช่วงนี้งดเสิร์ฟอาหารว่างบนเครื่อง แต่เปลี่ยนเป็นแจกชุดอาหารว่างก่อนลงจากเครื่องแทน ทีแรกคิดในใจว่าตรวจเข้มตั้งแต่ต้นทางแล้ว ปลายทางจะมีตรวจคัดกรองอีกไหม
ปรากฎว่าพอเข้าไปที่อาคารผู้โดยสาร ผ่านเครื่องเทอร์โมสแกน 2 เครื่อง ผ่านสายพานรับกระเป๋าแล้ว ไม่มีเจ้าพนักงานควบคุมโรค ไม่มีเรียกตรวจอะไรเลย เข้าใจว่าสายการบินคงคัดกรองมาจากต้นทางเรียบร้อยแล้ว
บรรยากาศสนามบินภูเก็ต ฝั่งในประเทศจากที่เคยคึกคักก็ดูวังเวง แถมรถโดยสาร AIRPORT BUS เข้าเมืองงดให้บริการ เลยต้องจำใจขึ้นแท็กซี่ป้ายเขียว (ลิมูซีน) แต่ก็ยังดีที่ลดราคาลงมา ไปหาดป่าตองจาก 800 บาท เหลือ 600 บาท
ระหว่างคุยกับโชเฟอร์แท็กซี่ เขากล่าวว่า ช่วงนี้ฝั่งผู้โดยสารในประเทศเงียบ มีแค่วันละ 15 เที่ยวบิน ส่วนฝั่งผู้โดยสารระหว่างประเทศเริ่มคึกคัก แต่คนที่มาจากโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ โรงแรมจะมารับผู้โดยสารเอง ไม่ได้เรียกใช้บริการแท็กซี่
ถามถึงโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เขากล่าวว่าดูเอื้อธุรกิจโรงแรมมากเกินไป มีประชาชนเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะมีรายได้จากชาวต่างชาติ เพราะที่ผ่านมาชาวต่างชาติมักจะอยู่แต่ในโรงแรม มีส่วนน้อยที่ไม่กลัวติดโควิด ก็ออกมาเดินหน้าหาด
ขณะเดียวกัน พบว่าบางโรงแรมเรียกเก็บค่าแท็กซี่กับชาวต่างชาติสูงถึง 1,200-1,400 บาท ทั้งที่หากจองผ่านบริษัทตกเที่ยวละ 640 บาทเท่านั้น กลายเป็นว่าแท็กซี่ไม่ได้วิ่ง แถวหน้าหาดกดราคาทั้งนั้น เปิดมา 2-3 เดือนแทบไม่ได้ผู้โดยสารเลย
แต่สถานการณ์ช่วงนี้ดีขึ้น คนเริ่มมากินข้าวที่ชายหาดบ้าง ขณะที่โรงแรมขนาดเล็ก เริ่มกลับมาเปิดให้บริการแล้ว หลังจากช่วงที่ผ่านมามีแต่โรงแรมใหญ่ๆ เปิดให้บริการลูกค้าชาวต่างชาติ ตามโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เป็นหลัก
แถมช่วงนี้โรงแรมต่างๆ เริ่มมีการจ้างงาน รับสมัครพนักงานเข้ามาทำงานที่ภูเก็ตกันบ้างแล้ว เพราะจะหาคนในพื้นที่ก็หายาก ต่างคนต่างก็มีอาชีพอยู่แล้ว ซึ่งคนที่ทำงานโรงแรมจะได้ค่าเซอร์วิสเยอะ แทบจะเรียกได้ว่าหาเงินง่าย
เขากล่าวถึงข้อดีของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์อย่างหนึ่งก็คือ คนที่มีครอบครัวเป็นคนไทยก็ใช้โครงการนี้มีโอกาสเจอกัน บางคนมาหาภรรยาคนไทย ที่ไม่ได้เจอกันในช่วงโควิด-19 ก็เข้าประเทศไทยผ่านทางภูเก็ต ซึ่งฝรั่งบางคนพูดไทยได้นิดหน่อยก็มี
ถามโชเฟอร์ว่าฉีดวัคซีนแล้วหรือยัง เขากล่าวว่าฉีดเข็มที่ 3 แล้ว คนภูเก็ตส่วนใหญ่ไม่กลัว เพราะคิดว่ากันไว้ก่อนดีกว่าไม่ได้ฉีด ที่ตรวจเจอคือเด็ก กับแรงงานต่างด้าวจากแคมป์ก่อสร้างหรือประมง
จากสนามบินใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ก็มาถึงโรงแรมแถวหาดป่าตอง ระหว่างเช็กอินนอกจากจะแสดงบัตรประชาชนแล้ว พนักงานก็จะขอผลฉีดวัคซีน เราก็แสดงหน้าจอเอกสารรับรองการได้รับวัคซีนโควิด-19 แก่พนักงาน
ถามว่าบรรยากาศหาดป่าตองช่วงนี้เป็นยังไง ถ้าเป็นละแวกโรงแรมที่พัก ช่วงกลางคืนเงียบมาก ร้านสะดวกซื้อปิดไปหลายร้าน ส่วนตอนเช้า แม้บรรยากาศตามร้านค้าจะเงียบเหงา แต่ก็มีผู้คนมาออกกำลังกายบริเวณชายหาดและถนนหาดป่าตองกันบ้าง
มาทราบที่หลังว่า ที่ซอยบางลา เริ่มมีคนมาเที่ยวกลางคืนกันบ้างแล้ว หลังจังหวัดภูเก็ตผ่อนคลายให้ร้านอาหารสามารถจำหน่ายและนั่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านได้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา
คนที่คาดหวังว่าจะได้เจอแสงสียามค่ำคืน ก่อนหน้านี้อาจจะลำบากหน่อย แต่ตอนนี้ซอยบางลาเปิดแล้ว ส่วนคนที่ต้องการความสงบ นี่เป็นโอกาสทองที่จะได้พักผ่อนจริงๆ
โดยที่ไม่รู้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเมื่อไหร่ รัฐบาลจะเปิดประเทศเมื่อใด และหาดป่าตองจะกลับมาคึกคักอีกอีกเมื่อไหร่ก็ตาม