xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก PAYNOW ก่อนโอนเงินระหว่าง “ไทย-สิงคโปร์” ทั้งเร็วและถูกลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เร็วๆ นี้ จะสามารถโอนเงินระหว่างประเทศไทยกับสิงคโปร์ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ในอัตราที่ถูกลง เพราะจะมีการเชื่อมระบบชำระเงินระหว่าง “พร้อมเพย์” (PromptPay) ของไทย กับ “เพย์นาว” (PayNow) ของสิงคโปร์

เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้ออก เงื่อนไขบริการอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารฉบับล่าสุด พบว่าได้กำหนดรายการโอนไปต่างประเทศผ่านพร้อมเพย์ (Promptpay PayNow) ในตารางรายการโอนเงิน

โดยพบว่าให้ "โอนเงินผ่าน Promptpay PayNow ถึงผู้รับในประเทศสิงคโปร์" ได้สูงสุดไม่เกินครั้งละ 1,000 เหรียญสิงคโปร์ (ประมาณ 22,800 บาท) และไม่เกินวันละ 1,000 เหรียญสิงคโปร์

แต่ขณะนี้ยังไม่เปิดให้บริการ และยังไม่เปิดเผยว่า ค่าธรรมเนียมต่อรายการอยู่ที่เท่าไหร่ จากปัจจุบันการโอนเงินไปยังสิงคโปร์ผ่านโมบายแบงกิ้ง ธนาคารไทยพาณิชย์คิดค่าธรรมเนียมปกติรายการละ 399 บาท เงินถึงมือผู้รับทันทีถึง 1 วันทำการ


ก่อนหน้านี้ นายราวี่ เมนอน (Ravi Menon) ผู้ว่าการธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore หรือ MAS)กล่าวในหัวข้อ “ฟินเทคเพื่อสังคมส่วนรวมและโลกที่ยั่งยืน” (FinTech for an Inclusive Society and a Sustainable Planet) ที่งานสิงคโปร์ ฟินเทค เฟสติวัล 2020 เมื่อ 8 ธันวาคม 2563



ในตอนหนึ่ง นายราวี่กล่าวว่า ที่ผ่านมาสิงคโปร์มีชาวต่างชาติและแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก ที่ส่งเงินกลับประเทศบ่อยครั้ง แต่ก็มีข้อจำกัดในการโอนเงินระหว่างประเทศที่ยังคงล่าช้า ค่าใช้จ่ายสูง และไม่มีประสิทธิภาพ

“หากสามารถทำให้การโอนเงินระหว่างประเทศ ค่าธรรมเนียมถูกลงและถึงมือผู้รับเร็วขึ้น ก็จะช่วยให้แรงงานข้ามชาติของเราช่วยเหลือครอบครัวได้ดีขึ้น ทันท่วงทีมากขึ้น”

นายราวี่กล่าวว่า 3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางสิงคโปร์ ได้ร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย เชื่อมโยงระบบเพย์นาวของสิงคโปร์ กับพร้อมเพย์ของประเทศไทย เรามีความยินดีที่จะแจ้งให้ทราบว่า จะเริ่มใช้งานได้ภายในกลางปี 2564

“ใครก็ตามที่ลงทะเบียนเพย์นาว หรือพร้อมเพย์ จะสามารถส่งเงินโดยตรงจากสิงคโปร์มายังประเทศไทยหรือระหว่างกัน โดยใช้เพียงเบอร์โทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะได้รับเงินทันที ปลอดภัย ในอัตราแลกเปลี่ยนที่แข่งขันได้ และทำรายการได้ทุกเวลา”

การเชื่อมโยงระบบชำระเงินที่เร็วขึ้นระหว่างสองประเทศนี้ จะถือว่าเป็นระบบแรกของโลก โดยจะเริ่มต้นที่กลุ่มลูกค้าเล็กๆ ของธนาคารระหว่างสองประเทศ ก่อนที่จะขยายไปยังธนาคารอื่นๆ และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารในโอกาสต่อไป

เขากล่าวอีกว่า ธนาคารกลางสิงคโปร์มีความพยายามที่จะร่วมมือกับธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อขยายความเชื่อมโยงให้ผู้คนในภูมิภาคจำนวนมากได้รับประโยชน์

อย่างไรก็ตาม หลังเวทีสัมมนาผ่านพ้นไป มี ส.ส.ของสิงคโปร์รายหนึ่ง ถามนายลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ว่า ที่ธนาคารกลางสิงคโปร์จะร่วมมือเชื่อมระบบพร้อมเพย์ในไทย จะสร้างความสับสนให้ผู้บริโภคในอาเซียนหรือไม่ เพราะมีผู้คนจำนวนมากใช้คิวอาร์โค้ดของเพย์นาวและเน็ตส์เพย์ (NetsPay) ในการชำระเงินข้ามประเทศ

ปรากฎว่า นายธาร์มาน ชันมูการัทนัม (Tharman Shanmugaratnam) รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลธนาคารกลางสิงคโปร์ ชี้แจงว่า ความร่วมมือระหว่างเพย์นาวกับพร้อมเพย์ของไทย เป็นเพียงการโอนเงินระหว่างกันโดยใช้เบอร์มือถือเท่านั้น

แต่การชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างเพย์นาวกับพร้อมเพย์ของไทย หากขยายความร่วมมือในอนาคต จะตรวจสอบให้แน่ใจถึงความแตกต่างของรูปแบบคิวอาร์โค้ดที่มีอยู่ ก่อนจะสื่อสารให้ชัดเจนต่อไป


อาจมีคนสงสัยว่า เพย์นาวของสิงคโปร์เป็นอย่างไร เหมือนหรือแตกต่างกับพร้อมเพย์ของไทยขนาดไหน?

เพย์นาว (PayNow) เป็นส่วนหนึ่งของระบบโอนเงินอิเล็กทรอนิกส์ของสิงคโปร์ที่ชื่อว่า “ฟาสต์” (FAST) ย่อมาจาก Fast And Secure Transfers ที่สามารถโอนเงินระหว่างธนาคารและสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารในสิงคโปร์ได้ตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน

ระบบฟาสต์นำมาใช้เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2557 ให้บริการเฉพาะธนาคารเท่านั้น แต่ในปัจจุบันนอกจากธนาคาร 23 แห่งแล้ว ได้เปิดให้สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร 5 แห่งเข้าร่วมด้วย เช่น แกร็บเพย์, ลิควิดเพย์, สิงเทลแดช, แมทช์มูฟ และไวส์

จากระบบฟาสต์ได้พัฒนาบริการ “เพย์นาว” เปิดตัวเมื่อ 10 กรกฎาคม 2560 โดยใช้กลไกของระบบฟาสต์ ช่วยให้การโอนเงินระหว่างกันเป็นไปได้ง่ายขึ้น ลดความยุ่งยากในการใช้เลขที่บัญชีธนาคาร ทำรายการได้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง

โดยจะใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือ เลขประจำตัวประชาชนสิงคโปร์ (NRIC) เลขประจำตัวชาวต่างชาติในสิงคโปร์ (FIN) เลขประจำตัวบริษัท (Unique Entity Number หรือ UEN) ที่อยู่การชำระเงินเสมือน (Virtual Payment Address หรือ VPA)

นอกจากนี้ ยังมี เพย์นาวคิวอาร์ (PayNow QR) เป็นคิวอาร์โค้ดสำหรับชำระเงินตามร้านค้าต่างๆ ปัจจุบันมีชื่อว่า เอสจีคิวอาร์ (SGQR) ที่นำมาตรฐานคิวอาร์ของแต่ละธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ ในสิงคโปร์มารวมไว้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

ปัจจุบันมีผู้ให้บริการเพย์นาว 12 แห่ง แบ่งเป็นธนาคาร 9 แห่ง สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร 3 แห่ง มีผู้ลงทะเบียน 4.9 ล้านคน (ณ วันที่ 3 มกราคม 2564) และมีการทำรายการมากกว่า 4,100 ล้านครั้ง (ณ เดือนพฤศจิกายน 2563)


ย้อนกลับไปที่นายราวี่กล่าวว่า ระบบฟาสต์ และบริการเพย์นาว ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ได้สนับสนุนการเติบโตของอี-คอมเมิร์ช และบริการออนไลน์ที่หลากหลาย โดยเฉพาะหลังสถานการณ์โควิด-19

“ปัจจุบันมี 4 ใน 5 ของประชาชนในสิงคโปร์ (ประมาณ 80%) และ 3 ใน 4 ของนิติบุคคลในสิงคโปร์ (ประมาณ 75%) ได้นำบริการเพย์นาวมาใช้ มูลค่าธุรกรรมรายเดือนมากถึง 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 4 เท่าจากเดือนกรกฎาคม 2019”


แม้การเข้ามาของระบบเพย์นาวของสิงคโปร์ จะช้ากว่าพร้อมเพย์ของไทย ที่เปิดตัวระบบพร้อมเพย์เมื่อ 15 มิถุนายน 2559 ก่อนที่จะเปิดบริการโอนเงินพร้อมเพย์อย่างเป็นทางการเมื่อ 27 มกราคม 2560 แต่ก็เติบโตแบบก้าวกระโดดไม่แพ้กัน

ปัจจุบันมีแรงงานไทยอาศัยอยู่ในประเทศสิงคโปร์ประมาณ 20,000 คน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคก่อสร้าง รองลงมาคือภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบำรุงรักษา ภาคงานเรือ ภาคเกษตร ภาคบริการและอื่นๆ

การโอนเงินกลับมายังครอบครัวในประเทศไทย แม้ธนาคารบางแห่งจะสามารถโอนเงินมายังบัญชีธนาคารในประเทศไทยผ่านอินเทอร์เน็ตได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม แต่ก็มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก และกว่าจะได้รับเงินตั้งแต่ 1 วัน ช้าที่สุด 2-3 วันทำการ

เช่น ธนาคาร POSB BANK แม้จะฟรีค่าธรรมเนียมและเงินเข้าบัญชีปลายทางในวันเดียวกัน (ขึ้นอยู่กับธนาคาร) แต่ต้องโอนเงินขั้นต่ำ 10 เหรียญสิงคโปร์ (ประมาณ 228 บาท) สูงสุด 1,000 เหรียญสิงคโปร์ (ประมาณ 22,800 บาท)

ใจจริงอยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทย เชื่อมระบบพร้อมเพย์กับประเทศเพื่อนบ้านที่มีความพร้อมเรื่องการเงินการธนาคารด้วยซ้ำ เพื่อรองรับการค้าขายและการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศที่จะเกิดขึ้นไปด้วย

การเชื่อมระบบโอนเงินระหว่างพร้อมเพย์ของไทย กับเพย์นาวของสิงคโปร์ ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกโอนเงินระหว่างสองประเทศทำได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องกรอกข้อมูลธนาคารและเลขที่บัญชี ปลายทางรับเงินเร็วขึ้นและค่าธรรมเนียมถูกลง

คงต้องดูบริการพร้อมเพย์กับเพย์นาวกลางปีนี้ว่า หน้าตาจะออกมาเป็นอย่างไร ไม่แน่ว่าหากรับเงินโอนกันง่าย เผลอๆ อาจจะได้มีโอกาสทำมาค้าขาย หรือชอปปิ้งออนไลน์แบบโซเชียลคอมเมิร์ช ระหว่างบ้านเรากับสิงคโปร์ก็เป็นได้
กำลังโหลดความคิดเห็น