xs
xsm
sm
md
lg

บทต่อไปของการเมืองไทย

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีไปแล้วเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562 ซึ่งยังถือเป็นนายกฯ ไทยคนที่ 29 อยู่ เพราะยังนั่งอยู่ที่เดิมไม่ไปไหน รับพระบรมราชโองการฯ กันในทำเนียบฯ

แต่ผิดไป คือสมัยจากนี้ ถือว่าเป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาเต็มรูปแบบ ตามรัฐธรรมนูญ 2560

ความแตกต่างที่สำคัญ คือจะไม่มีมาตรา 44 หรืออำนาจออกคำสั่งพิเศษแบบสมัยเป็น คสช.แล้ว การจะขับเคลื่อนอะไรที่จะต้องออกมาเป็นกฎหมาย ก็ต้องทำเป็นพระราชบัญญัติผ่านรัฐสภา ซึ่งตรงนี้ฝ่ายที่เป็นห่วงก็ห่วง ฝ่ายที่จะแช่งก็แช่งว่า รัฐบาลมี “เสียงปริ่มน้ำ” น่าจะไม่เกิน 5 เสียงเช่นนี้ สุ่มเสี่ยงมากกับกลไกอะไรก็ตามที่ต้องกระทำในสภาผู้แทนราษฎร

แต่เรื่องนั้น “ฝ่ายหนุน” เขาก็คิดไว้แล้วว่า ถ้าจำเป็นจริงๆ ก็ยังมีอำนาจของนายกฯ ผ่าน ครม.ที่จะตรา “พระราชกำหนด” (พ.ร.ก.) ออกมาใช้ไปก่อนได้ และค่อยนำไปให้สภาให้ความเห็นชอบ ซึ่งในตอนนั้นอาจจะง่ายกว่า เพราะกฎหมายมีผลใช้บังคับไปแล้ว ย่อมยกเลิกยากกว่าการเป็นร่างกฎหมาย

แต่โจทย์ข้อยากที่สุด คือ กรณีของพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญ เพราะเป็นการจัดสรรเงินงบประมาณไป “เลี้ยงประเทศ” ผ่านองค์กรและหน่วยงานของรัฐต่างๆ

ในธรรมเนียมการปกครองแบบรัฐสภา ถ้ารัฐบาลเสนอ พ.ร.บ.งบประมาณ หรือกฎหมายการเงินสำคัญๆ แล้วไม่ผ่าน ก็มีธรรมเนียมว่านายกฯ จะต้องลาออกเพื่อแสดงสปิริต หรือไม่ก็ยุบสภาให้ประชาชนตัดสินใจว่า จะเลือกรัฐบาลเดิมกลับเข้ามาหรือไม่

แต่ถ้าเป็นระบบประธานาธิบดีที่มีการแยกการเลือกประธานาธิบดีกับรัฐสภาออกจากกันเช่นสหรัฐอเมริกา การที่รัฐสภาไม่ผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณให้ ก็จะทำให้ฝ่ายรัฐบาลและกลไกเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่มีเงิน ไม่สามารถทำงานได้ หน่วยงานของรัฐต้องหยุดทำการ เรียกว่า Shutdown เช่นที่อเมริกามีปัญหาไปเมื่อคราวก่อน เพื่อให้ฝ่ายรัฐบาลต่อรองกับรัฐสภาให้ได้ข้อยุติร่วมกัน

กลับมาถึงเรื่องของไทย ในกรณีที่กฎหมายงบประมาณไม่ผ่านแล้วต้องลาออกนั้น จริงๆ จะไม่ลาออกก็ได้ เพราะอย่างที่กล่าวไป นี่เป็นธรรมเนียมทางการเมืองเท่านั้น แต่ต่อให้ต้องลาออกจริง สำหรับ “ลุงตู่ (สมัย 2)” นั้นไม่น่าหวั่นเกรงอะไร เพราะวุฒิสภาก็ยังมีอำนาจเลือกนายกฯ อยู่ ต่อให้ลาออกก็ตั้งกลับมาให้ได้ส่วนเรื่องรัฐบาลจะไม่มีเงินใช้ก็ไม่มีปัญหา เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า ถ้าพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณออกไม่ทันปีงบประมาณใหม่ ให้ใช้กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณปีก่อนนั้นไปพลางก่อน

นั่นเป็นเรื่องเทคนิคทางรัฐธรรมนูญ แต่ในทางความเป็นจริง การที่รัฐบาลเสนอ พ.ร.บ.งบประมาณแล้วไม่ผ่านสภา มีปัญหาเรื่องความชอบธรรมทางการเมืองแน่นอน

งานยากต่อจากนี้ คือการรักษาพรรคร่วมเสียงปริ่มน้ำไว้ไม่ให้มีใครแตกแถว ซึ่งการคุมพรรคร่วมที่เป็นพรรคขนาดใหญ่และกลางก็ยากอยู่เรื่องหนึ่ง คือพรรคพวกนี้มีอำนาจต่อรองมาก เนื่องจากชักเท้าหนีกันสักพรรคครึ่งพรรค รัฐบาลก็กลายเป็นเสียงข้างน้อยไปเลยทีเดียว

ส่วนพรรคจิ๋วที่ได้เข้ามาพรรคละเก้าอี้สองเก้าอี้รวมสิบกว่าพรรคนั้นก็มีปัญหาไปอีกแบบ เพราะพรรคการเมืองกลุ่มนี้นั้นไม่ได้เก้าอี้รัฐมนตรี แต่ก็มีโควตากรรมาธิการต่างๆ ซึ่งพรรคเล็กนี้ก็น่าปวดหัวไปอีกอย่างหนึ่ง เพราะถ้ามีใครสักคน “งอแง” ขึ้นมาแล้ว ก็อาจจะให้รัฐบาลเสียงลงไปแตะผิวน้ำ หรือแม้แต่จมน้ำเลยก็ได้

จุดที่แตกต่างอีกอย่างหนึ่ง ก็คือในคราวนี้ นายกฯ ประยุทธ์ จะต้องเจอกับการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ไปจนถึงการชุมนุมประท้วงหรือลามไปสู่การขับไล่แบบจัดเต็ม โดยไม่มีอำนาจ คสช.จับผู้เห็นต่างหรือฝ่ายตรงข้ามไป “ปรับทัศนคติ” ได้อีกแล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มี คสช.แล้ว แต่ “นายกฯ ตู่ (สมัย 2)” ก็ยังมีอำนาจในทางความเป็นจริงอยู่ ด้วยผู้นำเหล่าทัพนั้นยังคุยกันได้รู้เรื่อง เป็นคนกันเอง และน่าจะสนับสนุนรัฐบาลได้

การใช้อำนาจพาคนไปปรับทัศนคตินั้นอาจจะทำไม่ได้ก็จริง แต่ก็มีกฎหมายมากมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งรวมถึงตำรวจ ทหาร สามารถเข้าไปสอดส่องหรือจัดการกับผู้วิพากษ์วิจารณ์ได้ เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือกฎหมายความมั่นคงต่างๆ ซึ่งกฎหมายเหล่านั้นได้ออกหรือแก้ไขกันในยุคสภา สนช.นั่นแหละ

สรุปว่า แม้ว่าการเป็นนายกฯ ในแบบ “ประชาธิปไตย” ของพล.อ.ประยุทธ์นั้นจะไม่มีอำนาจอย่าง คสช.แต่ก็ยังถือว่ามีอำนาจในทางความเป็นจริง และอำนาจที่เกิดจากการพลิกแพลงกฎหมายต่างๆ อยู่ดี

แต่ก็อีกเช่นกัน เรื่องนี้ถ้าทำไม่ดี ก็จะมีปัญหาความชอบธรรมทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ หากยังอยู่ในระบบเลือกตั้งที่จะต้องอาศัยเสียงจากประชาชนแล้ว การ “เสียการเมือง” นั้นไม่ใช่เรื่องดีนัก

โดยเฉพาะเมื่อพล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจจะลงบ่อการเมืองเต็มตัวด้วยการเข้ารับเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐให้รู้แล้วรู้รอด

ยังไม่ต้องพูดถึง “ระเบิดเวลา” ของฝ่ายรัฐบาลอีกเรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องการถือหุ้นในบริษัทที่มีวัตถุประสงค์ในการทำสื่อ จำนวน 31 คน ซึ่งเรื่องนี้ถูกทางพรรคอนาคตใหม่ “ย้อนเกล็ด” เข้าให้ด้วยการเข้าชื่อกันให้ประธานรัฐสภาเสนอคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เช่นที่หัวหน้าพรรคของพวกเขา ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกดำเนินการไปแล้วก่อนหน้านี้ พร้อมคำร้องขอให้พักการปฏิบัติหน้าที่ด้วย

หมากย้อนเกล็ดนี้เป็นเรื่องกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าจะสั่งไม่รับคำร้อง หรือไม่ออกคำสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ ก็จะแสดงให้เห็นถึงการเลือกบังคับใช้กฎหมายอย่างชัดเจน ซึ่งเสี่ยงต่อการเสียความน่าเชื่อถือต่อประชาชน ในฐานะองค์กรตุลาการ

แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญใช้มาตรฐานเดียวกับธนาธรกับบรรดา ส.ส.ร่วมรัฐบาล ก็เรียกว่ารัฐบาลเตรียมตัวล่มได้เลย ถ้ามีเรื่องอะไรเข้าสู่สภา

หรือถ้าออกมาในทางว่า รีบตัดสินไปว่ากรณีธนาธรนั้นไม่ผิด เพื่อจะให้บรรทัดฐานนี้คลุมไปถึง 31 ส.ส.ด้วย ทางนี้อาจจะเสียหน้าบ้าง ที่ไปด่วนสั่งพักการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ไต่สวนหรือพิจารณาข้อกฎหมายให้ดีก่อน แต่ก็น่าจะให้ผลออกมาแย่น้อยกว่าสองทางแรก

นับว่าการโต้กลับไม้นี้ของทางอนาคตใหม่นั้นเข้าเป้าจริงๆ.


กำลังโหลดความคิดเห็น