xs
xsm
sm
md
lg

บัตรเดบิตแบบ ‘คอนแทคเลส’ มาเงียบๆ ฟาดเรียบนะจ๊ะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

ช่วงนี้มีหลายธนาคารเริ่มเพิ่มคุณสมบัติบัตรเดบิต ที่เราใช้เป็นบัตรเอทีเอ็มกดเงินสด หรือรูดซื้อของเป็นประจำในบัตรเดบิตรุ่นใหม่ ให้สามารถแตะบัตรบนเครื่องรูดบัตรเพื่อจ่ายเงินได้ เหมือนกับใช้บัตรแตะซื้อของ หรือแตะขึ้นรถไฟฟ้า

วิธีจ่ายเงินแบบนี้เรียกว่า “การชำระเงินแบบไร้สัมผัส” หรือ “คอนแทคเลส” (Contactless) โดยใช้วิธีนำบัตรแตะที่เครื่องรูดบัตร EDC แล้วอนุมัติรายการได้เลย ไม่ต้องรูดหรือเสียบบัตร และไม่ต้องกดรหัส PIN 6 หลัก

ถ้านึกภาพไม่ออก ให้นึกถึงบัตรสมาร์ทเพิร์ส (ปัจจุบันหยุดจำหน่ายแล้ว) เวลาซื้อของที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ก็เอาบัตรแตะที่เครื่องอ่านบัตรเพื่อจ่ายเงิน หรือถ้าเป็นบัตรแรบบิท นอกจากจะแตะบัตรขึ้นรถไฟฟ้าได้แล้ว ยังแตะบัตรเพื่อซื้อของได้อีก

เพียงแค่ว่าถ้าใช้บัตรเดบิตระบบคอนแทคเลสชำระเงิน ก็เหมือนการรูดหรือเสียบบัตร เพราะเงินจะหักจากบัญชีธนาคารที่เราผูกไว้กับบัตร ทุกธนาคารกำหนดให้แตะบัตรได้ครั้งละไม่เกิน 1,500 บาท ต่อเซลสลิป

จึงเหมาะสำหรับคนที่ต้องการใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ เช่น ซื้อกาแฟ ซื้ออาหารตามร้านฟาสฟู้ด ซื้อของกินของใช้เล็กๆ น้อยๆ ตามร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต ในอนาคตยังสามารถจ่ายค่ารถเมล์ หรือรถไฟฟ้าได้อีกด้วย

ปัจจุบันมีผู้ให้บริการเครือข่ายบัตร นำระบบคอนแทคเลสมาใช้ อาทิ วีซ่า เพย์เวฟ (VISA Paywave), มาสเตอร์การ์ด เพย์พาส (MasterCard PayPass), ยูเนี่ยนเพย์ ควิกพาส (UnionPay QuickPass), เจ-สปีดี้ (J/Speedy) ของเจซีบี

สถาบันการเงินในไทยเริ่มเอาระบบคอนแทคเลสมาใช้กับบัตรเครดิตเมื่อประมาณ 4-5 ปีก่อน แต่สำหรับบัตรเดบิต ธนาคารแรกในไทยที่นำมาใช้ คือ “ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย” นำระบบวีซ่าเพย์เวฟมาใช้กับบัตรเดบิตเมื่อปี 2558

ต่อมาในปี 2561 ธนาคารแห่งประเทศไทย บังคับใช้บัตรเดบิตชิปการ์ดมาตรฐานกลาง เริ่มมีบางธนาคารนำระบบคอนแทคเลสมาใช้ในบัตรรุ่นใหม่ อาทิ ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี), ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารซิตี้แบงก์

นอกจากจะนำมาใช้กับบัตรเครดิต บัตรเดบิตแล้ว ยังนำมาใช้กับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของธนาคาร อาทิ บัตรพรีเพดการ์ด SCB M Prepaid ธนาคารไทยพาณิชย์, ชิป TMB Wave ธนาคารทหารไทย สำหรับร้านค้าที่รับชำระด้วยวีซ่าเพย์เวฟ

โดยเฉพาะธนาคารกรุงไทย ยังนำระบบคอนแทคเลสมาใช้กับบัตรกรุงไทย ทราเวล การ์ด (สำหรับใช้ในต่างประเทศ) บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เวอร์ชั่น 4.0 และบัตร ขสมก. คอนแทคเลส พรีเพด ที่กำลังทดลองรถเมล์ไร้เงินสดในขณะนี้

มาปีนี้ (2562) ธนาคารกรุงไทย ออกบัตรเดบิตระบบคอนแทคเลส เริ่มจาก บัตรเดบิตกรุงไทย ทราเวล ยูเนี่ยนเพย์ ก่อนที่จะออกบัตรเดบิตกรุงไทย ช้อปสมาร์ท รุ่นใหม่ออกมา ทั้งแบบธรรมดาและแบบพ่วงประกัน

ล่าสุด ธนาคารกสิกรไทย ออกบัตรเดบิตรุ่นใหม่ใน 5 ผลิตภัณฑ์ เพิ่มระบบคอนแทคเลสลงในบัตร ได้แก่ บัตรเดบิตกสิกรไทย, บัตรเดบิตเคมาย, บัตรเดบิตเคแมกซ์พลัส, บัตรเดบิตประจำจังหวัด และบัตรเดบิตเค ดูคาติ

แต่พบว่าบัตรรุ่นใหม่เหล่านี้ คิดค่าธรรมเนียมรายปีเพิ่มขึ้นอีก 50 บาท เช่น บัตรเดบิตกสิกรไทย ซึ่งเป็นแบบธรรมดา ของเดิมคิดค่าธรรมเนียมรายปี 200 บาทต่อปี แต่ถ้าเป็นบัตรรุ่นใหม่ กลับคิดค่าธรรมเนียมรายปี 250 บาทต่อปี

พอออกบัตรรุ่นใหม่ ก็ถือโอกาสขึ้นค่าธรรมเนียมแบบเนียนๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว
ที่มา : https://www.kasikornbank.com/th/rate/fee/ChargesDoc/ServicingFees_th_18042019.pdf
แม้เครื่องรูดบัตร EDC รุ่นใหม่ตามร้านค้าต่างๆ จะอัพเกรดคุณสมบัติ รองรับการชำระเงินแบบคอนแทคเลสมานานแล้ว แต่ก็พบว่าพนักงานยังคงเสียบบัตร หรือรูดบัตรด้วยความเคยชิน

ร้านที่แทบจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องแตะบัตรเพื่อจ่ายเงิน มีอยู่ร้านเดียวในไทย คือ แมคโดนัลด์ นอกจากจะใช้บัตรเดบิตได้ไม่มีขั้นต่ำแล้ว เครื่องรูดบัตร EDC ยังหันหน้าไปทางลูกค้าโดยตรง เลือกได้ว่าจะแตะบัตรหรือเสียบบัตรเมื่อชำระเงิน

แต่บรรดาซูเปอร์มาร์เก็ต และห้างค้าปลีกชื่อดัง แคชเชียร์เลือกที่จะเสียบบัตรบนเครื่องรูดบัตร EDC เหมือนเดิม ยิ่งถ้าเป็นบัตรเดบิตชิปการ์ดมาตรฐานกลาง ต้องบังคับให้ใส่รหัส PIN 6 หลักเพื่ออนุมัติรายการ ยิ่งเสียเวลามากขึ้นไปอีก

บางครั้งด้วยความไม่เข้าใจ และไม่เปิดใจของแคชเชียร์ เมื่อถามว่า “ใช้วีซ่าเพย์เวฟได้ไหม” มักจะถูกปฏิเสธ อ้างว่า “ที่นี่ใช้ไม่ได้” ทั้งที่เครื่องรูดบัตร EDC ภายในห้างฯ ใช้เครื่องรุ่นใหม่แล้วแท้ๆ

อย่างไรก็ตาม เรายังได้เห็นความพยายามก้าวสู่สังคมไร้เงินสดหลายภาคส่วน อาทิ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ทดลองชำระค่าโดยสารแบบไร้เงินสด บนรถเมล์สาย 510 ก็ใช้บัตรเดบิตแบบคอนแทคเลสชำระเงินได้

แม้จะมีประชาชนส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย อ้างว่าเคยชินกับการใช้เงินสด แต่ก็หวังไว้ในใจว่า หากบัตรเดบิตแบบคอนแทคเลสมีให้บริการมากขึ้น และการใช้จ่ายแบบคอนแทคเลสแพร่หลายมากขึ้น เราอาจจะได้เห็นรถเมล์ไร้เงินสดในอนาคตอันใกล้
เครื่อง EDC รุ่นใหม่ของธนาคารกรุงเทพ ที่ติดตั้งในห้างเทสโก้ โลตัส  (ภาพ : Tesco Lotus)
เมื่อมีหลายธนาคารออกบัตรเดบิตแบบคอนแทคเลส สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือความปลอดภัยต่อเงินในบัญชี เนื่องจากการอนุมัติรายการแต่ละครั้ง เพียงแค่แตะบัตรเดบิตบนเครื่องรูดบัตร EDC ที่รองรับเท่านั้น

แม้ผู้ออกบัตรหรือเครือข่ายบัตร จะแก้ไขปัญหาด้วยการกำหนดให้เครื่องรูดบัตร EDC ต้องสัมผัสกับบัตร ระยะห่างสูงสุดเพียง 4 เซนติเมตร เพื่อรองรับเฉพาะผู้ถือบัตรแตะบัตรจริงๆ ไม่ใช่ลักลอบแตะบัตรก็ตาม

ในต่างประเทศ เคยมีคนนำเครื่องรับส่งข้อมูลบัตรแบบพกพา ไปแตะกระเป๋าเพื่อขโมยข้อมูลบัตร โดยเฉพาะคนที่เก็บบัตรเครดิต บัตรเดบิตไว้ในกระเป๋าสะพาย หรือคนที่นำกระเป๋าสตางค์ไว้ด้านหลังกระเป๋ากางเกง

ในโลกออนไลน์ถึงกับมีคลิปตัวอย่าง ที่ชายคนหนึ่งนำเครื่องรูดบัตร EDC แบบพกพาแอบสแกนบัตรในกระเป๋าสตางค์ของชายอีกคนหนึ่ง ที่ใส่ไว้ในกระเป๋ากางเกงด้านหลัง เพื่อดึงเงินในบัญชีโดยที่เจ้าตัวไม่รู้ตัว



ภายหลังถึงได้มีผลิตภัณฑ์ป้องกันการส่งสัญญาณไปยังตัวบัตร เช่น ซองใส่บัตร RFID Blocking Sleeve หรือกล่องใส่บัตร RFID Protection หาซื้อได้ตามช้อปปิ้งออนไลน์ต่างๆ
อุปกรณ์ป้องกันการรับสัญญาณ RFID
วิธีง่ายๆ ที่พอจะป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพลักลอบส่งสัญญาณไปยังตัวบัตร เพื่อขโมยเงินโดยที่เราไม่รู้ตัวก็คือ ควรเก็บกระเป๋าสตางค์ไว้กับตัว โดยใส่กระเป๋ากางเกงด้านหน้า อย่าใส่หลังกระเป๋ากางเกงโดยที่เรามองไม่เห็น

อีกวิธีหนึ่งที่มีคนแนะนำก็คือ ใช้แผ่นฟลอยด์สำหรับห่ออาหาร มีขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป หุ้มบัตรเดบิตเอาไว้ จะช่วยบล็อกสัญญาณไม่ให้มิจฉาชีพดึงข้อมูลในบัตรออกมาได้

นอกจากนี้ การสมัครแจ้งเตือนเงินเข้า-เงินออกได้ฟรี ผ่านแอปพลิเคชันธนาคารชั้นนำ หรือการแจ้งเตือนผ่านไลน์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ก็เป็นอีกวิธีที่เราสามารถคอยดูเงินเข้า-ออกในบัญชี และความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นได้

เราสามารถตรวจสอบรายการ EDC ผ่านบัตรเดบิตได้ทางแอปพลิเคชันธนาคาร หลังใช้จ่ายผ่านบัตรไปแล้วประมาณ 2-3 วัน หากพบรายการผิดปกติ ให้รีบโทรศัพท์แจ้งไปยังธนาคาร เพื่อทำรายการปฏิเสธรายการใช้จ่ายทันที

แม้ความเสี่ยงเหล่านี้จะทำให้บัตรเดบิตแบบคอนแทคเลสดูไม่ปลอดภัยขึ้นมา แต่ในความเป็นจริง ไม่มีเทคโนโลยีไหนปลอดภัยที่สุด ถ้าเรายังใช้เทคโนโลยีโดยประมาทและไม่รัดกุมเพียงพอ
กำลังโหลดความคิดเห็น