กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
ในที่สุดวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 ธนาคารทหารไทย และธนาคารธนชาต ได้เปิดเผยเครื่องหมายการค้าใหม่ “ttb” หรือ “ทหารไทยธนชาต” (TMBThanachart) หลังจากจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อนิติบุคคลไปแล้วก่อนหน้านี้
สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ก็คือ สำนักงานใหญ่ สาขาและเครื่องเอทีเอ็มบางแห่ง เริ่มทยอยเปลี่ยนโลโก้ธนาคาร มีลักษณะเป็นตัวหนังสือเป็นสีน้ำเงิน (t) สีส้ม (t) และสีกรมท่า (b) เชื่อมต่อกัน พร้อมทั้งเปลี่ยนเบอร์คอนแทคต์เซ็นเตอร์ใหม่ 1428
แต่ละคนวิจารณ์โลโก้ใหม่ของทีทีบีแตกต่างกันไป สวยบ้างไม่สวยบ้างก็แล้วแต่มุมมอง บางผลิตภัณฑ์เริ่มปรับโฉมแล้ว เช่น บัตรเดบิตออลฟรี บัตรเครดิต แต่ก็มีบางผลิตภัณฑ์ที่ลดขนาดลง เช่น บัญชี ME SAVE ที่จะไปอยู่ในแอปฯ TOUCH
อย่างไรก็ตาม ธุรกรรมต่างๆ ของทีเอ็มบีและธนชาตจะยังคงดำเนินไปตามเดิม โดยจะทยอยเปลี่ยนระบบโอนเงิน ระบบชำระเงิน ระบบบัตรเครดิต และระบบบัญชีหรือข้อมูลเป็นระยะ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนจึงแล้วเสร็จทั้งหมด
หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง การรวมกิจการจะเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ลูกค้าธนชาตจะเปลี่ยนแปลงข้อมูลบัญชีใหม่ ภายใต้แบรนด์ใหม่ รหัสสาขาและเลขที่บัญชีใหม่ หลังจากนั้นธนาคารธนชาตจะคืนใบอนุญาตธนาคารต่อไป
ส่วนลูกค้าทีเอ็มบี ยังคงใช้รหัสสาขาและเลขที่บัญชีเดิมต่อไป แต่บางผลิตภัณฑ์อาจจะยุบรวมกัน เช่น ME by TMB ธนาคารออนไลน์ที่ให้บริการมานานกว่า 9 ปี จะปิดตัวเว็บไซต์และแอปฯ ME by TMB ภายในเดือนมิถุนายน 2564
หลายคนอาจสงสัยว่า ที่มาที่ไปของการควบรวมกิจการ ระหว่างทีเอ็มบีและธนชาตครั้งนี้เป็นยังไง?
ที่ผ่านมาหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 จะเห็นการควบรวมกิจการธนาคารหลายแห่ง ตั้งแต่ ธนาคารกรุงไทย ควบรวมกับ ธนาคารมหานคร และรับโอนสินทรัพย์กับเงินฝากลูกค้าชั้นดีของ ธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ (บีบีซี) เมื่อปี 2541
ธนาคารรัตนสิน กระทรวงการคลังจำหน่ายกิจการ โดยให้ ปรส.ขายหุ้นให้ ธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ (ยูโอบี) จากสิงคโปร์ และร่วมลงทุนในชื่อ ยูโอบีรัตนสิน เมื่อปี 2542 ส่วน ธนาคารศรีนคร ถูกควบรวมกับ ธนาคารนครหลวงไทย ในปี 2545
หลังเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว ได้มีความพยายามบังคับใช้แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (มาสเตอร์แพลน) โดยให้เหลือเพียงแค่ธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ (Universal Bank) กับธนาคารพาณิชย์จำกัดประเภทธุรกิจเท่านั้น
ประกอบกับประเทศไทยถูกบีบจากประเทศมหาอำนาจ ให้ต้องเปิดเสรีทางการเงิน ทำให้เกิดแนวคิดควบรวมกิจการธนาคารขึ้นมา เพื่อแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ นับจากนั้นเป็นต้นมาจึงได้เห็นการควบรวมธนาคารมาโดยตลอด
ในปี 2547 ธนาคารไทยทนุ และ บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (IFCT) ควบรวมกิจการกับ ธนาคารทหารไทย ส่วน ธนาคารยูโอบีรัตนสิน ควบรวมกิจการกับ ธนาคารเอเชีย ที่ทันสมัยที่สุดในขณะนั้น เหลือเพียง ธนาคารยูโอบี ถึงปัจจุบัน
ขณะที่ ธนาคารนครหลวงไทย เดิมเคยเป็นรัฐวิสาหกิจมาก่อน โดยมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่มายาวนาน ก็ขายหุ้นทั้งหมดให้กับ ธนาคารธนชาต ก่อนที่จะควบรวมกิจการสำเร็จในปี 2554
มาถึงสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่า นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง (ขณะนั้น) ประกาศนโยบายสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ของไทยควบรวมกิจการ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งของสถาบันการเงิน
โดยสั่งให้กระทรวงการคลังออกมาตรการ “ยกเว้นภาษี” สำหรับควบรวมกิจการสถาบันการเงิน เพื่อจูงใจไปในตัว ซึ่ง ครม.เห็นชอบไปเมื่อ 17 เมษายน 2561 สิ้นสุดเดือนธันวาคม 2562 และต้องควบรวมให้เสร็จภายใน 3 ปี เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี
เหตุผลหนึ่งก็คือ ปัจจุบันธนาคารไทยมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับธนาคารหลายแห่งในภูมิภาค บริษัทเอกชนหลายแห่งขอสินเชื่อกับธนาคารไม่ได้ เพราะบริษัทเอกชนมีขนาดใหญ่กว่าธนาคาร ต้องไปขอสินเชื่อกับธนาคารต่างประเทศแทน
ที่ผ่านมาธนาคารของไทยเลือกแย่งส่วนแบ่งตลาดในประเทศ ขณะที่มาเลเซียและสิงคโปร์ ตั้งเป้าหมายที่จะขยายกิจการที่ต่างประเทศเพื่อทำให้พอร์ตใหญ่ขึ้น ก็เลยคิดว่าทำยังไงที่จะให้ธนาคารของไทยออกไปขยายธุรกิจที่ต่างประเทศ
แม้ธนาคารของไทยจะได้เปรียบตรงที่ธนาคารต่างประเทศเข้ามาตีตลาดได้ยาก แต่ก็พบว่าแทบทุกธนาคารยังคงชิงส่วนแบ่งตลาดในประเทศ มีเพียงธนาคารกรุงเทพที่ออกไปแข่งขันนอกประเทศ
หากธนาคารควบรวมกิจการให้มีขนาดใหญ่พอที่จะรองรับสินเชื่อบริษัทขนาดใหญ่ได้ ก็จะส่งผลดีต่อการลงทุนของบริษัทขนาดใหญ่ รวมทั้งรองรับนักลงทุนต่างชาติ และโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี
กระแสข่าวควบรวมกิจการของทีเอ็มบีเริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2561 ทีแรกจะควบรวมกับธนาคารกรุงไทย หวังที่สินทรัพย์รวมจะแซงหน้าธนาคารกรุงเทพ แต่พบว่าขนาดทรัพย์สินต่างกันมาก หากควบรวมไปก็ไม่เอื้อประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
สำทับด้วยธนาคารกรุงไทย ปิดประตูสนิท ยืนยันกับผู้ถือหุ้นว่าไม่มีนโยบายควบรวมกับธนาคารใด รวมถึงการประชุมทุกครั้งไม่มีการพูดคุยถึงเรื่องดังกล่าว เป็นไปได้ว่ากระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ 2 แบงก์ จึงจับประเด็นมาผูกโยงกันเอง
ต่อมา นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อดีตประธานบอร์ดทีเอ็มบี เสนอให้กระทรวงการคลัง ควบรวมทีเอ็มบีกับ ธนาคารธนชาต แทน เพราะมีขนาดใกล้เคียงกัน และกลุ่มธนชาต ก็สนใจที่จะควบรวมกิจการเช่นกัน
ตอนนั้นธนชาตมีทรัพย์สินรวมประมาณ 1 ล้านล้านบาท ทีเอ็มบีมีประมาณ 8.5 แสนล้านบาท หากควบรวมสำเร็จจะเท่ากับมีสินทรัพย์รวม 1.85 ล้านล้านบาท และจะกลายเป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับ 6 เลยทีเดียว
จุดเด่นของธนาคารธนชาตขณะนั้น คือ สินเชื่อรถยนต์ ที่มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับหนึ่ง ขณะที่ทีเอ็มบี มีผลิตภัณฑ์เงินฝากแตกต่างจากที่อื่น เช่น เงินฝากไม่ประจำดอกเบี้ยสูง บัตรเดบิตทีเอ็มบีออลล์ฟรี และการเจาะกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี
กลุ่มธนชาตในตอนนั้น ลึกๆ สนใจที่จะควบรวมกิจการกับทีเอ็มบี ถึงขนาดมีผู้บริหารจากฝั่งโนวาสโกเทียแบงก์ เข้าพบ รมว.คลังในขณะนั้นเป็นระยะ เพื่อสอบถามมาตรการที่เกี่ยวข้อง และแต่ละฝ่ายยังพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง
หลังแต่ละฝ่ายตกผลึกถึงข้อดี-ข้อเสียมาพอสมควร ในที่สุดการควบรวมกิจการของสองธนาคาร ก็เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 ทีเอ็มบีและธนชาตได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงแบบไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย
จากนั้น จึงได้เห็นความเคลื่อนไหวขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการปรับโครงสร้างหุ้น การขายกิจการบริษัทลูก เช่น บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน การรวมพนักงานของทั้งสองธนาคารให้เป็นหนึ่งเดียว และการระดมทุนจากผู้ถือหุ้นและนักลงทุน
สำหรับผู้บริโภค ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2563 เผยโฉมสาขารูปแบบใหม่ เรียกว่า “สาขาร่วมระหว่างสองธนาคาร” (Co-Location Branch) โดยเริ่มต้นที่สาขาถนนถนนสุขสวัสดิ์-ราษฎร์บูรณะ กรุงเทพฯ
โดยสาขาร่วมระหว่างสองธนาคาร จะเน้นผลิตภัณฑ์ที่เป็นจุดเด่นของทีเอ็มบี ได้แก่ บัญชีเงินฝาก บัตรเครดิต กองทุน ประกันชีวิต ฯลฯ กับธนาคารธนชาต ที่มีสินเชื่อรถยนต์ ที่ผ่านมาขยายสาขารูปแบบดังกล่าวไปได้ 133 สาขาทั่วประเทศ
ระหว่างนั้นได้เตรียมการรีแบรนด์ดิ้งภาพลักษณ์ของธนาคาร โดยเฉพาะโลโก้ “ttb” ผู้บริโภคคงไม่คาดคิดว่า ทีเอ็มบีธนชาตได้จดทะเบียนกับสำนักเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ มาตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2563
แถมตอนนั้นยังขอเลขหมาย 4 หลัก กับสำนักงาน กสทช. เพื่อใช้แทนหมายเลข 1558 ของทีเอ็มบี และ 1770 ของธนชาต กระทั่งได้ หมายเลข 1428 ตามมติที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563
ขณะที่กล่องไฟหน้าสาขา และเครื่องเอทีเอ็มรวมกว่า 4,700 เครื่อง นอกจากจะให้ลูกค้าทั้งสองธนาคารกดเงินและสอบถามยอดเขตเดียวกันฟรี เสมือนธนาคารเดียวกันแล้ว ลึกๆ ยังปรับโฉมใหม่ โดยปิดโลโก้ใหม่ทับไว้ด้านในอีกด้วย
แต่การรีแบรนด์ดิ้งไปสู่ชื่อใหม่ โลโก้ใหม่ ttb จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้รับความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้น
เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564 ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 มีมติอนุมัติการเปลี่ยนชื่อธนาคาร เป็น ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) และชื่อภาษาอังกฤษเป็น TMBThanachart Bank Public Company Limited
จากนั้นจึงได้เปลี่ยนชื่อนิติบุคคล กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 และแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งจะเปลี่ยนชื่อหลักทรัพย์จาก TMB มาเป็น TTB ทั้งหมดในวันที่ 12 พฤษภาคม 2564
ถ้าถามว่า เมื่อควบรวมกิจการกันแล้ว ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ttb จะเป็นธนาคารใหญ่ขนาดไหน?
ธนาคารแห่งประเทศไทย เคยนิยามว่า “ธนาคารขนาดใหญ่” จะต้องมีส่วนแบ่งตลาดของสินทรัพย์รวม 10.00% ขึ้นไป ของสินทรัพย์รวมธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ ส่วน “ธนาคารขนาดกลาง” ส่วนแบ่งตลาด 2.50-10.00% นอกนั้นจะเป็น “ธนาคารขนาดเล็ก”
เมื่อลองนำข้อมูล “รายการย่อแสดงสินทรัพย์และหนี้สินของแต่ละธนาคาร” (ณ เดือนมีนาคม 2564) เฉพาะธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศมาคำนวณ พบว่ามีสินทรัพย์รวมกันทั้ง 19 ธนาคาร กว่า 20,288,828 ล้านล้านบาท
ธนาคารกรุงเทพ มีส่วนแบ่งตลาดของสินทรัพย์รวมมากที่สุด 17.22% อยู่ที่ 3,493,321 ล้านบาท รองลงมาคือธนาคารกรุงไทย 16.16% ธนาคารไทยพาณิชย์ 15.63% ธนาคารกสิกรไทย 15.51% และธนาคารกรุงศรีอยุธยา 12.51%
ส่วนทีเอ็มบี มีส่วนแบ่งตลาดของสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 6.06% อยู่ที่ 1,230,206 ล้านบาท ขณะที่ธนาคารธนชาต 3.95% อยู่ที่ 801,270 ล้านบาท และยูโอบี 3.16% อยู่ที่ 641,441 ล้านบาท จัดอยู่ในธนาคารขนาดกลาง ที่เหลือคือธนาคารขนาดเล็ก
หากย้อนกลับไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นเดือนที่ทีเอ็มบีกับธนชาตลงนามเอ็มโอยูควบรวมกิจการ พบว่าทีเอ็มบีมีสินทรัพย์รวม 874,828 ล้านบาท ส่วนธนาคารธนชาตมีสินทรัพย์รวม 992,050 ล้านบาท
แต่หากนำสินทรัพย์รวมของทีเอ็มบีกับธนาคารธนชาตมารวมกัน จะพบว่ามีส่วนแบ่งตลาดของสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 10.01% หรือ 2,031,476 ล้านบาท เท่ากับว่าอัปเกรดเป็น "ว่าที่" ธนาคารขนาดใหญ่ 1 ใน 6 ของประเทศ
ปัจจุบัน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของทีทีบี คือ กลุ่มไอเอ็นจีจากเนเธอร์แลนด์ 23.02% รองลงมาคือ บมจ.ทุนธนชาต 20.52% กระทรวงการคลัง 11.79% กองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง รวม 10.44% ส่วนฐานลูกค้าปัจจุบันมีอยู่ 10 ล้านราย
แม้การควบรวมกิจการระหว่างทีเอ็มบีกับธนชาตจะราบรื่น ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจจากการะบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจธนาคารพาณิชย์โดยรวม แต่ต้องลุ้นว่านับจากนี้จะสร้างโอกาสกับแบรนด์ใหม่ได้มากน้อยขนาดไหน
โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เรือธงอย่างบัญชีและบัตรเดบิตออลล์ฟรี ที่เพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันอุบัติเหตุ เมื่อคงเงินฝากในบัญชี กับสินเชื่อรถยนต์ธนชาต ออกผลิตภัณฑ์รถแลกเงิน เจาะกลุ่มลูกค้าที่ต้องการลดภาระสินเชื่อบุคคลจากธนาคารอื่น
ขณะที่จำนวนสาขาทีเอ็มบีธนชาต ที่มาจากสองธนาคารรวมกัน 670 สาขา แม้จะควบรวมสาขาไปแล้ว 133 สาขา แต่ก็พบว่ายังมีบางสาขาที่ตั้งอยู่บนทำเลซ้ำซ้อนกัน รวมทั้งพนักงานของทั้งสองธนาคาร พบว่ามีมากถึง 19,000 คน
การเดินทางของธนาคารที่มีอายุเข้าสู่ปีที่ 65 จากถนนราชดำเนิน สี่แยกพญาไท สู่สำนักพหลโยธิน กับกลุ่มที่เริ่มต้นจากบริษัทเงินทุนย่านเพลินจิต เติบโตมาเป็นธนาคารนานเกือบ 20 ปี นับจากนี้จะก้าวเดินต่อไปอย่างไร น่าสนใจอย่างยิ่ง
วิวัฒนาการจาก "ทหารไทย" ผสาน "ทุนธนชาต" สู่ "ทีเอ็มบีธนชาต"
8 พฤศจิกายน 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อตั้งธนาคารทหารไทย มุ่งให้บริการทางการเงินแก่หน่วยงานทหารและข้าราชการทหารเป็นหลัก โดยมีสำนักงานใหญ่บริเวณอาคาร 2 ถนนราชดำเนินกลาง เขตพระนคร กรุงเทพฯ
9 พฤศจิกายน 2506 เปิดสาขาแห่งแรก สาขาราชประสงค์ ขยายขอบเขตการให้บริการทางการเงินสู่ภาคธุรกิจและเอกชนเพิ่มขึ้น ตอบสนองนโยบายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ
พ.ศ. 2516 พัฒนาเป็นธนาคารพาณิชย์สมบูรณ์แบบ ขยายฐานการให้บริการสู่ลูกค้าประชาชนทั่วไป
พ.ศ. 2521 ย้ายสำนักงานใหญ่มาที่บริเวณมุมถนนพญาไทตัดกับถนนศรีอยุธยา (ปัจจุบันคืออาคารซีพีทาวเวอร์ 3)
23 ธันวาคม 2526 เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
พ.ศ. 2530 จัดตั้งบริษัทเงินทุนทีเอ็มบี (ฮ่องกง) จำกัด และต่อมายกฐานะขึ้นเป็นสำนักงานผู้แทนฮ่องกง
พ.ศ. 2536 ย้ายสำนักงานใหญ่มาอยู่ที่ถนนพหลโยธิน ตรงข้ามสวนจตุจักร สูง 35 ชั้น
3 มกราคม 2537 จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด
กุมภาพันธ์ 2542 บริษัทเงินทุน เอกชาติ จำกัด (มหาชน) ยื่นขออนุมัติจัดตั้งธนาคารใหม่ร่วมกับสถาบันการเงินอีก 4 แห่ง
3 มกราคม 2545 กระทรวงการคลัง อนุมัติใบอนุญาตประกอบการธนาคารพาณิชย์แบบจำกัดขอบเขตธุรกิจแก่บริษัทเงินทุนเอกชาติ เปลี่ยนชื่อเป็น ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
22 เมษายน 2545 เริ่มเปิดให้บริการธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) สาขาแรกที่สำนักชิดลม อาคารต้นสนทาวเวอร์ ถนนเพลินจิต
1 มีนาคม 2547 ธนาคารธนชาต ได้รับใบอนุญาตประกอบการธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ
1 กันยายน 2547 ธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ไอเอฟซีที) ควบรวมกิจการเข้ากับธนาคารทหารไทย โดยมีขนาดสินทรัพย์ประมาณ 7 แสนล้านบาท เป็นอันดับ 5 ของระบบธนาคารพาณิชย์ในขณะนั้น
22 เมษายน 2548 กระทรวงการคลังเห็นชอบแผนปรับโครงสร้างการประกอบธุรกิจสถาบันการเงินของกลุ่มธนชาตให้เป็นสถาบันการเงิน 1 รูปแบบ โดยเริ่มดำเนินธุรกรรมเช่าซื้อแทนที่ทุนธนชาต
8 พฤศจิกายน 2548 ธนาคารทหารไทย เปิดตัวสัญลักษณ์ใหม่ TMB โดยมีฐานลูกค้า 4 ล้านราย และเครือข่ายสาขา 462 แห่งทั่วประเทศ
19 กรกฎาคม 2550 ธนาคารแห่งโนวาสโกเทีย จากประเทศแคนาดา เข้าถือหุ้นธนาคารธนชาต 24.98% ก่อนที่ในปีต่อมา (2551) จะถือหุ้นเพิ่มเป็น 48.99%
9 พฤศจิกายน 2550 กลุ่มไอเอ็นจี จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ตอบรับเข้าถือหุ้นธนาคารทหารไทย เป็นพันธมิตรรายใหม่ โดยที่กระทรวงการคลังถือหุ้น 26.1% กลุ่มไอเอ็นจีถือหุ้น 25.2%
9 เมษายน 2553 ธนาคารธนชาตซื้อหุ้นธนาคารนครหลวงไทย จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ก่อนจะทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์จากผู้ถือหุ้นรายย่อย ทำให้ถือหุ้นในสัดส่วน 99.95%
1 ตุลาคม 2554 ธนาคารนครหลวงไทย ควบรวมกิจการกับธนาคารธนชาต ทำให้มีขนาดสินทรัพย์รวมจาก 432,970 ล้านบาท เพิ่มเป็น 872,654 ล้านบาท
17 เมษายน 2561 มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการเพื่อสนับสนุนการควบรวมธนาคารพาณิชย์ไทย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ หลังจากที่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง สนับสนุนนโยบายการควบรวมกิจการของธนาคาร
27 กุมภาพันธ์ 2562 ธนาคารทหารไทย และธนาคารธนชาต ลงนามบันทึกข้อตกลงแบบไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ก่อนที่กลุ่มธนชาตจะปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อรองรับการรวมกิจการระหว่างสองธนาคาร ซึ่งจะทำให้มีสินทรัพย์รวมสูงเกือบ 2 ล้านล้านบาท และมีฐานลูกค้ารวมกว่า 10 ล้านราย
ปี 2563 กลุ่มธนชาตปรับโครงสร้างเป็นโฮลดิ้งคอมพานี (Holdings Company) เน้นลงทุนหลากหลายธุรกิจ โดยถือหุ้นธนาคารทหารไทย 20.11% ราชธานีลิสซิ่ง 58.85% ธนชาตประกันภัย 50.96% เอ็มบีเคไลฟ์ 51% และหลักทรัพย์ธนชาต 50.96% เป็นต้น
17 เมษายน 2563 ธนาคารทหารไทย และธนาคารธนชาต เปิดตัวสาขาร่วมระหว่างสองธนาคาร (Co-Location Branch) โดยควบรวมสาขาในทำเลที่ทับซ้อนกัน และนำเสนอผลิตภัณฑ์เด่นของสองธนาคาร
23 เมษายน 2564 ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 มีมติอนุมัติเปลี่ยนชื่อเป็น ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) ก่อนที่จะดำเนินการเปลี่ยนชื่อต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564
7 พฤษภาคม 2564 ธนาคารทหารไทยธนชาต เปิดตัวแบรนด์ใหม่ “ทีเอ็มบีธนชาต” หรือ ทีทีบี (ttb)