xs
xsm
sm
md
lg

สื่อมวลชนกับการเลือกตั้ง 2562

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


กิตตินันท์ นาคทอง - Facebook.com/kittinanlive

เมื่อวันก่อน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เพิ่งจะออก “10 ข้อพึงระวังของสื่อมวลชน” ในการรายงานข่าวการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) วันที่ 24 มีนาคม 2562

สาระสำคัญก็คือ สื่อมวลชนสามารถทำหน้าที่รายงานข่าวเลือกตั้งได้ ตามสิทธิเสรีภาพ และจรรยาบรรณวิชาชีพ โดยยึดหลักความเป็นกลาง และความเสมอภาคของผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมือง

เช่นเดียวกับ “การจัดดีเบต” ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ควรกระจายโอกาสกับพรรคการเมืองต่างๆ แต่ไม่จำเป็นต้องมีตัวแทนทุกพรรคในแต่ละเวที อาจจะกระจายเวทีเป็นประเด็นตามนโยบายหรือขนาดของพรรค

รวมทั้งการทำ “ผลสำรวจความคิดเห็น” ของประชาชน (โพล) สามารถทำได้อย่างระมัดระวัง ไม่ให้กลายเป็นการชี้นำ แต่ห้ามนำเสนอโพลในช่วง 1 สัปดาห์ก่อนวันเลือกตั้ง จนถึงสิ้นสุดการเลือกตั้ง

ส่วนการทำข่าวในช่วงวันเลือกตั้ง ต้องไม่เสนอข่าวที่เข้าข่ายหาเสียงทางอ้อม หลัง 6 โมงเย็นก่อนวันเลือกตั้ง และให้ระมัดระวังในการบันทึกภาพบริเวณหน่วยเลือกตั้ง จนอาจทำให้การลงคะแนนของผู้มีสิทธิ์ไม่เป็นความลับ

สิ่งที่พึงระวังอย่างยิ่งก็คือ “ห้ามรับเงิน ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้มุ่งรายงานข่าวด้านดีแก่พรรค หรือผู้สมัคร หรือมุ่งรายงานข่าวแง่ร้ายแก่คู่แข่ง”

รวมทั้งเตือนว่า การอำนวยความสะดวกของพรรคการเมือง ในการทำข่าวของสื่อมวลชน ในระหว่างมีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง อาจเข้าข่ายการให้ผลประโยชน์ที่อาจคำนวณเป็นตัวเงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้

ที่สำคัญที่สุด คือ “ห้ามสื่อมวลชนใช้ความสามารถของอาชีพเพื่อช่วยหาเสียงแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง เว้นแต่จะเป็นตัวผู้สมัครเอง”



เรื่องนี้ไม่ใช่องค์กรวิชาชีพสื่อเขียนเอาไว้ลอยๆ แต่ ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 กำหนดไว้แล้วว่า

“ข้อ 18 ห้ามผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใดหาเสียงเลือกตั้งในลักษณะ ดังต่อไปนี้

(1) ผู้ประกอบอาชีพหรือเป็นเจ้าของกิจการเกี่ยวกับรายการทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อมวลชน สื่อโฆษณา เช่น นักแสดง นักร้อง นักดนตรี พิธีกร สื่อมวลชน เป็นต้น ใช้ความสามารถหรือวิชาชีพดังกล่าว เพื่อเอื้อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งแก่ผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมือง

กรณีตาม (1) มิให้ใช้บังคับแก่ผู้สมัครที่ใช้ความรู้ความสามารถทางศิลปะของตน หาเสียงเลือกตั้งให้แก่ตนเองโดยไม่ใช้อุปกรณ์ในการแสดง”


อีกทั้ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 69 ระบุว่า “ห้ามผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใดโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ เว้นแต่เป็นการดําเนินการตามที่ได้รับการสนับสนุนตามมาตรา 81”

เพราะฉะนั้น จึงเกี่ยวโยงไปถึงการขายพื้นที่โฆษณาทางการเมือง ที่พบว่ามี “กฎเหล็ก” จนองค์กรสื่อแทบจะไม่สามารถหารายได้จากโฆษณาของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งนี้

ปีนี้สื่อวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ห้ามขายพื้นที่โฆษณาทางการเมืองในระหว่างมีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง แต่ต้องให้ความร่วมมือกับ กกต. จัดสรรเวลาออกอากาศให้กับพรรคการเมือง

ส่วนสื่อประเภทอื่นๆ เช่น หนังสือพิมพ์ นิตยสาร แบนเนอร์เว็บไซต์ ฯลฯ สามารถรับเงินค่าโฆษณาการหาเสียงได้ ภายใต้เงื่อนไขไม่เกินค่าใช้จ่ายในการหาเสียง แต่ก็มีเพียงไม่กี่ฉบับเท่านั้นที่ได้ลงโฆษณา

หนังสือพิมพ์บางฉบับ มีนโยบายชัดเจนว่า ไม่รับโฆษณาพรรคการเมือง เช่น หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มีนโยบายว่า “ต้องเป็นโฆษณาที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง”

หนังสือพิมพ์บางฉบับ นายทุนเป็นถึงระดับหัวหน้าพรรคการเมืองโดยพฤตินัย เวลาอ่านหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวจึงแทบจะไม่มีโฆษณาพรรคการเมือง จากเจ้าของหนังสือพิมพ์เลย คงเกรงว่าเดี๋ยวจะมีปัญหาภายหลัง

ย้อนกลับไปที่การเลือกตั้งเมื่อปี 2554 จากข้อมูลของนีลเส็น พบว่า พรรคการเมืองใช้งบโฆษณาทั้งหมดราว 300 ล้านบาท โดยพบว่าโฆษณาผ่านหนังสือพิมพ์มากที่สุด 50% รองลงมาคือ ทีวี 46% วิทยุ 3% และสื่อกลางแจ้ง 1%

ผ่านไป 8 ปี การเลือกตั้งครั้งนี้ กกต. กำหนดให้พรรคการเมืองต้องใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่เกิน 35 ล้านบาท ส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ยังคงให้ใช้จ่ายในการเลือกตั้งได้ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท

ทำให้แต่ละพรรคการเมืองต้องปรับตัว หันมาใช้สื่อที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ด้วยต้นทุนที่ต่ำลงมา เช่น ป้ายหาเสียง รถโฆษณา สื่ออิเล็กทรอนิกส์อย่างโซเชียลมีเดีย แบนเนอร์ผ่านโปรแกรมโฆษณา (เช่น Google Ads)

ส่วนสื่อหนังสือพิมพ์ มักจะเป็นตัวเลือกลำดับท้ายๆ เพราะค่าโฆษณาต่อฉบับที่แพงถึงหลักแสนบาท เมื่อเทียบกับงบโฆษณาที่ กกต. กำหนดให้พรรคการเมืองลดลงเหลือ 1 ใน 3 เท่านั้น แถมปัจจุบันคนอ่านหนังสือพิมพ์น้อยลง

รายได้ของสื่อเที่ยวนี้ จึงเน้นไปที่การนำเสนอคอนเทนต์เกี่ยวกับการเลือกตั้งเป็นหลัก เพื่อสร้าง Brand Awareness อย่างหนึ่ง เช่น ทีวีช่องต่างๆ จะมีรายการพิเศษ หรือกิจกรรมดีเบตนโยบายพรรคการเมือง หรือถ้าเป็นหนังสือพิมพ์ ก็จะทำเซ็กชั่นเฉพาะกิจเลือกตั้ง หรือจัดอีเวนต์เสวนา

ย้อนกลับมาที่การรายงานข่าวเลือกตั้งของสื่อมวลชน แม้จะให้ยึดหลักความเป็นกลาง และความเสมอภาพของผู้สมัครและพรรคการเมือง แต่เอาเข้าจริงสื่อมวลชนส่วนใหญ่ทำได้เฉพาะพรรคการเมืองใหญ่ๆ เท่านั้น

เพราะแม้จะมีพรรคการเมืองมากถึง 80 พรรค ส่งผู้สมัครรวม 11,128 คน เฉพาะระบบบัญชีรายชื่อมีผู้สมัคร 2,718 คน จาก 72 พรรค แต่พอเอาเข้าจริง มีเพียงไม่กี่พรรคการเมืองเท่านั้นที่ให้ความร่วมมือกับสื่อมวลชนด้วยดี

ไม่นับรวมปัญหางี่เง่าของนักการเมืองบางคน สื่อมวลชนโดยเฉพาะทีวี ก็อยากให้ออกรายการใจจะขาด แต่ก็พบว่าพอประสานงานไป นักการเมืองผู้นั้นกลับงอแง หรือหนักที่สุดคือ กลับเบี้ยวนัดไม่มาออกรายการ

สื่อมวลชนอาวุโสรายหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า หลายพรรคการเมืองลงสมัครจริง แข่งชิงเก้าอี้ ส.ส. จริง แต่ก็มีหลายพรรคส่งผู้สมัครที่ประชาชนไม่รู้จัก แต่ขายกระแสพรรค เพื่อจะได้คะแนนจากคนทั้งประเทศไปคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ

แต่ก็มีพรรคการเมืองบางพรรค ส่งผู้สมัครเพื่อหวังรักษาสิทธิที่จะได้รับเงินงบประมาณจาก “กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง” ที่ กกต. ได้รับจากรัฐบาลราว 200 ล้านบาทต่อปี

แม้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 จะกำหนดว่า ภายใน 1 ปีต้องมีสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่า 5,000 คน ภายใน 4 ปี ต้องมีสมาชิกเพิ่มไม่น้อยกว่า 10,000 คน และต้องมีสาขาพรรคครบทุกภาคก็ตาม

หนำซ้ำ พรรคการเมืองในปัจจุบันที่ กกต. รับรองมีมากถึง 100 พรรค จึงเป็นไปได้ยากที่สื่อมวลชนจะให้ความเสมอภาคกับทุกพรรคการเมืองทั้งหมด แต่มักจะเลือกพรรคการเมืองหรือผู้สมัครที่ได้รับความนิยมมากกว่า

สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่งก็คือ “การสร้างวาระข่าว” เพื่อกำหนดทิศทางข่าวของสื่อในช่วงเลือกตั้ง พบว่ามีสื่อมวลชนบางฉบับ เลือกนำเสนอด้านลบสำหรับฝ่ายหนึ่ง และเป็นผลบวกกับอีกฝ่ายอย่างเห็นได้ชัด

บทความ “ว่าด้วยวาระข่าว หรือวาระการเมือง” ของ มงคล บางประภา หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า สื่อจำแนกเป็น 3 ประเภท คือ สื่อบุคคล, สื่ออาชีพ และ “สื่อเฉพาะกิจเพื่อวาระแห่งผลประโยชน์”

พยายามแฝงตัวเองในคราบของสื่ออาชีพ พยายามเรียกร้องสิทธิในฐานะสื่อสารมวลชนเพื่อปฏิบัติการให้บรรลุในวาระที่ต้องการ ทั้งที่มักเป็นต้นกำเนิดข่าวลวง แต่กลับเรียกร้องหาเกราะคุ้มกันตนเองเพื่อไม่ต้องรับผิดชอบ

ขอหยิบบางช่วงบางตอนมาอ่านถึงใจความสำคัญ ดังนี้

“สื่อเฉพาะกิจเหล่านี้ มักจะกล่าวว่า “สื่อที่ดีจะต้องไม่เป็นกลาง” แต่พบว่าถูกกำหนดโดยฝ่ายนโยบาย ซึ่งมีสัมพันธ์เชิงผลประโยชน์กับองค์กรหรือผู้บริหาร หรือเป็นแหล่งทุน หรือผู้สนับสนุนหลัก

สื่อประเภทนี้ มักจะมีปัญหาเสนอข่าวอย่างไม่รอบด้าน ไม่เปิดโอกาสฝ่ายตรงข้ามชี้แจง หรือการโหมประเด็นข่าวให้แรงเกินจริง ซึ่งล้วนเป็นการขัดต่อหลักจรรยาบรรณของการเป็นสื่อมวลชน

มักสอดรับความเคลื่อนไหวอย่างเป็นระบบของผู้กำหนดวาระสื่อ ยกตัวอย่างในกรณีพรรคการเมือง การขับเคลื่อนกระแสออกไปสักเรื่องจะผ่านกระบวนการของทีม ผ่านการระดมสมองสร้างกระบวนการ

มีตัวเปิดประเด็นที่อาจจะเป็นพรรคการเมือง นักการเมืองในพรรค หรืออาจเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ขยับเป็นทิศทางเดียวกันเสมอ

ข้อสังเกตไม่ยาก คือ ไม่ว่าเหตุการณ์จะใหญ่จะน้อย สื่อประเภทนี้จะรู้หมาย ไม่เคยตกข่าว และอุทิศพื้นที่ข่าวให้เสมอ แม้ว่าตัวเนื้อหาอาจจะมีคุณค่าข่าวน้อย

แต่เมื่อจังหวะทางการเมืองเหมาะสม สื่อประเภทนี้ก็จะหยิบข่าวความเคลื่อนไหว หรือภาพบุคคลที่ต้องการสร้างกระแสมานำเสนอแบบฉีกกฎของหลักคุณค่าข่าว

สื่อประเภทนี้มักใช้ “โครงข่ายข้ามสื่อ” เพื่อผลัดกัน รับ – ส่ง ประเด็นข่าว อาศัยพื้นที่ข่าวของสื่อโซเชี่ยล หรือสื่อเก่าเป็นผู้ชงประเด็นก่อน เพื่อให้สื่ออีกชนิดในเครือข่ายเดียวกันรับลูกขยายประเด็นข่าวต่อ

บ่อยครั้งพบว่ามีการอ้างตัวสื่อที่นำเสนอก่อนเป็นแหล่งข่าว แล้วไปขยายผลอีกทีโดยเติมเนื้อหาให้เจาะจงเป้าหมายมากขึ้นซึ่งเป็นกลยุทธ์การทำข่าวแบบ “โจมตีก่อน แล้วล่อให้เจ้าตัวออกมาปฏิเสธ”


อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ทำให้นึกถึงภาพของการเลือกตั้งในปัจจุบัน คนที่รู้เท่าทันสื่อจะทราบดีว่า มักจะมี “วาระแปลกๆ” ที่สอดประสานกันระหว่างสื่อมวลชน พรรคการเมือง นักการเมือง ถึงนักเคลื่อนไหวทางการเมือง

ตัวอย่างเช่น เวลาเลื่อนฟีดข่าวในเฟซบุ๊กจะรู้ว่า ทำไมข่าว อินโฟกราฟฟิก หรือวีดีโอคลิปของสื่อมวลชนสำนักนั้น ถึงออกมาสอดประสานกันเป็นชุดอย่างแนบเนียน โพสต์หนึ่งฉายภาพนักการเมืองรายหนึ่งในแง่บวก อีกโพสต์หนึ่งโจมตีอีกฝ่ายอย่างเห็นได้ชัด

เอาเข้าจริงแต่ละขั้วการเมือง สื่อมวลชนบางส่วนที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในช่วงเลือกตั้ง ก็มีวาระซ่อนเร้นไม่ต่างกัน แต่ก็เป็นการดีสำหรับคนที่วางตัวเป็นกลางจะได้ “รู้เท่าทันสื่อ” รู้เท่าทันวาระแปลกๆ เหล่านี้

แต่ก็น่าคิดว่า หลังการเลือกตั้งแล้วรู้ผลแพ้-ชนะ ต่อให้เป็นรัฐบาลหรือไม่ หากพรรคการเมือง หรือผู้สมัครไปพบเนื้อหาที่เชื่อว่าตนเองได้รับความเสียหาย ก็อาจจะมีสิทธิ์ฟ้องร้องเพื่อเอาผิดกับฝั่งตรงข้าม และอาจจะมี “สื่อมวลชน” เป็นจำเลยร่วมก็ได้

เพราะสื่อมวลชนก็มี “ร่องรอยทางดิจิทัล” หรือ Digital Footprint ที่หากนำเสนอให้คุณให้โทษแก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างชัดเจน ฝ่ายตรงข้ามตั้งแต่พรรคการเมือง ลามไปถึงกองเชียร์ ก็สามารถแคปหน้าจอเพื่อดำเนินคดีได้

ความซื่อสัตย์สุจริตต่อวิชาชีพของสื่อมวลชนจะเป็นเกราะคุ้มครองตนเอง หากทำหน้าที่ด้วยหลักจริยธรรม และจรรยาบรรณ อาจมีส่วนช่วยให้ศาลใช้ดุลยพินิจ เมื่อถึงคราวที่สื่อต้องเป็นจำเลยร่วม ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

กำลังโหลดความคิดเห็น