xs
xsm
sm
md
lg

Review : บัตร ขสมก.เตรียมพร้อม “รถเมล์ไร้เงินสด” | True Digital Card รูดปรื๊ดได้ทรูพอยท์

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

สำหรับคนที่ชื่นชอบสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) สัปดาห์นี้เรามีบัตรอิเล็กทรอนิกส์มาทดลองใช้อยู่ 2 ใบ ได้แก่ “บัตร ขสมก.คอนแทคเลส พรีเพด” ไว้จ่ายค่ารถเมล์ กับ “บัตรทรู ดิจิทัล การ์ด” รูดปรื๊ดแทนเงินสด

“บัตร ขสมก.คอนแทคเลส พรีเพด” เป็นบัตรชำระค่าโดยสารรถประจำทาง องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งจะทดสอบการชำระค่าโดยสารโดยไม่รับเงินสด นำร่องสาย 510 ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2562 เป็นเวลา 2 เดือน

“บัตรทรู ดิจิทัล การ์ด” เป็นบัตรมาสเตอร์การ์ดแบบเติมเงิน ผูกกับบัญชีทรูมันนี วอลเลท ใช้จ่ายแทนเงินสดตามร้านค้าที่รับบัตรมาสเตอร์การ์ด ทุก 25 บาท จะได้รับคะแนนสะสมทรูพอยท์ 1 คะแนน

ทั้งสองบัตรนี้จะมีรูปแบบอย่างไร เราได้ทำการซื้อบัตร และสมัครบัตรดังกล่าว เพื่อสาธิตคุณสมบัติของบัตรทั้งสองประเภท มาให้ผู้บริโภคได้รับทราบ เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกใช้บริการ

• ขสมก.คอนแทคเลส พรีเพด : “รถเมล์ไร้เงินสด” เกิดขึ้นได้จริงหรือ?

บัตร ขสมก.คอนแทคเลส พรีเพด (BMTA Contactless Prepaid) เป็นบัตรชำระค่าโดยสารประจำทาง ตามโครงการนำร่อง บริการรับชำระค่าโดยสารแบบไร้เงินสด ระหว่าง ขสมก. กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

ก่อนหน้านี้ ธนาคารกรุงไทยมอบเครื่องอ่านบัตร EDC แก่ ขสมก. 3,000 เครื่อง ให้ใช้งานกับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอย่างไม่มีกำหนด เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ก่อนที่ ขสมก. จะยกเลิกเครื่องอ่านบัตรอี-ทิคเก็ตและถอดออกในที่สุด

บัตรใบนี้ ธนาคารกรุงไทย ผลิตให้ ขสมก. 10,000 ใบ ใช้ได้เฉพาะรถประจำทาง สาย 510 ม.ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จำนวน 38 คัน ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน – 9 มิถุนายน 2562 รวมระยะเวลา 2 เดือน

เบื้องต้นทราบว่า จะมีพนักงาน ขสมก. และธนาคารกรุงไทย จำหน่ายบัตรที่ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (เกาะพหลโยธิน) และป้ายรถเมล์สำคัญที่สาย 510 ผ่าน ในราคาใบละ 40 บาท รับมูลค่าเงินในบัตร 50 บาท ตั้งแต่บัดนี้ ถึง 30 เมษายน 2562

ที่ผ่านมาหลังเปิดตัวโครงการ เราพยายามตามหาบัตร ขสมก. ตัดสินใจขึ้นรถเมล์สาย 510 ด้วยตัวเอง แต่ก็ไม่พบว่ามีพนักงานเก็บเงินนำบัตรมาขายแต่อย่างใด ได้คำตอบแต่เพียงว่า “ไม่มี ยังไม่พร้อม” และเก็บค่าโดยสารด้วยเงินสดตามปกติ

กระทั่งเมื่อเย็นวันศุกร์ (5 เมษายน 2562) เรากลับมาที่เกาะพหลโยธิน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อีกครั้ง เราเลยลองถามพนักงานที่ขายตั๋วรายสัปดาห์-รายเดือนของ ขสมก. ว่า “มีบัตรอี-ทิคเก็ตขายไหม?”

เหมือนโชคจะเข้าข้าง คุณป้าขายตั๋วรายสัปดาห์-รายเดือน หยิบแพ็คเกจบัตร ขสมก. มาให้ บอกว่า “40 บาทจ๊ะหนู” และว่า จริงๆ ป้าจะซื้อเก็บเอาไว้ แต่เห็นหนูถามหา ป้าเลยเอามาขายก่อน จริงๆ ซื้อไว้ก่อนแหละดีแล้ว

กลายเป็นว่าได้ซื้อบัตร ขสมก. โดยบังเอิญ ต้องขอบคุณ คุณป้าขายตั๋วรายสัปดาห์-รายเดือนท่านนี้ ที่ปล่อยบัตรมาให้ เพราะทีแรกนึกว่าต้องรอวันทดสอบจริง ซึ่งต้องรอไปถึงสัปดาห์หน้าเลยทีเดียว

สำหรับหน้าตาบัตร ขสมก. ด้านหน้าจะเป็นกราฟฟิกลายรถโดยสาร ขสมก. สีฟ้า เป็นบัตรแบบชิปการ์ด พร้อมด้วยสัญลักษณ์ “พร้อมการ์ด” (PromptCard) แบบมีใบพัด (Contactless) หน้าบัตรระบุเลขที่บัตร 16 หลัก เดือน/ปีที่หมดอายุ

ด้านหลัง จะเป็นแถบแม่เหล็ก มีรหัส “พร้อมเพย์คิวอาร์โค้ด” (PromptPay QR Code) รหัสบาร์โค้ด แถบลายมือชื่อ รหัสรักษาความปลอดภัยบนบัตร เงื่อนไขการใช้บัตร โดยบัตรใบนี้มีอายุการใช้งาน 5 ปี ไม่มีค่าธรรมเนียมรายปี

วิธีการใช้งาน น่าจะคล้ายกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตรงที่เมื่อขึ้นรถประจำทาง ขสมก. พนักงานเก็บค่าโดยสารจะถามเราว่า “ไปลงที่ไหน” ถ้าเราตอบป้ายรถเมล์ที่จะลง พนักงานจะกดราคาที่เครื่อง EDC ซึ่งคิดค่าโดยสารตามที่กำหนด

จากนั้น พนักงานจะนำบัตรของเราแตะที่ด้านบนของเครื่อง EDC โดยไม่ต้องเสียบบัตร เพราะใช้ระบบคอนแทคเลส (Contactless) เหมือนแตะประตูขึ้นบีทีเอส ยอดเงินที่อยู่ในบัตรจะถูกหักออกจากระบบตามราคาค่าโดยสาร เป็นอันเสร็จสิ้น

ทีแรกแปลกใจตรงที่ช่องทางการเติมเงิน นอกจากเติมเงินผ่านเคาน์เตอร์ ธนาคารกรุงไทยทุกสาขาแล้ว ในสื่อประชาสัมพันธ์ระบุว่า สามารถเติมเงินได้ ผ่านโมบายแบงกิ้งของทุกธนาคาร และผ่านตู้เอทีเอ็มของทุกธนาคาร

แต่พอดูด้านหลังบัตรก็ถึงบางอ้อ เพราะบริเวณฝั่งซ้ายเป็น “พร้อมเพย์คิวอาร์โค้ด” เมื่อเปิดเมนูสแกนคิวอาร์โค้ด ผ่านโมบายแบงกิ้งทุกธนาคาร พบว่าเป็น “เติมเงินเข้าบัตร ขสมก.คอนแทคเลส พรีเพด” (BMTA TOP UP CARD)

ส่วนการเติมเงินผ่านตู้เอทีเอ็มของทุกธนาคาร พบว่าจะใช้บาร์โค้ดที่อยู่ด้านล่างสุดของบัตร แต่เนื่องจากคนไทยใช้โมบายแบงกิ้งมากกว่า 10 ล้านคน การเติมเงินผ่านคิวอาร์โค้ดจะสะดวกมากกว่า

งานต้องชื่นชมธนาคารกรุงไทย ที่ใช้ระบบนี้รองรับการเติมเงินทุกธนาคาร เท่ากับทลายข้อจำกัดที่คนมักจะคิดว่า บัตรกรุงไทยจะใช้ได้เฉพาะกรุงไทย แต่คนที่ไม่มีบัญชีกรุงไทยเลยก็เติมเงินเข้าบัตร ขสมก. ได้ทันที ไม่ต้องไปสาขาและตู้เอทีเอ็ม

ส่วนการเติมเงินผ่านเคาน์เตอร์สาขา ถ้าไม่ใช่สาขาในกรุงเทพฯ พนักงานจะงงเล็กน้อย ถามเราว่า “อี-มันนี่ใช่ไหมคะ” เราก็ตอบว่าใช่ พนักงานก็จะคีย์เลขหน้าบัตร 16 หลัก ถามเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ก่อนจะได้รับใบรับฝากเงิน

มีคำแนะนำว่า ให้นำบัตร ขสมก. ไปลงทะเบียนยืนยันตัวตนที่ธนาคารกรุงไทยก่อน เพื่อใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ ตามร้านค้าที่มีสัญลักษณ์ PromptCard และเติม จ่าย ถอน โอน ที่ตู้เอทีเอ็มธนาคารกรุงไทย

เราจึงนำแพ็คเกจบัตร พร้อมบัตรประชาชนตัวจริง ไปที่ ธนาคารกรุงไทย สาขาสยามพารากอน ทีแรกนึกว่าพนักงานจะไม่รู้เรื่อง ปรากฎว่าพนักงานนำบัตรเราไปทำการลงทะเบียน และตั้งรหัสผ่าน 6 หลัก ใช้เวลาประมาณ 5 นาที

จากนั้น พนักงานได้กล่าวกับเราว่า “ลงทะเบียนเรียบร้อย รหัสบัตร ขสมก. จะตั้งค่าเบื้องต้นเป็น 111111 ให้ไปเปลี่ยนรหัสที่ตู้เอทีเอ็มธนาคารกรุงไทยก่อน” พร้อมนำกระดาษเล็กๆ ระบุวิธีเปลี่ยนรหัสบัตรมาให้

ขั้นตอนเปลี่ยนรหัส (สำหรับผู้ลงทะเบียนใหม่) ให้สอดบัตร กดรหัส 111111 เลือก “อื่นๆ” เลือก “บริการอื่นๆ” อีก 2 ครั้ง จนพบเมนู “เปลี่ยนรหัสบัตร” จากนั้นให้เปลี่ยนรหัส 6 ตัว และเปลี่ยนรหัส 6 ตัวอีกครั้ง เป็นอันเสร็จสิ้น

ส่วนการสอบถามยอดเงินคงเหลือในบัตร ขสมก. ให้สอดบัตร กดรหัส 6 ตัว เลือก “สอบถามยอด” เลือกประเภทบัญชี “กระแสรายวัน/บัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์” จะแสดงเงินคงเหลือตามบัญชี และเงินคงเหลือที่ใช้ได้

แต่อันที่จริง นอกจากสอบถามยอดผ่านเครื่องเอทีเอ็ม กับบนรถประจำทาง ขสมก. แล้ว แทบจะไม่มีช่องทางออนไลน์ให้ตรวจสอบยอดเงินคงเหลือในบัตรได้เลย ทั้งที่มีแอปฯ Krungthai Next และ เป๋าตังกรุงไทย อยู่แล้ว

มีข้อสงสัยอย่างหนึ่งว่า ประกาศบนรถเมล์ ขสมก. สาย 510 ระบุว่า บัตรที่สามารถใช้ได้ หนึ่งในนั้นคือ บัตรเดบิตและบัตรเครดิตแบบไร้สัมผัส (Contactless) และสแกนจ่าย ด้วย แอปพลิเคชันธนาคาร ที่รองรับการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ด (QR Code)

ถ้าสามารถชำระเงินผ่านทั้งสองช่องทางนี้ได้ เท่ากับว่าเราไม่จำเป็นต้องซื้อบัตร ขสมก. อีก เพราะปัจจุบันบัตรเดบิตรุ่นใหม่ๆ รองรับระบบคอนแทคเลส เช่น VISA Paywave หรือ MasterCard PayPass กันเยอะแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีผู้โดยสารอีกจำนวนหนึ่ง ที่ใช้บริการรถเมล์ ขสมก. เป็นประจำ มักจะซื้อตั๋วรายสัปดาห์หรือรายเดือนเพื่อความประหยัด ยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ เพียงแค่แสดงบัตรเท่านั้น อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้บัตร ขสมก. ก็ได้

น่าคิดว่าพอถึงวันจริง จะมีคนสนใจซื้อบัตร ขสมก. มากน้อยขนาดไหน แม้ข้อดีจะเป็นบัตรรถเมล์แยกออกจากกัน ไม่ต้องควักเงินสด ทอนเงินให้ยุ่งยาก วิธีเติมเงินก็ง่าย แต่ผู้ถือบัตรจะแฮปปี้หรือไม่ ที่ทุกวันนี้ต้องพกบัตรรถไฟฟ้า 3 สายอยู่แล้ว

ไม่นับรวมปัญหาความแออัดของรถเมล์ในชั่วโมงเร่งด่วน สัญญาณอินเตอร์เน็ตมือถือของไทย สามวันดีสี่วันไข้ทุกเครือข่าย ย่อมกระทบกับเครื่อง EDC แบบพกพา ไม่รู้ว่าระบบหลังบ้านทั้งธนาคารกรุงไทย และ ขสมก. จะรองรับไหวหรือไม่

เหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา ในช่วงทดลองการให้บริการ หากผู้โดยสารมีแต่เงินสด พนักงานเก็บค่าโดยสารจะทำอย่างไร หากเชิญลงจากรถเหมือนกรณีไม่จ่ายค่าโดยสาร จะถูก “โลกโซเชียล” หยิบไปดราม่าสร้างกระแสหรือไม่?

ถือเป็นเรื่องที่ ขสมก. และธนาคารกรุงไทย อาจจะต้องรับมือกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่คาดฝัน จนส่งผลกระทบให้โครงการที่วาดฝันเอาไว้ล่มไม่เป็นท่าก็ได้ ไม่ต่างไปจากโครงการปฏิรูปสายรถเมล์ก่อนหน้านี้
เปรียบเทียบกับบัตร We Card เมื่อ 5 ปีก่อน
• ทรู ดิจิทัล การ์ด : ศักดินาลูกค้าทรู ไม่ได้มีแค่ “บัตรแดง-ดำ” อีกต่อไป

โดยปกติแล้วลูกค้าที่ใช้บริการทรูเป็นประจำ จะมีบัตรสิทธิพิเศษ “ทรูแบล็คการ์ด” และ “ทรูเรดการ์ด” แต่ต่อไปนี้ ลูกค้าทรูที่ยังไม่อยู่ในเงื่อนไข ไม่ต้องน้อยใจ เพราะเดี๋ยวนี้มีบัตรสิทธิพิเศษไว้พกแบบเท่ๆ เหมือนกัน

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ทรูมันนี่ บริษัทในกลุ่มทรู เคยออกผลิตภัณฑ์ “วีการ์ด” (We Card) บัตรมาสเตอร์การ์ดแบบเติมเงิน เมื่อเดือนกันยายน 2557 โดยใช้เลข BIN (Bank Identification Number) ของธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)

แบ่งออกเป็น บัตรเวอร์ชวลการ์ด (Virtual Card) สำหรับช้อปออนไลน์ และ บัตรพลาสติก (Physical Card) สำหรับใช้จ่ายผ่านร้านค้าที่มีเครื่องหมาย MasterCard จำหน่ายในราคา 50 บาท รอรับบัตรที่บ้านภายใน 14 วันทำการ

ปัจจุบันได้หยุดจำหน่ายแล้ว เหลือแค่บัตรเวอร์ชวลการ์ดอย่างเดียว มีเงื่อนไขคือ ถ้าต้องการดูข้อมูลบัตร ต้องมียอดเงินคงเหลือในบัญชีวอลเลท อย่างน้อย 40 บาทขึ้นไปถึงจะดูข้อมูลบัตรได้

ต่อมา เดือนกันยายน 2559 ทรูมันนี่ ร่วมกับกลุ่มทรู ออกบัตรสิทธิประโยชน์ “ทรูยู มาสเตอร์การ์ด” แก่ลูกค้าทรูที่ใช้สินค้าและบริการในกลุ่มทรูติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน ทดแทนบัตรทรูยูเดิม ที่ใช้กระเป๋าเงินทัชซิมในอดีต

แบ่งออกเป็น “ทรูแบล็คการ์ด” (True Black Card) สำหรับยอดชำระค่าบริการมากกว่า 3,000 บาทขึ้นไป แต่ถ้าใช้บริการทรูมานานติดต่อกันเกิน 10 ปี คิดจากยอดชำระค่าบริการมากกว่า 2,000 บาทขึ้นไปเท่านั้น

และ “ทรูเรดการ์ด” (True Red Card) สำหรับยอดชำระค่าบริการมากกว่า 2,000 บาทขึ้นไป แต่ถ้าใช้บริการทรูมานานติดต่อกันเกิน 10 ปี คิดจากยอดชำระค่าบริการมากกว่า 500 บาทขึ้นไปเท่านั้น

สิทธิประโยชน์ถ้าเทียบกันแล้ว ทรูแบล็คการ์ดย่อมดีกว่าแน่นอน แต่ทรูเรดการ์ดจะได้ส่วนลดเครื่องดื่มทรูคอฟฟี่ 20% ส่วนลดชมภาพยนตร์ 50% ฟรีเซ็ตเมนูและเครื่องดื่มที่สนามบิน รวมทั้งสิทธิพิเศษอื่นๆ ในแต่ละเดือน
True White Card VS True Red Card
อย่างไรก็ตาม ยังมีลูกค้าจำนวนมาก ที่ยังไม่อยู่ในเงื่อนไขได้รับทรูแบล็คการ์ด และทรูเรดการ์ด แต่อยากจะรับสิทธิพิเศษเพิ่มเติมใกล้เคียงกัน ก็เลยออกบัตรมาสเตอร์การ์ดแบบเติมเงินที่ชื่อว่า “ทรูไวท์การ์ด” ขึ้นมา

“บัตรทรูไวท์การ์ด” (True White Card) เริ่มจำหน่ายเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2561 สิทธิประโยชน์หลัก ใช้จ่ายทุก 25 บาท รับ 1 ทรูพอยท์ ไว้ใช้เป็นส่วนลดต่างๆ หรือแลกรับสินค้าที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น และร้านค้าที่ร่วมรายการ

ก่อนหน้านี้ ลูกค้าทรูที่ต้องการสมัครบัตรทรูไวท์การ์ด จะจำหน่ายที่ทรูช้อปทั่วประเทศ ในราคาใบละ 20 บาท แต่ภายหลังได้หยุดจำหน่ายไปเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2561

กระทั่งวันที่ 25 มีนาคม 2562 ได้เปิดตัวบัตรทรูไวท์การ์ดในชื่อใหม่ “ทรู ดิจิทัล การ์ด” (True Digital Card) สมัครบัตรฟรี โดยหน้าบัตรยังคงสีขาวรูปแบบเดิม มีข้อความ TOGETHER IS TRUE พร้อมโลโก้ True และ MasterCard



หลังเปิดตัวมาได้ไม่ถึง 2 สัปดาห์ ปรากฎว่า มีลูกค้าสนใจจำนวนมาก เราตามหาบัตรที่สาขาสยามพารากอน, สาขาเซ็นเตอร์พอยท์ สยามสแควร์ และสาขาสยามสแควร์ ซอย 2 แต่ได้รับคำตอบเหมือนกันว่า “สินค้าหมด” อย่างไม่มีกำหนด

สุดท้าย เราได้ทรูไวท์การ์ด ที่สาขามาบุญครองเซ็นเตอร์ ชั้น 4 การสมัครบัตรใช้เพียงแค่บัตรประชาชนใบเดียว แต่ถ้าในวอลเลทไม่มียอดเงินคงเหลือแม้แต่บาทเดียว จะต้องเติมเงินลงในบัตรก่อน (เท่าไหร่ก็ได้) ถึงจะสามารถเปิดบัตรได้

จากนั้น พนักงานจะให้เราเปิดแอปฯ TrueMoney Wallet เพื่อเปิดใช้บัตรมาสเตอร์การ์ด พนักงานจะกรอกเลข Activation No. ด้านหลังบัตร 18 หลัก และกรอกเลขหน้าบัตร 4 หลักสุดท้าย ก็สามารถใช้บัตรได้เลย

ช่วงแนะนำ เมื่อรูดช้อปครั้งแรกภายใน 7 วัน รับคะแนน 200 ทรูพอยท์ทันที หรือภายในวันที่ 5 ของเดือนถัดไป เราได้ทดลองนำบัตรไปรูดที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง พบว่ามี SMS แจ้งทันทีว่าได้ 200 ทรูพอยท์ แยกจากคะแนนรูดบัตรต่างหาก
รูดบัตรครั้งแรก ได้ 200 ทรูพอยท์ทันที
ลักษณะของทรูดิจิทัลการ์ด จะเป็นบัตรมาสเตอร์การ์ดแบบเติมเงิน อายุบัตร 5 ปี ไม่มีชื่อผู้ถือบัตร มีเพียงหน้าบัตรระบุเลขที่บัตร 16 หลัก เดือน/ปีที่หมดอายุ แตกต่างจากทรูแบล็คการ์ด และทรูเรดการ์ดตรงที่ไม่มีเลข True Card No. 16 หลัก

ที่สำคัญ ยังเป็นบัตรที่ยังใช้ ระบบแถบแม่เหล็ก (Magnetic Card) ไม่มีชิปการ์ด ไม่มีระบบคอนแทคเลส เหมือนบัตรสมัยใหม่ เพราะฉะนั้นถ้าเจอร้านค้าใช้เครื่องรูดบัตรแบบเก่าก็ดีไป แต่ถ้าเป็นเครื่องรูดบัตรที่ใช้แถบแม่เหล็กไม่ได้ ก็ใช้บัตรไม่ได้

คุณสมบัติของบัตรใบนี้ คือ ใช้จ่ายผ่านบัตรทุก 25 บาท รับ 1 ทรูพอยท์ ที่ร้านค้ารับบัตรมาสเตอร์การ์ดทั่วประเทศ และออนไลน์ช้อปปิ้งทั่วโลก โดยยอดเงินจะถูกหักออกจาก บัญชีทรูมันนี่วอลเลท (TrueMoney Wallet) ที่ผูกกับบัตร

ผู้ถือบัตรจะต้องเติมเงินเข้าบัญชีทรูมันนี่วอลเลทก่อน โดยเติมเงินผ่านธนาคารผ่านแอปฯ ได้ฟรี ผ่านตู้ทรูมันนี่ที่ทรูช้อป หรือผ่านร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ขั้นต่ำ 50 บาท ผ่านร้านค้าต่างๆ และผ่านตู้เติมเงิน ขั้นต่ำ 10-20 บาท (มีค่าธรรมเนียม)

วงเงินบัตรเป็นวงเงินเดียวกับบัญชีทรูมันนี่ วอลเลท ขึ้นอยู่กับประเภทลูกค้า เริ่มต้นที่ 30,000 บาท วงเงินโอนสูงสุด 40,000 บาทต่อวัน ถ้าผ่านการยืนยันตัวตนสำเร็จ วงเงินในบัญชีสูงสุด 500,000 บาท วงเงินโอนสูงสุด 200,000 บาทต่อวัน

เมื่อศึกษาเงื่อนไขแล้วพบว่า ไม่มีค่าธรรมเนียมรายปี ในช่วงแรก จะได้รับทรูพอยท์ทุกช่องทางแบบไม่จำกัด ทั้งการช้อปออนไลน์ และการรูดจ่าย ณ ร้านค้าที่รับบัตร MasterCard โดยจะได้รับคะแนนสะสมทันที ถึง 30 เมษายน 2562

หลังจากนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2562 จะสะสมทรูพอยท์เฉพาะการรูดจ่าย ณ ร้านค้าที่รับบัตรเท่านั้น สูงสุดไม่เกิน 300 ทรูพอยท์ต่อเดือน ต่อ 1 หมายเลขบัตรประชาชน โดยคะแนนจะเข้าบัญชีของลูกค้าภายในวันที่ 5 ของเดือนถัดไป

สำหรับลูกค้าที่รูดใช้จ่ายที่ทรูช้อป (ยกเว้นการชำระบิลและค่าบริการ), ทรูคอฟฟี่, พอล (PAUL) และ ทรูสเฟียร์ (True Sphere) ทุก 25 บาท รับ 2 ทรูพอยท์ หมดเขต 31 ธันวาคม 2562

ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป ลูกค้าทรูมูฟ เอช ทุกคน ต้องทำการยืนยันการรับสิทธิ์เพื่อสะสมทรูพอยท์ ผ่านแอปฯ TrueMoney Wallet ก่อน 15 พฤษภาคม 2562 ถ้าหากไม่ได้กดยืนยันการรับสิทธิ์ จะไม่สามารถสะสมทรูพอยท์ได้

เป็นที่น่าสังเกตว่า บัตรทรู ดิจิตัล การ์ด นอกจากสะสมทรูพอยท์จากการรูดบัตรแล้ว สิทธิพิเศษอื่นๆ ยังคงต้องใช้วิธีกดรหัส USSD จากมือถือทรูมูฟเอช หรือแอปพลิเคชัน True You ต่างจากลูกค้าทรูแบล็คการ์ด และทรูเรดการ์ดอย่างสิ้นเชิง

ทั้งที่ลูกค้าทรูแบล็คการ์ด และทรูเรดการ์ด เป็นการส่งบัตรทางไปรษณีย์ โดยไม่รู้ว่าจะมีลูกค้าเปิดใช้งานบัตรครบทุกคนหรือไม่ แต่ลูกค้าที่สมัครบัตรทรู ดิจิทัล การ์ด ด้วยตัวเอง ย่อมมีความจงรักภักดีต่อแบรนด์ระดับหนึ่ง

อีกอย่างหนึ่ง คือ ฝั่งของไทยสมาร์ทการ์ด ที่ตอนนี้ซีพีออล์ซื้อหุ้นคืน 100% กำลังพัฒนา บัตรออล สมาร์ท เพย์ วีซ่า พรีเพด (All Smart Pay VISA Prepaid) ทดแทนบัตรสมาร์ทเพิร์สเดิม ที่มีผู้ถือบัตรกว่า 4 ล้านใบ ทราบว่าแย้มโลโก้ทรูมันนี่อีก

หากเป็นเช่นนั้นจริง เท่ากับว่า บัญชีทรูมันนี่ นอกจากจะมีบัตรวีการ์ด บัตรทรูแบล็คการ์ด/ทรูเรดการ์ด และบัตรทรู ดิจิทัล การ์ด แล้ว จะต้องพ่วงกับบัตรออล สมาร์ท เพย์ ซึ่งหนักทั้งแอปฯ และกระเป๋าสตางค์เข้าไปอีก

ถ้าเป็นลูกค้าทรู แต่เอื้อมไม่ถึงแม้แต่บัตรทรูเรดการ์ด การเป็นเจ้าของบัตรทรู ดิจิทัล การ์ด สมัครบัตรฟรี ใช้ได้ 5 ปี ไม่เสียค่าธรรมเนียมรายปี ใช้จ่ายผ่านบัญชีทรูมันนี่เพื่อสะสมทรูพอยท์ น่าจะตอบโจทย์การใช้งานอยู่ในระดับหนึ่ง

ขึ้นอยู่กับว่า ทรูจะให้สิทธิพิเศษอะไรเพิ่มเติมแก่ผู้ถือบัตรเหล่านี้ ที่ยอมเสียเวลาไปสมัครบัตรที่ทรูช้อปด้วยตัวเอง หรือถ้ามองว่ายอดใช้บริการทรูน้อยเกินไป สุดท้ายลูกค้ากลุ่มนี้ก็ถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย
กำลังโหลดความคิดเห็น