xs
xsm
sm
md
lg

เปิดบัญชีธนาคารยุคนี้ ต้อง “เปรียบเทียบใบหน้า”

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง

ภาพ : ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

สมัยก่อนเปิดบัญชีธนาคาร ใช้บัตรประชาชนใบเดียว พร้อมฝากเงินขั้นต่ำ 500 บาท เซ็นเอกสารเล็กๆ น้อยๆ ก็ได้สมุดบัญชีเงินฝากติดไม้ติดมือกลับไป แต่นับจากนี้อาจมีกระบวนการบางอย่างเพิ่มความมั่นใจมากขึ้น

27 มีนาคม 2562 ธนาคารกสิกรไทย ประกาศว่า ได้นำ เทคโนโลยีเปรียบเทียบใบหน้า (Face Recognition) มาช่วยพิสูจน์ตัวตนลูกค้าที่สาขา โดยนำร่องกับการเปิดบัญชีใหม่ที่สาขาของธนาคารแล้ว

วิธีการก็คือ ระหว่างที่เราไปเปิดบัญชีใหม่ เซ็นเอกสารไปตามปกติ ก็จะเพิ่มขั้นตอนขึ้นมาหนึ่งอย่าง คือ พนักงานสาขาจะเปิด “กล้องคอนเฟอเรนซ์แคม” ถ่ายภาพใบหน้าลูกค้า จากนั้นจะเปรียบเทียบกับหน้าบัตรประชาชน ก่อนจะพิจารณาเปิดบัญชี

ทั้งนี้ เตรียมที่จะต่อยอดเชื่อมโยงข้อมูลข้ามธนาคาร ให้ลูกค้าใช้ช่องทางดิจิทัลแทนสาขาของธนาคาร ครอบคลุมไปถึงการขอสินเชื่อ และเปิดบัญชีใหม่ข้ามธนาคาร ผ่านหน่วยงานกลางที่เรียกว่า NDID (National Digital ID)

ก่อนหน้านี้ เมื่อ 5 มีนาคม 2562 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประกาศว่า ได้ใช้เทคโนโลยีเปรียบเทียบใบหน้า เปิดบัญชีเงินฝากที่สาขาของธนาคารเช่นกัน เป็นโครงการทดสอบกับธนาคารแห่งประเทศไทย เฉพาะสาขาที่เข้าร่วมโครงการ

ขณะนี้กำลังเตรียมความพร้อมขยายผลการใช้เทคโนโลยีเปรียบเทียบใบหน้า ไปถึงการขอเปิดบัญชีด้วยโมบายแอปพลิเคชั่น ภายในไตรมาส 2 ของปี 2562

“เทคโนโลยีเปรียบเทียบใบหน้า” เป็นหนึ่งในวิธีตรวจสิทธิ์หรือแสดงตนผ่านกายภาพ เช่นเดียวกับการสแกนลายนิ้วมือ หรือสแกนม่านตา เรียกว่า “ไบโอเมตริกซ์” (Biometric) หรือ ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล

ปัจจุบันมีบางธนาคารนำเทคโนโลยีไบโอเมตริกซ์มาใช้ นอกจากธนาคารกสิกรไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยาแล้ว ธนาคารยูโอบี ใช้การสแกนลายนิ้วมือเพื่อเปิดบัญชีดิจิทัลแบงกิ้ง “ทูมอร์โรว์” (TMRW) ถือเป็นการใช้ไบโอเมตริกซ์เช่นกัน

แล้วระบบเปรียบเทียบใบหน้า เอาเข้าจริงแม่นยำแค่ไหน?

เมื่อวันก่อนหลังเลิกงาน ไปเปิดบัญชีธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ แทนบัญชีเก่าที่ไม่ได้ใช้นานแล้ว ที่เลือกสาขานี้ เพราะรหัสสาขาเลขสวย จำง่าย ขึ้นต้นด้วย 511-1-xxxxx-x

หลังนั่งรอนานพอสมควรก็ถึงคิว พนักงานบริการลูกค้าก็สวัสดี ทักทายไปตามปกติ เราก็ยื่นบัตรประชาชน และเตรียมเงิน 500 บาท ไว้เปิดบัญชีออมทรัพย์ธรรมดา

ปรากฎว่า เธอบอกกับเราว่า “พี่คะ ระบบเปิดบัญชีล่มทั้งประเทศเลย พี่รอหน่อยได้ไหม?”

จากนั้น เธอก็พยายาม โทร. สอบถามสำนักงานใหญ่เป็นระยะ ติดบ้างไม่ติดบ้าง ระหว่างรอก็แนะนำผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตลดหย่อนภาษีไปพลางๆ บอกว่า LTF ปีนี้ซื้อได้ปีสุดท้าย ถือครองได้ 1 ปี ทำประกันลดหย่อนภาษีได้ ฯลฯ
กล้องที่ใช้เปรียบเทียบใบหน้า ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาเซ็นทรัลเวิลด์
ผ่านไป 20 นาที เธอลองเข้าระบบเปิดบัญชีใหม่อีกครั้ง พบว่ากลับมาใช้ได้ แต่ทำรายการได้ช้า เริ่มจากเสียบบัตรประชาชนที่เครื่องอ่านบัตร หลังจากนั้นให้เรามองไปที่กล้องเว็บแคมเพื่อถ่ายภาพ นึกเอะใจเพราะเมื่อก่อนเปิดบัญชีไม่มีแบบนี้

พนักงานบอกว่า “ได้แล้ว 96% เมื่อเทียบกับบัตรประชาชน”

ในใจก็ได้แต่ร้องอ๋อ ... เดี๋ยวนี้มันเป็นแบบนี้แล้ว

จากนั้นขั้นตอนก็ไม่มีอะไรมาก เซ็นเอกสารตามปกติ ฝากเงินเข้าบัญชีขั้นต่ำ 500 บาท เซ็นชื่อด้านหลังสมุดบัญชี ก่อนรับสมุดบัญชีออมทรัพย์ติดตัวกลับไป ใช้เวลาไม่นานมากนัก

สำหรับกล้องคอนเฟอเรนซ์แคม (Conference Cam) ที่ใช้ในการเปรียบเทียบใบหน้า ลองไปค้นดูปรากฎว่า ธนาคารกรุงศรีอยุธยา น่าจะใช้ กล้องยี่ห้อ Logitech รุ่น BCC950 ปัจจุบันราคาอยู่ที่ประมาณ 11,000 บาท

อันที่จริงจากประสบการณ์ส่วนตัว เคยให้กล้องเว็บแคมถ่ายภาพขณะทำธุรกรรมเกี่ยวกับบัญชีเหมือนกัน เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ขณะเปลี่ยนเป็นบัญชี SCB E-Passbook แบบไม่มีสมุดคู่ฝาก ก็มีการถ่ายภาพใบหน้าไว้เช่นกัน

อาจมีคนสงสัยว่า ถ้ารูปถ่ายจากบัตรประชาชน ต่างจากปัจจุบัน เช่น อ้วนขึ้น ผอมลง ไปทำตามา หน้าโทรม สิวขึ้นเยอะ หรือตอนทำบัตรคราวนั้นหน้ายังดูเด็กมากๆ เรียกว่า “หนังหน้าไม่ตรงปก” จะทำยังไง?

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ให้คำตอบไว้ว่า ถึงหน้าจะเปลี่ยนก็ไม่เป็นไร เนื่องจากระบบจะตรวจสอบโครงหน้าลูกค้าว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันหรือไม่ สามารถแตกต่างได้นิดหน่อย

แต่ไม่รู้ว่า ลูกค้าทำการศัลยกรรมใบหน้า ระบบจะตรวจสอบไปถึงขั้นนั้นได้ไหม เพราะธนาคารไม่ได้บอก

วิธีการนี้มีวัตถุประสงค์หลัก คือ ป้องกันลูกค้าจากการถูกมิจฉาชีพสวมรอยเปิดบัญชี โดยเปรียบเทียบภาพถ่ายขณะที่เปิดบัญชี กับภาพถ่ายที่เก็บไว้ในฐานข้อมูลของกรมการปกครองที่เก็บไว้ในชิปบนบัตรประชาชน

รูปถ่ายที่ได้จากการเปิดบัญชีใหม่ จะถูกธนาคารจัดเก็บตามมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยในระดับสูงสุด โดยจะทำการจัดเก็บแยกเป็นพิเศษจากข้อมูลอื่นๆ มีการป้องกันการเข้าถึง และการนำไปใช้ที่รัดกุม
ภาพ : ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
ปัจจุบัน กระทรวงการคลัง กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดตั้ง บริษัท เนชั่นแนล ดิจิทัล ไอดี จำกัด (NDID) โดยร่วมมือกับสมาคมธนาคารไทย เครดิตบูโร สมาคมหลักทรัพย์ สมาคมประกัน และผู้ให้บริการชำระเงิน

โดยให้บริการเชื่อมโยงฐานข้อมูลเกี่ยวกับการพิสูจน์ และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์, ภาคเอกชนต่างๆ ฯลฯ

สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายระบบการเงิน และเทคโนโลยีการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เคยออกมาให้ข่าวว่า ขณะนี้มีธนาคารพาณิชย์ 10 แห่ง กำลังทดสอบระบบเทคโนโลยีสแกนใบหน้ากันอยู่

คาดว่าไตรมาสที่ 1-2 ของปี 2562 ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 10 แห่ง จะนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ได้จริง แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ เปิดบัญชีกับธนาคารพาณิชย์ครั้งแรก เพื่อตรวจสอบข้อมูลกับกรมการปกครอง

ส่วนระยะที่สอง เปิดบัญชีผ่านโมบายแอปพลิเคชันของธนาคารโดยไม่ต้องไปสาขา ด้วยระบบสแกนใบหน้า เทียบกับข้อมูลในบัตรประชาชน และลงนามโดยใช้ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ ก็เปิดบัญชีได้ทันที

และระยะที่ 3 จะใช้ระบบ ฐานข้อมูลแบบกล่องกลาง (Blockchain) จัดทำหนังสือค้ำประกันจากธนาคารพาณิชย์ และส่งต่อจากลูกค้าให้ผู้รับ ช่วยลดเวลาการขอหนังสือค้ำประกันจาก 3-7 วัน เหลือเพียงครึ่งวันเท่านั้น

เธอกล่าวว่า เทคโนโลยีเปรียบเทียบใบหน้า เหมาะกับระบบการเงินไทยมากที่สุด เพราะใช้งานได้แพร่หลาย ทำได้ผ่านมือถือ ถูกกว่าสแกนลายนิ้วมือหรือสแกนม่านตา และมีฐานข้อมูลจากบัตรประชาชนกับหนังสือเดินทางให้เปรียบเทียบ

อย่างไรก็ตาม แม้วัตถุประสงค์หลักของการนำเทคโนโลยีเปรียบเทียบใบหน้ามาใช้ เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกมิจฉาชีพสวมรอยเปิดบัญชี แต่ก็มีข้อหนึ่งที่น่าวิตกกังวลเช่นกัน

เพราะช้อมูลใบหน้าถูกจัดเก็บไว้ในฐานข้อมูล โดยไม่รู้ว่าฐานข้อมูลที่จัดเก็บนั้น มาตรฐานความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวของข้อมูลรัดกุมแค่ไหน เพราะเอาเข้าจริงระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ของบ้านเราใช่ว่าจะปลอดภัย

ขนาดข้อมูลทะเบียนราษฎร์ ในฐานข้อมูลกรมการปกครอง ยังถูกซื้อขายแก่บุคคลภายนอกได้ หน่วยงานกลางอย่าง NDID จะมีมาตรการอะไรรองรับไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นกับข้อมูลเหล่านี้

การเปรียบเทียบใบหน้าในการทำธุรกรรมทางการเงิน นับเป็นความล้ำหน้าทางเทคโนโลยี ที่ทุกฝ่ายควรช่วยกันตระหนักและหามาตรการดูแลและป้องกันให้รอบด้าน

เพื่อให้การทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลของไทย เป็นไปอย่างมีเสถียรภาพ และมีความมั่นคงปลอดภัย
กำลังโหลดความคิดเห็น