กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
พฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน 2563 ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน จะได้ฤกษ์ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในชื่อใหม่ “เดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ งามวงศ์วาน” หลังทยอยปิดปรับปรุงทีละส่วน และขยายพื้นที่มาตั้งแต่ปลายปี 2561 ที่ผ่านมา
นอกจากจะเปลี่ยนโลโก้ใหม่เหลือเพียงตัวอักษร M สีแดงเพียงอย่างเดียวแล้ว ยังขยายพื้นที่จากเดิม 250,000 ตารางเมตร เป็น 302,232 ตารางเมตร โดยมีอาคารใหม่อยู่ติดกัน เรียกว่า กรูเมต์ อีทส์ กรีน เฮ้าส์ (Gourmet Eats Green House)
ก่อนหน้านี้ พื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นที่ตั้งของโรงเรียนกวดวิชา เดอะติวเตอร์ บางเขน ด้านหลังจะเป็นตลาดแก้วงามพลาซ่า ภายหลังกลุ่มเดอะมอลล์ได้ซื้อที่ดินดังกล่าว แล้วรื้อถอนไปเมื่อกลางปี 2560 ก่อนจะสร้างอาคารใหม่ในปลายปี 2561
ส่วนด้านข้างศูนย์การค้า บริเวณซอยจุฬาเกษม 1/1 ยังก่อสร้างอาคารจอดรถ 8 ชั้น เชื่อมต่อกับอาคารจอดรถเดิม ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 แล้วเสร็จเมื่อกลางปี 2562 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ยังก่อสร้างอาคารจอดรถอัตโนมัติ (Automated Parking) เพิ่มเติมด้านหลังศูนย์การค้าอีกด้วย เปิดเมื่อเดือนมกราคม 2563 มีช่องบริการ 4 ช่อง แบ่งเป็น 2 โซน จอดรถได้สูงสุด 600 คัน พร้อมห้องรับรองและพนักงานให้บริการ
ส่วนด้านในได้ทยอยเปิดตัวโฉมใหม่จากชั้นบนลงมาชั้นล่าง เริ่มจากชั้น 6 และชั้น 7 เปิดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 เริ่มจาก ชั้น 7 โรงภาพยนตร์เอสเอฟเอ็กซ์ (SFX Cinema) ลงทุนกว่า 200 ล้านบาท ปรับโฉมใหม่หมดจด
ประกอบด้วย 10 โรงภาพยนตร์ รวม 1,934 ที่นั่ง พร้อมโรงภาพยนตร์แบบพิเศษ “ซิกมา ซีเนสเตเดียม” (Zigma Cinestadium) จอใหญ่พร้อมผังที่นั่งแบบใหม่ “แฮปปี้เนส ซีเนมา” (Happiness Cinema) เก้าอี้แบบพิเศษเจาะกลุ่มครอบครัว
ชั้น 6 ศูนย์อาหารกรูเมต์ อีท (Gourmet Eats) รวบรวมสตรีทฟู้ดกว่า 30 ร้านค้ามาอยู่ร่วมกัน พร้อมกับร้านเคเอฟซี เชสเตอร์ แดรี่ควีน ฟูกุมัทฉะ คาเฟ่ อเมซอน โซนไอทีและมือถือ ศูนย์บริการเอไอเอส ดีแทค และร้านทรูช้อป
อีกด้านจะเป็น “ร้านชีวิตดี” (Chivit-D) ของเอสซีจี ศูนย์รวมสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุต้นแบบ บนพื้นที่ 500 ตารางเมตร และ สวนน้ำแฟนตาเซีย ลากูน (Fantasia Lagoon) เปิดเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562 ในโฉมใหม่สไตล์บีชรีสอร์ต
ชั้น 4 และชั้น 5 เปิดเมื่อเดือนธันวาคม 2562 ประกอบด้วย ชั้น 5 โซนร้านอาหาร (Dining Garden) กว่า 50 ร้าน ตกแต่งบรรยากาศในสวน ถัดมาจะเป็นโซนร้านทอง โซนธนาคาร และศูนย์บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ (Government Center)
ชั้น 4 ประกอบด้วยแผนกพาวเวอร์มอลล์ (Power Mall) เครื่องใช้ไฟฟ้าจากแบรนด์ชั้นนำ, บีเทรนด์ (Be Trend) จำหน่ายสินค้าเครื่องเขียน และอุปกรณ์สำนักงานกว่า 20,000 รายการ พื้นที่ 2,500 ตารางเมตร
เดอะลีฟวิ่ง (The Living) สินค้าตกแต่งบ้านและอุปกรณ์ทำครัว และ คิดส์ แพลนเนต (Kids Planet) สินค้าบริการเพื่อแม่และเด็ก นอกจากนี้ ยังมี เอ็มซีซี ฮฮลล์ (MCC Hall) สำหรับจัดคอนเสิร์ตหรือกิจกรรมทุกรูปแบบ พื้นที่ 2,800 ตารางเมตร
ชั้น 3 เมน แอลด์ ไลฟ์สไตล์ (Men’s & Lifestyle) เปิดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 บนพื้นที่ 18,000 ตารางเมตร รวมสตรีทแฟชั่นและไลฟสไตล์ผู้ชายกว่า 350 แบรนด์ รวมทั้ง แผนกสปอร์ตมอลล์ (Sport Mall) และ นาฬิกา (Watch Galleria)
นอกจากนี้ ยังมีร้านค้าในรูปแบบแฟลกชิพสโตร์ (Flagship Store) ปรับโฉมใหม่ให้เชื่อมโยงกันระหว่างห้างและศูนย์การค้า โดยไม่มีการแบ่งกั้นอีกต่อไป เพิ่มความสะดวกสบายให้ลูกค้าในการเดินเลือกซื้อสินค้าต่างๆ
ชั้น G กรูเมต์ มาร์เก็ต (Gourmet Market) ซูเปอร์มาร์เก็ตระดับพรีเมียม ที่สร้างรายได้หลักให้กับธุรกิจรองจากสยามพารากอน เดอะมอลล์บางแค และเดอะมอลล์บางกะปิ ก็ปรับโฉมใหม่ให้กว้างขึ้น
โดยได้เพิ่มแผนกใหม่ ได้แก่ กรูเมต์ เนเชอรัล (Gourmet Natural) ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ, กรูเมต์ เบเกอรี (Gourmet Bakery) ร้านขนมปัง และ บิวตี้พาร์เรอร์ (Beauty Parlour) สินค้าเพื่อสุขภาพและความงามกว่า 1,000 แบรนด์
ถัดมาคือ อีเวนท์ฮอลล์ (Event Hall), โซนกรูเมต์ อีท แบบเทคโฮม (Take Home) และแคชชวล ไดนิ่ง (Casual Dining), ร้านกาแฟ ร้านคาเฟ่ของหวาน และอาคารกรูเมต์ อีทส์ กรีน เฮ้าส์ บริการแบบไลฟ์สไตล์ ไดนิ่ง (Lifestyle Dining)
ส่วนชั้น 1 และชั้น 2 ปรับปรุงหลังสุด ประกอบด้วย ชั้น 1 แกรนด์ฮอลล์, แผนกบิวตี้ ฮอลล์ แฟชั่นสุภาพสตรี, บริการด้านความงาม เครื่องประดับ รองเท้าและกระเป๋า และยังมีทางเชื่อมไปยังสะพานลอยฝั่งตรงข้ามอีกด้วย
โดยร้านแฟชั่นชั้นนำที่เข้ามาเปิดประกอบด้วย เอชแอนด์เอ็ม (H&M), ชาร์ลส แอนด์ คีธ (Charles & Keith), จัสปาล (JASPAL), คอตตอน ออน (Cotton On), โพเมโล (Pomelo)
ส่วนชั้น 2 ประกอบด้วย แผนกแฟชั่นสุภาพสตรี ชุดชั้นในสตรี ลองเจอเรย์ซาลอน (Lingerie Salons) ร้านค้าแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ร้านแว่นตา โดยมีร้านแบรนด์ชั้นนำ ได้แก่ ยูนิโคล่ (Uniqlo), เอทูแซด (AIIZ), เจดีสปอร์ต (JD Sport)
รวมทั้ง ร้านมูจิ แฟลกชิพ สโตร์ (MUJI Flagship Store) ของบริษัทเรียวฮินเคคาขุ ประเทศญี่ปุ่น กับกลุ่มเซ็นทรัล เปิดสาขาแรกของเดอะมอลล์กรุ๊ปที่นี่ มีทั้งมุมกาแฟ (MUJI Coffee Corner) ต้นไม้ และบริการปักผ้า (Embroidery Service)
ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2534 ประกอบด้วยศูนย์การค้าสูง 7 ชั้น บนพื้นที่ 2.5 แสนตารางเมตร พร้อมสวนน้ำ สวนสนุก โรงภาพยนตร์ และอาคารสำนักงาน รวมความสูง 11 ชั้น
เคยผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะเหตุเพลิงไหม้เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2538 ทำให้ต้องปรับปรุงครั้งใหญ่ ด้วยงบลงทุนราว 300 ล้านบาท ก่อนจะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2539
คู่แข่งสำคัญของเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน คือ “เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว” เปิดให้บริการเมื่อ 30 เมษายน 2526 บนที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย ก่อนที่จะมีเดอะมอลล์เกิดขึ้นมา 8 ปี ถือว่า “สมน้ำสมเนื้อ” ในโซนกรุงเทพฯ เหนือและนนทบุรี
ภายหลังกลุ่มเซ็นทรัลขยายศูนย์การค้าแบบดักหน้า-ดักหลัง เช่น ซื้อกิจการห้างจัสโก้ รัตนาธิเบศร์ ที่อยู่ห่างจากเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน 5 กิโลเมตร เมื่อเดือนธันวาคม 2546 ก่อนปรับปรุงใหม่เป็นศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา รัตนาธิเบศร์
ต่อมาก่อสร้างศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา แจ้งวัฒนะ อ.ปากเกร็ด เปิดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2551 และก่อสร้างศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต บริเวณทางแยกต่างระดับบางใหญ่ เปิดเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2558
เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน เคยปรับปรุงครั้งใหญ่เมื่อปี 2551 เพิ่มโซนซิตี้ วอล์ค (City Walk) รวมสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์วัยรุ่น 120 ร้านค้า บนชั้น 6 พื้นที่กว่า 5,000 ตารางเมตร และขยายพื้นที่ซูเปอร์มาร์เก็ตโฮม เฟรช มาร์ท ให้กว้างมากขึ้น
ไม่นับรวมค้าปลีกโซนกรุงเทพฯ เหนือ และนนทบุรีมีคู่แข่งเพิ่มขึ้น อาทิ กลุ่มบางกอกแลนด์ พัฒนาแหล่งช้อปปิ้งเป็นของตัวเอง เช่น ศูนย์การค้าคอสโม บาร์ซา, เอาท์เล็ต สแควร์ แหล่งรวมร้านสินค้ากีฬาชั้นนำ และคอมมูนิตีมอลล์ บีไฮฟ์
ถึงกระนั้น เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน ยังเป็นที่คุ้นเคยของคนในพื้นที่ และมีกลุ่มลูกค้าครอบครัวย่านที่พักอาศัย ซึ่งผูกพันเหนียวแน่นมานานกว่า 20 ปี เข้ามาใช้บริการอยู่ ไม่รวมโครงการอสังหาริมทรัพย์โซนนนทบุรีที่เติบโตต่อเนื่อง
แม้วันเวลาผ่านไปห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าในตำนานเหลือเพียงไม่กี่แห่ง บางแห่งล้มหายตายจาก บางแห่งอยู่กันแบบซังกะตาย แต่สำหรับเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน เป็นตัวอย่างของการปรับตัว ให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่ง
หลังจากนี้ เดอะมอลล์กรุ๊ปเตรียมที่จะปรับโฉมครั้งใหญ่ เดอะมอลล์ท่าพระ และเดอะมอลล์บางแค เป็นลำดับถัดไป