กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
ใครที่เดินทางไปต่างจังหวัด แล้วเข้าพักโรงแรมที่ติดตั้งกล่องทีวีดิจิทัล กดรีโมทไปที่ช่อง 11 จะพบกับช่องรายการที่เป็นสัญลักษณ์ NBT หรือ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (สทท.) กรมประชาสัมพันธ์
ไม่ใช่ NBT ระบบเอชดี (HD) ช่องหมายเลข 2 ที่เรารับชมอยู่ในปัจจุบัน
แต่เป็น “ทีวีภูมิภาค” ที่กรมประชาสัมพันธ์ ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ทดลองออกอากาศทีวีดิจิทัลระดับภูมิภาค ช่องหมายเลข 11
เดิม สทท. มีทีวีภูมิภาคออกอากาศผ่านระบบ VHF และ UHF รับสัญญาณผ่านเสาอากาศแบบหนวดกุ้ง แต่ได้ยกเลิกส่งสัญญาณเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2561 ส่วนทีวีดาวเทียมออกอากาศเมื่อปี 2559 (กล่อง PSI ช่อง 260-271)
เมื่อ กสทช. ไฟเขียวให้ทดลองออกอากาศทีวีดิจิทัลระดับภูมิภาค จึงได้เตรียมการประมาณ 3-4 เดือน ออนแอร์อย่างเป็นทางการ 1 พฤศจิกายน 2561 ตั้งแต่ 06.00-21.00 น. รวม 15 ชั่วโมงต่อวัน แบ่งออกเป็น 4 สถานี ใน 4 ภูมิภาค ได้แก่
NBT North มีพื้นที่ออกอากาศครอบคลุมภาคเหนือ และจังหวัดลพบุรี รวม 19 จังหวัด ผลิตรายการร่วมกันระหว่าง สทท.เชียงใหม่ (ภาคเหนือตอนบน) และ สทท.พิษณุโลก (ภาคเหนือตอนล่าง และ ลพบุรี)
NBT Northeast มีพื้นที่ออกอากาศครอบคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) รวม 19 จังหวัด ผลิตรายการร่วมกันระหว่าง สทท.ขอนแก่น (ภาคอีสานตอนบน) และ สทท.อุบลราชธานี (ภาคอีสานตอนล่าง)
NBT Central มีพื้นที่ออกอากาศครอบคลุมภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก รวม 24 จังหวัด ผลิตรายการร่วมกันระหว่าง สทท.จันทบุรี (ภาคตะวันออก) และ สทท.กาญจนบุรี (ภาคตะวันตก)
NBT South มีพื้นที่ออกอากาศครอบคลุมภาคใต้ รวม 14 จังหวัด ผลิตรายการร่วมกันระหว่าง สทท.สุราษฎร์ธานี (สถานีหลัก) ร่วมกับ สทท.นครศรีธรรมราช, สทท.ภูเก็ต, สทท.สงขลา และ สทท.ยะลา รวม 5 สถานี
รายการส่วนใหญ่จะเป็นข่าว และสาระบันเทิงตามแบบฉบับของ NBT นำเสนอเนื้อหาที่เข้ากับท้องถิ่น อย่างช่วงเช้าจะเป็นรายการเล่าข่าว ออกอากาศสด พิธีกรพูดภาษาท้องถิ่น ส่วนช่วงเย็นจะเป็นข่าวภูมิภาคประจำวัน
เท่าที่รับชมรายการพบว่า แต่ละช่องต่างก็พยายามมีจุดขายความเป็นท้องถิ่น ควบคู่กับการให้ข้อมูลข่าวสารตามยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายสำคัญของรัฐบาล คุณภาพชีวิตของประชาชน สะท้อนปัญหาของท้องถิ่นนั้นๆ
อีกด้านหนึ่งยังพบว่า คุณภาพการออกอากาศมีความแตกต่างกัน บางสถานีมีความคมชัดในระดับหนึ่ง พอเปลี่ยนไปอีกสถานีหนึ่งสัญญาณภาพกลับมัว ไม่คมชัดเท่าที่ควร บางสถานียังใช้คอมพิวเตอร์กราฟฟิกระบบเก่าอีก
ยกตัวอย่างเช่น ผู้เขียนดูช่อง NBT North มีอยู่รายการหนึ่งชื่อว่า “เช้านี้ที่ภาคเหนือ” น่าสนใจมาก เพราะเบรคแรกออกอากาศทาง สทท.เชียงใหม่ เล่าข่าวเป็นภาษาเหนือ แม้แต่ช่วงสนทนา แถมปิดท้ายรายการด้วยภาษิตกำเมืองอีกต่างหาก
เวลาผู้ประกาศเล่าข่าวอู้กำเมือง ออกเสียงคำว่า “เจ้า” บ่อยครั้ง ฟังแล้วเพลินดี
พอตัดภาพมาที่ NBT พิษณุโลก ปรากฎว่าภาพมัวมาก คมชัดน้อยกว่าเมื่อเทียบกับ สทท.เชียงใหม่ ตอนรับชมผ่านเฟซบุ๊ก นึกว่าเป็นที่ระบบเฟซบุ๊กไลฟ์ พอกดรีโมทเปิดทีวีที่โรงแรมกลับพบว่า ในจอทีวีภาพก็มัวเช่นกัน
ขอฝากอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ช่วยหางบประมาณปรับปรุงระบบการออกอากาศในบางสถานีบ้าง เพราะต่อให้คุณภาพรายการออกมาดีแค่ไหน แต่เจอภาพมัวแบบนั้น คนจะหนีไปดูช่องอื่นกันหมด
แม้ทีวีภูมิภาคของ NBT จะขึ้นไปอยู่บนทีวีดิจิทัลกันแล้ว แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังคิดว่าเป็น NBT ช่องหมายเลข 2 เพราะฉะนั้นจึงมี สทท.บางแห่งถึงขั้นลงทุนจัดกิจกรรมใกล้ชิดผู้ชมทางบ้าน
ตัวอย่างเช่น สทท.พิษณุโลก ใช้ชื่อกิจกรรม “ค่ำนี้กินนอนกับประชาชน” ทำกิจกรรมร่วมกับชาวบ้าน เตะฟุตบอลนัดกระชับมิตร ปูเสื่อกินข้าวเย็น เช้าตื่นขึ้นมาบิณฑบาตในชุมชน พร้อมแนะนำวิธีการรับชม และจัดรายการสดนอกสถานที่
ใช้บุคลากรของสถานีให้เป็นประโยชน์ แทบจะไม่ต้องใช้ดาราหรือพรีเซ็นเตอร์ใดๆ เลย
อย่างไรก็ตาม ในยุคที่ผู้ชมเปลี่ยนจากจอโทรทัศน์ มาอยู่บนจอมือถือ ทีวีภูมิภาคทั้ง 4 สถานี ก็พยายามออกอากาศผ่านช่องทางยอดนิยมอย่างเฟซบุ๊กไลฟ์ แม้คนดูจะไม่หวือหวา แต่ก็ถือว่ามีช่องทางออกอากาศครบ
เมื่อไม่กี่วันก่อน อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เพิ่งไปที่สำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 เชียงใหม่ มอบนโยบายกับเจ้าหน้าที่ว่า ให้นำเอาจุดแข็งทั้งเครือข่าย และความชำนาญของพื้นที่มาต่อยอด ทำงานละเอียดครบถ้วนในเนื้อหา รักษาคุณภาพ
เชื่อว่า พฤติกรรมของคนไทยยังนิยมดูโทรทัศน์ หากมีเนื้อหาที่น่าสนใจ แม้ว่าจะมีสื่ออื่นเข้ามาเป็นทางเลือกมากขึ้น และฝากบุคลากรผลิตสื่อที่มีคุณภาพ เนื้อหาเข้าถึงง่ายสำหรับประชาชน เพื่อร่วมขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐในวงกว้าง
ก่อนหน้านี้อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งตามมาตรา 44 ช่วยกรมประชาสัมพันธ์ ให้สื่อและผู้ผลิตรายการสามารถหารายได้จากโฆษณาได้
เพราะกฎหมายเดิม ใบอนุญาตประกอบกิจการกรมประชาสัมพันธ์เป็นประเภทที่ 3 คือ ใบอนุญาตทีวีช่องสาธารณะ แต่ข้อจำกัดคือ มีงบประมาณอย่างเดียว ไม่สามารถหาโฆษณาได้ ทำให้ผู้ประกอบการที่มีคุณภาพไม่อยากมาผลิตรายการให้
ที่ผ่านมาในแต่ละปี กรมประชาสัมพันธ์จะได้รับงบประมาณในการทำรายการข่าวทั้งวิทยุ โทรทัศน์ รวมกันเพียง 239 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก ขณะที่ต้นทุนในการผลิตรายการดีๆ มีคุณภาพต้องใช้ต้นทุนมากถึง 60-70 ล้านบาท
ในที่สุด คสช. ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 9/2561 เปิดทางให้กรมประชาสัมพันธ์ มีเงินรายได้จากการโฆษณาได้เท่าที่จําเป็นและเพียงพอต่อการผลิตรายการ ตามวัตถุประสงค์โดยต้องไม่เป็นการมุ่งต่อการแสวงหากําไรทางธุรกิจ
สอดรับกับประกาศ กสทช. กำหนดให้โทรทัศน์กรมประชาสัมพันธ์ โฆษณาทางธุรกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมได้ แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินชั่วโมงละ 8 นาที รวมเวลาโฆษณาตลอดทั้งวันเฉลี่ยแล้วต้องไม่เกินชั่วโมงละ 6 นาที
รวมทั้ง สามารถหารายได้จากการแบ่งเวลาให้บุคคลอื่นดำเนินรายการ และรายได้จากการขอรับบริจาคสนับสนุนหรืออุดหนุนก็ได้ เมื่อรวมรายได้แล้ว จะต้องเป็นไปเท่าที่จำเป็นและเพียงพอต่อการผลิตรายการตามวัตถุประสงค์
แต่สถานะของช่อง 11 ที่เป็นทีวีภูมิภาคทั้ง 4 ช่อง ยังอยู่ในช่วงทดลองออกอากาศเป็นเวลา 6 เดือน และอาจจะต่ออายุการออกอากาศไปเรื่อยๆ จึงไม่แน่ใจว่า ในความเป็นจริงจะมีโฆษณาได้หรือไม่?
ความเห็นส่วนตัว นอกจาก สทท. แต่ละจังหวัดจะเป็นผู้ผลิตรายการแล้ว ในฐานะที่ทีวีภูมิภาคทั้ง 4 ช่อง จากภาษีประชาชน น่าจะเป็นพื้นที่กลางให้ผู้ผลิตในท้องถิ่น ที่ยุคนี้มีคนรุ่นใหม่ที่มีฝีมือผลิตรายการเอง นำรายการมาออกอากาศได้
ยกตัวอย่างสถานศึกษา ที่มีหลักสูตรนิเทศศาสตร์ หรือสื่อสารมวลชน อาจจะใช้พื้นที่ทีวีภูมิภาคในการเผยแพร่ผลงานของนิสิต นักศึกษา ออกสู่สายตาผู้ชม เป็นการฝึกปฏิบัติของนิสิต นักศึกษาไปในตัว
แต่อาจจะต้องมีบุคลากรในท้องถิ่น ทำหน้าที่ควบคุมเนื้อหารายการจากผู้ผลิตท้องถิ่นให้เหมาะสม ก่อนที่จะนำไปออกอากาศ เพื่อที่จะสกรีนรายการไม่ให้มีพิษมีภัยออกมา และสามารถรับชมได้ทุกวัย
ในยามที่ทีวีดิจิทัลกำลังทยอยล้มหายตายจาก บางช่องถอดใจขอคืนใบอนุญาต บางช่องยังคงลุยต่อ ช่วงชิงเรตติ้งด้วยเนื้อหาแบบเดิมๆ ข่าวดรามา ละครน้ำเน่า มีทีวีเพียงไม่กี่ช่องเท่านั้นที่พอจะเปิดดูได้แบบไม่มีพิษมีภัย
แม้สังคมจะเข้าใจว่า NBT จะต้องนำเสนอข้อมูลในทางบวกแก่รัฐบาลก็ตาม แต่ก็อยากเห็นทีวีภูมิภาคแห่งนี้พัฒนาคุณภาพรายการ เน้นสร้างความเข้าใจ แก้ไขความเดือดร้อน ระหว่างภาครัฐกับประชาชนให้เข้าใจตรงกัน
ที่สำคัญ ต้องสลัดภาพกระบอกเสียงภาครัฐที่เรียกกันว่า “กรมกร๊วก” ในอดีต หันมาสร้างความใกล้ชิดให้กลายเป็นที่พึ่งของผู้ชมในท้องถิ่นและชุมชนให้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปแข่งขันกับทีวีดิจิทัลทางธุรกิจช่องอื่นๆ