xs
xsm
sm
md
lg

สนามบินเอาจริงกับของเหลว หอบ “แหนมเนือง-น้ำพริก” กลับบ้าน รับมือยังไง?

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

คนอุดรธานีและนักเดินทางอาจจะรู้สึกแปลกใจอยู่บ้าง เมื่อจู่ๆ เคาน์เตอร์เช็กอินของทุกสายการบินในท่าอากาศยานอุดรธานี ติดประกาศระบุว่า “ตั้งแต่ 22 มิถุนายน 2562 แหนมเนือง ต้องโหลดใต้ท้องเครื่องเท่านั้น”

ทั้งที่ในช่วงที่ผ่านมา ผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่จะลงมายังกรุงเทพฯ หรือจังหวัดต่างๆ มักนิยมซื้อแหนมเนือง เป็นของฝากติดไม้ติดมือ ใส่ถุงหิ้วขึ้นเครื่องพร้อมสัมภาระพกพา (Carry-On Baggage) บางคนซื้อครั้งหนึ่ง 3-4 กล่องเลยทีเดียว

แหนมเนือง ไม่ใช่แหนม มาจากคำว่า “แนมเหนือง” ภาษาเวียดนามแปลว่า “หมูปิ้ง” แต่เรียกเพี้ยนมาถึงปัจจุบัน เป็นการนำเนื้อหมูมาบดปรุงรส เสียบไม้แล้วนำไปอบหรือปิ้งให้สุก

เวลารับประทาน นำแหนมเนืองออกจากไม้ทีละชิ้นพอดีคำ ลงในแผ่นเปาะเปี๊ยะญวนแช่น้ำ ใส่กล้วยดิบฝานชิ้น กระเทียม มะเฟือง มะม่วงดิบ ผักสดต่างๆ ก่อนห่อรวมกัน ราดน้ำจิ้มแล้วรับประทานเป็นคำ

ในพื้นที่ภาคอีสานตอนบน ร้านแหนมเนืองที่มีชื่อเสียงมีอยู่สองเจ้า ได้แก่ “วีทีแหนมเนือง” จากจังหวัดอุดรธานี มีสาขาอยู่ในสนามบินอุดรธานี และ “แดงแหนมเนือง” จากจังหวัดหนองคาย มีตัวแทนจำหน่ายตามร้านค้าในสนามบินเช่นกัน

ปกติแล้ว แหนมเนืองจะขายเป็นชุด มีให้เลือกระหว่างชุดเล็ก 5 ไม้ และชุดใหญ่ 10 ไม้ บรรจุในกล่องกระดาษอย่างดี ในกล่องนอกจากจะมีแหนมเนืองเสียบไม้ แผ่นแป้ง ผักต่างๆ และเครื่องเคียงแล้ว จะมีน้ำจิ้มแหนมเนืองบรรจุถุงอย่างดี

ปัญหาก็คือ น้ำจิ้มแหนมเนือง จะบรรจุถุงใหญ่ประมาณ 300 มิลลิลิตร เกินกว่าของเหลวที่กำหนดนำติดตัวขึ้นเครื่องบินได้ไม่เกิน 100 มิลลิลิตรเท่านั้น

จากกระแสที่ถูกแชร์ในโซเชียล นับว่าโชคดีที่ร้านยอดนิยมอย่างวีทีแหนมเนือง ประกาศว่า จะทำน้ำจิ้มบรรจุถุงให้เล็กลง เหลือเพียงแค่ไม่เกิน 100 มิลลิลิตรต่อถุงเท่านั้น เพื่อให้ผู้โดยสารถือกล่องแหนมเนืองขึ้นเครื่องบินได้ตามเดิม



อันที่จริงแหนมเนืองจากอุดรธานี หรือหนองคายก็ตาม ถ้าอยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ยุคนี้ไม่จำเป็นต้องหิ้วขึ้นเครื่องก็ได้ เพราะมีร้านแหนมเนืองชื่อดังมาจำหน่ายในกรุงเทพฯ เหมือนกัน ส่งทางเครื่องบินมาขายวันละหลักพันกล่องทุกวัน

อีกทั้งมีช้อปปิ้งออนไลน์บางแห่ง อย่างเช่น บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ก็เปิดให้ลูกค้าสั่งแหนมเนือง ผ่านเว็บไซต์ www.thailandpostmart.com ระยะเวลาจัดส่ง 1 วันทำการ เฉพาะกรุงเทพฯ ปริมณฑล และ 20 จังหวัดภาคอีสาน

นอกจากนี้ ร้านวีทีแหนมเนือง ยังมีบริการส่งสินค้าผ่านทางเคอรี่ เอ็กซ์เพรส คิดค่าจัดส่งตามระยะทาง (กล่อง 5 ไม้ ขนาด S, กล่อง 10 ไม้ ขนาด S+) แต่มีข้อจำกัดตรงที่บางจังหวัดใช้เวลา 4 วัน แต่อายุสินค้าไม่ถึง จึงไม่สามารถจัดส่งได้

ถึงกระนั้น ด้วยอายุสินค้าที่จำกัดถ้าไม่แช่ตู้เย็น แถมบวกค่าส่ง ข้ามภาคก็เกือบร้อยบาท คนที่สั่งแหนมเนืองผ่านช่องทางนี้ หรืออุดหนุนจากร้านที่กรุงเทพฯ จะเป็นลูกค้าที่ “เกิดอยากจะกิน” จริงๆ หรือซื้อเพื่อรับประทานในโอกาสพิเศษ

ในขณะที่นักเดินทางมาจากอุดรธานี เลือกที่จะซื้อแหนมเนืองเป็นของฝากติดไม้ติดมือกลับกรุงเทพฯ เพราะเป็นสินค้าขึ้นชื่อของจังหวัดอุดรธานี เพราะฉะนั้นคุณค่าและความรู้สึกย่อมต่างกัน
ภาพ : วีที แหนมเนือง คอมมูนิตี้
แม้หลักเกณฑ์การนำของเหลว เจล และสเปรย์ ที่นำติดตัวขึ้นเครื่องบิน ส่วนใหญ่จะทราบกันดี คนที่แบกเป้ขึ้นเครื่องมักจะใช้สบู่เหลว แชมพู ครีมนวดผมขนาดพกพา บรรจุลงในถุงซิปล็อก พกติดตัวรวมกันได้ไม่เกิน 1 ลิตร

แต่สำหรับของฝากที่เป็นอาหารท้องถิ่น ที่ผ่านมาก่อนจะมีประกาศฉบับนี้ มักจะได้รับการอนุโลม พออนุมานได้ว่าไม่อยากให้ผู้โดยสารมีปัญหา อีกทั้งเป็นการสนับสนุนสินค้าท้องถิ่นไปในตัว

ประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ฉบับล่าสุด พบว่าได้กำหนดให้ของเหลวนำติดตัวขึ้นเครื่องไม่เกิน 100 มิลลิลิตร มีผลไปถึงอาหารจำพวกที่มีของเหลวอีกด้วย

เช่น ต้ม แกง น้ำพริก น้ำจิ้มต่างๆ น้ำเครื่องดื่ม ซุป น้ำเชื่อม แยม สตูว์ ซอส น้ำพริก หรืออาหารที่อยู่ในซอสที่มี รวมไปถึง มาสคารา ลิปสติกส์หรือลิปบาล์ม

แกงส้ม น้ำพริกที่เป็นของเหลวอย่างน้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกอ่อง ถ้าของเหลวเหล่านี้ มีปริมาตรเกินกว่า 100 มิลลิลิตร หรือไม่มีปริมาตรระบุในบรรจุภัณฑ์ จะถือขึ้นเครื่องไม่ได้ ต้องโหลดสัมภาระใต้ท้องเครื่องอย่างเดียว

สายการบินแบบฟูลเซอร์วิส เช่น การบินไทย บางกอกแอร์เวย์ส หรือสายการบินแบบไลท์พรีเมียม เช่น ไทยสมายล์ จะไม่ค่อยมีปัญหา ถ้านับจากนี้ต้องบังคับให้โหลดใต้ท้องเครื่อง เพียงแค่โหลดใต้ท้องเครื่องเท่านั้น

แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นแก่สายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์แอร์ไลน์) ที่จำหน่ายเฉพาะบัตรโดยสารเท่านั้น ไม่รวมบริการสัมภาระเช็กอิน (Check-in Baggage) ที่ต้องซื้อระหว่างจองตั๋วโดยสาร หรือซื้อล่วงหน้าก่อนเดินทางไม่น้อยกว่า 4 ชั่วโมง

คนที่ไม่ได้ซื้อน้ำหนักกระเป๋ามาก่อน ถ้าต้องให้โหลดกระเป๋าหน้าเคาน์เตอร์เดี๋ยวนั้น ต้องจ่ายค่าน้ำหนักสัมภาระที่เคาน์เตอร์เช็กอินในอัตราเหมาจ่ายไม่เกิน 15 กิโลกรัม เผลอๆ แพงกว่าค่าของฝาก และค่าตั๋วเครื่องบินเสียอีก

เฉพาะเส้นทางในประเทศ สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ คิดค่าธรรมเนียม 700 บาท, สายการบินนกแอร์ (บัตรโดยสารประเภทบินเบาๆ หรือ Nok Lite) คิดค่าธรรมเนียม 900 บาท และสายการบินแอร์เอเชีย คิดค่าธรรมเนียม 1,000 บาท

ประกาศฉบับนี้ ดูเหมือนว่ามีเพียงท่าอากาศยานภูมิภาค 28 แห่งของกรมท่าอากาศยานเท่านั้น ที่กระตือรือร้นเป็นพิเศษ มีการประชุมซักซ้อมให้แต่ละสนามบินแจ้งให้สายการบิน เพื่อทำความเข้าใจและแจ้งเตือนผู้โดยสารโดยตรง

ส่วนท่าอากาศยาน 6 แห่ง ของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ยังไม่มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับอาหารจำพวกของเหลวออกมา เพราะที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ก็มีร้านของฝากชื่อดังขายน้ำพริกเช่นกัน

ปกติเวลาผู้เขียนกลับกรุงเทพฯ มักจะแวะร้านของฝาก (ขอสงวนชื่อ) ซื้อน้ำพริกอ่อง น้ำพริกหนุ่ม และของขบเคี้ยวจำพวกแคปหมู หมูกระจก กลับกรุงเทพฯ แทบทุกครั้ง โดยที่ผ่านมาสนามบินมักจะให้ผู้โดยสารหิ้วขึ้นเครื่องได้

เลยไม่รู้ว่า สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ประกาศออกมาแบบนี้ สนามบินของ ทอท. ทั้ง 6 แห่งจะมีมาตรการเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร แม้จะเป็นเพียงแค่ผู้โดยสารในประเทศก็ตาม

สำหรับผู้ประกอบการจำหน่ายของฝาก ที่นักท่องเที่ยวจะขึ้นเครื่องบินกลับกรุงเทพฯ สำหรับอาหารที่เป็นของเหลว ทางออกที่ดีที่สุดคือ ลดขนาดบรรจุภัณฑ์ลงเหลือเพียงแค่ไม่เกิน 100 มิลลิลิตร (เทียบเท่าแชมพูขนาดพกพา)



แต่อาหารเหลวบางอย่าง เช่น แกงส้ม อาหารสด อาหารพร้อมทาน หรือผลไม้ จำเป็นต้องโหลดลงใต้ท้องเครื่องอย่างเดียว ที่ผ่านมามักจะใช้วิธีใส่ถุงแบบใส หรือกล่องถนอมอาหารแบบใส ที่มองเห็นอาหารข้างในได้ แพ็คปิดผนึกอย่างดี น้ำไม่หยดย้อย

ใส่ลงในกล่องโฟม โดยยังไม่ปิดผนึกกล่อง เพื่อให้เจ้าหน้าที่สนามบินตรวจสอบก่อน หลังจากนั้นจึงค่อยนำเทปกาวปิดฝากล่องแล้วโหลดสัมภาระตามปกติ ห้ามใส่น้ำแข็งลงกล่องโฟมเด็ดขาด ใช้ได้เฉพาะน้ำแข็งแห้งไม่เกิน 2.5 กิโลกรัม

นักท่องเที่ยวที่จะซื้อของฝากกลับบ้าน จึงควรที่จะซื้อน้ำหนักกระเป๋าล่วงหน้า แต่ละสายการบินมีเงื่อนไขแตกต่างกันไป สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ซื้อน้ำหนักกระเป๋าได้ขั้นต่ำ 1 กิโลกรัม 30 บาท ส่วนสายการบินแอร์เอเชีย ต้องซื้อขั้นต่ำ 15 กิโลกรัม ถ้าซื้อเพิ่มหลังจองตั๋วไปแล้วคิด 400 บาท
ภาพจากแฟ้ม
อีกวิธีหนึ่งก็คือ เปลี่ยนวิธีจากการหอบของฝากกลับบ้านทางเครื่องบิน มาเป็นการส่งทางไปรษณีย์ หรือบริษัทขนส่งต่างๆ แต่ต้องเป็นของฝากที่เก็บรักษาไว้ได้นานโดยไม่ต้องแช่เย็น เช่น น้ำพริกต่างๆ

อย่างเช่นที่เชียงใหม่ ผู้เขียนมีภารกิจไปต่ออีกจังหวัดหนึ่ง เลยซื้อของฝากที่กาดหลวง (ตลาดวโรรส) แล้วส่งกลับบ้านทางเคอรี่ เอ็กซ์เพรส ที่จุดรับฝากในร้านขายยาแห่งหนึ่ง คิดค่าส่งประมาณร้อยกว่าบาท ใช้เวลา 1-2 วัน ของฝากก็ถึงบ้าน

ถ้าจะส่งผ่านทางเคอรี่ เอ็กซ์เพรส แนะนำว่าวันธรรมดาให้ส่งก่อนบ่ายสองโมง เจ้าหน้าที่จะรับพัสดุเข้าคลังสินค้าในวันเดียวกัน เพื่อส่งไปยังจังหวัดต่างๆ แล้วสินค้าจะถึงกรุงเทพฯ ในวันถัดไป หรือถ้าติดวันหยุดก็จะส่งในอีกสองวันถัดมา

ถ้าเป็นที่สนามบินบางแห่งมีที่ทำการไปรษณีย์ หรือเคาน์เตอร์ไปรษณีย์ให้บริการอยู่ ก็สามารถส่งกลับบ้านได้เช่นกัน เพียงแต่ว่าถ้าเป็นอาหารเหลว ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่จุดบริการหุ้มห่อก่อนทุกครั้ง เพื่อพิจารณาว่าส่งได้หรือไม่ได้

ที่เชียงใหม่ เคยซื้อน้ำพริกหนุ่มและน้ำพริกอ่อง ส่งทางไปรษณีย์ที่ ปณ.ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ถ้าบรรจุในซองรีทอร์ทเพาซ์ (Retort Pouch) สามารถส่งได้ไม่มีปัญหา แต่น้ำพริกที่เป็นขวดแก้วยังไม่เคย

ทราบว่า ถ้าจะส่งสินค้าที่เป็นขวดแก้ว อาจจะยุ่งยาก เพราะต้องใช้เทปพันที่ปากขวด แล้วห่อหุ้มด้วยพลาสติกกันกระแทก (แผ่นบับเบิล) ให้หนา อัดช่องว่างด้วยกระดาษให้แน่นไม่ให้เกิดช่องว่าง แล้วติดเทปกาวรอบกล่อง

แม้การส่งของฝากกลับบ้านทางไปรษณีย์ หรือบริษัทขนส่งแทนการหิ้วขึ้นเครื่อง อาจจะรู้สึกว่าได้รับของฝากช้าไปบ้าง แต่ก็ถือว่าช่วยให้นักเดินทางคล่องตัวขึ้น ไม่ต้องแบกของหนักพะรุงพะรังจากสนามบินกลับบ้านอีกต่อไป

มาตรการจำกัดของเหลวครั้งล่าสุดที่ออกมา ผู้ประกอบการของฝากก็ต้องปรับบรรจุภัณฑ์สินค้า สนามบิน สายการบิน ต้องประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง แม้แต่ผู้โดยสารเอง ก็ควรศึกษาเรื่องนี้ให้เข้าใจตรงกัน จะได้ไม่ต้องเกิดเรื่องดรามา

เหมือนอย่างกรณีเช็กอินไม่ทัน แล้วอ้างว่ามาตรงเวลาเครื่องบินออก หรือน้ำหนักกระเป๋าเกินขนาดแล้วโวยวายว่า ทำไมของกินจะเอาขึ้นไปไม่ได้ แล้วด่าพนักงานภาคพื้นอีกว่าไม่มีน้ำใจ สุดท้ายล้วนถูกประจานลงโซเชียลให้สังคมวิจารณ์ให้อับอายเสียเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น