กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
สัปดาห์นี้ขออนุญาตเล่าเรื่องเบาๆ เกี่ยวกับภูมิลำเนาตัวเอง จังหวัดสมุทรสาคร สักสองเรื่อง
เรื่องแรก “ผู้ว่าฯ ปู” วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร หลังโหมงานหนักจากการแพร่ระบาดคลัสเตอร์ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาคร แล้วติดโควิด-19 รักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราชมานานถึง 82 วัน
หลังรอดตายมาได้ พักฟื้นที่บ้านจังหวัดอ่างทองมาระยะหนึ่ง ก็กลับมาเป็นแม่ทัพรบกับสงครามโควิด-19 ทันที แม้ร่างกายจะไม่เอื้ออำนวย จากช่วงที่เข้ารับการรักษาตัว เชื้อโควิด-19 ทำลายปอดแบบชนิดที่ว่าไม่เหมือนเดิมก็ตาม
ที่ผ่านมา การแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ต้องยึดตามระเบียบขั้นตอนราชการ ทำให้ล่าช้า จึงใช้กลไกสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดเข้ามา ระดมเงินบริจาค เงินช่วยเหลือจากพี่น้องประชาชนดำเนินการ โดยไม่ต้องรองบประมาณจากราชการ
ก่อนหน้านี้ ผู้ว่าฯ ปู ก็เคยออกหนังสือ “คืนปูสู่สาคร” บันทึกเรื่องราว 82 วันในการต่อสู้กับโควิด-19 จำหน่ายแก่ผู้ที่สนใจ เพื่อนำรายได้เข้ากองทุนคนสมุทรสาครร่วมใจสู้ภัยโควิด-19 ก็มีผู้สนใจสั่งจองเข้ามาจำนวนหนึ่ง
ทีนี้ มีผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอทอป) ของดีสมุทรสาคร ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ออกร้านจำหน่ายสินค้าไม่ได้ ทำให้กลุ่มชาวบ้านขาดรายได้ เศรษฐกิจในชุมชนนิ่งสนิทไม่ไหวติง
ผู้ว่าฯ ปู ก็เลยให้พัฒนาชุมชนจังหวัด ไปคุยกับพาณิชย์จังหวัด หอการค้าจังหวัด ภาคประชาชน วิสาหกิจชุมชน และโอทอปต่างๆ ทำกล่องของขวัญขึ้นมา ตั้งชื่อแบบเก๋ไก๋ว่า “ฮักยัวร์บ็อกซ์” (HUG YOUR BOX)
กล่องของขวัญดังกล่าวหน้าตาทันสมัย ข้างในเป็นกล่องสุ่ม คือเลือกไม่ได้ว่าจะใส่อะไรลงไป แต่บอกได้คำเดียวว่าเป็นสินค้าชุมชน ของดีเมืองสมุทรสาคร มีให้เลือก 3 ราคา ได้แก่ 500 บาท, 600 บาท และ 700 บาท (ค่าจัดส่ง 50 บาท)
เผอิญเดือนกรกฎาคม เป็นเดือนเกิดของเพื่อนสมัยเรียนรามคำแหงพอดี อีกทั้งตั้งใจว่าจะอุดหนุนสินค้าชุมชนด้วย ก็เลยลองสั่งกล่องของขวัญชุดเล็กสักหนึ่งชุด แต่เนื่องจากเพิ่งทำโครงการนี้เป็นครั้งแรก ก็เลยขลุกขลักไปบ้าง
ทราบมาว่า เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรสาคร เป็นผู้ที่แพ็คของเอง ส่งของเอง ใช้บริการของไปรษณีย์ไทย ซึ่งปกติมีไปรษณีย์รถยนต์จอดอยู่ที่หน้าศาลากลางจังหวัด บริเวณหน้าธนาคารกรุงไทยเป็นประจำอยู่แล้ว
อีกปัญหาหนึ่งก็คือ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 อีกทั้งติดวันหยุดนักขัตฤกษ์ บริษัทขนส่งต่างๆ ได้รับผลกระทบ ไม่เว้นแม้กระทั่งไปรษณีย์ไทย ของส่งไปวันที่ 22 ก.ค. ปรากฎว่าปลายทางติดนำจ่ายล่าช้า ถึงปลายทางเมื่อ 29 ก.ค.นี้เอง
เท่าที่ดูสินค้าในกล่องฮักยัวร์บ็อกซ์ แม้ราคาจะสูงไปบ้าง แต่ก็มีของดีเมืองสมุทรสาคร เช่น ฝรั่งอบแห้ง มะม่วงอบแห้ง กะปิเคย ชาใบขลู่ห่อใหญ่ ว่านหางจระเข้อบแห้ง พิมเสนสมุนไพรดอกไม้ สบู่น้ำผึ้ง และผ้าปิดปาก 1 ชิ้น
นอกจากจะช่วยอุดหนุนสินค้าของชุมชนแล้ว ยังส่งต่อแทนความรัก ความห่วงใยให้คนที่เรารักได้ทั่วประเทศ ใครที่สนใจสั่งซื้อได้ที่ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรสาคร โทร. 034-411-717 หรือเฟซบุ๊ก “OTOP Today สมุทรสาคร”
อีกเรื่องหนึ่ง จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา แม้จะได้รับผลกระทบไปทุกหย่อมหญ้า แต่ก็ยังมีน้ำใจเกิดขึ้นหลากหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือการทำอาหารแจกจากบรรดาร้านอาหาร หรือจิตอาสาต่างๆ
แต่ปรากฎว่า ที่ผ่านมาเกิดปัญหาคนที่รับอาหารแจกเพราะเห็นว่าฟรี เมนูที่ได้มา อาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่อยากได้ บางคนหยิบอาหารไปเกินความต้องการ แล้วกินไม่ทัน พออาหารเหลือเกิดการเน่าเสีย ต้องทิ้งไปก็มี
ก็เลยมีร้านอาหารอยู่ร้านหนึ่ง ในตัวเมืองสมุทรสาคร ชื่อว่า “ท่าเรือภัตตาคาร S-PIER 1964” ตรงท่าเรือเทศบาล ทำโครงการที่ชื่อว่า “แบ่งปันข้าวห่อ 10 บาท” จำหน่ายอาหารห่อมูลค่า 30 บาท แต่จ่ายเพียง 10 บาทเท่านั้น
สำหรับอาหารห่อต้นทุนห่อละ 30 บาท แต่จำหน่ายในราคา 10 บาท มีที่มาอยู่ 3 ส่วน ส่วนแรกมาจาก “คนรับ” คือผู้ซื้อ จ่ายเพียง 10 บาทต่อห่อ, ส่วนที่สอง มาจาก “คนทำ” คือร้านอาหาร เป็นผู้รับภาระต้นทุน 10 บาท
ส่วนที่สาม มาจาก “คนให้” คือผู้สนับสนุน สมทบทุนตามกำลัง แล้วนำมาหารด้วย 10 บาท ก็จะได้จำนวนห่อคงเหลือ และหารด้วยจำนวนที่ขาย เช่น วันละ 500 ห่อต่อวัน ก็จะประมาณได้ว่าเหลือต้นทุนพอสำหรับขายกี่วัน
เริ่มแรก ทางร้านประเดิมทดลองขายที่ 200 ห่อก่อน ต่อมามีผู้สนับสนุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงขยับขยายมาเป็นวันละ 500-600 ห่อ มากที่สุดประมาณ 800 ห่อ โดยจะเปิดขายตั้งแต่ 10 โมงเช้าเป็นต้นไป ถึงเที่ยงวัน แต่ก็ขายหมดก่อนทุกที
ที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนหลายฝ่าย เช่น คุณประโยชน์ โสรัจจกิจ เจ้าของฟาร์มเลี้ยงปลากะพงแปลงใหญ่ ฉะเชิงเทรา สนับสนุนปลากะพงนับร้อยกิโลกรัม, คุณบรรลือศักร โสรัจจกิจ ผู้บริหารไทยยูเนี่ยน ฟีดมิลล์ ร่วมสนับสนุนเช่นกัน
ขณะที่ สโมสรไลอ้อนสาครบุรี ก็แจกน้ำสมุนไพรแจกฟรีให้คนที่มาซื้อ และยังมีอีกหลายบริษัท นำวัตถุดิบมามอบให้ รวมทั้งมีผู้ซื้อบางคน ซื้ออาหาร 1 ห่อ ให้แบงก์พันแล้วบอกว่า “ไม่ต้องทอน” เพื่อที่จะทำบุญร่วมกันก็มี
สำหรับเมนูที่จำหน่ายแต่ละวันจะไม่ซ้ำกัน เช่น ผัดกะเพรา ต้มยำ ไข่เจียว ฯลฯ แล้วแต่ทางร้านจะทำออกมา แต่คนทำอาหารเป็นถึงเชฟระดับภัตตาคาร มาช่วยปรุงอาหารในครั้งนี้
การจำหน่ายจะมีการเว้นระยะห่างตามหลัก Social Distancing จำกัดจำนวนการซื้อคนละไม่เกิน 3 ห่อ เพื่อให้ลูกค้าแต่ละคนได้ซื้ออย่างทั่วถึง เงินที่ได้ก็จะวนมาเป็นต้นทุนซื้อวัตถุดิบมาทำขายไปเรื่อยๆ จนกว่าทุนจะหมด
10 วันที่ผ่านมา นับตั้งแต่เริ่มโครงการ มีอาหารห่อสะสมตลอดโครงการมากกว่า 13,000 ห่อ จำหน่ายไปแล้วกว่า 6,000 ห่อ เหลืออีกประมาณ 6,500 ห่อ สามารถแบ่งจำหน่ายได้อีกเกือบๆ ครึ่งเดือน
นอกจากนี้ยังมีอีกร้านหนึ่ง คือ ร้านมหาชัยข้าวผัดปู ท่าปรง ก็ได้ทำ “โครงการมหาชัยไม่ทิ้งกัน ข้าวกล่อง 10 บาท ร่วมใจสู้โควิด” จัดทำอาหารกล่อง จำหน่ายในราคาเพียงกล่องละ 10 บาทเช่นกัน
วัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือคนตกงาน คนยากจน คนพิการ ผู้สูงอายุ เปิดขายเวลา 4 โมงเย็นเป็นต้นไป วันละ 200 กล่อง จำกัดคนละไม่เกิน 2 กล่อง ต้นทุนอาหารกล่องละ 30 บาท โดยทางร้านสนับสนุน 10 บาท และผู้มีจิตศรัทธาอีก 10 บาท
สำหรับร้านไหนที่อยากจะทำโมเดลนี้บ้างก็ไม่สงวนสิทธิ์แต่อย่างใด เท่าที่ผู้เขียนลองเช็กราคากระดาษห่ออาหาร แบบเดียวกับที่ร้านข้าวมันไก่ใช้ พบว่า 1 กิโลกรัม ตกห่อละประมาณ 60 บาท ห่อข้าวได้ 200 กว่าห่อโดยประมาณ
จริงๆ ผู้เขียนชอบแนวคิดนี้ มากกว่าแนวคิดตู้ปันสุข ที่แม้จะมีป้ายติดว่า “หยิบไปแต่พอดี ถ้าท่านมีใส่ตู้แบ่งปัน” แต่ก็ไม่อาจเอาชนะคนที่ไม่รู้จักพอ เห็นว่าแจกฟรีก็ยกพรรคพวก กวาดข้าวของในตู้จนเกลี้ยง ไม่เหลือไว้ให้คนข้างหลังเลย
แต่สำหรับการแบ่งปันข้าวห่อ ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อน้อยจะได้เห็นคุณค่ากับสิ่งที่ได้รับ ในยุคที่เศรษฐกิจฝืดเคืองจากปัญหาโควิด-19 เงิน 5 บาท 10 บาทก็มีค่า แตกต่างจากการแจกอาหารฟรี ยังต้องเจอคนที่ไม่รู้จักพอกอบโกยเบียดเบียนผู้อื่น
เงิน 10 บาทที่จ่ายไป ทางร้านก็หมุนเวียนซื้อวัตถุดิบมาทำอาหารขายอย่างต่อเนื่อง แม้ดูผิวเผินแทบจะไม่ได้อะไรก็ตาม ในช่วงที่ธุรกิจร้านอาหารได้รับผลกระทบจากคำสั่งห้ามรับประทานในร้าน แต่ก็ทำเพื่อช่วยเหลือสังคมอีกทาง
เรื่องราวที่นำมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ ในยามที่ผู้คนต่างสลดหดหู่กับยอดผู้ติดเชื้อโควิด และผู้เสียชีวิตรายวัน ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น อย่างน้อยยังมีอีกส่วนหนึ่งในสังคม ขับเคลื่อนด้วยการให้และการแบ่งปัน
ด้วยความหวังที่ว่า ทุกคนในสังคมจะร่วมฟันฝ่าวิกฤต ที่ยากลำบากที่สุดในชีวิตไปด้วยกัน และรอดไปด้วยกัน