xs
xsm
sm
md
lg

‘บัตรเดบิตแบบพิมพ์ชื่อ’ กลับมาแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

นับตั้งแต่ธนาคารพาณิชย์ยกเลิกการออกบัตรเอทีเอ็ม เปลี่ยนมาเป็นบัตรเดบิตอิเล็กตรอน โดยมีธนาคารกสิกรไทยนำร่องเป็นเจ้าแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2542 ปัจจุบันมีผู้ถือบัตรเดบิตรวมกันมากกว่า 57.42 ล้านใบ

แต่ถึงกระนั้น ปัจจุบันบัตรเดบิตที่ใช้กันอยู่ ส่วนใหญ่จะเป็น บัตรแบบไม่พิมพ์ชื่อ หรือ บัตรสำเร็จรูป (Instant Issue Debit Card) จะมีบัตรเดบิตแบบพิมพ์ชื่อ เฉพาะลูกค้าองค์กรหรือสถาบันการศึกษาเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม มีธนาคารบางแห่งเริ่มกลับมาออกบัตรเดบิตแบบพิมพ์ชื่อให้บริการ เพื่อเพิ่มทางเลือกแก่ลูกค้าที่ต้องการความมั่นใจในการถือบัตร และลูกค้าที่ต้องการนำบัตรไปใช้งานที่ต่างประเทศ

ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบี ประกาศให้ลูกค้าที่สนใจ อัพเกรดบัตรเดบิต ทีเอ็มบี ออล ฟรี (TMB All Free) ให้เป็นแบบมีชื่อผู้ถือบัตร (Cardholder Name) ได้ฟรีผ่าน TMB TOUCH จัดส่งทางไปรษณีย์ภายใน 7 วันทำการ

โดยมีคุณสมบัติเพิ่มเติม สามารถเพิ่มวงเงินรูดซื้อสินค้าและบริการได้สูงสุด 2 ล้านบาท ใช้งานที่ต่างประเทศในอัตราเทียบเท่าร้านแลกเงิน ไม่มีค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน (FX Rate) 2.5% โดยเลือกสกุลเงินท้องถิ่นจากเครื่อง EDC

ลูกค้าบัญชีทีเอ็มบี ออล ฟรี สามารถออกบัตรเดบิตได้สูงสุด 2 ใบ คิดค่าธรรมเนียมรายปีใบละ 350 บาท สิ่งที่ต้องระวังคือ หากสั่งออกบัตรใหม่แล้วไม่ทำการอายัดบัตรเดบิตใบเก่า เมื่อถึงเวลาจะต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปี 700 บาทเลยทีเดียว

สาเหตุที่ทีเอ็มบีออกบัตรแบบพิมพ์ชื่อ ก็เพื่อรองรับลูกค้าใช้บัตรที่ต่างประเทศ บางร้านค้ารับเฉพาะบัตรเดบิตที่มีชื่อผู้ถือบัตรตรงกับหนังสือเดินทางเท่านั้น ทั้งที่บัตรเดบิตในไทยส่วนใหญ่ล้วนเป็น PRIVILEGE MEMBER ไม่มีชื่อผู้ถือบัตรทั้งนั้น

เช่นเดียวกับ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดตัวบัตรพรีเพด “กรุงไทย ทราเวล การ์ด” (Krungthai Travel Card) สำหรับใช้จ่ายที่ต่างประเทศด้วยสกุลเงินท้องถิ่น ต้องออกบัตรแบบพิมพ์ชื่อตัวนูน (Embossed) ภายหลังเพราะสาเหตุเดียวกัน

ปัจจุบัน บัตรกรุงไทย ทราเวล การ์ด มีให้เลือกระหว่างบัตรวีซ่าพรีเพด ค่าธรรมเนียม 200 บาท ใช้ได้ 2 ปี สามารถใช้งานได้เฉพาะที่ต่างประเทศ กับบัตรเดบิตยูเนี่ยนเพย์ ค่าธรรมเนียมรายปี 350 บาท ใช้งานได้ทั้งในไทยและต่างประเทศ

ขณะที่ ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) เปิดตัวบริการดิจิทัลแบงกิ้ง “TMRW” (ทูมอร์โรว์) ก็พบว่าออกบัตรเดบิตแบบพิมพ์ชื่อเช่นกัน โดยจะจัดส่งทางไปรษณีย์หลังจากที่ลูกค้ายืนยันตัวตนผ่านเครื่องคีออส TMRW เรียบร้อยแล้ว

บัตรเดบิต TMRW สามารถใช้งานได้ทั้งในไทย และยังยกเว้นค่าธรรมเนียมการถอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็มของธนาคารยูโอบี ที่อยู่ในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซียอีกด้วย แต่ถ้ารูดซื้อของที่ต่างประเทศยังคิดค่า FX Rate 2.5%

จากการสังเกตบัตรเดบิตแบบพิมพ์ชื่อข้างต้นพบว่า บัตรเดบิต TMRW จะเป็นบัตรดีไซน์แบบแนวตั้ง พิมพ์ชื่อและนามสกุลเต็ม เลขที่บัตร 16 หลักจะแบ่งออกเป็นบรรทัดละ 8 หลัก พร้อมโลโก้ MasterCard Debit

ส่วนบัตรเดบิต ทีเอ็มบี ออล ฟรี แบบพิมพ์ชื่อ แม้ดีไซน์จะเป็นแนวนอนเหมือนบัตรเดบิตทั่วไป แต่การพิมพ์ชื่อพบว่าจะพิมพ์อักษรย่อภาษาอังกฤษตัวแรกของชื่อ และตามด้วยนามสกุลเป็นภาษาอังกฤษ (เช่น K. NARKTHONG)

นึกถึงบัตรประจำตัวนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ออกบัตรโดยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ก็พิมพ์ภาษาอังกฤษเฉพาะชื่อจริง ส่วนนามสกุลจะถูกย่อเป็นภาษาอังกฤษตัวแรก (เช่น KITTINAN N.)

ทั้งๆ ที่ถ้าเป็นบัตรเครดิต จะกำหนดชื่อผู้ถือบัตรให้เป็นภาษาอังกฤษตัวพิมพ์ใหญ่ไม่เกิน 26 ตัวอักษร

ส่วนการนำไปใช้งานจริง ถ้าเป็นบัตรเดบิตแบบพิมพ์ชื่อของแท้ ชื่อผู้ถือบัตรต้องตรงกับเซลล์สลิป เพราะเคยมีบัตรพรีเพดการ์ดของวอลเล็ทเจ้าดังรายหนึ่ง ปรากฎว่าบนเซลล์สลิปไม่แสดงผลชื่อผู้ถือบัตร

โดยปกติแล้ว บางธนาคารลูกค้าสามารถร้องขอให้ทางสาขา ออกบัตรเดบิตแบบพิมพ์ชื่อได้ โดยจะไม่ได้รับบัตรทันที ต้องรอบัตรผลิตและส่งมายังสาขาประมาณ 1-2 สัปดาห์

ขณะที่บางธนาคาร ยืนยันว่าออกบัตรแบบพิมพ์ชื่อไม่ได้ แต่ที่น่าตลกก็คือ แม้จะมีบริการออกแบบหน้าบัตรผ่านเว็บไซต์ได้เอง แต่บัตรที่ได้ยังคงมีคำว่า PRIVILEGE MEMBER บนหน้าบัตรอยู่ดี

นึกสงสัยว่า ทำไมบัตรเดบิตแบบพิมพ์ชื่อ สมัยก่อนทำได้ สมัยนี้ทำไม่ได้?

ชวมนต์ วินิจตรงจิตร หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกรรมธนาคาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เคยกล่าวว่า ธนาคารฯ ไม่ได้ขี้เกียจออกบัตรเดบิตแบบมีชื่อผู้ถือบัตร แต่เพื่อเป็นทางเลือกแก่ลูกค้า

เขาอธิบายว่า สมัยก่อนเวลาลูกค้ามาเปิดบัญชีและทำบัตรเดบิต ลูกค้าอยากได้บัตรทันที แต่สาขาไม่มีให้ ต้องรอประมาณ 3-7 วันทำการ กว่าที่บัตรแบบพิมพ์ชื่อซึ่งลูกค้าทำการออกบัตรใหม่จะมาส่งที่สาขา

อีกทั้งเครื่องพิมพ์หน้าบัตรราคาหลักล้านบาท แต่ธนาคารมี 400 สาขา เกรงว่าจะไม่พอกับความต้องการ ก็เลยออกบัตรเดบิตสำเร็จรูป แบบไม่พิมพ์ชื่อผู้ถือบัตร เพื่อเป็นทางเลือกแก่ลูกค้ามาถึงปัจจุบัน

ส่วนปัญหาที่บัตรเดบิตสำเร็จรูปถูกปฏิเสธจากบางร้านค้าในต่างประเทศนั้น เท่าที่สำรวจพบว่าร้านค้าส่วนใหญ่รับบัตรเดบิตเหมือนกันหมด มีเพียงแค่ 5% เท่านั้นที่ไม่รับบัตร จึงเป็นที่มาของการออกบัตรแบบพิมพ์ชื่อเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

จากข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า นับตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งมีผู้ถือบัตรเดบิตประมาณ 29 ล้านใบ บัตรเอทีเอ็มประมาณ 19 ล้านใบ บัตรเดบิตก็ค่อยๆ เติบโตขึ้นแทนที่บัตรเอทีเอ็ม ที่ลดลงต่ำกว่า 10 ล้านใบเมื่อกลางปี 2560

สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะธนาคารพาณิชย์ต่างๆ หยุดจำหน่ายบัตรเอทีเอ็มธรรมดา แล้วหันมาออกบัตรเดบิตแทน ทำให้มีผู้ถือบัตรเอทีเอ็มธรรมดาหลงเหลืออยู่เฉพาะธนาคารขนาดเล็ก หรือไม่เช่นนั้นก็เป็นบัตรเอทีเอ็มที่มีอายุการใช้งานมานาน

เมื่อแบงก์ชาติกำหนดให้ทุกธนาคารเปลี่ยนบัตรเดบิตหรือบัตรเอทีเอ็ม เป็นแบบชิปการ์ด แล้วยกเลิกใช้บัตรแบบแถบแม่เหล็กกับเอทีเอ็มทุกตู้ในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 อาจจะเหลือบัตรเอทีเอ็มเพียงไม่กี่ล้านใบเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ถือบัตรเดบิตเคยสูงสุดเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ 60.55 ล้านใบ ก่อนที่เดือนกันยายน 2561 จะเหลือ 57.42 ล้านใบเท่านั้น หรือลดลงรวดเดียว 3.13 ล้านใบ

คาดว่าแนวโน้มผู้ถือบัตรเดบิตจะลดลงเรื่อยๆ เพราะธนาคารรายใหญ่เริ่มมีบริการ “กดเงินไม่ใช้บัตร” (Cardless Withdrawal) ผ่านแอปพลิเคชัน ทำให้ลูกค้าส่วนหนึ่งอาจยกเลิกบัตรเดบิตบางส่วน เพื่อประหยัดค่าธรรมเนียม

ถึงกระนั้น อาจยังมีลูกค้าบางส่วน ยังคงใช้บัตรเดบิตถอนเงินสดด้วยความเคยชิน อีกทั้งวงเงินในการถอนเงินสดผ่านเครื่องเอทีเอ็มสูงถึง 2 แสนบาทต่อวัน มากกว่าถอนเงินไม่ใช้บัตร ที่ธนาคารใหญ่ๆ กำหนดให้ไม่เกิน 5 หมื่นบาทต่อวันเท่านั้น

เมื่อพูดถึงข้อดีของบัตรเดบิตแบบพิมพ์ชื่อ นอกจากค่าธรรมเนียมไม่ต่างกับบัตรเดบิตสำเร็จรูปแล้ว ยังบ่งบอกความเป็นเจ้าของบัตรคือตัวเรา ทราบว่าร้านค้าต่างประเทศจะรับบัตรเฉพาะแบบพิมพ์ชื่อเพื่อป้องกันการทุจริต

ส่วนข้อเสีย นอกจากจะต้องรอบัตรนานเพราะรอการผลิตบัตรแล้ว เอาจริงๆ ก็ไม่ได้ช่วยให้ปลอดภัยขึ้น เพราะช่องโหว่สำคัญเวลาขโมยข้อมูลบัตรไปใช้คือ รหัส 3 หลักด้านหลังบัตร (CVV/CVC) ที่ใครได้รหัสนี้ไปเจ้าของบัญชีจะซวยเอา

ถือเป็นอีกตัวเลือกสำหรับคนที่ต้องการบัตรเดบิตแบบพิมพ์ชื่อ พกไว้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว สิ่งสำคัญก็คือ ข้อมูลบนบัตรเดบิตควรเก็บรักษาไว้เป็นความลับ ไม่เปิดเผยแก่ผู้อื่น เพื่อที่จะได้ใช้งานได้อย่างปลอดภัยตลอดอายุบัตร
กำลังโหลดความคิดเห็น