มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 2562 ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป
โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินเปิดประชุมรัฐสภาด้วยพระองค์เอง ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2562
และหลังจากนั้น วาระแรกของการประชุมรัฐสภา คือการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งอย่างที่รู้กันว่า จะเป็นการประชุมร่วมของ ส.ส. และ ส.ว. “ชุดประวัติศาสตร์”
ที่เรียกว่าเป็น ส.ว.ชุดประวัติศาสตร์ ก็เพราะว่า พวกเขาจะเป็น ส.ว.ชุดแรกภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช.ซึ่งเป็นการ “ทิ้งทวน” ครั้งสุดท้ายก่อน คสช.ที่จะต้องสลายตัวไปเมื่อมีรัฐบาลใหม่
ดังนั้นเมื่อเป็นการ “ทิ้งทวน” ของ คสช.ซึ่งคงจะเป็นการใช้อำนาจสุดท้ายที่หลงเหลืออยู่ได้แล้ว ก็ต้องทิ้งกันแรง
ก็เลยได้เห็นชื่อบุคคลประเภทเพื่อนพ้องน้องพี่ บางคนก็เป็นน้องเขย แม่ยาย ของ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และยังไม่ต้องพูดถึงบรรดาคนมีสีที่ปาเข้าไปครึ่งสภา แบบที่รายชื่อแต่ละคนเห็นแล้วอมยิ้ม เพราะล้วนเป็นดาวสภาประเภทแต่งตั้งกันมาทั้งสิ้น
เรียกว่าเป็นการใช้อำนาจครั้งสุดท้ายแบบโจ๋งครึ่มไม่ต้องเหนียมกัน เพราะจากนี้จะไม่มี คสช.มาให้ใช้อำนาจอีกแล้ว นี่คือสายใยสุดท้ายของอำนาจพิเศษที่จะยังเหลืออยู่อีก 5 ปี
ซึ่ง ส.ว.ชุดที่จะมีวาระ 5 ปีนี้ ก็มีตัวสำรองอีก 50 คน ซึ่งถ้าตัวจริงเป็นอะไรไป ก็จะเข้ามาเสียบแทนตามลำดับรายชื่อ คล้าย ๆ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์
จากรายชื่อ ส.ว.ที่ออกมาคงวางใจได้ว่ารับประกันไม่แตกแถวแน่นอน
เมื่อรวมกับ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และพรรคที่ประกาศชัดแล้วว่าเป็นพันธมิตรร่วมตั้งรัฐบาล บวกกับบรรดา “ส.ส.เก็บตก” ที่มาจากอภินิหารคณิตศาสตร์ของ กกต.ที่รวมตัวกันแถลงจุดยืนแล้วว่า 11 พรรค ไปอยู่กับรัฐบาล พรรคพลังประชารัฐหมดแน่นอน
ก็เรียกว่าตอนนี้ก็แน่นอนว่า “ลุงตู่” ก็ไม่ต้องลงจากเก้าอี้ตัวเดิม เพิ่มเติมคือพรรคร่วมรัฐบาล 20 กว่าพรรค เยอะที่สุดในประวัติศาสตร์
ส่วนที่มีข่าวลือว่าจะมีการดึงงูเห่าจากพรรคพลังประชารัฐออกไป หรือมีการแบไต๋จากขั้วพรรคเพื่อไทยและพรรคแนวร่วมว่า ยินดีสละเก้าอี้นายกฯ ให้แคนดิเดตจากพรรคอื่นก็ได้ ขอแค่ “ปิดสวิตช์” ส.ว.ได้ก็พอนั้น
แม้ในทางทฤษฎีอาจจะยังเป็นไปได้ แต่ในทางความเป็นจริงนั้นน่าจะยาก โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่า ทางพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่นั้นจะ “เสียการเมือง” สำหรับฝ่ายที่สนับสนุนตัวเองไปไม่ใช่น้อย
ยิ่งกับพรรคประชาธิปัตย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ถูกคนเสื้อแดงตราหน้าไปแล้วว่า เป็นหนึ่งในผู้สั่งการสังหารผู้ชุมนุมในปี 2553 นั้น ถ้าพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ไปสนับสนุนให้กลับมาเป็นนายกฯ ก็รับรองว่าจะเสียแนวร่วมไปมากทีเดียว
ส่วนฝั่งของพรรคภูมิใจไทย คือนายอนุทิน ชาญวีรกุลนั้น แม้จะมีการเล่นตัวกระบิดกระบวนไม่ยอมแบไต๋เสียที แต่จากท่าทีที่แสดงออกมา เด็กอมมือก็รู้ว่าหวยจะไปออกที่ฝั่งไหน เรียกว่างานนี้จะพลิก แปลว่าจะต้องมีการ “แลก” อย่างสำคัญที่สุด ซึ่งรวบรัดตัดความไปได้เลยว่า ยากมหายาก
ส่วนทางพรรคประชาธิปัตย์นั้น แม้จะได้หัวหน้าพรรคคนใหม่ คือนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ซึ่งอาจจะยังไม่ชัดเจนในแนวทางว่าจะหนุนใครเป็นนายกฯ
แต่ด้วยกลไกทางรัฐธรรมนูญที่ให้เสรีภาพกับ ส.ส.ที่จะยกมือลงมติอย่างไรก็ได้โดยไม่ต้องผูกพันกับมติพรรค ก็สรุปได้ว่า ใครเป็นหัวหน้าพรรคก็เท่านั้น ในที่สุด ส.ส. ส่วนใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ ก็มีท่าทีแย้มพรายมานานแล้วว่าจะหนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แน่ ๆ
เรียกว่างานนี้ “ลุงตู่” สู้ทุกทางจริงๆ ใช้ทุกมือไม้กลไก กว่าจะเอาชนะได้แบบหืดขึ้นคอขนาดนี้ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ออกจะคาดไม่ถึง หากพิจารณาว่าหลังรัฐประหารใหม่ๆ ไปจนปีที่สองที่สามนั้น ความนิยมในตัวของผู้นำชุดเขียวนี้มาแรงแค่ไหน
การตั้ง ส.ว.ที่ได้เห็นตลอดกระบวนการนี้แสดงให้เห็นถึงความหมดหน้าตัก ชนิดว่ากรรมการสรรหา ลงไปเป็น ส.ว.เสียเอง หรือมีการกระซิบให้รัฐมนตรีในรัฐบาลรู้ก่อน ยื่นใบลาออกไปแต่งเนื้อแต่งตัวรอเป็น ส.ว.
แต่นั่นแหละ ท่านว่าจะเอาอย่างนั้น คือตั้งใจอย่างยิ่งแล้วที่จะไม่ลุกจากเก้าอี้นายก ฯ โดยที่ก็คงยอมรับแล้วว่า ในรอบนี้จะได้เข้าไปสู่เกมการเมืองเต็มรูปแบบ ที่ไม่มีอำนาจพิเศษจาก คสช.และ มาตรา 44 มาช่วยได้อีก
ด่านแรกนี้คงต้องปวดหัวกับเกมต่อรองเก้าอี้อลเวง รวมถึงผลประโยชน์อื่นๆ ที่ไม่ใช่เก้าอี้รัฐมนตรีอีกด้วย
และอย่างที่ทราบ ว่าต่อให้ตั้งรัฐบาลได้ ก็น่าจะออกมาเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ซึ่งคะแนนสองคะแนนของ ส.ส.ก็มีความหมาย ดังนั้นใครเรียกร้องอะไรก็ต้องฟัง หาไม่แล้วเขาชักเท้าหนีไป ดีไม่ดีรัฐบาลล่มได้เลย
ก็ต้องมาจับตาดูว่า แล้วรัฐบาลจะ “ตอบแทน” กับบรรดา ส.ส.พรรคกระจิบกระจ้อยโขยงใหญ่กันได้อย่างไร รวมถึงกับพรรคร่วมรัฐบาลเบอร์ใหญ่ ที่หากลุกขึ้นจากเก้าอี้เมื่อไร รัฐบาลมีแต่ตายกับตาย
บิ๊กตู่ และบรรดาผู้บริหารพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งหน้าใหม่ในทางการเมือง แต่ชนะมาเพราะความได้เปรียบสารพัดด้วยความเป็นรัฐบาลและอำนาจ คสช.จะรับมือกับบรรดา ส.ส.เขี้ยวลากดินมืออาชีพได้หรือไม่เมื่อปราศจากตัวช่วย
และยังจะมีด่านใหญ่ที่สำคัญให้ต้องเผชิญ ในเรื่องการผ่านกฎหมายในสภา ซึ่งน่าจะปวดหัวไม่น้อย โดยเฉพาะกฎหมายสำคัญมากๆ อย่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีซึ่งตามประเพณีการปกครองในระบอบรัฐสภา หากรัฐบาลไม่สามารถผ่านกฎหมายงบประมาณได้ ก็ต้องลาออก เพราะเท่ากับว่าสภาไม่เห็นชอบให้เงินไปใช้บริหารราชการแผ่นดิน
จนมีการพูดแบบโยนหินถามทางแล้วว่า มีบางมาตราในรัฐธรรมนูญอยู่เหมือนกัน ที่อาจจะเปิดช่องทางพิเศษให้ใช้ตัวช่วย เรียก ส.ว.ไปร่วมโหวตกฎหมายให้ด้วยได้
แต่ถ้าจะเอากันถึงขนาดนั้นก็คงจะไม่เหลือหลักการอะไรกันอีกแล้ว
การนั่งบนเก้าอี้นายกฯ ของ “บิ๊กตู่” ต่อแต่นี้ไป ก็เหมือนกับการนั่งอยู่บนเก้าอี้ที่ไม่ครบขา ต้องไปหาเศษไม้หาวัสดุอะไรมาค้ำยันหนุนขึ้นไปพอให้นั่งได้ แต่นั่งแล้วจะล้มคว่ำลงมาหรือไม่ เมื่อไร ก็ไม่รับประกัน.