กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
การแถลงข่าวของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ในช่วงที่ผ่านมา เราจะเริ่มเห็นกลุ่มผู้ป่วย (คลัสเตอร์) ที่มาจากห้างสรรพสินค้า หรือศูนย์การค้า ซึ่งสร้างความวิตกกังวลให้กับผู้ใช้บริการไปไม่น้อยเหมือนกัน
ที่ผ่านมาการแถลงข่าวมักจะไม่ระบุชื่อห้างสรรพสินค้าโดยตรง แต่จะใช้วิธีบอกพิกัดแทน อย่างเช่น “ห้างสรรพสินค้าเขตลาดพร้าว” ซึ่งในสายตาคนทั่วไปจะรู้ว่าบนถนนลาดพร้าวไม่ได้มีห้างสรรพสินค้าเพียงแห่งเดียว
ที่สับสนไปอีกก็คือ เขตลาดพร้าวไม่มีถนนลาดพร้าวตัดผ่าน มีแต่ ถนนลาดพร้าว-วังหิน แยกจากถนนโชคชัย 4 ไปถนนลาดปลาเค้า ออกถนนรามอินทรา แต่ ถนนลาดพร้าว ผ่านพื้นที่ 4 เขต ได้แก่ จตุจักร ห้วยขวาง วังทองหลาง และบางกะปิ
ผลก็คือ บรรดาห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าที่อยู่ในทำเลถนนลาดพร้าว ต่างออกประกาศว่าไม่ใช่ห้างของตนเอง ท้ายที่สุด โฆษก ศบค. ต้องฉายสไลด์ระบุชื่อ “ห้างโฮมโปร เอกมัย-รามอินทรา” แต่ไม่ได้กล่าวชื่อในการแถลงข่าว
กรณีล่าสุดคือ ศบค. แถลงข่าวว่า ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในย่านการค้าเขตปทุมวัน เป็นคลัสเตอร์ที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 129 คน โดยในสไลด์ระบุแผนที่ชัดเจนว่าเป็น สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามเซ็นเตอร์ และสยามพารากอน
ทำให้ สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ ชี้แจงว่า ตัวเลข 129 คน เป็นจำนวนผู้ติดเชื้อนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ถึงปัจจุบัน จากจำนวนพนักงานในพื้นที่มากกว่า 35,000 คน และไม่ใช่เป็นการติดเชื้อในเวลาเดียวกัน
ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อมาจากที่พักอาศัย จึงได้ควบคุมความเสี่ยงในกลุ่มคนที่ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยงที่เกี่ยวข้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมให้ความร่วมมือภาครัฐ จัดสยามพารากอนให้เป็นที่ฉีดวัคซีน และทยอยฉีดวัคซีนแก่พนักงานอย่างต่อเนื่อง
ยืนยันว่าได้ป้องกันล่วงหน้าด้วยการฉีด พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อไวรัส แบคทีเรีย ในอากาศและบนพื้นผิวสัมผัสทุกวันหลังปิดทำการ โดยทำเช่นนี้เป็นประจำทุกวันตั้งแต่เริ่มมีการเผยแพร่ระบาดจนถึงบัดนี้มากกว่า 14 เดือนแล้ว และจะเคร่งครัดต่อเนื่อง
แม้เป็นที่เข้าใจได้ว่า ศบค. ไม่อยากเอ่ยชื่อสถานที่ เพราะเป็นสถานที่เอกชน แต่ยุคนี้เป็นยุคที่ข่าวสารในโซเชียลฯ ไปไวมาก การจัดการภาวะวิกฤต (Crisis Management) เป็นสิ่งสำคัญ ใครปกปิดอะไร ชาวเน็ตพร้อมที่จะตั้งข้อสงสัยในทุกเรื่อง
เพราะฉะนั้น ห้างสรรพสินค้าหรือแบรนด์สินค้าต่างๆ ยิ่งยอมรับความจริง ยิ่งจัดการปัญหาโดยเร็ว ปัญหาจะยิ่งจบเร็ว
เท่าที่พบเห็น ห้างฯ ที่เป็นข่าวว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการแสดงความรับผิดชอบ ด้วยการปิดทำการ 3 วัน เพื่อบิ๊กคลีนนิง (Big Cleaning) ทำความสะอาดครั้งใหญ่ เพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกมั่นใจมากขึ้น ก่อนกลับมาเปิดให้บริการ
เอาเข้าจริง ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ หลายคนคงไม่มีกะจิตกะใจอยากจะไปเดินห้างฯ เพราะกลัวติดโควิด-19 แต่อีกด้านหนึ่ง เท่าที่ไปถามพนักงานในห้างฯ ก็จะมองว่า ระหว่างพนักงานกับลูกค้า โอกาสจะติดเชื้อโควิด-19 เกิดขึ้นน้อยมาก
จากที่พูดคุยกับพนักงานห้างสรรพสินค้ารายหนึ่ง ระบุว่า พนักงานในห้างฯ ที่ติดโควิด-19 ปัจจัยส่วนใหญ่จะมาจากที่อยู่อาศัยมากกว่า เนื่องจากอาศัยอยู่รวมกันในห้องเช่าเป็นครอบครัว หรือหารค่าห้องกับญาติพี่น้องหรือเพื่อนเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
เมื่อต้องอยู่อาศัยร่วมกันในห้องเดียวกัน และห้องพักในกรุงเทพฯ โดยปกติก็มีสภาพคับแคบอยู่แล้ว โอกาสที่จะติดเชื้อจึงมีความเป็นไปได้สูง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าตอนที่อยู่ในห้างฯ จะไม่มีโอกาสติดเชื้อเลยก็ตาม
เขากล่าวว่า จากที่มีการออกข่าวว่าติดเชื้อรวมกันทีเดียว 129 คนนั้น อาจจะทยอยติดกันมากกว่า เช่น ในแผนกหนึ่ง ติดครั้งหนึ่งประมาณ 5-10 คน แต่อย่างกรณีห้างแห่งหนึ่งย่านชานเมือง คือติดกันจำนวนมาก เลยต้องปิด 3 วัน
โดยปกติแล้วถ้าพบว่ามีคนติดเชื้อโควิด-19 คนที่ทำงานร่วมกันกับผู้ติดเชื้อ ซึ่งเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดจะต้องไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ถึงแม้ว่าจะไม่พบเชื้อจะต้องกักตัว 14 วัน จนกว่าจะตรวจแล้วผลเป็นลบ ก็กลับมาทำงานได้ตามปกติ
ระหว่างนั้นจะให้พนักงานเหลือในแผนกเดียวกัน ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับผู้ติดเชื้อ เข้ามาทำหน้าที่แทนพนักงานที่ป่วย และพนักงานที่ถูกกักตัว เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการแก่ลูกค้าได้ตามปกติ
ส่วนคนที่ติดเชื้อโควิด-19 จะต้องรักษาจนหายขาด 14 วัน ออกจากโรงพยาบาลแล้วต้องกักตัวต่ออีก 14 วัน เท่ากับว่าจะไม่ได้ทำงานราว 1 เดือนเต็ม แม้เงินเดือนจะจ่ายตามปกติ แต่จะไม่ได้เงินพิเศษ และสิทธิลาพักร้อนในปี 2564 จะหายไป
ทุกวันนี้พนักงานห้างฯ แต่ละคนต่างก็ภาวนาว่า ขออย่าให้โควิด-19 เกิดขึ้นกับตัวเอง
เมื่อถามว่า โดยปกติจะไปใช้บริการห้างสรรพสินค้าอยู่แล้ว เกิดเหตุการณ์เช่นนี้จะต้องทำอย่างไร เขากล่าวว่า โอกาสที่พนักงานจะติดจากลูกค้ามีความเป็นไปได้น้อยมาก เพราะต่างฝ่ายต่างก็ป้องกันตัวเองอยู่แล้ว
ถ้าจะมาห้างฯ ก็มาได้ตามปกติ ถามใจตัวเองก่อนว่า "กลัวไหม" ถ้ากลัวก็ไม่ต้องไป แต่ถ้าไม่กลัวก็พยายามปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด เช่น สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ด้วยแอลกอฮอล์เจลหรือสเปรย์ หลีกเลี่ยงเข้าไปในจุดที่แออัด
แต่ไม่ต้องถึงกับแสดงออกกับพนักงาน “เยอะ” ราวกับรังเกียจ ทำกิริยาใส่พวกเขาเหมือนกับขยะแขยง เช่น ทำตัวแบบไม่อยากเข้าใกล้ใคร ทั้งที่พนักงานก็อยู่กันเฉยๆ เขากล่าวว่าเจอกันหมดทุกคน แต่ก็พูดอะไรไม่ได้
จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ต้องซื้อของในห้างฯ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง พบว่าแต่ละห้างมักจะมีมาตรการเป็นของตัวเองอยู่แล้ว โดยเฉพาะมาตรการพื้นฐาน อย่างขอความร่วมมือสวมหน้ากากอนามัย จัดเตรียมเจลล้างมือ จุดรักษาระยะห่าง
แต่บางครั้งก็มีมาตรการพิเศษออกมา เช่น มีบริการถุงมือพลาสติกเอนกประสงค์แบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง สำหรับให้ลูกค้าสวมใส่เวลาหยิบจับสิ่งของลงตะกร้า ซึ่งเอาจริงๆ ส่วนตัวยังรู้สึกว่ายังมีช่องให้เชื้อโรคเข้าไปสัมผัสได้อยู่ดี
เช่น เวลาที่เราซื้อของ ต้องหยิบจับสินค้าแต่ละตัว ถ้าเกิดต้องหยิบมือถือขึ้นมา เชื้อโรคก็จะติดกับหน้าจอมือถืออยู่ดี หรือเวลาที่ซื้อของเสร็จแล้ว เวลาคิดเงินเราหยิบกระเป๋าสตางค์ขึ้นมา ถ้าไม่ถอดถุงมือ เชื้อโรคก็ไปติดกับกระเป๋าสตางค์อยู่ดี
ทุกวันนี้จึงต้องอาศัยล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจลหรือสเปรย์ให้บ่อยครั้ง หลีกเลี่ยงการชำระด้วยเงินสด วิธีชำระเงินแบบลดการสัมผัสที่ดีที่สุด คือ โมบายแบงกิ้ง หรือ อี-วอลเล็ต ให้พนักงานยิงบาร์โค้ดสแกนจ่าย หรือให้เราสแกนคิวอาร์โค้ด
อี-วอลเล็ตแต่ละเจ้าแทบจะไม่ต้องเติมเงินก่อนใช้จ่าย เพราะสามารถตัดเงินจากบัญชีโดยตรงผ่านบริการหักบัญชีอัตโนมัติ (Direct Debit) หรือตัดเงินด้วยบัตรเครดิต บัตรเดบิต โดยผูกบัตรเพียงครั้งเดียว ใช้ได้จนกว่าบัตรหายหรือหมดอายุ
ส่วนบัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตรพรีเพด แบบบัตรพลาสติก ยังต้องเจอพนักงานหยิบบัตรจากมือไปเสียบที่เครื่องรูด EDC แม้จะมีระบบคอนแทคเลสให้นำบัตรแตะเพื่อจ่าย บัตรก็มีโอกาสสัมผัสกับเครื่อง EDC ที่ต้องใช้ร่วมกันกับคนอื่นอยู่ดี
อย่างไรก็ตาม ในยุคนี้อาจจะไม่จำเป็นต้องเดินห้างฯ เสมอไป นอกจากจะมีชอปปิ้งออนไลน์ของห้างฯ แล้ว ยังมีบริการผู้ช่วยชอปปิ้งส่วนตัว (Personal Shopper) หรือบริการ Call to Shop และ Chat to Shop ของแต่ละแห่ง
สถานการณ์โควิด-19 ถือเป็นโอกาสที่ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการชอปปิ้งมากขึ้น คาดหวังว่าทั้งลูกค้าและพนักงานจะห่างไกลจากโควิด-19 ให้ได้มากที่สุด แม้ว่าทุกวันนี้โควิด-19 จะอยู่ล้อมรอบตัวเรา อยู่ในมือเราก็ตาม