xs
xsm
sm
md
lg

ฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ทางด่วนในฝันที่ใกล้กรุงฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

ข่าวคราวเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานที่น่าสนใจ นอกจากการเปิดใช้ชั่วคราว ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 6 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว 36 กิโลเมตร ในช่วงเทศกาลสงกรานต์แล้ว ยังมีความคืบหน้าโครงการทางพิเศษฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ที่จะทำให้การเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ ไปยังภาคอีสานสะดวกยิ่งขึ้น

เดิมการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปสู่ภาคอีสานมีตัวเลือกเพียงไม่กี่อย่าง คือ ถนนพหลโยธิน และถนนมิตรภาพ ที่แม้จะขยายถนนเป็น 10 ช่องจราจร ช่วงรังสิต-สระบุรี มานานแล้ว แต่เนื่องจากเป็นเส้นทางหลักที่มีผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นจำนวนมาก ประกอบกับผ่านเขตชุมชน และมีรถบรรทุกใช้เส้นทางนี้กันเยอะ เมื่อผ่านสระบุรีไปแล้วจะผ่านทางขึ้นเขา ลงเขาเป็นระยะ ทำให้ที่ผ่านมาเกิดปัญหารถมากเคลื่อนตัวช้า และการจราจรติดขัดในช่วงเทศกาล

อีกเส้นทางหนึ่งที่มักจะมีรถเข้ามาใช้ช่วงเทศกาลเพื่อหนีรถติด คือ ถนนรังสิต-นครนายก ผ่านจังหวัดนครนายก ถึงสี่แยกกบินทร์บุรีเลี้ยวซ้ายเข้าถนนสาย 304 กบินทร์บุรี-ปักธงชัย ออกจังหวัดนครราชสีมา สมัยก่อนถนนช่วงนั้นเป็นถนนสองเลนสวนทาง ผ่านผืนป่า เป็นทางคดเคี้ยว เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง แต่ปัจจุบันได้ขยายเป็นถนน 4 เลนพร้อมทางเชื่อมผืนป่า

แม้กรมทางหลวงจะก่อสร้าง มอเตอร์เวย์หมายเลข 6 บางปะอิน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร แต่แนวเส้นทางก็อ้อมขนานไปกับถนนพหลโยธิน และถนนมิตรภาพ แม้หลายช่วงจะก่อสร้างเสร็จแล้ว แต่ยังไม่มีการเปิดใช้งาน เนื่องจากระบบเก็บค่าผ่านทางด่านต่างๆ ยังไม่ถูกติดตั้ง คาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ในปี 2566 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า


มาถึง โครงการทางพิเศษฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ระยะทาง 104 กิโลเมตร ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติเห็นชอบผลการศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ไปเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ขณะนี้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย กำลังสำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการและความคุ้มค่าในการลงทุน

เบื้องต้นจะก่อสร้างออกเป็น 4 เฟส เฟสแรก ช่วงด่านจตุโชติ-ลำลูกกา ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร เชื่อมกับโครงการถนนวงแหวนรอบนอก รอบที่ 3 ฝั่งตะวันออกในอนาคต ใช้งบลงทุน 20,000 ล้านบาท การทางพิเศษฯ จะระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรและก่อสร้างเอง ซึ่งคาดว่าจะออกแบบแล้วเสร็จและเสนอคณะรัฐมนตรีขออนุมัติโครงการภายในปีนี้

เฟสสอง ช่วงลำลูกกา ถนนองครักษ์-บางน้ำเปรี้ยว ถึงถนนรังสิต-นครนายก ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร, เฟสสาม ช่วงถนนรังสิต-นครนายก ถึงถนนสุวรรณศร ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร และเฟส 4 ถนนสุวรรณศร ถึงถนนมิตรภาพ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร ทั้งโครงการมีมูลค่าลงทุนเบื้องต้น 80,594.31 ล้านบาท

รูปแบบเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร มีทางขึ้น-ลง 9 แห่ง มีศูนย์บริการทางพิเศษ (Service Center) อยู่ที่บริเวณทางขึ้น-ลง ถนนรังสิต-นครนายก (ด่านบางอ้อ) มีพื้นที่ประมาณ 117 ไร่ จัดเก็บค่าผ่านทางเป็นระบบปิด รับบัตรที่ด่านขาเข้า ชำระค่าผ่านทางที่ด่านขาออก ค่าผ่านทางคิดตามระยะทาง รถ 4 ล้อเริ่มต้นที่ 25 บาท สูงสุด 190 บาท ประกอบด้วย


จุดขึ้น-ลงถนนกาญจนาภิเษก (บางปะอิน-บางพลี) ห่างจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 25 กิโลเมตร ทิศทางจะเป็นสะพานข้ามจากมอเตอร์เวย์กาญจนาภิเษก ทิศทางบางพลี และทางขึ้นจากบางปะอินบรรจบกับทางพิเศษ ส่วนขาออกจากจังหวัดสระบุรี จะเป็นทางลงเลี้ยวซ้ายไปบางพลีและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสะพานแยกขวาไปยังธัญบุรี และบางปะอิน

จุดขึ้น-ลงถนนหทัยราษฎร์ บริเวณคลองลำแบน เป็นย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง แยกซ้ายไปตลาดวงศกร ถนนสายไหม ประมาณ 5 กิโลเมตร แยกขวาไปมีนบุรี ออกถนนสุวินทวงศ์ ประมาณ 10 กิโลเมตร

จุดขึ้น-ลงถนนลำลูกกา กิโลเมตรที่ 22+500 ใกล้กรมการปกครอง ลำลูกกา คลอง 9 แยกซ้ายไปที่ว่าการอำเภอลำลูกกา ถนนนิมิตรใหม่ แต่ถ้าขึ้นสะพานแยกขวาไปคลอง 16 โดยจะมีทางเชื่อมไปโครงการถนนวงแหวนรอบนอก รอบที่ 3 ฝั่งตะวันออก ระหว่างถนนพหลโยธิน กม.74 อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ถึงถนนเทพรัตน กม.23 อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

จุดขึ้น-ลงถนนองครักษ์-บางน้ำเปรี้ยว บริเวณสถานีพัฒนาที่ดินนครนายก อ.องครักษ์ จ.นครนายก แยกซ้ายไป อ.องครักษ์ 2 กิโลเมตร ต่อเนื่องไปยังมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) องครักษ์ แยกขวาไป อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา 32 กิโลเมตร กรมทางหลวงชนบทขยายเป็นถนน 4 เลน ถึงสี่แยกบางน้ำเปรี้ยว ตรงไปอีก 18 กิโลเมตรถึงตัวเมืองฉะเชิงเทรา

จุดขึ้น-ลงถนนรังสิต-นครนายก (บางอ้อ) กิโลเมตรที่ 59+800 ใกล้กับแยกบางอ้อ แยกซ้ายไป อ.องครักษ์ แยกขวาไปตัวเมืองนครนายก 15 กิโลเมตร และ จ.ปราจีนบุรี ประมาณ 45 กิโลเมตร จุดนี้จะมีศูนย์บริการทางพิเศษ (Service Center) เป็นจุดพักรถที่มีปั๊มน้ำมัน ร้านค้า ห้องน้ำสาธารณะ อาคารศูนย์ควบคุม และสถานีตำรวจ

จุดขึ้น-ลงถนนสุวรรณศร (บ้านนา) กิโลเมตรที่ 116 จ่ายเงินที่ด่านแล้ว ถ้าเลี้ยวซ้ายจะไปโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) 14 กิโลเมตร ตัวเมืองนครนายก 16 กิโลเมตร ผ่านถนนสุพรรณิการ์ ไปยังแหล่งท่องเที่ยว น้ำตกสาริกา น้ำตกนางรอง และเขื่อนขุนด่านปราการชล แต่ถ้าขึ้นสะพานแยกขวาไปหินกอง 28 กิโลเมตร


จุดขึ้น-ลงแก่งคอย เชื่อมกับมอเตอร์เวย์หมายเลข 6 (บางปะอิน-นครราชสีมา) กิโลเมตรที่ 53+500 แยกขวาเข้ามอเตอร์เวย์ ไปปากช่อง สีคิ้ว และตัวเมืองนครราชสีมา ขากลับจะมีทางเชื่อมระหว่างขาออกนครราชสีมา เข้าทางพิเศษทิศทางไปกรุงเทพฯ โดยเฉพาะ

จุดขึ้น-ลงทางเลี่ยงเมืองสระบุรี (ถนนบายพาสฝั่งตะวันออก) ใกล้ตลาดโรงเกลือ-โบ๊เบ๊ สระบุรี จ่ายเงินที่ด่านแล้ว แยกซ้ายไปถนนพหลโยธิน แต่ถ้าขึ้นสะพานแยกขวาไป จ.ลพบุรี และ จ.เพชรบูรณ์

จุดขึ้น-ลงถนนมิตรภาพ กิโลเมตรที่ 10+700 อ.แก่งคอย จ.สระบุรี แยกซ้ายไปตัวเมืองสระบุรี 10 กิโลเมตร แต่ถ้าขึ้นสะพานแยกขวาไป อ.แก่งคอย อ.มวกเหล็ก และ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา มุ่งสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

สำหรับค่าผ่านทาง จากถนนกาญจนาภิเษก 25 บาท ลงถนนหทัยราษฎร์ ถนนลำลูกกา 25 บาท ลงถนนองครักษ์-บางน้ำเปรี้ยว 80 บาท ลงถนนรังสิต-นครนายก (ด่านบางอ้อ) 105 บาท ลงถนนสุวรรณศร (ด่านบ้านนา) 115 บาท ลงมอเตอร์เวย์โคราช 170 บาท ลงถนนเลี่ยงเมืองสระบุรี 175 บาท และลงถนนมิตรภาพ 190 บาท

มอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา (ภาพ : กรมทางหลวง)
เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ รถที่มาจากด่านอาจณรงค์ รามอินทรา ตรงไปยังทางพิเศษมุ่งหน้าสู่นครราชสีมา ด้วยระยะทางประมาณ 273 กิโลเมตร หากใช้ความเร็วคงที่ จะใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง ไม่ถึง 3 ชั่วโมง

(คำนวณจากด่านอาจณรงค์-รามอินทรา 18.7 กิโลเมตร, รามอินทรา-จตุโชติ 9.5 กิโลเมตร, จตุโชติ-แก่งคอย 94.3 กิโลเมตร, แก่งคอย-ถนนบายพาสนครราชสีมา 142.3 กิโลเมตร และถนนบายพาส-สามแยกนครราชสีมา 8 กิโลเมตร)

เทียบกับถนนพหลโยธิน และถนนมิตรภาพ จากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา แม้จะมีระยะทาง 254 กิโลเมตร แต่ระหว่างทางจะเป็นทางขึ้นเขา-ลงเขา มีรถบรรทุกจำนวนมาก ผ่านเขตชุมชน ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง 40 นาที ถึง 4 ชั่วโมง

เมื่อคำนวณค่าผ่านทาง เฉพาะรถ 4 ล้อดูแล้ว จากด่านอาจณรงค์ถึงด่านจตุโชติจ่าย 40 บาท จากด่านจตุโชติลงด่านแก่งคอย มอเตอร์เวย์ 170 บาท และจากด่านแก่งคอยไปลงนครราชสีมา (ด่านขามทะเลสอ) 165 บาท เบ็ดเสร็จแล้วเราอาจจะต้องจ่ายค่าผ่านทาง 375 บาท เพื่อย่นระยะเวลาการเดินทางลงประมาณ 1-2 ชั่วโมง

มอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา (ภาพ : กรมทางหลวง)
สำหรับคนทั่วไปอาจจะมองว่าแพง แต่สำหรับคนที่ต้องการซื้อเวลาอาจจะมองว่าคุ้มค่า เหมือนอย่างเช่นคนที่บ้านอยู่บางใหญ่ บางบัวทอง ราชพฤกษ์ ไปใช้ทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตก ยอมจ่าย 50 บาท เพื่อไปลงจตุจักรแค่ 15 นาที หรือโหดขึ้นมาหน่อยก็คนที่บ้านอยู่รังสิต ขึ้นทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ ยอมจ่าย 85 บาท เพื่อให้ไปถึงดินแดงเร็วขึ้น

ในอดีตการทางพิเศษฯ เคยก่อสร้างทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) ระยะทาง 55 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ กับชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เปิดใช้ในช่วงปี 2541-2543 ปัจจุบันมีปริมาณการจราจรมากกว่า 144,000 เที่ยวต่อวัน แบ่งเบาภาระการจราจรบนถนนเทพรัตน (บางนา-ตราด) ได้เป็นอย่างดี

เมื่อทางพิเศษฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี เกิดขึ้นได้จริง นอกจากจะเป็นทางด่วนที่ยาวกว่าทางด่วนบูรพาวิถีแล้ว อย่างน้อยความเจริญก็พาดผ่านทุ่งรังสิตมาถึงนครนายก ให้ "เมืองในฝันที่ใกล้กรุงฯ" ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น อีกทั้งให้ผู้ใช้รถที่มาจากภาคอีสาน และจังหวัดสระบุรี มีทางเลือกเข้ากรุงเทพฯ ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น 

จากนครราชสีมา ขับรถเข้ามอเตอร์เวย์ ผ่านลำตะคอง ปากช่องมาแล้ว ถึงแก่งคอยเลี้ยวซ้ายเข้าทางด่วนสายใหม่ ผ่านบ้านนา องครักษ์ ลำลูกกา ไปโผล่ถนนกาญจนาภิเษก (บางปะอิน-บางพลี) จะเลี้ยวซ้ายไปลงรามอินทรา เสรีไทย รามคำแหง สนามบินสุวรรณภูมิ หรือปลายทางบางพลี ต่อเนื่องไปลงสมุทรปราการ และถนนพระราม 2 ก็ได้ 

หรือตรงไป เข้าทางด่วนฉลองรัชที่ด่านจตุโชติ ไปลงวัชรพล โยธินพัฒนา ลาดพร้าว ประชาอุทิศ พระราม 9 เอกมัย พัฒนาการ พระโขนง (สุขุมวิท 50) หรืออาจณรงค์ จ่ายเงินเข้าทางพิเศษเฉลิมมหานคร ไปลงถนนพระราม 3 สาธุประดิษฐ์ ดาวคะนอง หรือถนนพระราม 4 ถนนเพชรบุรี ก็ได้เช่นกัน 

คงต้องรอให้การทางพิเศษฯ เสนอโครงการเข้าคณะรัฐมนตรีในอนาคตอันใกล้ ถึงตอนนั้นอาจเรียกได้ว่าโครงการนี้จะกลายเป็นฝันที่เป็นจริง
กำลังโหลดความคิดเห็น