กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive
ในที่สุด องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้บอกเลิกสัญญาโครงการเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมอุปกรณ์ (E-Ticket) มูลค่ารวม 1,665 ล้านบาท จากบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562
ขสมก. อ้างว่า บริษัท ช ทวีฯ ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญา และทำการส่งมอบงานโครงการได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา ทั้งที่บริษัท ช ทวีฯ ติดตั้งระบบ E-Ticket ครบตามจำนวน 2,600 คัน พร้อมทั้งเปิดใช้งานจริงไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม "ประยูร ช่วยแก้ว" รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถ ขสมก. ก็อ้างว่าที่ไม่สามารถตรวจรับงานได้ เพราะอุปกรณ์ไม่เสถียร ไม่สามารถใช้งานได้ จึงได้ยกเลิกการใช้งานเครื่องอ่านบัตรไปแล้ว
นับเป็นความล้มเหลวของ ขสมก. รัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนสะสมกว่า 1.1 แสนล้านบาท อาจจะต้องเสียค่าโง่ให้กับเอกชน ด้วยงบประมาณนับพันล้านบาท แต่กลับไม่สามารถผลักดันระบบ E-Ticket เกิดขึ้นได้จริง
อีกทั้งยังเป็นความล้มเหลวของระบบตั๋วร่วม “บัตรแมงมุม” ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม
นอกจากรถไฟฟ้าบีทีเอสจะไม่เข้าร่วมแล้ว เมื่อ ขสมก.ยกเลิกระบบ E-Ticket กับเอกชนรายเดิม ความหวังที่ประชาชนทั่วไปจะได้ใช้ก็ริบหรี่ลงทุกที
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2560 ขสมก. ทำสัญญากับบริษัท ช ทวีฯ ในนามฯ กลุ่มร่วมทำงาน โดยมีอีก 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท จัมป์ อัพ จำกัด และบริษัท เอ็มโอแอล เพย์เมนท์ จำกัด
โดยเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมอุปกรณ์ E-Ticket และเครื่องเก็บเงิน Cash Box บนรถโดยสารประจำทาง 2,600 คัน เป็นเวลา 5 ปี มูลค่าโครงการรวมทั้งสิ้น 1,665 ล้านบาท
กระทั่งบริษัท ช ทวีฯ ทยอยติดตั้งเครื่องอ่านบัตร E-Ticket ระยะแรกรองรับเฉพาะบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และเครื่องเก็บเงิน Cash Box บนรถโดยสารธรรมดา (ครีม-แดง) 800 คัน ตั้งเป้าหมายเปิดใช้บริการวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560
ปรากฎว่า บริษัท ช ทวีฯ ไม่สามารถติดตั้งระบบ E-Ticket ได้ทัน ต้องนำระบบ Mobile Phone มาใช้ชั่วคราว โดยให้พนักงานเก็บค่าโดยสารฉีกคูปอง ให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นหลักฐาน
หนำซ้ำ เครื่องเก็บเงิน Cash Box ยังถูกวางทิ้งไว้โดยไม่ได้ใช้งานจริง เนื่องจากระบบไม่เสถียร ทดลองหลายครั้งใช้งานไม่ได้ แถมยังมีผู้โดยสารมักง่ายนำขยะไปทิ้งในช่องหยอดเหรียญ สุดท้ายต้องยกเลิกใช้เครื่องในเวลาเพียงแค่เดือนเศษ
แม้เครื่องเก็บเงิน Cash Box จะใช้งานได้กับรถประจำทางในจังหวัดขอนแก่น และเชียงใหม่ แต่พบว่าไม่เหมาะสำหรับกรุงเทพฯ เนื่องจากการจราจรติดขัด และค่าโดยสารปกติกับรถเมล์ที่ขึ้นทางด่วน ราคาจะไม่เท่ากัน
หลังปล่อยให้ค้างเติ่งมานานกว่า 1 ปี เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2561 ขสมก. ให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใช้งานเครื่อง E-Ticket ได้ แต่พบว่าใช้ได้เฉพาะบัตรรุ่นแรกเท่านั้น บัตรที่ไปลงทะเบียนขึ้นรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วงกลับใช้ไม่ได้
แม้เครื่องอ่านบัตร E-Ticket ใช้งานได้ แต่เครื่องเก็บเงิน Cash Box ใช้งานไม่ได้ตั้งแต่ต้น ครั้น ขสมก. จะแก้สัญญาก็จะถูกมองว่าเอื้อประโยชน์กับเอกชน เนื่องจากทั้งเครื่องอ่านบัตร E-Ticket และเครื่องเก็บเงิน Cash Box เป็นสัญญาเดียวกัน
แถมสัญญาเช่าระหว่าง ขสมก. กับบริษัท ช ทวีฯ พบว่าเครื่องเก็บเงิน Cash Box มีมูลค่าวงเงินสัญญาสูงกว่า ขณะที่เครื่องอ่านบัตร E-Ticket วงเงินสัญญาประมาณ 473.2 ล้านบาทเท่านั้น
ขณะนั้น ขสมก. เลือกที่จะทำหนังสือถึงกรมบัญชีกลางเพื่อ ขอหารือการแก้ไขสัญญาหรือบอกเลิกสัญญาบางส่วน โดยตัดเครื่องเก็บเงิน Cash Box ออกจากสัญญาทั้งหมด
ปัจจุบัน ขสมก. ยังไม่ได้ชำระค่าจ้างแก่บริษัท ช ทวีฯ แม้แต่บาทเดียว เพราะยังไม่ได้ทำการตรวจรับงาน ทั้งๆ ที่บริษัท ช ทวีฯ ได้ลงทุนติดตั้งเครื่องอ่านบัตร E-Ticket และเครื่องเก็บเงิน Cash Box ไปแล้ว
สบช่องที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) มอบเครื่องอ่านบัตร Mobile EDC แก่ ขสมก. 3,000 เครื่อง ให้ใช้งานไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด ก่อนที่ ขสมก. จะนำมาใช้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไปเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา
เครื่องอ่านบัตร Mobile EDC รองรับทั้งบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เวอร์ชั่น 2.0 และ 2.5 ที่มีสัญลักษณ์ “บัตรแมงมุม” ด้านหลังบัตร และบัตรเวอร์ชั่น 4.0 ที่มีสัญลักษณ์คลื่นและข้อความ “PromptCard” ที่หน้าบัตร
ก่อนที่ผ่านไปราว 2 สัปดาห์ จะบอกเลิกสัญญากับบริษัท ช ทวีฯ แน่นอนว่าฝั่งเอกชนที่ลงทุนระบบไปแล้วไม่ยอมอย่างแน่นอน หากการเจรจายุติข้อพิพาทไม่เป็นผล บริษัท ช ทวีฯ อาจจะฟ้องศาลเรียกค่าเสียหายกับ ขสมก.
ขสมก. เสี่ยงที่จะต้องจ่าย “ค่าโง่” นับพันล้านบาท หากศาลตัดสินว่าผิดจริง!
ปัจจุบัน พนักงานเก็บค่าโดยสาร ขสมก. จะพกทั้งกระบอกตั๋วรถเมล์ และเครื่อง Mobile EDC เมื่อมีผู้โดยสารแสดงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ พนักงานก็จะกดราคา เลือก “ตรวจสอบสิทธิ์” แล้วแตะบัตรบริเวณด้านบนของเครื่อง
ถามพนักงานเก็บค่าโดยสารรายหนึ่งว่า ลำบากไหมที่ถือทั้งกระบอกตั๋ว ถือทั้งเครื่องแตะบัตร เธอก็กล่าวว่า “ลำบากมากเลย น่าจะให้เป็นคูปอง หรือถ้าใช้บัตรก็ใช้บัตรอย่างเดียวไปเลย ถ้าคนเยอะๆ ก็ไม่ทัน”
ขสมก. เตรียมที่จะทดลองให้รถประจำทางเอ็นจีวี สาย 510 ม.ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จำนวน 38 คัน นำร่องชำระค่าโดยสารแบบไร้เงินสด โดยไม่รับเหรียญและธนบัตร เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึง 31 พฤษภาคม 2562
ที่น่าสังเกตคือ ธนาคารกรุงไทยจะผลิตบัตรเติมเงินให้ ขสมก. จำนวน 10,000 ใบ มูลค่าขั้นต่ำ 50 บาท จำหน่ายผ่านทางพนักงานเก็บค่าโดยสารบนรถ เท่ากับว่าจะสามารถใช้ได้เฉพาะบัตรเติมเงิน ขสมก. และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเท่านั้น
นอกจากนี้ ในอนาคต ขสมก. และธนาคารกรุงไทย จะพัฒนาเครื่อง EDC ให้รองรับการชำระค่าโดยสารผ่านระบบ QR Code และบัตร EMV ของธนาคารต่างๆ โดยไม่กล่าวถึง “บัตรแมงมุม” แต่อย่างใด
ก่อนหน้านี้ กรมบัญชีกลางอนุมัติให้รถไฟฟ้าบีทีเอส ให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซื้อบัตรโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสได้ แต่พบว่าไม่ได้แตะบัตรเพื่อเปิดประตูเหมือนบัตรแรบบิท แต่เป็นการนำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปซื้อบัตรโดยสารเที่ยวเดียว
โดยพบว่าธนาคารกรุงไทย นำเครื่อง EDC มาติดตั้งที่ห้องจำหน่ายตั๋วโดยสารบีทีเอส ทั้งสายสุขุมวิทและสายสีลม รวม 43 สถานี เริ่มให้บริการไปแล้วเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา
สองหน่วยงานนี้บ่งบอกได้ชัด ถึงความล้มเหลวของ “บัตรแมงมุม” ในปัจจุบัน เพราะ ขสมก. และรถไฟฟ้าบีทีเอสเลือกที่จะใช้ระบบตั๋วเป็นของตัวเองแบบ “ต่างคนต่างทำ” และใช้ระบบของธนาคารกรุงไทยแยกต่างหากอีกด้วย
ปัจจุบันสถานะของบัตรแมงมุม ยังถือว่า “ลูกผีลูกคน”
เพราะ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ... เสนอไม่ทันรัฐบาลชุดนี้ อีกทั้งยังเกี่ยวพันกับหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงาน เลยต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อไม่ให้เกิดสูญญากาศ
ก่อนหน้านี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มอบหมายให้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการระบบตั๋วร่วม
ปรากฎว่า คณะกรรมการ รฟม. ว่าจ้างธนาคารกรุงไทยดำเนินงานแทน เตรียมลงนามสัญญาจ้างเป็นเงินกว่า 800 ล้านบาท แล้วธนาคารกรุงไทยจะไปจ้างเอาท์ซอร์สพัฒนาระบบต่ออีกที
จึงเป็นที่จับตามองว่า รฟม. จะมีผลประโยชน์ทับซ้อน เอื้อประโยชน์ให้กับธนาคารกรุงไทยเพียงฝ่ายเดียวหรือไม่?
เทียบกับ รฟม. จ้างเอาท์ซอร์สพัฒนาระบบหลังบ้านโดยตรง แล้วให้ธนาคารทุกแห่งเข้ามาร่วม นอกจากใช้เงินน้อยกว่าแล้วยังใช้เวลาสั้นกว่า เพราะ รฟม. มีศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (เคลียริ่งเฮ้าส์) ที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงแห่งเดียว
นับตั้งแต่แจกบัตรแมงมุม Limited Edition จำนวน 200,000 ใบ ไปเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2561 ตามแผนงานจะใช้ได้กับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และรถประจำทาง ขสมก. ในเดือนตุลาคม 2561
สุดท้ายก็ต้องเลื่อนออกไป เลื่อนแล้วเลื่อนอีก กระทั่ง รฟม. กำหนดเป้าหมายใหม่ ให้ใช้บัตรแมงมุมกับระบบขนส่งมวลชนอื่นเพิ่มเติมได้ในเดือนธันวาคม 2562
แต่ปัญหาก็คือ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ยังไม่ได้ติดตั้งหัวอ่าน ไม่ได้พัฒนาซอฟต์แวร์ระบบตั๋วร่วม จากเวอร์ชัน 2.5 เป็น 4.0 แถม ขสมก. เพิ่งจะยกเลิกระบบ E-Ticket เมื่อไม่นานมานี้ รถไฟฟ้าบีทีเอสไม่ต้องพูดถึง ไม่ได้เข้าร่วมอยู่แล้ว
ปัจจุบัน บัตรโดยสารระบบขนส่งมวลชนเป็นแบบต่างคนต่างทำ รถไฟฟ้าบีทีเอส มีบัตรแรบบิท ผู้ถือบัตรกว่า 10 ล้านใบ และระบบชำระเงินแรบบิท ไลน์ เพย์ มีผู้ใช้ 5 ล้านคน (1 ไลน์ไอดี ต่อ 1 เลขประจำตัวประชาชน)
รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน มีบัตรโดยสาร MRT ที่ออกโดย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM รถไฟฟ้าสายสีม่วง มีบัตรโดยสาร MRT PLUS ที่ออกโดย รฟม. ส่วนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ก็มีบัตรเติมเงินสมาร์ทพาสอีก
ยิ่งถ้าเป็น ขสมก. ปัจจุบันมีตั๋วรายสัปดาห์ และตั๋วรายเดือนจำหน่ายตามท่ารถอยู่แล้ว และเมื่อซุ่มเงียบพัฒนาบัตรเติมเงิน ขสมก. กับธนาคารกรุงไทยแบบต่างคนต่างทำเข้าไปอีก
ตอกย้ำถึงความล้มเหลวของ “บัตรแมงมุม” ที่สุดท้ายแล้ว ระบบตั๋วร่วมของไทยกลายเป็นเรื่องเสียของ และปัจจุบันไม่มีวันเกิดขึ้นได้จริง!