xs
xsm
sm
md
lg

ถอดรหัส 8 ข้อ “โครงการคนละครึ่ง” ทำไมถึงปัง?

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/Kittinanlive

“โครงการคนละครึ่ง” มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผลักดันออกมาเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ลดค่าครองชีพและเสริมสภาพคล่องร้านค้ารายย่อย ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม

ถึงขนาดเวลาออกไปไหนก็เจอแต่ร้านค้า ร้านอาหาร หาบเร่แผงลอย ติดป้ายว่า “รับคนละครึ่ง” เต็มไปหมด!

คนที่ไม่ทราบมาก่อนว่า รูปแบบโครงการคนละครึ่งเป็นอย่างไร ให้นึกภาพมาตรการ “ชิมช้อปใช้” ในอดีต เราจะใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” มาคราวนี้รัฐบาลไม่ได้แจกเงินแล้ว แต่เป็นการ “ร่วมจ่าย” (Co-Pay) ระหว่างรัฐบาลกับประชาชน

โครงการนี้เปิดรับลงทะเบียน 10 ล้านคน แต่ละคนจะได้รับส่วนลด 50% สูงสุด 150 บาทต่อวัน และสูงสุด 3,000 บาทตลอดโครงการ ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม ถึง 31 ธันวาคม 2563 ใช้งบประมาณราว 30,000 ล้านบาท


ที่ผ่านมารัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้กลไกระบบการชำระเงินระดับชาติ (National e-Payment) ไปหลายโครงการ ทั้งมาตรการ “ชิมช้อปใช้” แจกเงิน 1,000 บาท ใช้ได้เฉพาะจังหวัดที่ลงทะเบียนไว้ โดยไม่ซ้ำกับทะเบียนบ้าน

มาตรการ “เราไม่ทิ้งกัน” แจกเงินเยียวยา 5,000 บาทแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เป็นเวลา 3 เดือน รวมทั้งโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่รัฐบาลออกค่าโรงแรมที่พัก 40% เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ

มาตรการและโครงการต่างๆ เหล่านี้แม้จะเป็นที่พูดถึงในระยะแรกๆ แต่ก็เหมือนกับไฟไหม้ฟาง กระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียงชั่วครู่ในระยะเริ่มต้นโครงการ แล้วหลังจากนั้นก็กลับมาซบเซา เพราะประชาชนไม่มีอารมณ์ในการจับจ่าย

แต่โครงการล่าสุด “คนละครึ่ง” ผลตอบรับดีเกินคาด ไม่ใช่เพียงแค่นามธรรม แต่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ จากยอดใช้จ่ายสะสม (ณ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2563) สูงถึง 13,481 ล้านบาท ในระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือน

แบ่งออกเป็น เงินที่ประชาชนเติมเงินลงใน G-Wallet แล้วใช้จ่าย 6,869 ล้านบาท และภาครัฐร่วมจ่ายจากการให้ส่วนลดทันที 50% อีก 6,612 ล้านบาท คำนวณออกมาแล้วคิดเป็นยอดใช้จ่ายเฉลี่ย 208 บาทต่อครั้ง


ส่วนจังหวัดที่ใช้จ่ายในโครงการคนละครึ่งสูงสุด 10 อันดับแรก ล้วนแล้วเป็นจังหวัดใหญ่ๆ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ ชลบุรี นนทบุรี สมุทรปราการ นครราชสีมา และปทุมธานี

ที่น่าสนใจก็คือ ข้อมูลจากเฟซบุ๊กของ “สมคิด จิรานันตรัตน์” ที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งอยู่เบื้องหลังแพลตฟอร์มต่างๆ ของรัฐ เช่น เราไม่ทิ้งกัน, แพลตฟอร์มไทยชนะ, วอลเล็ต สบม. ฯลฯ

พบว่า สัดส่วนอายุของผู้ใช้งานในโครงการคนละครึ่ง ช่วงอายุ 31-45 ปี มีผู้ใช้งานมากที่สุดถึง 39% รองลงมาคือช่วงอายุ 46-60 ปี มีผู้ใช้งาน 26% และช่วงอายุ 22-30 ปี มีผู้ใช้งาน 19%

เสียงชื่นชมถึงโครงการคนละครึ่ง ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ สั่งการให้กระทรวงการคลัง ไปศึกษาข้อมูล เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ จัดทำ “โครงการคนละครึ่ง เฟส 2” เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2564 ให้กับประชาชน

นอกจากคนที่รับสิทธิโครงการคนละครึ่งเฟสแรก 10 ล้านคน จะใช้ได้ทันที โดยไม่ต้องลงทะเบียนซ้ำอีกครั้งหนึ่งแล้ว ยังจะพิจารณาความเป็นไปได้ เพิ่มจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์ และเพิ่มวงเงินใช้จ่ายอีกด้วย


อาจมีคนสงสัยว่า ทำไมโครงการคนละครึ่งถึงประสบความสำเร็จ เป็นที่พูดถึงกันอย่างแพร่หลาย ถึงขนาดยกให้เป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แต่หากประเมินสถานการณ์พอจะวิเคราะห์ได้ดังนี้

1. โครงการนี้ไม่ได้แจกเงิน สังเกตได้จากมาตรการชิมช้อปใช้ รวมทั้งโครงการในตำนานอย่าง “เช็คช่วยชาติ” 2,000 บาท พบว่ากระแสที่ออกมาเป็นแบบไฟไหม้ฟาง ช่วงแรกคนแห่ใช้จ่ายทีเดียว หลังจากนั้นก็เงียบเหมือนเดิม

แต่สำหรับโครงการคนละครึ่ง แม้มองผิวเผินเหมือนจะแจกเงิน แต่แท้ที่จริงไม่ได้แจกเงิน เพราะประชาชนที่เข้าร่วมโครงการยังต้อง “ควักเงินตัวเอง” เติมเงินลงใน G-Wallet เพื่อให้ได้ส่วนลด ถือเป็นการกระตุ้นประชาชนให้ใช้จ่ายไปพร้อมกันด้วย

2. โครงการนี้ให้ส่วนลดเพียงวันละ 150 บาท เพียงพอต่อการใช้จ่ายในแต่ละวัน จากปัจจุบันอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 313-336 บาทต่อวัน หากใช้ไม่หมดก็ทบไปในวงเงินรวม แล้วใช้จ่ายวันละ 150 บาทในวันถัดไป จนกว่าวงเงินจะหมด

วงเงินที่ได้รับ 3,000 บาท หากใช้จ่ายมากกว่า 300 บาทขึ้นไป จะใช้ส่วนลดในโครงการคนละครึ่ง 150 บาท ได้ประมาณ 20 วัน แต่หากใช้จ่ายน้อยกว่า จะสามารถใช้ส่วนลดได้ยาวนานกว่า จากระยะเวลาโครงการทั้งหมด 70 วัน

3. ประชาชนรู้สึกว่าลดค่าครองชีพได้จริง ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากสภาพเศรษฐกิจซบเซา ที่เป็นผลพวงมาจากสถานการณ์โควิด-19 เพราะเมื่อร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการสแกนจ่าย ระบบจะแสดงส่วนลด 50% หรือสูงสุด 150 บาททันที

ที่ผ่านมาประชาชนส่วนหนึ่งเลือกที่จะนำไปใช้เป็นค่าอาหารและเครื่องดื่มในชีวิตประจำวัน อีกส่วนหนึ่งเลือกที่จะซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง ไข่ไก่ ปลากระป๋อง ผงซักฟอก ฯลฯ เข้าบ้าน ส่วนบางคนเลือกซื้อของที่อยากได้


4. โครงการนี้ไม่ได้เอื้อนายทุนโดยตรง เพราะร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการกว่า 648,000 ร้านค้า ล้วนแล้วแต่เป็นร้านอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าโอทอป สินค้าทั่วไป รวมทั้งหาบเร่แผงลอย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ในนามบุคคลธรรมดา

ไม่มีร้านสะดวกซื้อ ร้านแฟรนไชส์ ห้างโมเดิร์นเทรดต่างๆ ถึงห้างฯ บางแห่งจะมีโลโก้คนละครึ่ง แต่ก็เป็นผู้ค้ารายย่อยที่ไปเช่าพื้นที่ เพิ่มทางเลือกให้ประชาชนได้มีโอกาสใช้จ่าย เพิ่มรายได้ให้ร้านค้าเล็กๆ กระตุ้นเศรษฐกิจลงไปในระดับชุมชน

5. ร้านค้ารายย่อยยอดขายเพิ่มขึ้น เมื่อประชาชนใช้สิทธิคนละครึ่งได้ ก็จะเกิดการกลับมาซื้อซ้ำ หรือซื้อในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น เช่น ร้านเครื่องดื่ม เมื่อลูกค้ารู้ว่าใช้ส่วนลดได้ถึงครึ่งหนึ่ง ก็จะเกิดการซื้อเพิ่ม เพื่อแจกหรือหารกันกับคนรอบข้าง

ขณะที่ประชาชนเริ่มถามหาร้านค้าว่า “รับคนละครึ่งหรือไม่” ทำให้มีร้านค้าสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งกับธนาคารกรุงไทยเพิ่มขึ้น เพื่อช่วงชิงลูกค้าในโครงการที่มีราว 10 ล้านคน ซึ่งคาดว่าจะเงินสะพัดมากกว่า 60,000 ล้านบาท

6. ประชาชนเข้าถึงอี-เพย์เมนต์มากขึ้น จากยอดผู้ใช้บริการธนาคารบนโทรศัพท์มือถือ (Mobile Banking) ที่เจ้าตลาดมีจำนวนลูกค้าใกล้จะถึง 15 ล้านราย และเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) ที่เจ้าตลาดมีจำนวนลูกค้าราว 13 ล้านราย

โครงการคนละครึ่ง ใช้กลไกอี-เพย์เมนต์จากแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” พัฒนาโดยธนาคารกรุงไทย ออกรหัส G-Wallet ในรูปแบบพร้อมเพย์ อี-วอลเล็ต 15 หลัก สามารถรับเงินผ่านการเติมเงินพร้อมเพย์ และโอนเงินหากันได้


7. ผู้ใช้งานส่วนใหญ่คือกลุ่มคนวัยทำงาน หากพิจารณาถึงสัดส่วนอายุของผู้ใช้งานในโครงการคนละครึ่ง พบว่าช่วงอายุ 31-45 ปี ใช้งานมากที่สุดถึง 39% ถือเป็นช่วงวัยทำงาน กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว และรู้จักใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน

คนกลุ่มนี้อาจจะเข้าถึงโปรโมชันจากอี-เพย์เมนต์ในรูปแบบต่างๆ มาก่อน ซึ่งจะแสดงส่วนลดทันทีเมื่อใช้จ่าย ทำให้การใช้งานคนละครึ่งในแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ไม่ยุ่งยากมากนัก แม้ในระยะแรกๆ จะต้องสร้างการจดจำวิธีใช้งานก่อนก็ตาม 

8. การประชาสัมพันธ์และการบอกต่อผ่านโซเชียลฯ ธนาคารกรุงไทย ส่งพนักงานลงพื้นที่ไปประชาสัมพันธ์ ทำสื่อโปรโมตร้านค้ารูปแบบต่างๆ ทั้งสติกเกอร์ ป้ายตั้งโต๊ะ รวมทั้งเชิญชวนลงทะเบียนร้านค้าตามตลาดและชุมชนต่างๆ

ขณะที่ระบบการค้าหาร้านค้าแม้จะไม่สมบูรณ์ แต่ก็ได้กระแสโซเชียลฯ ถามหาร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง โดยเฉพาะเฟซบุ๊กกลุ่มระดับจังหวัด อำเภอ และชุมชน ก็มีผู้คนแชร์ประสบการณ์ว่าร้านไหนใช้ได้บ้าง ก่อนจะมีลูกค้าสนใจตามมา 

สิ่งหนึ่งที่อยากจะเสนอ เมื่อรัฐบาลจะพิจารณาโครงการคนละครึ่ง เฟส 2 ก็คือ เปิดโอกาสให้คนที่เข้าร่วมโครงการอื่นๆ เช่น ช้อปดีมีคืน หากพ้นปี 2563 ไปแล้ว เข้าร่วมสร้างประสบการณ์ในโครงการคนละครึ่ง เพื่อเข้าถึงร้านค้ารายย่อยบ้าง

ไม่จำเป็นต้องให้วงเงินถึง 3,000 บาทก็ได้ เอาแค่สัก 1,000 บาทก็พอ แล้วตอนหลังค่อยให้ส่วนลดสัก 20-40% เพื่อไม่ให้เบียดเบียนผู้ที่ได้รับสิทธิเดิม เชื่อว่าถ้าให้พวกเขาได้ลองใช้สิทธิบ้างก็แฮปปี้ ร้านค้ารายย่อยก็แฮปปี้ที่ได้กลุ่มลูกค้าเพิ่มขึ้น

สุดท้าย “ร้านค้าคนละครึ่ง” อาจจะเป็นผู้ผลักดันสังคมไร้เงินสด สร้าง "ระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ" ขึ้นมาใหม่ให้เกิดขึ้นได้จริงในอนาคตอันใกล้


กำลังโหลดความคิดเห็น