xs
xsm
sm
md
lg

เขาเขียวที่คิดถึง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

คนที่อยู่บนอาคารสูงใจกลางกรุงเทพฯ ตั้งแต่ชั้น 40 ขึ้นไป เมื่อมองไปทางทิศตะวันออก จะเห็นเทือกเขาอยู่แนวหนึ่งที่อยู่ไกลสุดลูกหูลูกตา บางคนอาจจะมองว่าเป็นก้อนเมฆ แต่ถ้าใครตาดีจะรู้ว่ามันคือเขตภูเขา เทือกเขา

เช่นเดียวกับคนที่ขับรถบนทางด่วนบูรพาวิถี มุ่งหน้าสู่จังหวัดชลบุรี เมื่อพ้นเขตกรุงเทพฯ ไปแล้ว ก็จะเห็นภูเขาลูกนี้อยู่ด้านขวามือ กระทั่งลงจากทางด่วนด่านชลบุรีก็ไม่เห็น แต่จะเห็นอีกครั้งหนึ่งเมื่อเลี้ยวซ้ายเข้าถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี

เทือกเขาที่ว่านี้มีชื่อเรียกรวมๆ ว่า “เขาเขียว” ประกอบด้วยเขาบริวารหลายลูกรวมกัน เช่น เขาขวาง เขามาบเอียง เขาเขียว เขาตาอิน ฯลฯ

เวลานั่งรถไปเที่ยวภาคตะวันออก แถบชลบุรี ระยอง เมื่อเห็นเทือกเขาเขียวอยู่ตรงหน้า เสมือนส่งสัญญาณว่ากำลังจะเข้าสู่ภาคตะวันออกแล้ว เมื่อได้เห็นภูเขา ก็เหมือนได้ละทิ้งความวุ่นวายของกรุงเทพฯ ออกไป


เขาเขียว มียอดสูงสุดจากระดับน้ำทะเล 789 เมตร ได้ชื่อว่าเป็นเขาที่มีป่าซึ่งอยู่ใกล้เมืองหลวงมากที่สุด เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารไหลลงมายัง “อ่างเก็บน้ำบางพระ” แหล่งน้ำจืดใหญ่ที่สุดของภาคตะวันออก

มีน้ำตกเพียงไม่กี่แห่งในจังหวัดชลบุรี หนึ่งในนั้นคือ “น้ำตกชันตาเถร” ที่แม้จะมีน้ำไหลเฉพาะช่วงฤดูฝน แต่ก็เป็นพื้นที่สีเขียวที่ยังหลงเหลืออยู่ ท่ามกลางการคืบคลานของอุตสาหกรรม เขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)

แม้เขาเขียวจะถูกมองว่าเป็นทางผ่าน เมื่อเดินทางไปยังภาคตะวันออก แต่ความโดดเด่นที่เห็นได้ชัด แม้แต่มองมาจากเมืองฟ้าอมรในยามฟ้าใส แดดจ้า ลมสงบ ก็ยังมีสิ่งที่ซ่อนอยู่ในเทือกเขาแห่งนี้อย่างน่าสนใจ

เขาเขียว ถูกกำหนดให้เป็น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมพู่ เนื้อที่ประมาณ 144.7 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 90,437.5 ไร่ ประกาศเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2517


จากข้อมูลโดยทั่วไป มีลักษณะเป็นภูเขาสูงชันแบ่งออกเป็น 2 ตอน ตอนแรกมีจุดยอดสูงกว่า เรียกว่าเขาเขียว และอีกตอนหนึ่งซึ่งเตี้ยกว่าตอนแรก เรียกว่าเขาชมภู่ ยอดที่สูงที่สุดมีความสูงจากระดับน้ำทะเล 789 เมตร

มีทั้งป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ยังมีทรัพยากรสัตว์ป่า เช่น กวาง เก้ง เสือดาว หมี เม่น ชะมด อีเห็น ลิง ค่าง ชะนี หมูป่า นางอาย กระจง สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก กบ เขียด เต่า และสัตว์เลื้อยคลาน เช่น งู ตะกวด เหี้ย เห่าช้าง

ปกติเวลาขับรถจะมองเห็นเขาเขียวได้หลายทิศทาง ถ้ามาจาก มอเตอร์เวย์หมายเลข 7 (กรุงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา) จะเริ่มมองเห็นเทือกเขาตั้งแต่หลักกิโลเมตรที่ 55 เป็นต้นไป (เลยจุดพักรถบางปะกง 1 ไปประมาณ 5 กิโลเมตร)

แต่เมื่อถึง ทางแยกต่างระดับคีรี เลยถนนข้าวหลามไปแล้วแล้ว ด้านซ้ายมือจะเป็นเขาเขียว ส่วนด้านขวาเรียกว่า เขาพุ ซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ถัดลงมาทิศใต้จะเป็นอ่างเก็บน้ำบางพระ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชาวชลบุรี


ถ้าใช้ ถนนชลบุรี-บ้านบึง (ทางหลวงหมายเลข 344) ต่อเนื่อง ถนนบ้านบึง-บ้านค่าย (ทางหลวงหมายเลข 3138) จะเห็นเขาเขียวบริเวณด้านขวามือ แต่ก็จะมีตึกรามบ้านช่องบังอยู่ กระทั่งเลยแยกหัวกุญแจไปแล้ว จะเริ่มเห็นเขาชมพู่

ระหว่างเขาเขียวกับเขาชมพู่ จะมีถนนลาดยางอยู่เส้นหนึ่ง จากบ้านโค้งดารา ต.หนองขาม อ.ศรีราชา ผ่านแนวเทือกเขาเขียวกับเขาชมพู่ ก่อนจะผ่าน อ่างเก็บน้ำหนองน้ำเขียว ไปโผล่ถนนบ้านบึง-บ้านค่ายอีกทีหนึ่ง

ฝั่งเขาชมพู่ มีเขาบริวารประกอบด้วย เขาชมพู่ และเขาน้ำโจน ที่จะเห็นเด่นชัดบนถนนสายยุทธศาสตร์ (ทางหลวงหมายเลข 331 พนมสารคาม-สัตหีบ) บริเวณทางแยกต่างระดับมาบเอียง

แม้ว่าเขาเขียวจะไม่ได้มีแหล่งท่องเที่ยวโดดเด่น เมื่อเทียบกับนครนายก ปราจีนบุรี ปากช่อง นครราชสีมา ที่มีอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อีกทั้งสภาพปัจจุบันถูกโอบล้อมด้วยชุมชนและเขตอุตสาหกรรม เวลาถึงฤดูแล้งก็แล้งจัดแทบไม่มีน้ำ

แต่เขาเขียวยังมีความงดงามทางธรรมชาติ เริ่มจากน้ำตก ใครจะเชื่อว่าที่ชลบุรีก็มีน้ำตกเหมือนกัน เขาเขียวมีน้ำตกอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ น้ำตกชันตาเถร ฝั่ง ต.บางพระ อ.ศรีราชา กับ น้ำตกอ่างช้างน้ำ ฝั่ง ต.ห้วยมะไฟ อ.บ้านบึง


โดยปกติคนจะรู้จัก น้ำตกชันตาเถร มากกว่า เพราะเดินทางง่าย ห่างจากมอเตอร์เวย์เพียง 5 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาด 5 ชั้น แต่นักท่องเที่ยวไปได้แค่ 4 ชั้น น้ำจะเยอะในช่วงฤดูฝน เดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายนของทุกปี มีจุดกางเต็นท์ให้บริการ

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนเดินทางไปที่น้ำตกชันตาเถร หลังจากเปิดให้เข้าชมแบบจำกัดจำนวน ตามมาตรการป้องกันโควิด-19 แต่โชคร้าย ระหว่างทางฝนตก เมื่อไปถึงจุดคัดกรอง เจ้าหน้าที่แจ้งว่ามีน้ำป่าไหลหลากแรงมาก จึงไม่ได้เข้าไป

ส่วนน้ำตกอีกแห่งหนึ่ง คือ น้ำตกอ่างช้างน้ำ เข้าไปทางถนนธารนที (การประปาส่วนภูมิภาค สาขาบ้านบึง) แยกจากถนนสาย 344 ไปประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดไม่ใหญ่มาก มีน้ำไหลมากในช่วงฤดูฝน

สำหรับคนที่ชื่นชอบการเดินป่า จะมี “ดอยหินโหม่ง” ก้อนหินผาก้อนใหญ่ที่อยู่บนยอดเขาเขียว ซึ่งเป็นจุดสูงสุด แต่การเดินทางต้องมีเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ป่าเป็นคนนำทางขึ้นไป ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 ชั่วโมง


สถานที่คู่เคียงกับเขาเขียว ประกอบด้วย “สวนสัตว์เปิดเขาเขียว” ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 5,000 ไร่ มีสัตว์จากแถบเอเชียและแอฟริกาให้ชมมากกว่า 200 ชนิด ส่วนหนึ่งย้ายมาจากสวนสัตว์ดุสิต ที่ได้ปิดตัวลงเมื่อไม่นานมานี้

หนึ่งในนั้นคือ “แม่มะลิ” ฮิปโปโปเตมัสอายุมากที่สุดในไทย ได้รับมาจากสวนสัตว์ทีลเบิร์ก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2510 ก่อนย้ายมาจากสวนสัตว์ดุสิต มาอยู่ที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2561

ปัจจุบัน แม่มะลิเพิ่งฉลองวันเกิดครบรอบ 56 ปี ไปเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา แม้เจ้าตัวจะเคลื่อนไหวช้าลงตามอายุที่มากขึ้น มีปัญหาที่ตาที่เป็นต้อกระจก และต้องให้อาหารที่นุ่ม แต่สุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี


อย่างต่อมา คือ “อ่างเก็บน้ำบางพระ” ความจุ 110 ล้านลูกบาศก์เมตร ในอดีตเคยรับน้ำมาจากเขาเขียว ผ่านลำห้วยสายต่างๆ แต่ปัจจุบันสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ความต้องการใช้น้ำของชาวชลบุรีเริ่มมีมากขึ้น

ทุกวันนี้น้ำในอ่างเก็บน้ำบางพระ ส่วนหนึ่งมาจาก คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต มีสถานีสูบน้ำที่ ต.เปร็ง อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ส่งน้ำผ่านท่อส่งน้ำดิบขนาด 1.8 เมตร ที่อยู่ใต้ถนนมอเตอร์เวย์ ไปยังอ่างเก็บน้ำบางพระ เอาไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง


อีกสถานที่หนึ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ คือ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 ซึ่งย้ายมาจากตัวเมืองชลบุรี มาอยู่ในซอยศูนย์วิจัยฯ ถนนมอเตอร์เวย์ หมู่ 7 ต.หนองข้างคอก อ.เมืองฯ จ.ชลบุรี บนพื้นที่ราชพัสดุ 112 ไร่ 1 งาน 16 ตารางวา

สำนักงานตำรวจแห่งชาติก่อสร้างด้วยงบประมาณ 114,980,000 บาท ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2562 เป็นอาคารสูง 3 ชั้น ด้านในมี ห้องประชุมรอดบางยาง ชั้น 3 เพื่อเป็นเกียรติแก่ พล.ต.ท.จิตติ รอดบางยาง อดีต ผบช.ภ.2

ด้านหน้าเป็นสนามกีฬาเอนกประสงค์ที่ชื่อว่า “บิ๊กบราเธอร์” (Big Brother) (ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าหมายถึงใคร) เมื่อมองไปด้านหลังอาคารจะเห็นเขาเขียวโดดเด่นเป็นสง่า คล้ายกับโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) ยังไงยังงั้น

แต่สำหรับศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 2 ยังอยู่ที่ ต.บ้านสวน อ.เมืองฯ จ.ชลบุรี ชาวบ้านเรียกว่า “โรงเรียนตำรวจเขาน้อย” เพราะด้านหลังคือเขาน้อย เป็นที่มาของนามเรียกขานนักเรียนนายสิบตำรวจภูธรภาค 2 “เขาน้อย” ถึงปัจจุบัน


ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของประตูสู่บูรพาทิศ ชุมชนเมืองและอุตสาหรรรม ค่อยๆ คืบคลานแผ่นดินที่ราบระหว่างภูเขาภาคตะวันออกไปอย่างช้าๆ แทนที่ด้วยโรงงานและคลังสินค้า บนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี

แต่อย่างน้อย การประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมพู่ เมื่อ 47 ปีก่อน ก็ยังคงทำให้เขาเขียวโดดเด่นเป็นตระหง่าน เห็นมาตั้งแต่ตึกสูงระฟ้าในกรุงเทพฯ ยังคงพื้นที่สีเขียวใกล้กรุงเทพฯ มีความอุดมสมบูรณ์หลงเหลืออยู่ให้เห็น

ที่น่าเป็นห่วงก็คือสัตว์ป่าที่หลงเหลืออยู่ เมื่อความเจริญคืบคลานเข้ามา ในอนาคตสัตว์ป่าเหล่านี้จะอยู่รอดหรือไม่?


กำลังโหลดความคิดเห็น