กิตตินันท์ นาคทอง / Facebook.com/kittinanlive
ในฐานะผู้สื่อข่าวประจำกองบรรณาธิการ ซึ่งเป็นคนละส่วนกับผู้สื่อข่าวภาคสนาม แม้โดยปกติจะทำงานอยู่แต่ในกองบรรณาธิการเป็นหลัก แต่บางครั้งก็ต้องออกไปทำข่าวข้างนอก ตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย
แน่นอนว่าหลังจากทำข่าวเสร็จ ก็ต้องส่งข่าวเข้าออฟฟิศ โชคดีหน่อยตรงที่มี “Backoffice” เรียกชื่อเป็นภาษาไทยอย่างไพเราะว่า “ระบบหลังบ้าน” ทุกคนส่งข่าวจากที่ไหนก็ได้ในโลกนี้ ขอเพียงแค่มีที่นั่งพิมพ์ข่าวและสัญญาณอินเตอร์เน็ตเท่านั้น
เชื่อว่า คนทำงานในยุคนี้ ส่วนหนึ่งหันมา “ทำงานจากข้างนอก” เช่นเดียวกัน
กระแสการทำงานนอกออฟฟิศ เกิดขึ้นนับตั้งแต่เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ผู้คนจำนวนมากต้องหันมาทำงานที่บ้านเพื่อดูแลทรัพย์สินภายในบ้านของตนเอง รวมทั้งนั่งทำงานตามร้านกาแฟ และร้านฟาสต์ฟูดต่างๆ
ระยะหลังๆ มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทั้งนักธุรกิจสตาร์ทอัพ กลุ่มฟรีแลนซ์ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ครีเอเตอร์ องค์กรต่างๆ หันมาทำงานนอกออฟฟิศมากขึ้น เกิดธุรกิจที่เรียกว่า “โค-เวิร์คกิ้ง สเปซ” (Co-Working Space) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
สาเหตุที่พวกเขาเลือกที่จะใช้โค-เวิร์คกิ้ง สเปซ แทนการเช่าออฟฟิศ เพราะกำลังอยู่ในช่วงสร้างธุรกิจ ประกอบกับพื้นที่อาคารสำนักงาน โดยเฉพาะใจกลางเมือง หรือทำเลที่มีรถไฟฟ้าผ่าน มีจำนวนน้อยและราคาแพงขึ้น
อีกทั้งยังมีบางองค์กรเริ่มที่จะบริหารออฟฟิศแบบใหม่ ด้วยการใช้โต๊ะทำงานร่วมกัน โดยไม่มีโต๊ะประจำอีกต่อไป ซึ่งได้นำมาใช้กับบางแผนก ที่พนักงานมักจะออกไปข้างนอก เช่น ฝ่ายการตลาด ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ฝ่ายกฎหมาย ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม คนที่ต้องออกไปทำงานข้างนอกเป็นประจำ หรือคนที่ทำงานกันเป็นกลุ่ม มักจะเลือกใช้บริการโค-เวิร์คกิ้ง สเปซ สนนราคาหลักร้อยบาทต่อวันขึ้นไป พร้อมอุปกรณ์โทรทัศน์ โปรเจกเตอร์ และเครื่องเขียน
แต่สำหรับคนที่ทำงานข้างนอกนานๆ ครั้ง หรือทำงานเพียงคนเดียว อาจใช้วิธีทำงานในร้านกาแฟ ซึ่งเสียเฉพาะค่าเครื่องดื่มและของว่างเท่านั้น ทางร้านอาจจะจัดที่นั่งพร้อมปลั๊กไฟและสัญญาณไว-ไฟฟรี ให้นั่งทำงานได้
อันที่จริงในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีร้านอาหาร ร้านกาแฟและเครื่องดื่มอยู่หลายร้าน ที่สามารถนั่งทำงานได้ แต่ก็คงจะบอกเล่าไม่หมด เพราะฉะนั้นขออนุญาตยกตัวอย่างพอสังเขปก็แล้วกัน
จากประสบการณ์ส่วนตัว ร้านกาแฟที่เข้าไปนั่งทำงานอยู่เป็นประจำ แม้จะออกจากออฟฟิศนานๆ ครั้งก็คือร้านกาแฟ “สตาร์บัคส์ คอฟฟี่” ไม่ใช่เพราะเลิศหรูไฮโซอะไร แต่เป็นเพราะมีสาขาทั่วกรุงเทพฯ จึงรู้สึกคุ้นเคยกว่าที่อื่น
สตาร์บัคส์ทุกแห่งจะมีโต๊ะนั่งทำงาน พร้อมปลั๊กไฟสำหรับเสียบกับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก และมีสัญญาณอินเตอร์เน็ตจากเอไอเอส สมาชิก My Starbucks Rewards ล็อกอินเพื่อใช้งานอินเตอร์เน็ตฟรีได้ ผ่านฮฮตสปอต STARBUCKS_AIS
ร้านต่อมา คือ “ทรูคอฟฟี่” บางสาขามีที่นั่งทำงานและปลั๊กไฟด้วย เช่น สาขาจามจุรีสแควร์ ข้อดีคือ มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต @TRUEWIFI ใครที่ไม่ได้ใช้ทรูมูฟเอชแบบรายเดือน จะมีแพ็คเกจเสริม WIFI เดือนละ 107 บาท ซื้อไว้ก่อนถูกกว่า
ในกรุงเทพฯ ยังมีร้านกาแฟอีกจำนวนมากที่นั่งทำงานได้ และมีบางสาขาที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง เช่น ทัม แอนด์ ทัมส์ คอฟฟี่, ฮอลลีส คอฟฟี่ ฯลฯ แต่ก็ขึ้นอยู่กับทำเล โดยเฉพาะการเดินทางที่สะดวก ตามแนวรถไฟฟ้า
สถานที่ต่อมา คือ “ร้านทูฟาสต์ ทูสลีป” (TOO FAST TOO SLEEP) เป็นที่อ่านหนังสือสำหรับนิสิต นักศึกษา พร้อมจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ที่นี่มีโต๊ะทำงานพร้อมปลั๊กไฟเช่นกัน แต่ถ้าอยากได้รหัสไว-ไฟ ให้นำใบเสร็จไปแลกได้ที่แคชเชียร์
ที่นี่จะดีอย่างหนึ่งตรงที่เปิด 24 ชั่วโมง ทำเลอยู่ย่านมหาวิทยาลัย แถมยังมีเครื่องพิมพ์เอกสาร “Double A Fast Print” ไว้ให้บริการอีกด้วย เพียงแต่ต้องโยนงานลงใน Google Drive แล้วสั่งพิมพ์งานผ่านมือถือ
ปัจจุบัน ทูฟาสต์ ทูสลิป จะมีสาขาสามย่าน, สาขาศาลายา, สาขาเกษตร, สาขาสยามสแควร์, สาขาอาคารศศินทร์, สาขา มศว ประสานมิตร แถมยังขยายสาขาไปถึงเชียงใหม่ ที่อาคารสวนดอก พาร์ค ถนนสุเทพอีกด้วย
อีกสถานที่หนึ่งก็คือ “เอไอเอส ดีซี” (AIS D.C.) ชั้น 5 ศูนย์การค้าดิเอ็มโพเรียม ถนนสุขุมวิท ติดกับสวนเบญจสิริ เดิมเป็นที่ตั้งของ ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ (TCDC) แต่ได้ย้ายไปที่อาคารไปรษณีย์กลางบางรักนานแล้ว
ที่นี่เป็นห้องสมุด แต่ก็มีที่นั่งทำงาน พร้อมปลั๊กไฟให้ใช้ และไว-ไฟฟรี บรรยากาศคล้ายอยู่ในห้องสมุด เพราะมีหนังสือนับหมื่นเล่มเกี่ยวกับการออกแบบและเทคโนโลยี พร้อมบริการห้องประชุมและสตูดิโอ รวมทั้งมีห้องน้ำด้านใน
ปกติจะเสียค่าบริการ 150 บาทต่อคนต่อวัน แต่ลูกค้า “เอไอเอส เซเรเนด” ใช้บริการได้ฟรี จะได้บัตรผ่านประตู ONE DAY PASS เพื่อเข้าไปใน ที่นี่ห้ามรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม บนโต๊ะไม่ค่อยเลอะเทอะเมื่อเทียบกับตามร้านกาแฟ
ข้อดีของที่นี่ก็คือ ติดรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีพร้อมพงศ์ ออกจากสถานีรถไฟฟ้าแล้วเดินเข้าห้างฯ จากทางเชื่อมได้เลย ส่วนข้อเสียก็คือ ถ้าเป็นโซนโซฟา คนจะเต็ม บางคนมานอนหลับก็มี ทำให้เสียเวลาหาโต๊ะ เปรียบได้กับตามหาที่จอดรถ
ถ้าเป็นที่เชียงใหม่ จะมีร้านที่ชื่อว่า “เอไอเอส ซีเอเอมพี” (AIS C.A.M.P.) ชั้น 5 ศูนย์การค้าเมญ่า สี่แยกรินคำ เป็นร้านอาหารและเครื่องดื่มและที่นั่งทำงาน เปิด 24 ชั่วโมง ใช้บริการได้ฟรี แต่ลูกค้าเอไอเอสจะได้ส่วนลดค่าอาหารและเครื่องดื่ม
สำหรับศูนย์การค้า ที่นั่งทำงานพร้อมปลั๊กไฟ ยกตัวอย่างได้แก่ “ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต” จะมีโค-เวิร์คกิ้ง สเปซ 4 จุด ได้แก่ ชั้น G บริเวณโซนสีเขียว, ชั้น 2 หน้าร้านวัตสัน กับหน้าร้านคาเฟ่อเมซอน และชั้น 3 หน้าบีทูเอส
ที่นี่จะมีที่นั่งทำงานพร้อมปลั๊กไฟ แต่อินเตอร์เน็ตไว-ไฟหาเอาเอง โชคดีที่มีฮอตสปอต @TRUEWIFI เข้าถึง แต่ถ้าเป็นวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ไปทีไรมักจะไม่มีที่นั่งว่างทุกที เพราะมีทั้งคนที่มานั่งทำงาน และนั่งรอคนพร้อมชาร์จแบตมือถือไปด้วย
ทราบมาว่าเมื่อไม่นานมานี้ ร้านคาเฟ่อเมซอน เปิดอีกสาขาที่ชั้น 1 หน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ในรูปแบบคอฟฟี่แคมป์ (COFFEE CAMP) พร้อมที่นั่ง เต็นท์ รูม (TENT ROOM) แต่ปลั๊กไฟมีน้อยมาก จึงเหมาะกับการนั่งคุยงานมากกว่า
อีกแห่งหนึ่ง คือ “ศูนย์การค้าเดอะ สตรีท รัชดาภิเษก” ที่นี่จะมีร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่ม และโค-เวิร์คกิ้ง สเปซ ให้นั่งทำงานได้หลายจุด โดยเฉพาะสตาร์บัคส์สาขานี้เปิด 24 ชั่วโมง และมีห้องประชุมให้บริการสำหรับลูกค้าสั่งอาหารและเครื่องดื่ม
แต่จุดที่เคยใช้บริการจะอยู่ที่ศูนย์อาหาร ฟู้ด สตรีท ชั้น 4 จะมีโซนที่นั่งทำงานพร้อมปลั๊กไฟ ส่วนไว-ไฟ ต้องซื้อบัตรศูนย์อาหาร ชนิดไม่แลกคืน 60 บาท ฟรีไว-ไฟ 4 ชั่วโมง และ 120 บาท ฟรีไว-ไฟ 10 ชั่วโมง ใช้ได้ภายในวันเดียวกัน
ข้อดีของที่นี่ก็คือ ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินศูนย์วัฒนธรรม ถ้าจะส่งเอกสาร ก็มีที่ทำการไปรษณีย์เปิดถึงเที่ยงคืน ล่าสุดทราบว่ามีเครื่องพิมพ์เอกสาร Double A Fast Print ติดตั้งอยู่ในร้านเวค อัพ (WAKE UP) เปิด 24 ชั่วโมงอีกด้วย
ถามว่า ถ้าเป็นร้านฟาสต์ฟู้ดเคยนั่งทำงานไหม ... จากประสบการณ์ส่วนตัว เคยนั่งทำงานที่เคเอฟซีและแมคโดนัลด์ แต่ที่เคเอฟซีไม่มีปลั๊กไฟ ส่วนแมคโดนัลด์ แม้จะมีปลั๊กไฟ แต่ไว-ไฟ MCDONALDS_AIS ใช้ได้แค่ 45 นาทีเท่านั้น
ปัญหาโลกแตกที่คนทำงานนอกออฟฟิศมักจะเจอ มีอยู่ 3-4 อย่าง อย่างแรก คือ “ที่นั่งไม่เพียงพอ” เพราะจะมีลูกค้าบางคนวางสิ่งของทิ้งไว้เหมือนจองที่นั่ง บางร้านใช้วิธีนำสิ่งของไปเก็บ เพื่อให้ลูกค้ารายอื่นได้นั่ง แต่บางร้านก็ปล่อยปะละเลย
อาจเรียกได้ว่า สมัยที่เรียนมหาวิทยาลัย เราเจอ “เจ้าที่แรง” ตามห้องอ่านหนังสือเมื่อใด มาถึงวัยทำงาน ช่วงที่เราจะหาโต๊ะส่งงาน ก็ต้องเจอพฤติกรรมเช่นนี้อีกเมื่อนั้น แต่ไม่อยากแตะต้องเพราะเดี๋ยวจะมีเรื่องดรามา
แต่โดยส่วนตัวถ้าเกิดปวดท้องขึ้นมา จะไม่วางสิ่งของโดยเฉพาะคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กทิ้งไว้ เพราะเคยมีมิจฉาชีพทำทีเป็นซื้อกาแฟนั่งดื่มภายในร้าน อาศัยจังหวะที่ลูกค้าคนอื่นๆ ลุกออกจากโต๊ะไปเข้าห้องน้ำหรือสูบบุหรี่ ก่อเหตุลักทรัพย์ขึ้นมา
เพราะฉะนั้นก่อนที่จะนั่งทำงาน จะพยายามทานข้าวให้อิ่มพอประมาณ เข้าห้องน้ำ ทำธุระส่วนตัวให้เรียบร้อยก่อน ขณะนั่งทำงานจะได้ไม่หิวข้าว หรือปวดท้องกลางคัน
อย่างต่อมา คือ ร้านกาแฟบางร้าน “หาปลั๊กเสียบไม่ได้” แม้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กจะมีแบตเตอรี่ในตัว แต่ก็มีอายุการใช้งานของมัน บางเครื่องใช้ได้ไม่กี่ชั่วโมง แบตหมดซะอย่างนั้น ถ้าไม่ได้เซฟงานไว้ แล้วจู่ๆ เครื่องดับโดยไม่รู้ตัว งานที่พิมพ์ไว้ก็หายหมด
อีกปัญหาหนึ่งก็คือ “ไว-ไฟ” บางร้านแจกรหัสไว-ไฟฟรี แต่บางร้านไม่แจก ครั้นจะใช้วิธีเชื่อมต่อฮอตสปอตกับเครื่องก็ช้า แถมสูบแบตเตอรี่มือถือ ถึงบางร้านจะมีไว-ไฟฟรี แต่บางครั้งเชื่อมต่อไปแล้วกลับช้า เลยต่อจากฮอตสปอตเหมือนเดิม
ส่วนสิ่งหนึ่งที่คนทำงานนอกออฟฟิศจะต้องรับมือให้ได้ คือ “สมาธิในการทำงาน” บางครั้งจำเป็นต้องนั่งทำงานด่วนในร้านฟาสต์ฟู้ด เสียงรอบข้างจะดังมากกว่าปกติ จะใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการเสียบหูฟังเพื่อลดเสียงรบกวนลง
แม้กระแสการทำงานนอกออฟฟิศจะได้รับความนิยม แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่าออฟฟิศจำเป็นต้องมี อย่างน้อยเป็นศูนย์กลางที่คนทำงานจะต้องเจอหน้ากัน จะได้เข้าใจตรงกันและทำงานได้อย่างราบรื่น
เอาเข้าจริง ถามว่าทำงานที่ไหนมีสมาธิมากที่สุด คำตอบที่อยู่ในใจก็คือ “ทำงานที่บ้าน” เพราะเป็นพื้นที่ส่วนตัวของเราเอง เพียงแต่ถ้ายังเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ต้องอยู่ประจำโต๊ะ ไม่ใช่ฟรีแลนซ์ เป็นไปได้น้อยที่จะได้รับโอกาสเช่นนั้น
ใครมีประสบการณ์ทำงานนอกออฟฟิศ ชอบทำงานที่ไหน บรรยากาศเป็นอย่างไร กาแฟ อาหาร และของว่างถูกหรือแพง คอมเมนต์มาเล่าให้เราฟัง เผื่อวันหนึ่งผู้เขียนหรือคุณผู้อ่านมีโอกาสตามไปใช้บริการ