xs
xsm
sm
md
lg

รูด ‘บัตรเดบิต’ ขั้นต่ำเท่าไหร่?

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


กิตตินันท์ นาคทอง / Facebook.com/kittinanlive

แม้แคมเปญ “ลดใช้เงินสด ได้รับเงินคืน” ในช่วงเทศกาลตรุษจีน จะมีเสียงตอบรับน้อยกว่าที่คาด แต่ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี ที่จะผลักดันให้ไทยเป็น “สังคมไร้เงินสด” อย่างจริงจัง

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ม.ค.-มิ.ย. 2561) ระบุว่า คนไทยมีบัตรเดบิต 58.85 ล้านใบ ชำระค่าสินค้าและบริการ ณ จุดขาย เพียงแค่ 1.8-2 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ต่างจาก “บัตรเครดิต” ที่มียอดใช้จ่ายสูง 1.22-1.32 แสนล้านบาท

สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยไม่ได้ใช้ประโยชน์จากการ “รูดซื้อสินค้า” ด้วยบัตรเดบิตเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับค่าธรรมเนียมรายปีที่เสียไปอย่างต่ำ 200 บาทต่อปี แต่เอาไว้ใช้ถอนเงินสดจากเครื่องเอทีเอ็มเป็นหลักเท่านั้น

แคมเปญนี้มีชื่อเต็มว่า “มาตรการส่งเสริมการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการและการนำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์” เห็นชอบตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 18 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา

ประชาชนที่สนใจ จะต้องลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.epayment.go.th และต้องใช้จ่ายผ่านบัตรเดบิต หรือสแกนคิวอาร์โค้ดผ่านแอปพลิเคชันธนาคารที่ลงทะเบียน ตามร้านค้าที่ร่วมรายการ ระหว่าง 1-15 ก.พ. 2562

โดยจะได้รับเงินภาษีคืน 5% จากยอดซื้อสินค้าและบริการ (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) สูงสุดไม่เกิน 1,000 บาทต่อราย หรือคิดเป็นยอดซื้อสินค้าประมาณ 21,400 บาท ผ่านระบบพร้อมเพย์เลขประจำตัวประชาชน ในเดือน พ.ย. 2562

กระทรวงการคลังคำนวณแล้ว จะต้องเตรียมเงินคืนภาษีกว่า 9,240 ล้านบาท โดยได้ตั้งงบประมาณไว้ในปี 2563 เพื่อจัดสรรเงินคืนแก่ผู้เข้าร่วมโครงการ คาดหวังว่าจะมีประชาชนเข้าร่วมโครงการกว่า 1 แสนราย

ปัญหาก็คือ พอเอาเข้าจริง มีประชาชนสนใจลงทะเบียนเพียงแค่ 7 พันคนเท่านั้น!

ภายหลังต้องปรับเงื่อนไขการลงทะเบียนบัญชีธนาคาร ที่จะใช้กับคิวอาร์โค้ดหรือบัตรเดบิต จากเดิม 1 คนต่อ 1 บัญชี เปลี่ยนเป็นลงทะเบียนได้สูงสุด 10 บัญชี ถึงได้กระเตื้องขึ้นเป็น 2 หมื่นราย แต่ก็ยังน้อยกว่าเป้าหมาย

สุดท้ายจึงต้องปรับแผนอีกรอบ ด้วยการขยายเวลาลงทะเบียนถึง 15 ก.พ. 2562 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของแคมเปญนี้ จากเดิมกำหนดให้ลงทะเบียนล่วงหน้า 7-31 ม.ค. 2562 เพื่อให้กระทรวงการคลังมีเวลาเตรียมตัวส่งข้อมูลไปยังธนาคารต่างๆ

เหตุที่ประชาชนสนใจเข้าร่วมโครงการนี้น้อยกว่าที่คาด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “อ่อนประชาสัมพันธ์” ประชาชนจำนวนมากไม่ทราบว่ามีแคมเปญนี้ แม้กระทรวงการคลังจะแถลงข่าวอย่างเป็นทางการไปแล้วล่วงหน้าก็ตาม

อีกประเด็นหนึ่ง คือ รัฐบาลคืนภาษี 5% บรรดานักช้อปมองว่า “น้อยเกินไป” เมื่อเทียบกับโปรโมชั่นห้างสรรพสินค้า หรือเว็บไซต์ช้อปปิ้งออนไลน์ในปัจจุบัน ยังได้รับส่วนลดและเงินคืนเยอะกว่านี้

ถ้ายอดซื้อโดยชำระผ่านบัตรเดบิต หรือสแกนคิวอาร์โค้ดประมาณ 1,070 บาท จะได้รับเงินคืนเพียงแค่ 50 บาทเท่านั้น ถ้านักช้อปต้องการเงินคืนมากกว่า 500 บาท จะต้องมียอดซื้อประมาณ 10,700 บาทขึ้นไป

อาจมีคนคิดเปรียบเทียบไปว่า ทีรัฐบาลแจกเงินคนจน 14.5 ล้านคน ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คนละ 500 บาท ทำไมง่ายจังเลย บางคนใส่ทองเส้นโตๆ ก็อวดว่าได้เงิน บางคนก็เอาเงินไปกินเหล้าจนหมด ทั้งที่เงินมาจากภาษีประชาชน

แต่ชนชั้นกลาง นอกจากจะต้องจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีละครั้งแล้ว อยากจะได้เงินคืนบ้างก็ต้องลำบากซื้อของ แต่ก็ยังดีกว่าก่อนหน้านี้ มาตรการช้อปช่วยชาติ ต้องลำบากขอใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ เพื่อนำไปยื่นภาษีในปีถัดไป

ไม่นับรวมความหวาดระแวง กลัวว่าให้ข้อมูลบัญชีธนาคารและบัตรเดบิตกับรัฐบาลแล้ว จะถูกกรมสรรพากรใช้ตรวจสอบเส้นทางการเงิน เพื่อหาทาง “รีดภาษี” จากประชาชนในอนาคตหรือไม่ ยังคงเป็นปริศนาต่อไป

เพราะเอาเข้าจริง รัฐบาลต้องการส่งเสริมให้ร้านค้าจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 20) กับกรมสรรพากร และมีระบบบันทึกการเก็บเงินผ่านระบบ Point of Sale (POS) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีของภาครัฐ

นับตั้งแต่เริ่มต้นแคมเปญเมื่อวันที่ 1 ก.พ. ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่ามาตรการนี้ยังคงเกิดปัญหาไม่หยุด

เริ่มจากร้านค้าที่เข้าร่วมมาตรการฯ แห่งหนึ่ง พบปัญหาธนาคารเจ้าของเครื่อง EDC ยังไม่ได้ติดตั้ง “อุปกรณ์ส่งข้อมูล” เพื่อคืนเงินลูกค้าตามมาตรการนี้ ทางร้านจึงประกาศว่า ลูกค้าที่รูดบัตรช่วงนี้จะไม่ได้รับเงินคืน!

ประการต่อมา ร้านสะดวกซื้อชื่อดัง “เซเว่นอีเลฟเว่น” ที่เข้าร่วมมาตรการฯ รวม 10,230 สาขา พบว่าบัตรเดบิตใช้ไม่ได้ แต่ให้ลูกค้าชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ดเท่านั้น โดยไม่มีขั้นต่ำ เฉพาะช่วงแคมเปญถึงวันที่ 15 ก.พ. เท่านั้น

แม้จะมีเครื่องอ่านบัตรชิปการ์ด ที่ใช้ชำระเงินร่วมกับบัตรเงินสดสมาร์ทเพิร์ส และใช้ลงทะเบียนด้วยบัตรประชาชน แต่ก็สงวนไว้เฉพาะผู้ถือบัตรเครดิตวีซ่า ยูเนี่ยนเพย์ และมาสเตอร์การ์ดเท่านั้น จำกัดยอดซื้อขั้นต่ำ 300 บาทขึ้นไป

ที่ผ่านมาร้านค้ารับบัตรมักจะมีปัญหากับ “บัตรเดบิต” บ่อยครั้ง ไล่ตั้งแต่เลือกปฏิบัติแก่ลูกค้า สงวนสิทธิ์รับบัตรเครดิตเท่านั้น ไม่รับบัตรเดบิต โดยอ้างว่ามักจะมีปัญหาเวลายกเลิกการขาย (VOID) เมื่อเทียบกับบัตรเครดิตที่ยกเลิกได้ทันที

คำถามที่ผู้ถือบัตรเดบิตต้องถามแคชเชียร์เพื่อจ่ายแทนเงินสด คือ “รูดบัตรได้ไหม?” และ “ขั้นต่ำเท่าไหร่?”

ร้านค้าแต่ละแห่ง มักจะกำหนดยอดซื้อขั้นต่ำไม่เหมือนกัน ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ไม่มีปัญหา แต่มักจะมีปัญหากับร้านค้าระดับกลาง ต้องมียอดชำระตั้งแต่ 100-300 บาทขึ้นไปจึงจะให้รูดบัตรได้ ไม่เช่นนั้นก็ขอคิดค่ารูดบัตรเพิ่มอีก 3% ก็มี

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะธนาคารยังคงคิดค่าธรรมเนียมหักเปอร์เซ็นต์จากร้านค้า ประมาณ 1-3% ต่อรายการ ขึ้นอยู่กับประเภทบัตร ยิ่งลูกค้ารูดบัตรเครดิตระดับแพลทินัมขึ้นไป ร้านค้ายิ่งถูกหักค่าธรรมเนียม สูงถึง 3% ต่อรายการ

ไม่นับรวมค่าใช้จ่ายจิปาถะ ทั้งค่าเช่าและมัดจำเครื่อง ค่าติดตั้ง ค่าม้วนเซลล์สลิป ค่าซิมการ์ด แถมกำหนดว่าต้องมียอดขายขั้นต่ำต่อเดือนเท่าไหร่ถึงจะไม่เสียค่าธรรมเนียมบริการรักษาเครื่อง และอื่นๆ

สมัยก่อน บัตรเดบิตมีค่าธรรมเนียมหักเปอร์เซ็นต์เหมือนบัตรเครดิตธรรมดา แต่เมื่อภาครัฐลงนามเอ็มโอยูกับธนาคารต่างๆ ติดตั้งเครื่องรับบัตรตามนโยบายเนชั่นแนล อี-เพย์เมนต์ ทำให้ค่าธรรมเนียมในปัจจุบันเหลือเพียงแค่ 0.55% เท่านั้น

อีกทั้งสมาคมธนาคารไทย ยังได้แก้ปัญหาในกรณีที่เครื่องรูดบัตรที่ร้านค้า หรือระบบเครือข่ายของธนาคารขัดข้อง ธนาคารจะคืนเงินให้ลูกค้าภายในวันที่ทำรายการ หรืออย่างช้าภายในวันทำการถัดไป

แต่ถ้าเป็นในกรณีที่ทางร้านค้ายกเลิกการขาย และคืนเงินแก่ลูกค้า โดยไม่ใช่กรณีขัดข้องของธนาคาร การคืนเงินเข้าบัญชีธนาคารที่ผูกกับบัตรเดบิตจะใช้เวลาไม่เกิน 45 วันทำการ เนื่องจากธนาคารต้องรอรับข้อมูลจากเครือข่ายบัตรนั้นๆ

ครั้งหนึ่ง แอดมินเพจ Thai Cashless Society เคยกล่าวกับผู้เขียนทำนองว่า “ถ้าต้องการสร้างสังคมไร้เงินสดอย่างแท้จริง รูดบัตรต้องไม่มีขั้นต่ำ” มานึกอีกที ปัญหารูดบัตรขั้นต่ำนี่แหละที่ทำให้ไม่มีใครกล้าใช้บัตรเดบิตจับจ่าย

ที่ผ่านมา ห้างค้าปลีกและซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่มักจะไม่กำหนดรูดบัตรเดบิตขั้นต่ำ อาทิ เทสโก้ โลตัส, บิ๊กซี, ท็อปส์, กูร์เมต์ มาร์เก็ต, แมกซ์แวลู ส่วนฟู้ดแลนด์ กำหนดยอดรูดบัตรขั้นต่ำ 200 บาทขึ้นไป

ร้านสะดวกซื้อ มีเพียง แฟมิลี่มาร์ท, ลอว์สัน 108 และ สพาร์ ในปั๊มบางจาก เท่านั้น ที่รูดบัตรเดบิตได้โดยไม่มีขั้นต่ำ ส่วนร้านจิฟฟี่ ในปั๊ม ปตท. และ ซีเจ เอ็กซ์เพรส กำหนดยอดรูดบัตรขั้นต่ำ 300 บาทขึ้นไป

ร้านอาหารและเครื่องดื่ม แมคโดนัลด์, เบอร์เกอร์ คิง, สตาร์บัคส์, อินทนิล, เอ็มเค เรสโตรองต์, เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, ซิซเลอร์, เท็กซัส ชิคเก้น, เชสเตอร์ (เฉพาะสาขาที่ร่วมรายการ) รูดบัตรเดบิตได้โดยไม่มีขั้นต่ำ

ร้านคาเฟ่ อะเมซอน แม้จะมีเครื่องรูดบัตรแต่ขึ้นอยู่กับสาขา ไม่ต่างอะไรกับกาแฟที่แต่ละสาขายังรสชาติไม่ซ้ำกัน, ร้านเคเอฟซี ร้านอาฟเตอร์ยู ไม่มีเครื่องรูดบัตร ส่วนร้านอาหารญี่ปุ่นฟูจิ ไม่รับบัตรเดบิต

ร้านเพื่อสุขภาพและความงาม บู๊ทส์ และ มัตสึโมโตะ คิโยชิ รูดบัตรเดบิตไม่มีขั้นต่ำ, ร้านวัตสัน และอีฟแอนด์บอย กำหนดยอดรูดบัตรขั้นต่ำ 300 บาทขึ้นไป ส่วนร้านเซโพลากำหนดยอดรูดขั้นต่ำ 500 บาทขึ้นไป (ข้อมูลจาก PANTIP.COM)

ร้านหนังสือและเครื่องเขียน บีทูเอส, ซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์, นายอินทร์ กำหนดยอดรูดขั้นต่ำ 300 บาทขึ้นไป ร้านออฟฟิศเมท จากเดิมกำหนดยอดรูดขั้นต่ำ 300 บาทขึ้นไป แต่ขณะนี้บางสาขาแจ้งว่าไม่มีขั้นต่ำแล้ว

ร้านขายของจิปาถะ ร้านไดโซะ กำหนดยอดรูดบัตรขั้นต่ำ 300 บาทขึ้นไป, ร้านโมชิ โมชิ และร้าน มิสเตอร์ ดี.ไอ.วาย. กำหนดยอดรูดบัตรขั้นต่ำ 500 บาทขึ้นไป และร้านมินิโซ กำหนดยอดรูดบัตรขั้นต่ำ 1,000 บาทขึ้นไป

ห้างค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและของแต่งบ้าน ห้างโฮมโปร กับ อินเด็กซ์ ลีฟวิ่ง มอลล์ รูดบัตรเดบิตได้โดยไม่มีขั้นต่ำ ส่วนห้างไทวัสดุ กำหนดยอดรูดบัตรขั้นต่ำ 500 บาทขึ้นไป (ข้อมูลจากเพจ Thai Cashless Society)

ระบบขนส่งมวลชน รถไฟฟ้าบีทีเอส (เฉพาะเติมเที่ยวเดินทาง) และรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที กำหนดยอดรูดบัตรขั้นต่ำ 300 บาทขึ้นไป ส่วนการรถไฟแห่งประเทศไทย เจอมากับตัวที่สถานีรถไฟสระบุรี ต้องรูดบัตรขั้นต่ำ 500 บาทขึ้นไป

ปั๊มน้ำมันแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เติมน้ำมันแค่ 200 บาท รูดบัตรเดบิตได้ แต่บางแห่งใช้เครื่องรูดบัตรแบบเก่าไม่รองรับบัตร PIN 6 หลัก ส่วนต่างจังหวัด ปั๊มน้ำมันบางแห่งกำหนดยอดรูดขั้นต่ำ 500 บาทขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม ยังมีห้างสรรพสินค้าและร้านค้าอีกหลายแห่งไม่ได้ประกาศออกมา แต่สามารถรูดบัตรเดบิตได้โดยไม่มีขั้นต่ำ เช่น ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน เคยซื้อของ 100 บาทก็รูดบัตรเดบิตได้

ประสบการณ์ส่วนตัวที่ใช้บัตรเดบิตชำระแทนเงินสดเป็นประจำพบว่า ปัญหาที่เจอมีอยู่สองอย่าง คือ เครื่องรูดบัตรบางธนาคารยังเป็นรุ่นเก่า ไม่รองรับบัตรเดบิตชิปการ์ดมาตรฐานกลาง ที่ต้องกด PIN 6 หลักทุกครั้ง พบได้ตามปั๊มน้ำมัน

อีกอย่างหนึ่ง คือ เวลาจะรูดซื้อของในมูลค่าที่สูงจะไม่สามารถรูดได้ ก่อนจะทราบว่าเพราะธนาคารผู้ออกบัตรมักจะกำหนดวงเงินรูดซื้อสินค้าประมาณ 2 หมื่นบาทต่อครั้ง ต้องโทร. ไปแจ้งขอเปลี่ยนวงเงินก่อนรูดถึงจะผ่าน

ธนาคารส่วนใหญ่กำหนดให้บัตรเดบิต รูดซื้อสินค้าและบริการได้สูงสุดไม่เกิน 2 แสนบาทต่อวัน หรือบางธนาคารวงเงินสูงสุด 5 แสนบาทต่อวันเท่านั้น ซึ่งเพียงพอแล้วสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

แคมเปญ “ลดใช้เงินสด ได้รับเงินคืน” ที่มีบรรดาร้านค้าและห้างค้าปลีกชั้นนำเข้าร่วมโครงการ ถือเป็นโอกาสดีที่ประชาชนผู้ถือบัตรเดบิตนับล้านคนจะร่วมกันผลักดันสร้าง “ประสบการณ์ไร้เงินสด” ให้แพร่หลายมากขึ้นในชีวิตประจำวัน

แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าบรรดาห้างร้านต่างๆ จะเปิดกว้างให้ใช้บัตรเดบิตได้มากน้อยขนาดไหน?

กำลังโหลดความคิดเห็น