xs
xsm
sm
md
lg

ย้ายอู่หมอชิต 2 ไปเถอะ ถ้าจะเละเทะกันขนาดนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีข่าวว่า องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เตรียมที่จะยกเลิกท่าปล่อยรถที่อู่หมอชิต 2 บนพื้นที่ 16 ไร่ ข้างสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) หรือหมอชิตใหม่ ถนนกำแพงเพชร 2

ถ้านึกไม่ออก ให้ลองนึกภาพเวลาขับรถผ่าน สถานีขนส่งหมอชิตใหม่ จะเห็นรถเมล์ ขสมก. จอดอยู่เต็มลาน มีทางเข้าสำหรับรถเมล์ ขสมก. ก่อนถึงทางเข้าหมอชิตใหม่ ด้านในเป็นท่าปล่อยรถประจำทาง อาคารขนาดใหญ่พร้อมที่นั่งพักคอย

คนที่นั่งรถเมล์ที่จะไปหมอชิตใหม่ เมื่อมาถึงอู่หมอชิต 2 รถจะเลี้ยวซ้ายที่ทางเข้าอู่ จอดส่งผู้โดยสารที่หน้าร้านเซเว่นอีเลฟเว่น จากนั้นก็แบกกระเป๋าไปตามทางเดินติดหลังคา ข้ามถนนทางเข้ารถทัวร์แล้ว ก็เข้าสู่อาคารผู้โดยสารอีกที

ส่วนคนที่นั่งรถทัวร์มาจากต่างจังหวัด เมื่อลงจากรถทัวร์แล้ว จะมีทางเดินติดหลังคาตั้งแต่หน้าห้องน้ำ มีป้ายบอกว่า “ขสมก.ต่อเข้าเมือง” สองข้างทางเป็นร้านค้าแผงลอย จากนั้นเดินข้ามถนนเพื่อเข้าไปในอาคารอู่หมอชิต 2

ทราบว่าเหตุผลที่ ขสมก. จะยกเลิกอู่หมอชิต 2 เพราะต้องการลดค่าใช้จ่าย แต่เดิม ขสมก. เช่าพื้นที่อู่หมอชิต 2 จากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ปัจจุบันเหลือเพียง 12 ไร่ ค่าเช่าตกเดือนละเกือบ 9 แสนบาท


ต่อมาได้เช่าที่ดินใต้ทางด่วนศรีรัช หลังศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ใกล้กับสถานีกลางบางซื่อ เป็น สำนักงานกลุ่มงานปฏิบัติการเดินรถ 1 เขตการเดินรถที่ 8 หรือ อู่กำแพงเพชร แต่ก็ยังไม่ย้ายเต็มรูปแบบ เพราะสถานีกลางบางซื่อยังไม่เสร็จ

แต่เมื่อสถานีกลางบางซื่อเปิดให้บริการ ถนนหนทางภายในสะดวกขึ้น ขสมก. เลยมีแผนที่จะย้ายอู่หมอชิต 2 ซึ่งซ้ำซ้อนกัน มารวมกันที่อู่กำแพงเพชรที่เดียว เพื่อสะดวกต่อการเดินรถ แล้วรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างอู่หมอชิต 2 คืนให้การรถไฟฯ

พื้นที่หมอชิตใหม่ การรถไฟฯ มีแผนที่จะทำ โครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีกลางบางซื่อ โซน C ในรูปแบบอาคารมิกซ์ยูส ประกอบด้วยที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า สปอร์ตคอมเพล็กซ์ โรงแรม รวมอยู่ในที่เดียวกัน

แต่ถึงกระนั้น โครงการพัฒนาพื้นที่ยังไม่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ เพราะสถานีขนส่งหมอชิตใหม่ยังคงไม่ย้ายออกไป แต่จะใช้วิธีลดพื้นที่จาก 72 ไร่ เหลือ 58 ไร่ ขณะที่ โครงการบางกอกเทอร์มินอล บริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส หมอชิต ยังไม่มีความคืบหน้า

เพราะฉะนั้น เหตุผลหลักที่ ขสมก. ยกเลิกอู่หมอชิต 2 ก็คงเป็นเพราะต้องการลดค่าใช้จ่าย ดังที่กล่าวมาข้างต้น

ที่ผ่านมา ขสมก. พยายามทยอยย้ายอู่หมอชิต 2 ด้วยการขนย้ายทรัพย์สินส่วนหนึ่ง รวมทั้งที่นั่งสำหรับผู้โดยสารนั่งรอไปจนหมด ปิดร้านเซเว่นอีเลฟเว่นถาวร ก่อนที่บางเส้นทางอย่างสาย 77 และ 145 ติดประกาศเปลี่ยนเส้นทางเดินรถ

โดยสาย 77 อู่สาธุประดิษฐ์-หมอชิตใหม่ ขาเข้าจากเดิมมาทางรัชวิภา ผ่านสถานีเดินรถโดยสารขนาดเล็ก (จตุจักร) ตรงข้ามสถานีขนส่งหมอชิตใหม่แล้ว เมื่อกลับรถหน้าสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ จะไม่เข้าอู่หมอชิต 2 อีก

แต่จะใช้วิธีเลี้ยวซ้ายขึ้นสะพานข้ามทางรถไฟ ผ่านหน้าสถานีกลางบางซื่อ แล้วเข้าอู่กำแพงเพชร ส่วนขากลับผ่านหน้าสถานีกลางบางซื่อ รับผู้โดยสารป้ายแรกหน้าสถานีขนส่งหมอชิตใหม่ กลับรถแล้วไปออกแยก อ.ต.ก. กลับเส้นทางเดิม

สาย 145 ปากน้ำ-หมอชิตใหม่ และ เมกาบางนา-หมอชิตใหม่ ขาเข้าจากเดิมผ่านบีทีเอสหมอชิต เลี้ยวขวาเข้าถนนกำแพงเพชรแล้ว ถึงไฟแดงหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง จะเลี้ยวขวาเข้าอู่กำแพงเพชรทันที ไม่ผ่านอู่หมอชิต

ส่วนขากลับผ่านหน้าสถานีกลางบางซื่อ รับผู้โดยสารป้ายแรกหน้าสถานีขนส่งหมอชิตใหม่ กลับรถแล้วไปออกแยก อ.ต.ก. กลับเส้นทางเดิม ส่วนสายอื่นๆ ตอนนั้นจะทยอยออกจากอู่หมอชิต 2 ภายในสิ้นเดือนนี้


การยกเลิกอู่หมอชิต 2 แม้จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารในวันนี้ เพราะ บขส. และรถร่วม บขส. ทุกเส้นทาง หยุดเดินรถทั่วประเทศอย่างไม่มีกำหนด ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา แต่หลังเปิดการเดินรถตามปกติจะมีปัญหาแน่

เพราะคนที่ลงรถทัวร์จากต่างจังหวัด จะต้องเดินเท้าเลาะไปตามทางเดินที่เต็มไปด้วยร้านค้าแผงลอยเพื่อไปออกด้านหน้าสถานี ซึ่งจะมีป้ายรถเมล์อยู่ตรงนั้น แต่ตรงนั้นจะมีบรรดาแท็กซี่จอดข้างทางเต็มไปหมด

วัดระยะทางคร่าวๆ จากจุดลงรถทัวร์ขาเข้า เดินไปตามทางเดินติดหลังคา ไปยังป้ายรถเมล์ด้านหน้าสถานีขนส่งหมอชิตใหม่ จะอยู่ที่ประมาณ 500-600 เมตร ต่างจากอู่หมอชิต 2 ที่มีระยะทางในการเดินเท้าประมาณ 200 เมตร

เมื่อ MGR Online เปิดประเด็นที่ ขสมก. จะยกเลิกอู่หมอชิต 2 ลงรถทัวร์ต่างจังหวัดต้องไปรอรถเมล์หน้าสถานีขนส่ง ก็เกิดปฏิกิริยาจากโลกโซเชียลฯ อย่างกว้างขวาง ทำนองว่าคนที่ลงรถทัวร์หอบของพะรุงพะรัง ยังต้องลากไปต่อรถเมล์ไกลๆ อีก

ในที่สุดกระทรวงคมนาคมออกข่าวว่า “ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง”

ถึงแม้จะยกเลิกอู่รถโดยสารของ ขสมก. แต่รถโดยสารของ ขสมก.ก็ยังต้องเข้ามาอำนวยความสะดวกรับ-ส่งประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว โดยบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และ ขสมก.จะบูรณาการร่วมกันในการให้บริการประชาชนเช่นเดิม

นอกจากนี้ ได้มอบนโยบายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) บูรณาการด้านระบบขนส่งสาธารณะทุกระบบให้เชื่อมโยงทุกโหมดการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นรถโดยสารของ บขส. ขสมก. หรือรถโดยสารระหว่างเมือง ให้สามารถเชื่อมต่อกับรถในเมืองหรือระบบรถไฟฟ้า และรถไฟระหว่างเมืองได้

เพราะฉะนั้น จะไม่มีเหตุการณ์ปล่อยให้ประชาชนต้องเดินตากแดดตากฝนไปขึ้นรถอย่างที่เป็นข่าวแน่นอน”


เรื่องนี้ทำเอาคนในวงการรถเมล์ออกมาด่าทั้ง ขสมก. และกระทรวงคมนาคม ที่นโยบายเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา หงายการ์ดว่าเป็นเฟกนิวส์ แม้แต่คนที่ทำงานใน ขสมก.เองก็ยังเอือมระอา เพราะขนของออกไปเกือบหมดแล้ว สุดท้ายก็ขนกลับมาที่เดิม

จริงๆ เรื่องนี้จะไม่เกิดดรามาเลย ถ้าทาง ขสมก. ประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าอย่างเป็นทางการ อย่างน้อยสัก 2-3 เดือน เพื่อให้ประชาชนรับทราบและปรับตัว เพราะที่ผ่านมาการย้ายอู่หมอชิต 2 ไม่เคยมีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อเป็นวงกว้างเลย

จะมีก็แต่เฟซบุ๊กเพจกลุ่มคนรักรถเมล์อย่าง Bangkok Bus Club หรือ รถเมล์ไทยแฟนคลับ รวมทั้งเว็บไซต์ข่าวอย่าง MGR Online ที่ช่วยประชาสัมพันธ์ เพราะเชื่อว่าจะมีประชาชนที่ใช้บริการสถานีขนส่งหมอชิตใหม่ ได้รับความเดือดร้อนแน่ๆ


ที่ผ่านมาเวลาลงรถทัวร์ต่างจังหวัดก็ไปลงหมอชิตใหม่ เพื่อต่อรถเมล์กลับบ้าน แต่ภายหลังก็ไม่ได้ลงตรงนั้นแล้ว หันมาลงที่รังสิต ดอนเมือง หรือหน้านครชัยแอร์แทน เพราะจะไม่เจอโชเฟอร์โกงค่าแท็กซี่ หรือคิดราคาเหมาตามเสียงที่ร่ำลือกัน

โดยส่วนตัวเห็นว่า ถ้า ขสมก. จะยกเลิกอู่หมอชิต 2 ก็ยกเลิกไปเถอะ เพราะจากที่เคยต่อรถเมล์ สภาพเละเทะมาก ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ ราวกับโลกพระจันทร์ ยันทางเดินจากจุดที่ผู้โดยสารลงรถทัวร์ สภาพเก่ายังไงก็เป็นอย่างนั้น

สำคัญที่สุด คือ เที่ยวไปต้องบังคับให้รถเมล์ส่งผู้โดยสารที่ป้ายหมอชิตใหม่ (หรือฝั่งตรงข้าม) เป็นป้ายสุดท้าย ก่อนเข้าอู่กำแพงเพชรทุกคัน เพื่อเป็นหลักประกันว่า ขึ้นรถเมล์สายนี้จะได้ลงหมอชิตใหม่ทุกคัน ไม่ใช่เสียเวลาเข้าอู่กำแพงเพชรก่อน

ส่วนเที่ยวกลับ ถ้าจะไม่ให้คนที่ลงรถทัวร์ลำบาก บขส. ควรจัดหาสถานที่ให้ ขสมก. นำรถเมล์เข้าไปด้านในชานชาลา เพื่อแวะรับ-ส่งผู้โดยสาร ก่อนที่จะออกมาเส้นทางเดิม ตกลงกันให้เรียบร้อย จัดเตรียมสถานที่ แล้วประชาสัมพันธ์ให้ชัดเจน

นอกจากจะจัดทำเก้าอี้พักคอยแล้ว อาจจะติดจอแสดงผลรถเมล์ที่จะเข้ามารับผู้โดยสารเอาไว้ด้วย เหมือนป้ายรถเมล์รุ่นใหม่ที่จะบอกว่า รถเมล์ที่จะมาถึงป้ายกี่นาที สร้างความมั่นใจให้กับผู้โดยสารมากขึ้น

เรื่องนี้ถ้าจะบูรณาการกันจริงๆ ขสมก. กับ บขส. คุยกันรู้เรื่อง มีงบประมาณพอก็ไม่น่าจะยาก แต่ที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานต่างคนต่างทำ สุดท้ายเมื่อเละเทะ ผู้โดยสารก็เป็นฝ่ายที่เดือดร้อนอยู่ดี
กำลังโหลดความคิดเห็น