กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
มาตรการเร่งด่วนป้องกันวิกฤตการณ์จากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หนึ่งในนั้นคือการยับยั้งการระบาดภายในประเทศ ด้วยการปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดที่มีคนแออัด เบียดเสียด ง่ายต่อการแพร่เชื้อ
ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้ออกประกาศ “ปิดสถานที่ชั่วคราว” ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ปี 2558 โดยอำนาจของผู้ว่าฯ กทม. และผู้ว่าราชการจังหวัดปริมณฑล 5 จังหวัดไปบ้างแล้ว
สนามมวย สนามกีฬา สนามม้า ปิดชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
ผับ สถานบันเทิง โรงภาพยนตร์ นวดแผนโบราณ สปา ฟิตเนส และสถานบริการอื่นๆ ปิดชั่วคราว 14 วัน
ห้างสรรพสินค้า ตลาดทุกประเภท ปิดชั่วคราว 22 วัน ยกเว้นซูเปอร์มาร์เก็ต อาหารสด อาหารพร้อมทาน สินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ส่วนร้านอาหารให้บริการเฉพาะสั่งกลับบ้านหรือทานที่อื่น (Take Away / Delivery) เท่านั้น
แน่นอนว่า ผลจากการสั่งปิดสถานที่ดังกล่าว ย่อมกระทบกับผู้คนหลายภาคส่วน เหตุมาจาก “ประกาศวันนี้...พรุ่งนี้ปิด” อย่างไม่ทันตั้งตัว ไม่ทันได้เตรียมใจเสียด้วยซ้ำ
ลูกจ้างหลายคนกลายเป็น “คนว่างงาน” รายได้ขาดหายแต่รายจ่ายเท่าเดิม นายจ้างจำต้องทำตามมาตรการฯ ที่ภาครัฐเห็นว่า “คิดมาดีแล้ว” หวังหยุดยั้งการแพร่ระบาดที่มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกนับแสน คร่าชีวิตคนมาแล้วถึงหลักหมื่น
หนทางหนึ่งที่ลูกจ้างเหล่านี้มองว่าจะช่วยแก้ปัญหา คือการ “กลับภูมิลำเนา”
ภาพที่ผู้คนจำนวนมาก รวมตัวกันที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 เมื่อค่ำวันที่ 22 มี.ค. ที่ผ่านมา หากไม่นับชาวเมียนมา ชาวลาว และชาวกัมพูชากลับประเทศ ก่อนปิดด่านถาวรทั้งหมด ก็เป็นประชาชนที่ตัดสินใจกลับบ้านเกิด ในห้วงเวลาที่ยังว่างงาน
หลายฝ่ายพยายามรณรงค์ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ขอความร่วมมือไม่เดินทางออกนอกพื้นที่กรุงเทพฯ ให้อยู่แต่ในที่พักอาศัย เนื่องจากอาจได้รับเชื้อระหว่างเดินทาง และเป็นพาหะนำเชื้อไปสู่ผู้อื่น โดยเฉพาะผู้สูงอายุและเด็ก
สิ่งที่คณะแพทย์และรัฐบาลกังวลก็คือ ก่อนหน้านี้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า 80% อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จึงไม่ควรแพร่กระจายความเสี่ยงไปจังหวัดอื่น ถึงขนาดเสนอให้ “ยกเลิกวันหยุดสงกรานต์” และรัฐบาลก็ตอบสนอง
แต่เมื่อผับปิด ห้างฯ ปิด ลูกจ้างรายวันที่ว่างงานก็ไม่รู้จะอยู่กรุงเทพฯ ไปทำไม ก็เลยแห่กลับบ้านต่างจังหวัด
มาตรการ “ยกเลิกวันหยุดสงกรานต์” ให้ทำงานตามปกติเพื่อสกัดกั้นกลับภูมิลำเนา จึงดูไร้ความหมาย
“คนเคยทำงาน จะให้นอนอยู่ห้องสี่เหลี่ยมเกือบเดือน มันเป็นไปไม่ได้หรอก”
เสียงสะท้อนจากลูกจ้างสาวรายหนึ่ง เป็นพนักงานขายร้านจำหน่ายอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ ห้างสรรพสินค้าใจกลางกรุงเทพฯ กล่าวถึงสภาวะหลังกลายเป็น “คนว่างงาน” แทบจะนอนไม่หลับ กินข้าวไม่ลง
เธอตัดสินใจกลับบ้านเกิดที่ภาคอีสานเมื่อไม่นานมานี้ หลังร้านที่ทำงานอยู่ถูกทางห้างฯ สั่งปิดชั่วคราว 22 วัน โดยนายจ้างให้กลับมาทำงานอีกที 13 เมษายน 2563 แม้พื้นที่บางส่วนในห้างฯ และร้านขายยายังเปิดให้บริการอยู่ก็ตาม
ลูกจ้างสาวรายนี้ เข้าใจดีถึงมาตรการของภาครัฐ ที่จะสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่อยู่ๆ ประกาศออกมาแบบ “ไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย” ก็รู้สึกจุกในอก โชคดีที่นายจ้างเข้าใจ ยังจ่ายค่าแรงให้เต็มเดือน
จะมีก็แต่สามีที่ทำงานร้านซ่อมนาฬิกาอยู่ในห้างฯ เดียวกัน ยังคงไม่มีสัญญาณตอบรับจากนายจ้าง
“ถามว่าหยุดได้ไหม หยุดได้ แต่รัฐต้องมีมาตรการเยียวยาแรงงานด้วย อยู่ๆ ประกาศปิดห้างฯ แบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ลูกจ้างเดือนชนเดือนไม่มีเงินสำรองแล้ว”
“ถ้าไม่มีเงินสำรอง 22 วันจะอยู่ยังไง สุดท้ายทางออกคือกลับพี่...ต้องกลับบ้านเท่านั้น สองคนผัวเมียทำงานห้างฯ ขาดรายได้ 22 วันก็คือจบ” เธอระบายความอัดอั้นใจ
เธอกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ที่ร้านได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำ มาถึงช่วงที่โรคโควิด-19 เริ่มระบาดในประเทศจีน นักท่องเที่ยวจีนซึ่งเคยคึกคักก็หายไปหมด ล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา ยอดขายหักต้นทุนแล้วเกือบจะติดลบ
“เดิมยอดขายต่อเดือนประมาณ 180,000-200,000 บาท แต่เจอโควิดฯ เหลือ 130,000 บาท พอหักโน่นหักนี่ หักค่าเช่าพื้นที่ประมาณ 64,000 บาท เหลือกำไรไม่กี่พัน” เธอกล่าว
ถามว่า กลับไปบ้านคราวนี้จะไปทำอะไร เธอกล่าวทันทีว่า “ทำนา”
“กลับบ้านก็ไปอยู่นา ไปไถนา เห็นเขาว่ากลับไปต้องแจ้งกำนัน ก็เต็มใจนะ เพราะตั้งใจไปอยู่นาอยู่แล้ว มันเซฟรายจ่าย คือยังดีกว่านอนอยู่ห้อง รายจ่ายค่าอาหารเช้า เที่ยง เย็น 300 บาทต่อวัน รายได้ไม่มี คูณ 22 วันก็หนักอยู่นะ”
ทุกวันนี้เธอและสามี มีรายจ่ายหลักก็คือค่างวดรถ ค่าเช่าห้อง ค่ากิน ที่ผ่านมาพยายามยื่นเรื่องต่อสถาบันการเงินเพื่อขอพักชำระหนี้ค่างวดรถยนต์ โดยทุกวันนี้ยังไม่รู้ว่าธนาคารฯ จะอนุมัติหรือไม่?
จากที่ได้พูดคุย เธอฝากไปถึง รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า ต้องมีมาตรการช่วยเหลือ “ลูกจ้างรายวัน” เช่น พักชำระหนี้ ลดค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ เพราะแม้ทุกอย่างจะหยุดลง แต่รายจ่ายยังเดินหน้าต่อเนื่อง
“ลูกจ้างบางร้าน นายจ้างจ่ายแค่วันทำงาน แล้วเขาจะประคองชีพไปยังไงต่อ เพราะพวกเราไม่มีประกันสังคม รัฐบาลต้องช่วยลูกจ้างนอกประกันสังคม มีเยอะเลยที่ทำงานห้างฯ” ลูกจ้างสาว กล่าวทิ้งท้าย
ผลกระทบจากการปิดสถานที่ ไม่ใช่เพียงแค่ลูกจ้างที่มีภูมิลำเนาต่างจังหวัด ต้องตัดสินใจกลับบ้านเกิด แต่ลูกจ้างที่เป็น “พาร์ทไทม์” ก็กระทบไม่แพ้กัน แม้บางคนจะพักอยู่ในกรุงเทพฯ อยู่แล้วก็ตาม
นักศึกษาสาวรายหนึ่ง ใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนทำงานพาร์ทไทม์เป็น “อีเวนต์เชียร์เบียร์” ให้กับผลิตภัณฑ์เบียร์ยี่ห้อหนึ่ง เธอจะวนไปช่วยสถานบันเทิงต่างๆ ยืนหน้าร้านคอยรับลูกค้าและเชียร์สินค้า โดยหมุนเวียนไปในแต่ละร้าน
แม้การสั่งปิดสถานบันเทิงชั่วคราว 14 วัน จะทำให้ขาดรายได้ แต่ยังนับว่าโชคดีที่เธอยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่ที่บ้าน จึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เมื่อเทียบกับลูกจ้างรายวันคนอื่นๆ ที่ออกมาเช่าหออยู่ด้วยตัวเอง ซึ่งยังมีภาระค่าใช้จ่ายสารพัด
อย่างไรก็ตาม งานแบบนี้ได้เงินค่าจ้างเป็นรายวัน ไม่ใช่งานประจำที่มีเงินเดือน ปกติเลิกเรียนก็จะตรงดิ่งไปทำงานที่ร้านเลย ซึ่งงานที่ทำอยู่ต้องทำที่ร้านเหล้า ร้านที่มีเบียร์ ต้องขายเบียร์ให้ลูกค้าที่มาเที่ยว
หลังปิดสถานบันเทิง จากที่มีเงินเก็บ มีพอใช้ ตอนนี้ต้องมา “หยิบยืมเงิน” ของคนในครอบครัวแล้ว!
“ตั้งแต่มีประกาศให้ปิดสถานบันเทิงก็ขาดรายได้ จากที่เคยทำงานได้เงินมาก็พอค่าข้าว ค่ารถไปเรียน พอได้ช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่ แต่ตอนนี้ต้องอยู่แต่ในบ้าน ยังไม่ชินยังไงไม่รู้” เธอกล่าว
ถึงกระนั้น เธอยังรู้สึก “เห็นด้วย” กับการปิดสถานบันเทิงและพื้นที่สุ่มเสี่ยง ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เห็นว่าร้านเหล้าอันตรายมากจริงๆ
เมื่อถามว่า อยากให้รัฐบาลช่วยเหลืออะไรกับลูกจ้างรายวัน เธอกล่าวว่า อยากให้ช่วยเรื่องการพักชำระหนี้ หรือลดหย่อนดอกเบี้ยก็ยังดี
“คนที่ทำงานแบบหนู ส่วนใหญ่มีภาระกันเยอะ งานแบบนี้ได้เงินเป็นรายวัน เรียกว่าเงินร้อน ส่วนใหญ่เค้าจะมาทำเป็นพาร์ทไทม์กัน เพื่อหาตังค์ใช้หนี้ หรือใช้จ่ายอะไรที่จำเป็นและเร่งรีบมากๆ” นักศึกษาสาว ระบุ
ผลกระทบจากการปิดสถานที่ชั่วคราว ทำให้ลูกจ้างรายวัน และคนหาเช้ากินค่ำจำนวนมากต้องหยุดงาน ขาดรายได้ ไม่มีเงินสำหรับการยังชีพ อีกทั้งส่วนใหญ่ไม่มี “ประกันสังคม” ต่างจากพนักงานประจำ พนักงานออฟฟิศ
“กรณ์ จาติกวณิช” หัวหน้าพรรคกล้า และอดีต รมว.คลัง เสนอให้รัฐบาลต้องมีแผนดูแล “กลุ่มคนว่างงานฉับพลัน” จ่ายค่าชดเชยรายได้วันละ 300 บาท ให้คนที่ไม่ได้ทำงาน ผ่านสถานประกอบการที่เป็นนายจ้าง จูงใจให้คนต่างจังหวัดอยู่กับที่ ไม่กลับภูมิลำเนา
ส่วน “เจ๊จง” จงใจ กิจแสวง เจ้าของร้านหมูทอดชื่อดัง เสนอให้เจ้าหนี้ “ยืดเวลาผ่อนชำระ” ออกไปก่อน 1 เดือน เพื่อต่อลมหายใจ เพราะช่วงนี้ทำมาหากินไม่ได้ คนที่ลำบากที่สุด คือ คนหาเช้ากินค่ำที่ต้องจ่ายหนี้รายวัน
เป็นเสียงสะท้อนที่รัฐบาลควรฟัง และเร่งหาทางออกแบบ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
ก่อนที่ลูกจ้างเหล่านี้จะตายกันหมด!