กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
สัปดาห์ที่แล้วไปฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร มีคนสงสัยว่าฉีดแล้วเป็นอย่างไร จะฉีดบ้างดีหรือไม่ เลยนำมาเล่าสู่กันฟังเพื่อประกอบการตัดสินใจ เพราะปัจจุบันจะให้ฉีดวัคซีนตามความสมัครใจ ไม่ได้บังคับ
วัตถุประสงค์หลักในการฉีดวัคซีนโควิด-19 นอกจากลดความรุนแรงของโรค ไม่ให้มีอาการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตแล้ว ยังเป็นการสร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่” (Herd immunity) ควบคู่ไปกับมาตรการป้องกันโรค ให้กลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงกับปกติ
หากสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ได้ไม่น้อยกว่า 50-60% ของจำนวนประชากร จะสามารถควบคุมการระบาด นำไปสู่การผ่อนคลายกิจการ กิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตประจำวันได้มากขึ้น
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ถึงกับกล่าวว่า เป็นการ “ฉีดเพื่อชาติ” และมั่นใจว่าวัคซีนมีความปลอดภัย ผ่านการทดลองตั้งแต่สัตว์ทดลองถึงมนุษย์ตามขั้นตอน
ปัจจุบัน วัคซีนโควิด-19 ที่นำมาฉีดในบ้านเรามีอยู่ 2 บริษัท ได้แก่ วัคซีนซิโนแวค (Sinovac) จากประเทศจีน เป็นวัคซีนเชื้อตาย (Inactivated Vaccine) เหมือนวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า วัคซีนโปลิโอ วัคซีนตับอักเสบเอ
วัคซีนเชื้อตาย คือการเอาไวรัสจริงๆ มาเพาะเลี้ยงจำนวนมาก แล้วใส่สารทำให้เชื้อตาย ไม่สามารถก่อโรคได้อีก จากนั้นนำมาทำเป็นวัคซีน ซึ่งอานุภาคของไวรัสที่ตายแล้ว จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อโควิด-19 อีกที
รัฐบาลสั่งซื้อวัคซีนของซิโนแวคผ่านองค์การเภสัชกรรม 2 ล้านโดส เข้ามาประเทศไทยล็อตแรก 2 แสนโดส เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ล็อตที่สอง 8 แสนโดส เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563 ส่วนอีก 1 ล้านโดสจะเข้ามาภายในเดือนเมษายนนี้
วัคซีนจะกระจายให้กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่เสี่ยง พื้นที่ชายแดนที่มีการระบาด พื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม 13 จังหวัด อายุตั้งแต่ 18-59 ปี เนื่องจากข้อมูลด้านความปลอดภัยหรือประสิทธิภาพของวัคซีนในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปยังมีน้อย
อีกบริษัทหนึ่ง คือ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ รัฐบาลสั่งซื้อล็อตแรก 117,600 โดส และจะผลิตผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ในประเทศไทย
ผลิตจากเชื้อไวรัสชิมแปนซีอะดีโน มาดัดแปลงพันธุกรรม ไม่สามารถแบ่งตัวและก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ได้ แต่จะสร้างโปรตีนเหมือนเชื้อไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต่อต้านเชื้อ มีประสิทธิภาพป้องกันความเจ็บป่วยได้สูง โดยเฉพาะโรครุนแรง
แม้จะฉีดได้ตั้งแต่อายุ 18 ปี ถึงอายุ 60 ปีขึ้นไป แต่เนื่องจากวัคซีนล็อตแรกมีจำกัด จึงฉีดให้ผู้สูงอายุก่อน คาดว่าหากมีวัคซีนที่ผลิตในไทยเสร็จแล้ว ก็จะเริ่มฉีดทั้งประเทศตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 และจะครบ 61 ล้านโดสภายในปีนี้
ความแตกต่างของวัคซีนทั้งสองบริษัท นอกจากวิธีการผลิตแล้ว ยังมีเรื่องของระยะห่างระหว่างวัคซีนเข็มแรกกับเข็มที่สอง วัคซีนซิโนแวคจะอยู่ที่ 3 สัปดาห์ หรือ 21 วัน ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจะอยู่ที่ 10-12 สัปดาห์ หรือ 2 เดือนกว่าๆ
แต่เนื่องจากร่างกายจะเริ่มสร้างภูมิคุ้มกัน หลังฉีดวัคซีนเข็มที่สองไปแล้ว 2 สัปดาห์ เพราะฉะนั้นยังมีโอกาสติดโควิด-19 จึงยังคงสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยครั้ง รักษาระยะห่างไปก่อน จนกว่าจะมีภูมิคุ้มกันหมู่
ผู้ได้รับวัคซีนสะสมตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ ถึง 18 มีนาคม 2564 ใน 13 จังหวัด รวม 61,791 ราย ส่วนมากเป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 31,053 คน ประชาชนทั่วไป 20,014 คน นอกนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ด่านหน้า ผู้มีโรคประจำตัว
โดยพบว่ามีอาการหลังฉีด 1 วัน มากที่สุด 2,821 คน มีอาการหลังฉีด 7 วัน 1,918 คน มีอาการหลังฉีด 30 นาที 503 คน อาการหลังฉีดที่พบมากที่สุดคือ ปวด บวม แดง ร้อน บริเวณที่ฉีด รองลงมาคือ คลื่นไส้ และปวดศีรษะ
มาถึงการฉีดวัคซีนของเราบ้าง จังหวัดสมุทรสาครได้รับวัคซีนของซิโนแวคจำนวน 70,000 โดส 35,000 คน แรกๆ ฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ก่อน ตามมาด้วยผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่ม ก่อนที่จะให้ประชาชนทั่วไปขอรับวัคซีนได้
แรกๆ ประชาชนไม่กล้าตัดสินใจฉีดวัคซีน เพราะกลัวว่าฉีดแล้วจะมีผลข้างเคียง แต่เมื่อมีคนที่ฉีดแล้วยังไม่มีใครเป็นอะไร ก็เริ่มมีคนสนใจขอรับวัคซีนจำนวนมาก กระทั่งวัคซีนล็อตแรกหมดลง เหลือเฉพาะผู้ที่ฉีดเข็มที่สองเท่านั้น
คนที่มาฉีดวัคซีน นอกจากประชาชนในจังหวัดสมุทรสาครแล้ว คนที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด แต่พักอาศัยและทำงานที่สมุทรสาคร ทั้งอาชีพรับจ้าง หรือทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก ก็มาฉีดวัคซีนอีกด้วย
มาถึงขั้นตอนการฉีดวัคซีน ต้องทำอย่างไร?
ที่ผ่านมาพยายามติดตามข่าวสารลงทะเบียนวัคซีนในจังหวัดที่เราอาศัยอยู่ โดยส่วนมากตามเฟซบุ๊กเพจโรงพยาบาลของรัฐ หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เฟซบุ๊กโควิด-19 ของจังหวัด เมื่อทราบว่าให้ลงทะเบียนที่ไหน ก็ไปโรงพยาบาลนั้น
การลงทะเบียนขอรับวัคซีนที่โรงพยาบาล ให้นำบัตรประชาชนตัวจริงไปที่จุดลงทะเบียนนัดรับวัคซีนโควิด-19 รับแบบลงทะเบียนผู้ประสงค์ฉีดวัคซีน กรอกข้อมูลส่วนตัว โรคประจำตัว และระบุสถานที่นัด ก่อนยื่นเอกสารพร้อมบัตรประชาชน
จากนั้น เจ้าหน้าที่จะให้ใบนัดฉีดวัคซีนโควิด-19 ระบุวันที่นัด เวลา สถานที่ และคิวรับบริการ แนะนำว่าก่อนวันที่นัดควรพักผ่อนให้เพียงพอ งดดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากมีอาการใจสั่นควรงดดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
เมื่อถึงวันนัดให้นำใบนัดแสดงตัวพร้อมบัตรประชาชนตัวจริงมาลงชื่ออีกครั้ง เจ้าหน้าที่จะให้วัดอุณหภูมิก่อนรับบัตรคิว แล้วให้เข้าไปนั่งรอตามคิว ระหว่างนั้นทางโรงพยาบาลจะให้ชมวีดีโอสาธิตการฉีดวัคซีนโควิด-19
เมื่อถึงคิวแล้ว เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ไปลงทะเบียน เริ่มจากยื่นบัตรประชาชนตัวจริงและแจ้งเบอร์โทรศัพท์มือถือ บันทึกข้อมูลลงในแบบคัดกรองและใบยินยอมรับบริการวัคซีนโควิด-19 จากนั้นให้ชั่งน้ำหนัก แจ้งส่วนสูง วัดความดันโลหิต
ต่อมาจะถึงขั้นตอนประเมินความเสี่ยง ในแบบคัดกรองจะมีคำถามทั้งหมด 11 ข้อ ให้ตอบไปตามความเป็นจริง คนที่เคยมีประวัติแพ้วัคซีน หรือแพ้ยา หรือส่วนประกอบของวัคซีนอย่างรุนแรง ฉีดวัคซีนไม่ได้
เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่อนุญาตให้ฉีดวัคซีน บางคนกำลังตั้งครรภ์ ให้นมบุตร หรือวางแผนที่จะตั้งครรภ์ ก็อาจจะไม่สามารถให้ฉีดวัคซีนได้ เพราะเป็นวัคซีนใหม่ ยังไม่เคยมีการศึกษาในสตรีมีครรภ์
คนที่มีโรคประจำตัวที่อาการยังไม่คงที่ ไม่สามารถควบคุมอาการของโรคได้ เช่น เจ็บแน่นหน้าอก หอบ เหนื่อย ใจสั่น มีอาการเกี่ยวกับสมอง หรือระบบประสาทอื่นๆ ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน อันนี้ก็อาจจะฉีดวัคซีนไม่ได้
คนที่มีภาวะเลือดออกง่ายหรือหยุดยาก เกล็ดเลือดต่ำ การแข็งตัวของเลือดผิดปกติหรือได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด คนที่เคยได้รับการถ่ายเลือด พลาสมา ผลิตภัณฑ์จากเลือด ส่วนประกอบของเลือด อิมนูโนโกลบูลิน ยาต้านไวรัส หรือ แอนติบอดี้สำหรับการรักษาโควิด-19 ภายใน 90 วันที่ผ่านมา อันนี้ก็อาจจะฉีดวัคซีนไม่ได้
รวมทั้งคนที่กำลังมีอาการป่วย เช่น มีไข้ หนาวสั่น หายใจลำบาก อ่อนเพลียกล้ามเนื้อ และคนที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ในช่วง 10 วันที่ผ่านมา (ใครเจอข้อนี้ตัวใครตัวมันล่ะครับ) ก็อาจจะฉีดวัคซีนไม่ได้เช่นกัน
ในเอกสารแบบคัดกรองฯ ระบุว่า “สำหรับวัคซีนโควิด-19 มีประสิทธิภาพป้องกันการเจ็บป่วยจากโรคโควิด-19 ได้ในระดับสูง และสามารถช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ วัคซีนอาจป้องกันโรคแบบไม่รุนแรง หรือไม่มีอาการไม่ได้ หลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 2 ประมาณ 2 สัปดาห์ ร่างกายจึงจะสร้างภูมิคุ้มกันได้เพียงพอที่จะป้องกันโรค
ผู้รับบริการวัคซีนจึงยังคงมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดังนั้น จึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามคำแนะนำและมาตรการอื่นๆ ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และกระทรวงสาธารณสุขกำหนด เช่น สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ ลงทะเบียนเมื่อเข้าไปยังสถานที่ เป็นต้น
วัคซีนโควิด-19 อาจมีผลข้างเคียงเช่นเดียวกับวัคซีนและยาอื่นๆ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค โดยอาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนที่อาจพบได้ เช่น ไข้ หนาวสั่น ปวด บวม รอยแดง บริเวณที่ฉีด ปวดหัว ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า คลื่นไส้ อาเจียน ต่อมใต้วงแขนข้างที่ฉีดวัคซีนบวม หากมีอาการภายหลังได้รับวัคซีนที่รุนแรง โปรดไปพบแพทย์ทันที”
หากรับทราบข้อมูลและได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้ทำเครื่องหมายที่ช่อง “ยินยอมฉีดวัคซีนโควิด-19”แล้วลงชื่อให้เรียบร้อย ก่อนถือเอกสารแบบคัดกรองฯ เข้าสู่ห้องฉีดวัคซีนต่อไป
มาถึงห้องฉีดวัคซีน ที่โรงพยาบาลจะมีจุดฉีดวัคซีนทั้งหมด 4 ที่นั่ง ให้เข้าคิวตามเก้าอี้ พอถึงคิวฉีดวัคซีน ให้ถลกแขนเสื้อด้านซ้ายให้เห็นหัวไหล่ พยาบาลวิชาชีพจะนำวัคซีนใส่เข็มแล้วฉีดลงไป ใช้เวลาประมาณ 3 นาทีจึงแล้วเสร็จ
หลังจากนั้น พยาบาลวิชาชีพจะลงเวลาฉีด และเวลาครบ 30 นาที ลงในเอกสารแบบคัดกรองฯ แล้วไปที่โต๊ะบันทึกข้อมูลและรับใบนัด ยื่นเอกสารแบบคัดกรองฯ เจ้าหน้าที่จะนัดวันฉีดวัคซีนเข็มที่สอง และสอบถามเวลาที่สะดวก
เจ้าหน้าที่จะออกเอกสารประวัติการรับวัคซีน และนัดหมายรับวัคซีนครั้งที่สอง ใส่ถุงซิปล็อกมอบให้ ก่อนให้เข้าไปนั่งสังเกตอาการ 30 นาที โดยการชมวีดีโอสาธิตวิธีการใช้ไลน์ OA ที่ชื่อว่า “หมอพร้อม” ให้สแกนคิวอาร์โค้ดและลงทะเบียนได้เลย
เมื่อครบ 30 นาที แล้วไม่มีอาการผิดปกติ เจ้าหน้าที่จะให้ไปที่โต๊ะวัดความดันโลหิต ยื่นเอกสารแบบคัดกรองฯ คืนเจ้าหน้าที่ ก่อนวัดความดันโลหิต หากพบว่าปกติ ก็จะให้ไปพักที่บ้านเพื่อสังเกตอาการต่ออีก 2 ชั่วโมง
เจ้าหน้าที่บอกว่า ในวันนี้อาจจะมีอาการปวดบวมบริเวณที่ฉีด ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากวัคซีน อาจจะรู้สึกวิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ให้พักผ่อนอยู่กับบ้าน ถ้าปวดบวมบริเวณที่ฉีดก็เอาน้ำแข็งประคบได้
ระยะเวลาจากจุดลงทะเบียนถึงจุดฉีดวัคซีน (ไม่รวมเวลารอเรียกคิว) ประมาณ 20 นาที ฉีดวัคซีนและแสดงอาการประมาณ 30 นาที คุยกับเจ้าหน้าที่วัดความดันโลหิตอีกเล็กน้อย เบ็ดเสร็จใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
แต่เนื่องจากหลังฉีดวัคซีนจะรู้สึกอ่อนเพลีย แนะนำว่าให้ลางาน หยุดพักผ่อนอยู่กับบ้านดีที่สุด
คนที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว อาจจะมีผลข้างเคียง ซึ่งจะแสดงอาการออกมา อย่างเช่น มีไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยบริเวณที่ฉีด อันนี้ถือว่าผลข้างเคียงไม่รุนแรง
แต่ถ้าเกิดคลื่นไส้อาเจียนเกิน 5 ครั้งขึ้นไป มีไข้สูง แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ปวดศีรษะรุนแรง ปากเบี้ยว กล้ามเนื้ออ่อนแรง ผื่นขึ้นทั้งตัว มึจุดเลือดออกจำนวนมาก ชักหมดสติ ให้ไปที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที
ส่วนการฉีดวัคซีนเข็มที่สอง ทราบว่าเมื่อฉีดวัคซีนเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีเอกสารรับรอง และแสดงผลใบรับรองการฉีดวัคซีนในไลน์ “หมอพร้อม” ระบุชื่อวัคซีน วันที่ฉีดเข็มที่ 1 เข็มที่ 2 และ Certificate No. (เลขที่รับรอง) เป็นอันเสร็จสิ้น
ในเดือนเมษายน 2564 รัฐบาลมีแผนกระจายวัคซีนซิโนแวค 800,000 โดส ใน 18 จังหวัด แบ่งออกเป็นบุคลากรด่านหน้า และเจ้าหน้าที่ที่สัมผัสผู้ป่วย 207,000 โดส ประชาชน เน้นผู้มีโรคประจำตัว 540,000 โดส นอกนั้นสำรอง 53,000 โดส
ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ ตาก (เฉพาะแม่สอด) ชลบุรี ภูเก็ต สุราษฏร์ธานี (เฉพาะเกาะสมุย) เชียงใหม่ นครปฐม สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี กระบี่ ระยอง จันทบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด
สำหรับกรุงเทพมหานคร ผู้รับวัคซีนระยะแรกจะให้เฉพาะผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค รักษาอยู่ในโรงพยาบาลหรือศูนย์บริการสาธารณสุข 6 เขตติดสมุทรสาคร (บางขุนเทียน บางบอน หนองแขม จอมทอง บางแค ภาษีเจริญ) อายุ 18-59 ปี
ส่วนจังหวัดที่เหลือจะได้รับ “วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า” ตามแผนจะทยอยฉีดให้ประชาชนทั่วประเทศตั้งแต่มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป โดยมีโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนกว่า 1,000 แห่ง และจะกระจายไปยัง รพ.สต. หรือหน่วยบริการเคลื่อนที่
ใครสนใจแนะนำว่าให้รอประกาศจากทางสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลประจำจังหวัด โรงพยาบาลอำเภอ หรือหน่วยงานราชการที่เชื่อถือได้ ประกาศว่าจะให้ลงทะเบียนรับวัคซีนตอนไหน ก็นำบัตรประชาชนไปขอรับวัคซีนได้เลย
อย่าหลงเชื่อกลุ่มมิจฉาชีพที่อ้างว่า “เปิดจองวัคซีนล็อตพิเศษ VIP” ผ่านไลน์ ตอนนี้เริ่มออกอาละวาดเกิดขึ้นบ้างแล้ว เพราะปัจจุบันรัฐบาลฉีดวัคซีนให้ผู้ที่ลงทะเบียนตามความสมัครใจโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ