กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
เมื่อ 5 ปีก่อน มีโอกาสรู้จักกับนายทหารท่านหนึ่ง จากพ็อกเก็ตบุ๊คที่ชื่อว่า “จากเด็กชายสู่นายทหาร”
เป็นหนังสือที่จัดทำขึ้นเพื่อการกุศล บอกเล่าเรื่องราวถึงเด็กหนุ่มคนหนึ่งชาวจังหวัดสุรินทร์ ศิษย์เก่าเตรียมทหารรุ่นที่ 42 นายร้อย จปร. รุ่นที่ 53 เติบโตมาเป็นนายทหาร ลงไปปฏิบัติหน้าที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
กระทั่งเกิดเรื่องโชคร้ายที่สุดในชีวิต
23 กันยายน 2553 หรือเมื่อ 9 ปีก่อน เขาถูกคนร้ายลอบวางระเบิดที่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ระหว่างนั่งรถกระบะติดเกราะพร้อมกำลังพลรวม 5 นาย เพื่อรักษาความปลอดภัยแก่ชาวบ้าน
แรงระเบิดทำให้รถลอยขึ้นสูง ก่อนร่วงลงกระแทกพื้นถนน กำลังพลที่นั่งอยู่ด้านหลังกระเด็นไปคนละทิศละทาง ส่วนเขาพร้อมพลขับติดอยู่ในรถ กระทั่งลูกน้องยิงต่อสู้กับผู้ก่อความไม่สงบจนล่าถอย ทำให้ทุกคนรอดชีวิต
แต่เมื่อเขานั่งตรงจุดที่ระเบิดพอดี จึงอาการสาหัส หัวแตก กระดูกสันหลังแตก กระดูกซี่โครงร้าว ขาขวาหัก กระดูกเท้าขวาแตก เลือดออกในสมอง เลือดออกในปอด เลือดออกในหัวใจ
เขาถูกส่งมารักษาตัวจากโรงพยาบาลปัตตานี ก่อนส่งต่อมาที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กรุงเทพฯ ต้องนอนติดเตียงมานาน กระทั่งร่างกายค่อยๆ ฟื้นฟู ผ่านการทำกายภาพบำบัด สุดท้ายจึงกลับมาปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ
“ผู้พันอ๊อฟ” พ.ท.สรเชษฐ ดีเอื้อ ปัจจุบันเพิ่งจะย้ายลงมาดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับกองพันนักเรียนนายสิบที่ 1 (ผบ.พัน นนส.ที่ 1) โรงเรียนนายสิบทหารบก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มาได้ประมาณ 2 เดือน
ที่ผ่านมา ได้เห็นความเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดียอยู่เรื่อย ก่อนหน้านี้ก็เคยร่วมกับ “หมอภาคย์” พ.ท.นพ.ภาคย์ โลหารชุน ร่วมกิจกรรมวิ่งการกุศลเพื่อระดมทุน สร้างศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา
นอกจากนี้ เรายังคงเห็นวีดีโอคลิปการออกกำลังกาย โดยเฉพาะเวทเรนนิ่งให้เห็นอยู่เสมอ และเป็นแบบอย่างที่เชื่อว่า คนที่ได้ชมคลิปจะได้รับแรงบันดาลใจให้หันมาออกกำลังกายกันบ้าง
จากที่คิดว่าจะเจอตัวจริงนอกจากหน้าจอคงเป็นไปได้ยาก แต่เมื่อวันก่อนมีโอกาสลงมาธุระที่หัวหิน เมื่อเวลาว่างตรงกัน จึงถือเป็นครั้งแรกที่ได้เจอ “ผู้พันอ๊อฟ” ตัวจริง
การสนทนาครั้งนั้นเกิดขึ้นที่ร้านกาแฟใน “อุทยานราชภักดิ์” พระบรมราชานุสาวรีย์บูรพกษัตริย์ 7 พระองค์ บนถนนเพชรเกษม ติดกับสถานที่ทำงานของเขาพอดี ท่ามกลางนักท่องเที่ยวมาเยือนในวันหยุดสุดสัปดาห์อย่างไม่ขาดสาย
นายทหารวัย 36 ปีผู้นี้ ทำหน้าที่ดูแล “นักเรียนนายสิบ” ซึ่งมาจากบรรดาชายไทยอายุระหว่าง 18-24 ปี ที่สมัครเข้ามาเพื่อตามหาความฝันของตัวเอง แต่ละปีจะมีผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อประมาณ 1,980 คน
โดยที่เขารับผิดชอบกองพันนักเรียนนายสิบที่ 1 มีทั้งหมด 4 กองร้อย รวม 660 คน มีสัตว์ที่เป็นชื่อเรียกกองร้อย ได้แก่ กองร้อยกระทิง กองร้อยสิงโต กองร้อยอินทรี และกองร้อยคชสาร (ช้างศึก) จากทั้งหมด 3 กองพัน รวม 12 กองร้อย
นักเรียนนายสิบจะต้องศึกษาที่นี่เป็นเวลา 1 ปี ส่วนใหญ่เป็นวิชาการทหาร และภาษาอังกฤษ ก่อนที่จะเลือกเหล่า แล้วฝึกต่อที่โรงเรียนเหล่าทหารต่างๆ เป็นเวลา 6 เดือน จึงสำเร็จการศึกษา เข้ารับราชการทหารเริ่มจากยศ “สิบตรี” ต่อไป
ถึงกระนั้น ในช่วงที่ย้ายมาดำรงตำแหน่งครั้งนี้ ก็แบ่งเวลาไปศึกษาต่อปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด หัวหิน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่ทำงานมากนัก เพื่อแสวงหาความรู้เพิ่มเติม
พ.ท.สรเชษฐ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เป็นรองผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 13 ช่วยราชการ ฝ่ายกำลังพลกองพลทหารราบที่ 3 ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา
กระทั่งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) มีคำสั่งให้คัดเลือกนายทหารชั้นยศ “พันตรี” และ “พันโท” ที่เป็นฝ่ายเสนาธิการของหน่วย มาเป็นผู้บังคับกองพันโรงเรียนนายสิบ 3 ตำแหน่ง
“ผู้พันอ๊อฟ” จึงเป็น 1 ใน 3 นายทหารที่ได้รับการคัดเลือกดังกล่าว
เมื่อถามถึงความต่างระหว่างตำแหน่งเดิม แน่นอนว่าย่อมต่างกัน เขาอธิบายว่า ฝ่ายเสนาธิการมีหน้าที่ให้คำแนะนำแก่ผู้บังคับหน่วยในเรื่องต่างๆ และช่วยกำกับดูแลการปฏิบัติตามสั่งการของผู้บังคับหน่วย
แต่เมื่อขึ้นมาเป็นผู้บังคับหน่วย จึงมีหน้าที่ควบคุม บังคับบัญชา สั่งการให้หน่วยปฏิบัติงานได้ตามนโยบายของหน่วยเหนือ ซึ่งเป็นไปตามสายการบังคับบัญชา
“ความต่างอีกอย่างหนึ่งคือ หน่วยเดิมของผมเป็นหน่วยกำลังรบ หน้าที่คือ ใช้กำลังปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจต่างๆ ส่วนหน่วยปัจจุบันของผมคือ หน่วยศึกษา หน้าที่คือเตรียมกำลังด้วยการฝึก ศึกษากำลังพลนักเรียนนายสิบ ให้สามารถเป็นนายสิบที่ดีของกองทัพบกได้” เขาอธิบาย
นอกจากนี้ เมื่อเขาต้องลงมาดูแลนักเรียนนายสิบด้วยตัวเอง จึงต้องคอยดูแลทุกข์สุข พูดคุยกันแทบทุกเรื่อง
หนึ่งในคำถามที่สนทนา สิ่งที่เราคาใจก็คือ ร่างกายหลังถูกระเบิด บาดเจ็บสาหัสแบบนี้ ได้รับการฟื้นฟูให้กลับมาเหมือนเดิมได้อย่างไร?
“ผู้พันอ๊อฟ” เล่าว่า เขาต้องเป็นผู้ป่วยติดเตียงอยู่ 6 สัปดาห์ เนื่องจากเหตุระเบิดในคราวนั้นทำให้กระดูกสันหลังแตก ขาขวาหัก ต้องเข้ารับการผ่าตัดอย่างต่อเนื่องประมาณ 5-6 ครั้ง และรอให้กระดูกสันหลังเชื่อมต่อให้สนิทกันเสียก่อน
หลังจากนั้น เขาต้องทำกายภาพบำบัด ก่อนจะกลับมาเดินได้ แต่ก็ยังวิ่งไม่ได้ ต้องออกกำลังกายแบบไม่ต้องลงน้ำหนักที่ขามาก อย่างการปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ และตีกอล์ฟ
5 ปีผ่านไป ประมาณปี 2560 แพทย์เอ็กซเรย์แล้วอนุญาตให้วิ่งได้ จึงตัดสินใจลงแข่งขันไตรกีฬา ประกอบด้วย ว่ายน้ำ 1,500 เมตร ปั่นจักรยาน 40 กิโลเมตร และวิ่ง 10 กิโลเมตร แล้วก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
นอกจากความอดทนที่จะฟื้นตัวเองอย่างไม่ย่อท้อ สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ กำลังใจจากครอบครัว โดยเฉพาะแม่และน้องสาว ในช่วงที่พักรักษาตัว ยังคอยดูแลและให้กำลังใจมาตลอด
ถึงกระนั้น เมื่อเหตุการณ์ที่ผ่านมาทำให้กระดูกสันหลังแตก อีกทั้งบริเวณต้นขาขวาที่ผ่าตัด ยังต้องใส่เหล็กไปอีกหลายปี เพราะฉะนั้นการออกกำลังกายของเขา ยังต้องรู้จักลีมิตตัวเองอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้เกิดการบาดเจ็บซ้ำอีกครั้ง
คติพจน์ของเขา คือ “รู้ขีดจำกัดของตัวเอง ไม่ฝืน แต่ไม่ยอมแพ้”
“ความหมายก็คือรู้จักตัวเอง รู้ว่าเจ็บหรือเหนื่อยแค่ไหนยังทนได้ ควรไปต่อ ไม่ยอมแพ้ แต่ถ้ารู้ว่าเจ็บหรือเหนื่อยแค่ไหนควรหยุด ก็ควรหยุด ถ้าไม่หยุดจะอันตราย อาจทำให้บาดเจ็บ หรือจุดที่บาดเจ็บอยู่แล้วอาจจะเจ็บหนักมากขึ้นอีก ถ้าเราหยุดทัน โอกาสหน้าค่อยเตรียมตัวให้ดีแล้วมาใหม่ เราอาจจะสำเร็จได้” เขาอธิบายให้เห็นชัด
ทุกวันนี้เขายังคงออกกำลังกายด้วยการว่ายน้ำ วิ่ง ปั่นจักรยาน สลับกับการเล่นเวทเทรนนิ่ง บางโอกาสก็ลงแข่งไตรกีฬา แข่งวิ่ง แข่งปั่นจักรยานตามงานต่างๆ อีกด้วย
ระหว่างที่เดินเยี่ยมชมอุทยานราชภักดิ์ เราถามไปว่า “ดูเหมือนเป็นคนที่ไม่ค่อยซีเรียสกับปัญหา”
เขากล่าวว่า ชีวิตของเขาเหมือนได้ผ่านความตายมาครั้งหนึ่ง เพราะฉะนั้นเวลาที่เหลือจึงไม่มีอะไรน่ากลัวอีกแล้ว
“เวลาที่เราเจอปัญหา ไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม หนักแค่ไหนก็ตาม ก็สามารถทำใจให้สงบได้ง่าย ไม่เครียดกับปัญหา เราก็จะผ่านมันไปได้ด้วยดี และการที่เราได้ใช้หลักธรรมในการดำเนินชีวิต ก็ทำให้ชีวิตเราสงบ ร่มเย็น เป็นสุขมากขึ้นด้วย”
หลังจากที่เราร่ำลาและแยกย้ายกันไป การสนทนาในวันนั้น ทำให้คิดอยู่อย่างหนึ่ง เชื่อว่าคนเราต้องมีสักครั้งหนึ่งที่ต้องผ่านช่วงเวลายากลำบาก หรือเลวร้ายที่สุดในชีวิต กระทั่งมาถึงจุดที่เราผ่านพ้นวิกฤตชีวิตนั้นมาได้
ผู้พันอ๊อฟ ที่ครั้งหนึ่งคิดว่าตัวเองจะไม่รอด แต่เพราะความเข้มแข็งยังกลับมาเหมือนคนปกติได้ หากเราเจอกับปัญหา หรือรู้สึกแย่ แล้วมองย้อนกลับไปถึงช่วงที่ลำบากหรือเลวร้ายที่สุด กลายเป็นว่าปัญหาที่ผ่านเข้ามาหลังจากนี้ดูเล็กน้อยลงไป
เพราะสุดท้าย ปัญหาชีวิตที่ผ่านเข้ามามีไว้เพื่อ “แก้ไข” แค่นั้นเอง.
(ขอขอบคุณ ภาพส่วนหนึ่งจาก พ.ท.สรเชษฐ ดีเอื้อ)