xs
xsm
sm
md
lg

ขว้างงูไม่พ้นคอ

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

ไม่มีใครคิดว่า กรณีเรื่องการถือหุ้นในกิจการสื่อสารมวลชน ของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่นั้น จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่จนโดนกันไปทุกฝ่ายเช่นนี้

ด้วยรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ใน มาตรา 98(3) ว่าบุคคลผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ นั้น ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นมาตรการบังคับก่อน คือตั้งแต่สมัคร ส.ส.แล้ว คือห้ามมีหุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนที่ทำกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ตั้งแต่ก่อนลงสมัครรับเลือกตั้ง

นัยว่าเพื่อป้องกันการเข้ามามีอิทธิพลครอบงำการตัดสินใจของประชาชนผ่านช่องทางของสื่อมวลชนในมือ

ปัญหาคือ นิยามของกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนนี่เอง

นั่นคือในครั้งแรกนั้น มีการตีความตามลายลักษณ์อักษรเลยว่า ถ้าผู้สมัคร ส.ส. ผู้ใด ถือหุ้นในกิจการที่มีวัตถุประสงค์จดทะเบียนไว้ หรือในหนังสือบริคณฑ์สนธิ ว่าประกอบกิจการสื่อมวลชนด้วย ก็ถือว่ามีคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรานี้ ไม่อาจลงสมัครรับเลือกตั้งได้

ก่อนหน้านี้ได้เคยมีการตัดสิทธิผู้สมัคร ส.ส. กรณีนี้แล้ว และศาลฎีกาก็ได้มีคำพิพากษามาเป็นบรรทัดฐานแล้วด้วยสองเรื่อง ว่าการถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชนนั้นพิจารณาจากเอกสารหนังสือบริคณฑ์สนธิว่าเป็นวัตถุประสงค์ของกิจการนั้นหรือไม่ โดยไม่ต้องพิจารณาว่าห้างหรือบริษัทนั้นจะประกอบกิจการสื่อมวลชนในทางความเป็นจริงหรือไม่

เช่นเดียวกับกรณีของหุ้นบริษัทวีลัคของธนาธร ที่แม้จะไม่ได้ผลิตนิตยสารมาสองปีแล้ว แต่ก็ยังถือว่าเป็นกิจการสื่อมวลชนอยู่

แต่ปัญหาในทางความเป็นจริง คือในการจดทะเบียนตั้งบริษัทต่างๆ นั้น ในทางปฏิบัติ ในหนังสือบริคณฑ์สนธิ จะกำหนดวัตถุประสงค์ของบริษัทเอาไว้แบบครอบจักรวาล เพื่อความสะดวกในการดำเนินกิจการของบริษัท เพราะมิเช่นนั้น หากจะขยายกิจการหรือเพิ่มขอบเขตของกิจการ ก็จะต้องประชุมใหญ่ผู้ถูกหุ้นและทำเรื่องแก้ไขวัตถุประสงค์ของบริษัทยุ่งยากวุ่นวาย

จึงอาจกล่าวได้ว่า ผู้ถือหุ้นในบริษัทต่างๆ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ หรือบริษัทกิจการครอบครัว ถ้าลองไปเปิดดูวัตถุประสงค์ดีๆ อาจจะพบว่ามีวัตถุประสงค์ข้อหนึ่งที่เกี่ยวกับกิจการสื่อมวลชนแน่ๆ

ผลกระทบจึงกลายเป็นโดมิโนไปสู่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคอื่นด้วย แม้แต่ฝ่ายพรรคพลังประชารัฐเองก็ตาม

กรณีของธนาธรนั้น ปัญหาอยู่ที่ว่า เขาได้โอนหุ้นเจ้าปัญหานั้นไปก่อนที่จะสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ ถ้าข้อเท็จจริงยืนยันชัดเจนได้ว่าโอนหุ้นไปแล้วก็ไม่มีปัญหา เพราะอย่างน้อยเขาก็ไม่ได้ถือหุ้นนั้นอยู่แล้ว

แต่ในอีกหลายกรณี โดยเฉพาะว่าที่ ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐนั้น ให้สละหุ้นตอนนี้ก็ไม่ทันแล้ว

รวมถึงบางคนก็เป็นกรรมการบริหารพรรคด้วย ซึ่งจะเท่ากับว่าเป็นกรณีที่กรรมการบริหารพรรคกระทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งอาจจะมีโทษให้ยุบพรรคนั้นๆ ก็ได้

ดังนั้นเรื่องหุ้นสื่อมวลชนนี้ จึงเป็นเหมือนงูที่ขว้างไม่พ้นคอ ขว้างแล้วก็ตกลงมากลางวงของพวกเดียวกัน

และเป็น “งานหนัก” ของทาง กกต.ที่ก่อนหน้านี้เคยขึงขังว่า ใครยื่นสมัคร ส.ส.โดยที่ตัวเองขาดคุณสมบัตินั้น จะดำเนินคดีให้หมดรวมถึงกรณีของหัวหน้าพรรค ที่จะต้องรับรองคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส.ด้วย ว่าจะเท่ากับเป็นการรับรองข้อความเท็จหรือไม่

เมื่อกลายเป็นว่า เรื่องมูลเดียวกันนี้ คนที่จะโดนด้วยนั้น เป็นฝ่ายพรรคพลังประชารัฐด้วยแล้ว ประชาชนก็จับตาว่า แล้ว กกต. จะยังขึงขังเข้มงวด จะเอาผิดกราวรูด แบบที่ขู่ไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่

และอีกทั้งมาตรฐานคำพิพากษาของศาลฎีกา ที่ไม่รู้ว่าจะยังคงยืนตามนั้นอยู่หรือไม่ เพราะหากใช้มาตรฐานเดิม ก็จะมีว่าที่ ส.ส.จำนวนพอสมควรเลยทีเดียว ที่ต้องถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

กลายเป็นสถานการณ์ที่ลุยไปข้างหน้าก็จะวุ่นวายเจอปัญหา จะถอยหรือก็ไม่สง่างาม

เรื่องหุ้นของธนาธรที่หลายคนคิดว่าจะเป็นไม้เด็ดไม้ตาย จัดการตัดตอนไม่ให้ “ไพร่หมื่นล้าน” เข้าสภาฯ กลายเป็นอาวุธความร้ายแรงสูงที่โจมตีทั้งสองฝ่ายไม่เลือกหน้าไปแทน.
กำลังโหลดความคิดเห็น