xs
xsm
sm
md
lg

ศึกรถทัวร์ “กรุงเทพฯ-นครราชสีมา” ยุคนิวนอร์มัล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive


มีข่าวธุรกิจอยู่ชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจ เมื่อ บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) เตรียมที่จะเปิดการเดินรถโดยสารประจำทางไป-กลับ (รถร่วม บขส.) สาย 21 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ในชื่อ “เน็กซ์ เอ็กซ์เพรส” (NEX EXPRESS)

ข้อมูลเบื้องต้น จะใช้รถบัสยี่ห้อ SUNLONG ขนาด 40 ที่นั่ง จำนวน 20 คัน ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง สูงสุด 48 เที่ยว (เที่ยวไป 24 เที่ยว เที่ยวกลับ 24 เที่ยว) รถออกทุกชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง

สำหรับช่องทางการจำหน่ายตั๋ว จะมีเคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วที่สถานีขนส่งหมอชิต เคาน์เตอร์หมายเลข 24, 50 และ 125 ชานชาลาขึ้นรถหมายเลข 4 ช่องที่ 64 และ 76 ส่วนสถานีขนส่งนครราชสีมา ช่องจำหน่ายตั๋วหมายเลข 19

นอกจากนี้ ยังเปิดจำหน่ายตั๋วผ่านไลน์ @nexexpress โดยจะเดินรถปฐมฤกษ์ในวันที่ 7 เมษายน 2564 จัดโปรโมชันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ค่าโดยสาร 200 บาทต่อที่นั่ง (จากปกติ 209 บาท) ตั้งแต่วันที่ 7-19 เมษายน 2564

มีกระแสข่าวว่า เน็กซ์ เอ็กซ์เพรส ได้ซื้อเบอร์รถจาก สุรนารีแอร์ หนึ่งในนั้นคือรถหมายเลข 21-10 ซึ่งก่อนหน้านี้ นครชัย 21 ก็ได้ซื้อเบอร์รถมาจากสุรนารีแอร์เช่นกัน และปัจจุบันสุรนารีแอร์ยังไม่พร้อมที่จะกลับมาเดินรถแต่อย่างใด


ผู้บริหารของเน็กซ์ เอ็กซ์เพรส คือ นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือชื่อจีนเดิมคือ นายเค่อนัว หลิน เป็นนักธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมรถบัส

โดยเป็นผู้บริหารและดำเนินธุรกิจจำหน่าย ให้เช่ารถบัส รถบรรทุกเพื่อการพาณิชย์ ตลอดจนอะไหล่ และให้บริการหลังการขายแบบครบวงจร มีทั้งหมด 7 บริษัท แต่ได้ลาออก หลังเข้ารับตำแหน่งซีอีโอของเน็กซ์ พอยท์

ส่วนภรรยานายคณิสสร์ คือ น.ส.อินทิรา ช่วยสนิท ก่อนหน้านี้เคยร่วมกับนักธุรกิจอย่าง นางศุภรานันท์ ตันวิรัช, นายอนพัทย์ ทวีวิไลศิริกุล, นายธเนษฐ โลจนะโกสินทร์ ก่อตั้ง บริษัท สมาร์ทบัส จำกัด เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2561

สมาร์ทบัสได้รับใบอนุญาตประกอบการเดินรถประจำทาง จากกรมการขนส่งทางบก ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 20 เส้นทาง โดยใช้รถเมล์เอ็นจีวีจากกลุ่มบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป แต่ น.ส.อินทิราได้ลาออกไปแล้วเช่นกัน

ปัจจุบัน ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของเน็กซ์ พอยท์ คือ บริษัท อีเอ โมบิลิตี โฮลดิง จำกัด บริษัทย่อยของ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ในสัดส่วน 40.01% โดยมีนายคณิสสร์ถือหุ้นรองลงมา 19.29% และ น.ส.อินทิราถือหุ้น 5.35%

การแข่งขันรถประจำทางสาย 21 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา สมัยก่อน นางสุจินดา เชิดชัย หรือเจ๊เกียว เจ้าของอู่เชิดชัย เป็นเจ้าของสัมปทาน โดยมีนายสุรวุฒิ เชิดชัย นักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งเป็นลูกชายเป็นผู้บริหารในนาม “ราชสีมาทัวร์”


ต่อมาในปี 2538 มีการให้สัมปทานเดินรถแก่ “แอร์โคราชพัฒนา” ซึ่งมี นายวิชิต อัครวงศ์วัฒนา เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท เริ่มต้นมีรถโดยสารให้บริการ 20 คัน กลายเป็นคู่แข่งเจ้าที่สอง

ปี 2550 นายปรีดา อัครปรีดี หุ้นส่วนของราชสีมาทัวร์เดิม แยกตัวออกมาเปิด “สุรนารีแอร์” มีรถทัวร์ให้บริการ 53 คัน

ปี 2556 บริษัท บ้านช้างเผือกทัวร์ จำกัด ของนายธงชัย ทองแสงสุข เจ้าของโรงงานไอศกรีมช้างเผือก ได้สัมปทานเป็นรายที่ 4

ปี 2559 กลุ่มนครชัยทัวร์ (NCT) ของนายซง วงศ์เบญจรัตน์ ได้ลงทุน 125 ล้านบาท ก่อตั้ง “นครชัย 21” มีรถทัวร์ให้บริการเริ่มต้นที่ 26 คัน ก่อนจะเพิ่มเป็น 37 คันในปีต่อมา โดยมี นายชัยวัฒน์ วงศ์เบญจรัตน์ เป็นกรรมการผู้จัดการ ถือเป็นผู้ประกอบการรายที่ 5

เมื่อรถประจำทางสาย 21 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีผู้ประกอบการ 5 เจ้า และมีรถรวมกัน 248 คัน จึงต้องแข่งขันด้านการบริการ เช่น เปลี่ยนรถใหม่ ฟรีไว-ไฟ เบาะนวดระบบไฟฟ้า ที่ชาร์จแบตมือถือ ห้องน้ำไม่เหม็น ฯลฯ ในราคาตั๋วเท่าเดิม

หนึ่งในนั้นคือ “ราชสีมาทัวร์” หลังจากหนึ่งในหุ้นส่วนถอนตัว เจ๊เกียวจึงได้ส่ง ดร.อัสนี เชิดชัย เข้ามาบริหาร และเปลี่ยนชื่อใหม่ “เชิดชัยโคราช วีไอพี” พร้อมลงทุนปรับปรุงออกแบบรถโดยสารใหม่ทั้งหมด ลบภาพ “รถเจ๊เกียว” แบบเดิมๆ

แต่ผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา และสายการบินโลว์คอสต์ให้บริการตามจังหวัดภาคอีสาน ทำให้มีผู้โดยสารใช้มาบริการรถทัวร์ที่นครราชสีมาน้อยลง ผู้ประกอบการแต่ละรายต้องประคองตัวเองให้รอด บางรายประกาศขายเฉพาะคิวรถคันละ 7 แสนบาท


สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จังหวัดนครราชสีมาได้รับผลกระทบเต็มๆ เนื่องจากมีการประกาศหยุดการเดินรถโดยสารทุกเส้นทาง บ้านช้างเผือกทัวร์ ได้ประกาศยุติการเดินรถไปเมื่อเดือนเมษายน 2563

แม้สถานการณ์คลี่คลายกลับมาเดินรถได้ แต่ช่วงหนึ่งมาตรการภาครัฐบังคับให้ขายตั๋วแบบเว้นระยะห่าง ทำให้ผู้ประกอบการแต่ละเจ้าขาดทุน ผู้โดยสารตกค้างจำนวนมาก นครชัย 21 และแอร์โคราชพัฒนายังเคยแชร์เที่ยววิ่งเพื่อลดการขาดทุน

ถึงกระนั้น หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย เศรษฐกิจฟื้นตัว ประชาชนมีการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น เส้นทางจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งยังคงนิยมเดินทางจากกรุงเทพฯ ด้วยรถยนต์ เพราะระยะทางเพียงแค่ 254 กิโลเมตร ยังคงเป็นเส้นทางที่มีอนาคต

โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ยังคงต้องรอให้เป็นรูปเป็นร่าง คาดว่าต้องรอไปอีกหลายปี อีกทั้งค่าโดยสารสูงสุด 534 บาทต่อเที่ยว แพงกว่ารถประจำทาง 2-3 เท่า อาจจะไม่ได้เหมาะสำหรับผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง

โครงการมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา รวมทั้งในอนาคตจะมีทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ผู้ประกอบการอาจจะมีโอกาสพัฒนาเส้นทางเดินรถใหม่ และจุดหมายปลายทางใหม่ๆ เช่น เอกมัย, ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ฯลฯ


ปัจจุบัน การแข่งขันของรถประจำทางสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ยังคงพัฒนาบริการอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้โดยสาร ที่ไม่ได้จำกัดรูปแบบการให้บริการแบบเดิมๆ ประเภทตีหัวเข้าบ้าน ลากผู้โดยสารมาขึ้นรถแบบในอดีต

เช่น การลดจำนวนเบาะที่นั่ง เพื่อความสบายของผู้โดยสาร นครชัยแอร์ 21 วางเบาะนวดไฟฟ้า 32 ที่นั่ง แอร์โคราชพัฒนา วางเบาะ 36 ที่นั่ง ส่วนเชิดชัยโคราช วีไอพี วางเบาะหนังที่ยืดหยุ่นสูงและคงทน 31 ที่นั่ง

การเพิ่มจุดจำหน่ายตั๋วและจุดขึ้นรถรังสิต เพื่อรองรับผู้โดยสารโซนกรุงเทพฯ เหนือและปทุมธานี โดยแอร์โคราชพัฒนาจะอยู่ที่ปากทางเข้าสนามกอล์ฟไพน์เฮิร์สท ส่วนนครชัย 21 อยู่หน้าเซเว่นฯ ตลาดประทานพร ตรงข้ามสำนักกษาปณ์

รวมทั้งเพิ่มบริการรับ-ส่งพัสดุไปกับรถประจำทาง และร่วมมือกับผู้ประกอบการขนส่ง เช่น แอร์โคราชพัฒนากับไปรษณีย์ไทย ส่งพัสดุสินค้าถึงปลายทางนครราชสีมา แบบไม่ต้องผ่านคัดแยก ลดขั้นตอนการขนส่งให้ถึงมือผู้รับเร็วขึ้น

ส่วนนครชัย 21 ได้จัดห้องรับรองพิเศษ ที่อาคารพาณิชย์ บขส.เก่านครราชสีมา ซึ่งมีรถให้บริการ 5 เที่ยวต่อวัน โดยด้านในมีห้องปรับอากาศพร้อมบริการห้องน้ำ ไว-ไฟ ที่ชาร์จแบตมือถือ และกาแฟฟรี

เมื่อผู้ประกอบการแต่ละรายต่างงัดจุดเด่นขึ้นมาแข่งขัน น่าสนใจว่าน้องใหม่รถประจำทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา อย่าง เน็กซ์ เอ็กซ์เพรส จะงัดกลยุทธ์แบบไหนขึ้นมาบ้าง เพื่อช่วงชิงลูกค้าเดิมที่ต่างก็มีขาประจำอยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น