กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
ใครที่ผ่านไปผ่านมา บริเวณสามแยกถนนพหลโยธินตัดกับถนนเทพรักษ์ หน้าห้างบิ๊กซี สะพานใหม่ ดอนเมือง ก็จะเห็นการก่อสร้างถนนสายใหม่ เชื่อมกับถนนวิภาวดีรังสิต บริเวณซอยวิภาวดีรังสิต 72 โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จต้นปี 2566
โครงการนี้มีชื่อว่า “โครงการทางหลวงท้องถิ่นสายเชื่อมระหว่างถนนวิภาวดีรังสิตกับถนนพหลโยธิน” ระยะทาง 2.768 กิโลเมตร เจ้าของโครงการคือ สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร วงเงินค่าก่อสร้าง 1,800 ล้านบาท
คาดว่าจะเป็นประโยชน์ทั้งคนที่อาศัยอยู่ในโซนสะพานใหม่ สายไหม วัชรพล รวมทั้งคนที่จะใช้บริการท่าอากาศยานดอนเมือง ที่ในยามปกติ (ช่วงที่ไม่มีโรคระบาด เช่น โควิด-19) จะมีผู้โดยสารมาใช้บริการมากถึง 17-18 ล้านคนต่อปี
แม้ว่ารถไฟฟ้าบีทีเอสจะเปิดให้บริการส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ไปเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2563 แต่ดูเหมือนว่าแนวเส้นทางไม่ได้เข้าสู่ท่าอากาศยานดอนเมืองโดยตรง แม้ลักษณะทางกายภาพจะอยู่ใกล้กันก็ตาม
โดยปกติแล้วคนที่เดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส ถ้าจะไปสนามบินดอนเมือง ต้องไปลงที่สถานีหมอชิต จะมีรถประจำทางสาย A1 และ A2 ขึ้นทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ ค่าโดยสาร 30 บาท จะช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับสภาพการจราจร
ส่วนคนที่นั่งรถไฟฟ้าบีทีเอสส่วนต่อขยาย อาจจะมีบางคนลงที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ ทางออกหมายเลข 1 แล้วนั่งรถแท็กซี่ที่หน้าอาคารพุทธวิชชาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ซึ่งจะมีรถแท็กซี่จอดรออยู่จำนวนมาก
สำหรับคนที่นั่งรถประจำทาง คนที่ทำงานสนามบินเล่าให้ฟังว่า จะลงที่สถานีกรมทหารราบที่ 11 แล้วเดินไปยังอู่บางเขน จะมีรถประจำทางบางเส้นทางผ่านหน้าท่าอากาศยานดอนเมือง แต่ต้องลงถนนวิภาวดีรังสิตแล้วข้ามสะพานลอยเอา
วันก่อนลองทดสอบนั่งรถไฟฟ้าบีทีเอส ลงที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ แล้วต่อแท็กซี่ไปยังอาคารผู้โดยสาร 2 (Terminal 2) ท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งคนที่จะขึ้นเครื่องบินขาออกภายในประเทศ จะต้องลงรถตรงนี้
พบว่า ในช่วงที่การจราจรคล่องตัว แท็กซี่จะข้ามสะพานแยกหลักสี่ ไปกลับรถที่หน้าไปรษณีย์หลักสี่ เข้าถนนวิภาวดีรังสิต แล้วขึ้นสะพานเข้าอาคารผู้โดยสาร ระยะทาง 9.7 กิโลเมตร ใช้เวลา 12 นาที ค่าโดยสาร 85 บาท
เท่าที่พูดคุยกับโชเฟอร์แท็กซี่ บอกว่า ถ้าวันไหนการจราจรติดขัด ก็จะอ้อมไปกลับรถที่หน้าสโมสรตำรวจ ซึ่งระยะทางและค่าโดยสารจะเพิ่มขึ้นไปอีก หรืออีกตัวเลือกหนึ่งคือลงที่สถานีแยก คปอ. แล้วต่อแท็กซี่ตรงนั้น ระยะทางน่าจะใกล้กว่า
แต่จากการวัดระยะทางด้วย Google Maps พบว่าจากสถานีแยก คปอ. ไปอาคารผู้โดยสาร 2 ท่าอากาศยานดอนเมือง จะมีระยะทางมากกว่า 8 กิโลเมตร เพราะต้องอ้อมไปทางอนุสรณ์สถานแห่งชาติ เข้าถนนวิภาวดีรังสิต
บริเวณแยก คปอ. จะมีถนนถนนธูปะเตมีย์ (ช่องทาง ทอ. 2) เชื่อมระหว่างถนนพหลโยธิน ผ่านฐานทัพอากาศดอนเมือง และรันเวย์ด้านทิศเหนือของสนามบินดอนเมือง ถึงถนนวิภาวดีรังสิต ระยะทาง 2.3 กิโลเมตร
แต่เนื่องจากเป็นพื้นที่กองทัพอากาศ (ทอ.) จึงอนุญาตให้เฉพาะรถยนต์ที่มีสติกเกอร์บัตรผ่านยานพาหนะเข้า-ออก เขตพื้นที่กองทัพอากาศเท่านั้น ไม่อนุญาตให้รถยนต์ที่ไม่มีสติกเกอร์ หรือรถรับจ้างสาธารณะทุกชนิดเข้าไปด้านใน
คนที่อยู่โซนสะพานใหม่ สายไหม ลำลูกกา วัชรพล ถ้าไม่มีสติกเกอร์รายปี ไม่อ้อมไปทางอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ก็ต้องไปทางถนนรามอินทรา ออกถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งมักจะมีปัญหาการจราจรติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วน
ก่อนหน้านี้ กทม. ได้เปิดใช้ถนนพหลโยธิน-รัตนโกสินทร์สมโภช มาตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2558 เป็นถนนขนาด 6 ช่องจราจร เชื่อมระหว่างถนนพหลโยธิน กับถนนสุขาภิบาล 5 ระยะทาง 5.25 กิโลเมตร งบประมาณ 896.59 ล้านบาท
กระทั่งวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 คณะกรรมการกลางตั้งชื่อถนนฯ กทม. ได้มีมติให้เปลี่ยนชื่อเป็น “ถนนเทพรักษ์” มีความหมายว่า ถนนที่มีเทพยดาปกปักรักษาคุ้มครอง ทำให้ผู้ใช้ถนนดังกล่าวปลอดภัย
สำหรับการก่อสร้างทางหลวงท้องถิ่น เชื่อมระหว่างถนนวิภาวดีรังสิตกับถนนพหลโยธิน แบ่งออกเป็น 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ถนนวิภาวดีรังสิต บริเวณซอยวิภาวดีรังสิต 72 ถึงสะพานข้ามคลองถนน ระยะทาง 1.910 กิโลเมตร
โดยก่อสร้างเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 6 ช่องจราจร พร้อมทางเท้า ทางจักรยาน ฝั่งขาเข้ามีสะพานรับรถจากถนนพหลโยธิน และถนนเทพรักษ์ ข้ามไปยังถนนเทวฤทธิ์พันลึก (ช่องทาง ทกท.9) เพื่อเข้าสู่ท่าอากาศยานดอนเมืองได้
มีบริษัท สระหลวงก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้รับจ้างก่อสร้าง วงเงิน 827 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 720 วัน เริ่มต้นสัญญา 22 กุมภาพันธ์ 2564 สิ้นสุดสัญญา 15 กุมภาพันธ์ 2566
สัญญาที่ 2 สะพานข้ามคลองถนน ถึงถนนเทพรักษ์ เป็นทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร ข้ามคลองถนน และถนนพหลโยธิน ลอดใต้ทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว ไปลงที่ถนนเทพรักษ์ ก่อนถึงสะพานข้ามคลองลำผักชี ระยะทาง 1.16 กิโลเมตร
มีบริษัท พรรณีวรกิจก่อสร้างและขนส่ง จำกัด เป็นผู้รับจ้างก่อสร้าง วงเงิน 724.65 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 720 วัน เริ่มต้นสัญญา 17 ธันวาคม 2563 สิ้นสุดสัญญา 6 ธันวาคม 2565
หากก่อสร้างแล้วเสร็จ ในอนาคตเมื่อเข้าจากถนนพหลโยธิน และถนนเทพรักษ์แล้ว ขึ้นสะพานลงที่ถนนเทวฤทธิ์พันลึก ก่อนถึงถนนวิภาวดีรังสิตจะมีทางเลี้ยวขวาไปท่าอากาศยานดอนเมืองได้
ส่วนคนที่นั่งรถไฟฟ้าบีทีเอส ลงที่สถานีสายหยุดแล้วต่อแท็กซี่ เลี้ยวซ้ายเข้าไปยังถนนเส้นใหม่ ขึ้นสะพานไปยังถนนเทวฤทธิ์พันลึก แล้วเลี้ยวขวาไปทางอาคารคลังสินค้า เพื่อไปยังอาคารผู้โดยสารได้ โดยไม่ต้องไปกลับรถที่ถนนวิภาวดีรังสิต
ลองคำนวณจากสถานีรถไฟฟ้าสายหยุด ถึงปากทางถนนเทวฤทธิ์พันลึก ประมาณ 3 กิโลเมตร หากต่อไปยังอาคารผู้โดยสารที่อยู่ทิศเหนือ ระยะทาง 4 กิโลเมตร เบ็ดเสร็จรวมกันประมาณ 7 กิโลเมตร
รวมทั้งบริเวณปากทางถนนเทวฤทธิ์พันลึก ด้านถนนวิภาวดีรังสิต จะมีบันไดเลื่อนทางขึ้น ไปยังโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง สถานีการเคหะ เพื่อใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิตได้เช่นกัน
เอาเข้าจริง คนที่เดินทางโดยรถประจำทางสาย A1 และ A2 จากสวนจตุจักร ในยามที่การจราจรไม่ติดขัด อาจจะยังให้ความสนใจใช้บริการต่อไป เพราะถ้าช่วงที่รถไม่ติดจะใช้เวลาเดินทางถึงอาคารผู้โดยสารเพียงแค่ 30-40 นาทีเท่านั้น
แต่ที่น่าสนใจก็คือ สำนักการโยธา กทม. มีแผนที่จะก่อสร้างถนนเทพรักษ์ไปทางทิศตะวันออก จากถนนสุขาภิบาล 5 ผ่านถนนกาญจนาภิเษก ถนนหทัยราษฎร์ ถนนนิมิตใหม่ ถนนคลองเก้า สิ้นสุดที่ถนนคู้คลองสิบ เขตหนองจอก ในอนาคต
รวมทั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย จะมีโครงการทางพิเศษฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ที่จะรับรถจากทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 (บางปะอิน-นครราชสีมา) ที่ด่านแก่งคอย ไปบรรจบกับทางพิเศษศรีรัช บริเวณด่านจตุโชติ
ในอนาคต คนที่มาจากนครราชสีมา ปากช่อง สระบุรี นครนายก องครักษ์ บางน้ำเปรี้ยว เมื่อใช้ทางพิเศษสายใหม่แล้วตรงไปด่านจตุโชติ สามารถลงที่ด่านสุขาภิบาล 5 แล้วใช้ถนนเทพรักษ์ เพื่อตรงไปยังท่าอากาศยานดอนเมืองได้เช่นกัน
นับเป็นการดี ที่การก่อสร้างทางหลวงท้องถิ่น พหลโยธิน-วิภาวดีรังสิต จะช่วยแบ่งเบาภาระการจราจรบนถนนรามอินทรา และเพิ่มทางเลือกเข้าสู่ท่าอากาศยานดอนเมืองโดยตรง ไม่ต้องไปอ้อมที่ไหนไกลเหมือนที่ผ่านมาอีก