xs
xsm
sm
md
lg

ความเป็นไปได้ของทางเลือกที่สาม

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง


เหมือนคิดว่าจะนิ่งแล้วแต่ก็ไม่แล้วจนได้ กับการตั้งรัฐบาลที่ในตอนแรกที่คิดว่า “ลุงตู่” ลอยลำมาแน่นอนหลังจากที่ประกาศรายชื่อ ส.ว.แบบคนกันเองออกมาแล้ว

ซึ่งเรื่องลุงตู่จะขึ้นเป็นนายกฯ หรือไม่นั้นไม่สำคัญ แต่ปัญหาอยู่ที่เก้าอี้อื่นๆ ในรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บางเก้าอี้หรือบางตำแหน่ง

ที่มีการแย้มโผดัมมี่รัฐบาลลุงตู่ฉบับหลังเลือกตั้งออกมาแล้ว ก็เรียกเสียงฮือมากกว่าเสียงฮา เพราะกลายเป็นว่าเก้าอี้แต่ละตัวมีคนจองอยู่เกือบหมด โดยเป็นคนหน้าเดิมที่มาทำงานให้พรรคพลังประชารัฐ และแบ่งกระทรวงเกรดรองๆ หรือเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยไปให้พรรคร่วมแบบเสียไม่ได้ไม่กี่ที่นั่ง

แต่ที่เล่นเอาคน “ยี้” กันสุดๆ คือ ในที่สุดแล้ว รัฐบาลลุงตู่หลังเลือกตั้ง เราก็จะยังได้ “พี่ใหญ่” บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา กลับมาเหมือนเดิม แถมยังรวม ดร.วิษณุ เครืองาม กลับมาด้วย

ราวกับเป็นแพ็กเกจขายพ่วง ซื้อแต่ “ตู่” ไม่ได้ ต้องรับ “ป้อม” และ “ป๊อก” มาด้วย

เรื่องนี้ทำให้ว่าที่พรรคร่วมถึงกับเริ่มลังเล ไม่กล้าชักเท้าเข้าไปแสดงทีท่าให้ชัดเจนขึ้น

เรื่องการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีนั้นก็เรื่องหนึ่งที่มีน้ำหนัก แต่ที่ถ่วงให้ต้องคิดมากอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ ท่าทีและการยอมรับจากประชาชน

เพราะไม่ว่าจะอย่างไร นักการเมืองอาชีพที่มาจากการเลือกตั้งนั้น ก็ต้องอาศัยคะแนนเสียงและการยอมรับจากประชาชน

ในกรณีของพรรคประชาธิปัตย์นั้นชัดเจนว่า อดีตหัวหน้าพรรค นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศไว้ในโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งว่า ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่า นี่เป็นสาเหตุให้พรรคประชาธิปัตย์พ่ายยับกลายเป็นพรรคขนาดกลาง

แต่เช่นนี้ในทางกลับกัน ก็เท่ากับว่า เสียงส่วนใหญ่ที่ยังเหลือและเลือกลงคะแนน ให้พรรคประชาธิปัตย์มานั้น ก็ไม่ต้องการสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ และ คสช.

แม้จะมีหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่แล้ว แต่การที่จะพลิกลิ้นกลับลำไป มันก็เป็นเรื่องเสียการเมือง

และถ้ารัฐบาลประยุทธ์ชุดหลังเลือกตั้งนั้นมีจุดจบที่ไม่สวย พรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นสถาบันการเมืองซึ่งมีประวัติศาสตร์ที่มา ก็จะถูกจารึกชื่อไว้ให้เป็นมลทินมัวหมอง

เรื่องนี้หัวหน้าพรรคคนใหม่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์คงจะต้องคิดให้หนัก ซึ่งจากการประเมินของหลายฝ่ายแล้ว เชื่อว่าเขาเองน่าจะอยู่ฝ่ายหนักไปทางไม่สนับสนุนลุงตู่และ คสช.เท่าไร

ส่วนพรรคภูมิใจไทยนั้น ก็มีฐานเสียงในภาคอีสาน แม้จะไม่ได้พูดตรงๆ เท่าประชาธิปัตย์ แต่ก่อนเลือกตั้งอีกเหมือนกัน ที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้ออกมาแถลงในเชิงว่า ไม่เห็นด้วยกับการสืบทอดอำนาจ และนายกรัฐมนตรี จะต้องได้รับการเลือกโดยเสียงข้างมากจากสภา ส.ส. ก่อน ส่วน ส.ว.จะว่ายังไงก็ค่อยว่ากันภายหลัง

นี่เป็นเงื่อนงูที่ขว้างไปไม่พ้นคอ หากพรรคไปสนับสนุนในขณะที่ฝ่าย พปชร.นั้นอาจจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย แล้วไปหวังน้ำบ่อหน้าให้ ส.ว.ช่วยโหวตเลือกให้ เรื่องนี้ก็อาจจะเสียการเมืองได้เช่นเดียวกับกรณีของ ปชป.

จึงเกิดกระแสข่าวเรื่องแนวทางที่สามขึ้น ที่ไม่ใช่ขั้วของอนาคตใหม่ เพื่อไทย และขั้วของพลังประชารัฐ นั่นคือ ฝ่ายภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ และพรรคขนาดกลางจับขั้วกันเสนอเป็นรัฐบาลบ้าง โดยเสนอให้ใครสักคนเป็นนายกฯ และจับขั้วกับพรรคใดก็ได้

แนวทางนี้ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้เสียทีเดียวในเกมการเมือง ถ้าพิจารณาว่า ฝ่ายอนาคตใหม่และเพื่อไทยนั้นน่าจะไม่สนใจเรื่องเก้าอี้นายกหรือรัฐมนตรี ไปมากกว่าการเอา “ทหาร” คือ เครือข่ายมือไม้ คสช.ออกไปจากการเมืองเสียก่อน แล้วหลังจากนั้นฝ่ายการเมืองค่อยไปว่ากันเอง

และส่วนของขั้วที่เหมือนจะได้เปรียบกว่า อย่าง พปชร.นั้นก็ไม่ได้เข้มแข็งอย่างที่คิด เพราะอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ขารองเก้าอี้ของลุงตู่นั้นเหมือนประกอบด้วยเศษไม้ผุพังจากพรรคเล็กพรรคน้อยที่ได้รับเลือกเข้ามาอย่างน่ากังขาโดยสูตรพิสดารของ กกต.ซึ่งเหมือนจะเป็นกลุ่มก้อน แต่ก็ไม่แน่นอนในเรื่องเอกภาพ

จึงมีข่าวการต่อรองจากพรรคขนาดกลางเพื่อเรียกร้องตำแหน่งเก้าอี้รัฐมนตรีเกรด A เกรด B ซึ่งถ้ามองในแง่ร้ายก็อาจจะเป็นแค่เกมต่อรองเก้าอี้ เพื่อให้ พปชร.นั้นแบ่งที่นั่งมาให้บ้าง

แต่ข้อต่อรองเหล่านั้นก็ถือว่ามีน้ำหนัก และส่งผลกระทบต่อดุลอำนาจการต่อรองทางการเมืองยุคหลัง คสช.

เพราะจุดสำคัญอย่างที่ต้องย้ำกัน คือ ฝ่ายการเมืองนั้น ถึงอย่างไรกระแสและการยอมรับจากประชาชนก็ยังเป็นเรื่องสำคัญ

และจุดตายก็คือ พี่ใหญ่พี่รักทั้งสองของลุงตู่นั่นแหละ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พี่ป้อม ที่คงต้องยอมรับกันตามตรงว่าประชาชนนั้นไม่ยอมรับ

เรื่องนี้พล.อ.ประยุทธ์ จำเป็นต้อง “ปรับทัศนคติ” ตัวเองด้วยว่า อำนาจต่อจากนี้ไป คืออำนาจที่ต้องอาศัยความชอบธรรมและการยอมรับจากประชาชนด้วย ไม่ใช่อำนาจจากกองทัพคือ คสช.

เรื่องทุบโต๊ะจะเอาอย่างนั้นอย่างนี้เบ็ดเสร็จเหมือนก่อนก็คงจะไม่ได้

จะอุ้มพี่ใหญ่ที่เคารพโดยไม่ฟังประชาชน โดยที่ไม่มีอำนาจ คสช.จะมาสั่งห้ามชุมนุม หรือจับคนไปปรับทัศนคตินั้นคงทำไม่ได้โดยง่ายอีกแล้ว

การชุมนุมต่อต้าน ล้อเลียน หรือการแฉโพยตรวจสอบก็จะทำได้ง่ายขึ้น

ท่านผู้ยิ่งใหญ่ที่ไม่เคยถูกตรวจสอบ ใช้อำนาจอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ จะก่นด่าขึ้นเสียงตวาด หรือปากล้วยชกท้องใครก็คงทำไม่ได้ง่ายๆ โดยไม่ถูกต่อต้านเหมือนสมัยก่อน

ห่วงแค่ว่าท่านจะเส้นโลหิตในสมองแตกตายหรือเป็นอัมพาตอัมพฤกษ์อะไรไปก็จะเป็นที่เวทนาของผู้คนเสียเปล่าๆ น่ะซิ.


กำลังโหลดความคิดเห็น