xs
xsm
sm
md
lg

“โอ้ลัลล้า” โฮมชอปปิ้งลายพราง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

เมื่อวันก่อน ที่ตลาดทะเลไทย จ.สมุทรสาคร “เฮียโก๋-ปรีชา ศิริแสงอารำพี” จัดงานที่ชื่อว่า “อาหารทะเลกินได้...ปลอดภัย” เชิญรองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร และหัวหน้าส่วนราชการร่วมรับประทานอาหารทะเลสร้างความเชื่อมั่น

ปรากฎว่าในวันนั้นมีบรรดาทีมงานจาก สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 (ททบ.5) ลงพื้นที่ทำข่าว ทำสกู๊ปพิเศษ พร้อมกับแถลงข่าว และนำแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า “โอ้ลัลล้า ชอปปิ้ง” (Ohlala Shopping) เข้ามาส่งเสริมผู้ประกอบการ

ทีแรกนึกแปลกใจว่าใครเป็นคนคิดชื่อนี้ เพราะมันเป็นคำอุทานของชาวฝรั่งเศส เหมือนคำว่า “โอ้มายก็อด”

ที่พิเศษกว่านั้นก็คือ ททบ.5 นำ “บุญธรรม ภาคโพธิ์” เชฟกระทะเหล็กประเทศไทย เจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่น “ฮอนโมโน ซูชิ” มาสาธิตปรุงอาหารทะเล พร้อมกับเปิดตัวรายการที่ชื่อว่า “โอ้ลัลล้า ไพร์มโชว์” (Ohlala Prime Show) อีกด้วย

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่จังหวัดสมุทรสาครเจอการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ นอกจากอาหารทะเล กุ้ง หอย ปู ปลา จะขายไม่ได้เพราะไม่มีคนซื้อแล้ว ผู้ประกอบการสินค้าอาหารทะเล ก็ประสบปัญหาส่งออกสินค้าไม่ได้เช่นกัน

เมื่อเดือนธันวาคม 2563 พล.ท.รังษี กิติญาณทรัพย์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ททบ.5 ลงไปพูดคุยกับหลายภาคส่วน เพื่อช่วยกันหาทางออก โดยจะเป็นสื่อกลางในการจัดจำหน่ายสินค้าอาหารทะเล ผ่านแพลตฟอร์ม “โอ้ลัลล้า ชอปปิ้ง”


 กระทั่งเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 ททบ.5 พร้อมด้วยตลาดทะเลไทย และจังหวัดสมุทรสาคร จึงแถลงข่าวความร่วมมือนำสินค้าอาหารทะเลจำหน่ายผ่านโอ้ลัลล้า ชอปปิ้ง แบบขายยกล็อต (Wholesale) ในราคาถูกกว่าท้องตลาด

ในวันเดียวกัน ททบ.5 ตัดสินใจอุทิศเวลาช่วงเวลาไพร์มไทม์ 20.30-22.00 น. ผลิตรายการที่ชื่อว่า “โอ้ลัลล้า ไพร์มโชว์”เป็นรายการทำอาหารจากเชฟบุญธรรม พร้อมกับแนะนำสินค้าจากโอ้ลัลล้า ชอปปิ้ง ตลอด 1 ชั่วโมงครึ่ง

อาจเรียกได้ว่า จากภาพจำในอดีตที่ทีวีดิจิทัลยังไม่เกิด ขณะที่ช่วงไพร์มไทม์ ช่อง 3 กับช่อง 7 แข่งขันเรื่องละคร ททบ.5 ก็มีละครจากเอ็กซ์แซท หรือไม่ก็วาไรตี้และเกมโชว์จากเวิร์คพอยท์ กระทั่งผู้ผลิตรายการใหญ่ๆ ถอนตัวไปทำทีวีของตัวเอง

มาถึงยุคนี้จะว่า ททบ.5 ปัจจุบันกลายเป็น “ช่องขายของ” ก็ไม่น่าจะผิดนัก

แต่อย่าได้ดูถูกคำว่า “ช่องขายของ” เลยเชียว!

เพราะที่ผ่านมาธุรกิจ “โฮมชอปปิ้ง” มีมูลค่าตลาดกว่า 14,000 ล้านบาท ยิ่งช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ผู้คนต่างก็ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” นอกจากชอปปิ้งออนไลน์กับฟู้ดดีลิเวอรีที่ขายดีแล้ว โฮมชอปปื้งก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน

ทุกวันนี้เปิดทีวีอยู่กับบ้าน ถ้าไม่ใช่ช่วงไพร์มไทม์ก็ไม่ค่อยมีรายการอะไรดู คุณแม่บ้านอาจจะเปิดทีวีเพื่อแก้เหงาไปวันๆ หนึ่ง อยู่ดีๆ เจอรายการแนะนำสินค้า ที่ยุคนี้มีแต่ผลิตรายการเอง รีวิวเอง ไม่ใช่รายการฝรั่ง เกิดความต้องการอยากซื้อ

กว่าจะรู้ตัวว่า “ถูกป้ายยา” (คำนี้มาจาก Vlog ของ “สู่ขวัญ บูลกุล” เซเลบริตี้ขาช้อป) ก็มีกล่องพัสดุมาส่งที่บ้าน!

นอกจากเจ้าตลาดอย่าง “ทีวีไดเร็ค” ที่อยู่คู่กับทีวีบ้านเรามากว่า 20 ปีแล้ว ยังมีโฮมชอปปิ้งค่ายอื่นๆ เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด ทั้งจีเอ็มเอ็ม โอ ชอปปิ้ง, 1577 โฮมชอปปิ้ง, ทรูชอปปิ้ง ฯลฯ

หนึ่งในนั้นคือ “อาร์เอส” จากธุรกิจบันเทิงโดยเฉพาะค่ายเพลง และสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 ก็ผันตัวมาเป็นผู้ผลิตอาหารเสริมและผลิตภัณฑ์เสริมความงามเป็นของตัวเอง ก่อนจะปั้นแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า “อาร์เอส มอลล์” สร้างรายได้มหาศาล

เพราะฉะนั้น การที่ ททบ.5 จะผันตัวกลายเป็นช่องขายของในยุคนี้ ก็ไม่น่าจะแปลกใจมากนัก!


ที่ผ่านมา ททบ.5 นอกจากจะมีทีวีดิจิทัลประเภทบริการสาธารณะเพื่อความมั่นคงแล้ว ยังมีคลื่นวิทยุให้เอกชนเช่าเวลา มีศูนย์ข่าววิทยุกองทัพบก และยังเป็นเจ้าของโครงข่ายทีวีดิจิทัล หรือมัลติเพล็กซ์ (MUX) มากถึง 2 ความถี่

ปัจจุบัน ททบ.5 มีรายได้หลักมาจากการให้เช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัล ส่วนรายได้จากการให้เช่าเวลาลดลง ขณะที่การเป็นทีวีสาธารณะต้องมีรายการประเภทสาระ 70% บันเทิง 30% โดยยังคงสามารถโฆษณาได้ 8-10 นาทีต่อชั่วโมง

ประกอบกับการแข่งขันของทีวีดิจิทัล และดิจิทัลดิสรัปชัน (Digital Disruption) ผู้คนหันไปเสพสื่อดิจิทัลมากขึ้น ทำให้การหารายได้ของ ททบ.5 ยุคนี้ทำได้ยากขึ้น ปัจจุบันโฆษณาของ ททบ.5 จะมีหน่วยงานรัฐ และผู้ประกอบการรายย่อย

จุดเริ่มต้นของ “โอ้ลัลล้า ชอปปิ้ง” เกิดขึ้นเมื่อกลางปี 2563 ที่ผ่านมา ททบ.5 ดึงภาคเอชน คือ “บริษัท เดอะ ลอต ช็อป จำกัด” เป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ขายสินค้าผ่านออนไลน์และออนแอร์

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า บริษัท เดอะ ลอต ช็อป จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2554 ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท มี น.ส.กนกกร กัมพลานุวงศ์ และ นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ เป็นกรรมการบริษัท

ซึ่ง นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ปัจจุบันเป็นประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ผู้บริหารกลุ่มบริษัทในเครืออนุสรณ์กรุ๊ป ธุรกิจประมงในจังหวัดสมุทรสาคร และนายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย วัย 47 ปี


“โอ้ลัลล้า ชอปปิ้ง” ประเดิมด้วยสหกรณ์การเกษตร นำสินค้าอย่างเช่น ข้าวสาร เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ผลไม้ เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ มาจำหน่ายพร้อมกับนำผู้ประกอบการมาพูดคุย เป็นรายการสั้น 5 นาที และรายการแนะนำสินค้ายาว 25 นาที

โดยช่องทางสั่งซื้อสินค้ามีอยู่ 4 ช่องทาง คือ คอลเซ็นเตอร์, เว็บไซต์ ohlalashopping.com, แอปพลิเคชัน Ohlala Shopping และไลน์แอด @Ohlalashopping รวมทั้งแทรกคิวอาร์โค้ดบนหน้าจอทีวีเพื่อดูรายการสินค้าและราคาได้อีกด้วย

ภายหลังพบว่าโอ้ลัลล้า ชอปปิ้ง นอกจากจะมีสินค้าเกษตรแล้ว เริ่มมีสินค้าจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้ามาวางขายในแพลตฟอร์มดังกล่าว โดยมีหมวดหมู่ให้เลือกประมาณ 20 หมวดหมู่

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ททบ.5 เปิดเผยว่า ผู้นำเข้าสินค้าจากประเทศจีน สั่งซื้อสินค้า ได้แก่ สับปะรดภูแล 1,000 ตัน ลำไย 1,200 ตัน ขิงแก่ 500 ตัน มะพร้าวอ่อน 1,200 ตัน มะม่วงน้ำดอกไม้ 1,500 ตัน

ส่วนทุเรียนหมอนทองไม่จำกัดจำนวน มีเท่าไหร่รับหมด ได้ประสานกับจังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด ซึ่งผลผลิตจะออกมาเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยค้าขายในสัญญา FOB (Free on Board) ใช้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นที่ส่งออก


กระทั่งเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2563 ททบ.5 ดำเนินการส่งสินค้ามะพร้าวอ่อน จากเกษตรกร อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ 5 ตู้ ขนส่งทางเรือจากท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ไปยังประเทศจีน คาดว่าจะไปถึงก่อนเทศกาลตรุษจีน 2564

ล่าสุด ททบ.5 เพิ่งลงนามความร่วมมือกับ กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย นำผลิตภัณฑ์สินค้าโอทอปของชุมชนที่มีกว่า 1 แสนผลิตภัณฑ์ มาวางจำหน่ายในแพลตฟอร์มโอ้ลัลล้า ชอปปิ้ง เพื่อเพิ่มยอดขายและรายได้ให้แก่ชุมชน

ที่ผ่านมาเรตติ้ง ททบ.5 อาจเรียกได้ว่า “รั้งท้าย” ทีวีดิจิทัลช่องอื่นๆ จากทั้งหมด 18 ช่องรวมกัน การจะให้กลับมามีเรตติ้งท็อปไฟว์เหมือนในอดีตก็เป็นเรื่องยาก เพราะผู้ผลิตรายการในอดีตต่างก็ออกไปสร้าง “ดาวคนละดวง” กันหมดแล้ว

แพลตฟอร์ม “โอ้ลัลล้า ชอปปิ้ง” ที่กำลังผลักดันอยู่ในขณะนี้ นอกจากจะสร้างรายได้หล่อเลี้ยงสถานีแล้ว ยังช่วยยกระดับสินค้าเกษตรไทย และช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หวังฟื้นเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19

อีกทั้งยังฉีกแนวจากทีวีดิจิทัลช่องอื่นๆ ในช่วงไพร์มไทม์ นึกเบื่อๆ ละครชิงรักหักสวาท ตบตีแย่งชิงสามีชาวบ้าน เปิดไปดูข่าว ถ้าไม่ใช่ข่าวม็อบก็ข่าวลุงพล เปิดช่อง 5 ยังได้เห็นเชฟบุญธรรมทำอาหารญี่ปุ่นเรียกน้ำย่อย แถมแนะนำสินค้าไปในตัว

อย่างน้อยถึงจะกลายเป็นช่องขายของ แต่ก็มีรายได้หล่อเลี้ยงสถานี ก็ดีแล้วไม่ใช่หรือ?




กำลังโหลดความคิดเห็น