xs
xsm
sm
md
lg

‘สมุดบัญชี’ ยกเลิกก็คงยาก ไม่ต่างจาก ‘สำเนาบัตรประชาชน’

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง


กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

ข่าวการเงินที่สร้างความฮือฮา รับวันทำงานแรกของปี 2562 คือ กรณีที่ผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ ออกมาเสนอแนวคิดยกเลิกให้ “สมุดบัญชีเงินฝาก”

เหตุผลก็คือ คนส่วนใหญ่ได้มาก็ไม่ได้ใช้ เมื่อจะใช้สมุดก็เสีย ต้องเข้าไปแก้ไขที่สาขา กระทบการให้บริการลูกค้าคนอื่นๆ ล่าช้า อีกทั้งมีต้นทุนสูงมากในแต่ละปี แต่ความจำเป็นน้อยลงเรื่อยๆ เพราะดูรายการธุรกรรมผ่านมือถือละเอียดอยู่แล้ว

ทำเอาชาวเน็ตแตกตื่นไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่าถ้าไม่มีสมุดบัญชีธนาคาร แล้วจะเอาอะไรเป็นหลักฐาน แล้วผู้สูงอายุที่เช็กยอดผ่านแอปฯ ไม่เป็น แต่อยากเห็นตัวเลขเงินในบัญชีจะทำยังไง และอีกสารพัดเหตุผล

กระทั่งธนาคารไทยพาณิชย์ ต้องรีบชี้แจงว่า ธนาคารฯ ไม่ได้มีนโยบายที่จะยกเลิกสมุดบัญชีเงินฝากแต่อย่างใด แต่กำลังพัฒนาทางเลือกเพิ่มเติมให้ลูกค้า กรณีที่ไม่สะดวกหรือลืมนำสมุดบัญชีเงินฝากมาที่สาขา

โดยจะใช้แอปพลิเคชัน SCB Easy ยืนยันตัวตนผ่าน Digital Passbook ในการทำธุรกรรมได้อีกทางหนึ่ง รวมถึงสามารถดูรายการของธุรกรรม และขอรายการเดินบัญชี (Statement) ผ่านทาง SCB Easy ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ยืนยันว่า ลูกค้ายังคงสามารถใช้สมุดบัญชีเงินฝากได้ตามปกติ และไม่มีนโยบายที่จะยกเลิกแต่อย่างใด

ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ระบุว่า แม้ธนาคารพาณิชย์บางแห่งเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากที่ไม่มีสมุดบัญชีเป็นทางเลือกให้แก่ลูกค้า แต่ถ้าจะขอยกเลิกสมุดบัญชีเงินฝากแก่ลูกค้าทุกประเภท ก็ควรหารือกับแบงก์ชาติก่อน

อันที่จริงแต่ละธนาคารออกผลิตภัณฑ์เงินฝากแบบไม่มีสมุดบัญชีมานานแล้ว โดยเน้นอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า แต่ไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากการใช้งานที่ยุ่งยาก อีกทั้งช่องทางธุรกรรมไม่ได้ใกล้ตัวเหมือนทุกวันนี้

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2545 ธนาคารกสิกรไทย เคยออกผลิตภัณฑ์บัญชีออมทรัพย์แบบไม่มีสมุดคู่ฝาก TFB e-Savings Account โดยสามารถดูรายการเดินบัญชีผ่านทางอินเตอร์เน็ตแบงกิ้ง หรือสั่งพิมพ์รายการเดินบัญชีแบบย่อจากเครื่องเอทีเอ็ม

หรือจะเป็นธนาคารทหารไทย สมัยสิบกว่าปีก่อน ก็เคยออกบัญชีออมทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ แบบไม่มีสมุดบัญชีแก่ลูกค้าองค์กร เช่น บัตรประจำตัวนักศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่มีนักศึกษาน้อยรายเท่านั้นที่ใช้บัญชีเหล่านี้

ผลจากการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) จากคอมพิวเตอร์ถึงบนมือถือ ทำให้แต่ละธนาคารต่างก็ออกผลิตภัณฑ์บัญชีเงินฝากแบบไม่มีสมุดบัญชีมากขึ้น โดยมีจุดเด่นที่ดอกเบี้ยสูงกว่าออมทรัพย์ธรรมดา

เฉกเช่น เมื่อปี 2553 ธนาคารทหารไทย ออกผลิตภัณฑ์ ME บัญชีเงินฝากดิจิทัล แยกจากช่องทางปกติของธนาคาร เน้นให้ลูกค้าฝากเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยตัวเองเพื่อให้ได้ดอกเบี้ยที่มากกว่า ปัจจุบันดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.7% ต่อปี

ต่อมาในปี 2554 ธนาคารกรุงไทยออกผลิตภัณฑ์ KTB Netbank สมัยนั้นแยกจากบริการ KTB Online ต่างหาก โดยมีบัญชีเงินฝากพิเศษ เช่น บัญชี Net Special Savings ดอกเบี้ยสูงกว่าออมทรัพย์ธรรมดา 0.50% ต่อปี

ไม่นับรวมธนาคารอื่นๆ เช่น ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ออกผลิตภัณฑ์บัญชี Beat Banking ผูกกับแอปฯ AIS mPAY, ธนาคารธนชาต ออกผลิตภัณฑ์บัญชี e-Savings ผูกกับแอปฯ Thanachart Connect เป็นต้น

ขณะที่ธนาคารกรุงเทพ ออกผลิตภัณฑ์บัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ ประเภทไม่มีสมุดคู่ฝาก พิมพ์รายการเคลื่อนไหวทางบัญชีฉบับย่อได้ฟรีที่เครื่องเอทีเอ็ม และธนาคารจะส่งรายการเคลื่อนไหวทางบัญชีฉบับเต็มทางไปรษณีย์ทุก 3 เดือน

ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ผ่านมาได้ออกผลิตภัณฑ์บัญชีแบบไม่มีสมุดคู่ฝาก SCB E-Passbook ทั้งออมทรัพย์และฝากประจำไปเมื่อปี 2559 โดยสาขาจะเก็บข้อมูลและลายเซ็นไว้ในระบบธนาคาร แล้วใช้บัตรประชาชนทำธุรกรรมฝาก-ถอน

โดยลูกค้าจะต้องมีอีเมลแอดเดรส (E-mail Address) หลังเปิดบัญชีจะมีใบแทนสมุดบัญชีส่งไปให้ทางอีเมล เมื่อมีรายการฝาก ถอน ระบบจะส่งอีเมลแจ้งเตือนทุกครั้ง และส่งรายการเดินบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ (E-Statement) ทางอีเมลทุกเดือน

อย่างไรก็ตาม รายการเดินบัญชีที่ส่งให้ทางอีเมล ไม่สามารถใช้ทำธุรกรรมบางอย่างได้ เพราะไม่มีการรับรองโดยธนาคาร ถ้าต้องการรายการเดินบัญชีที่มีการรับรองโดยธนาคารจะต้องไปที่สาขา เสียค่าธรรมเนียมเริ่มต้นที่ 200 บาทต่อฉบับ

แต่ล่าสุด ไปเปิดบัญชีเงินฝากประจำ พนักงานจะให้เซ็นชื่อลงในบัตรตัวอย่างลายมือชื่อ เป็นบัตรกระดาษแข็ง 2 ใบ เพื่อนำไปบันทึกในระบบ โดยสมุดบัญชีที่ได้จะไม่มีรอยลายมือชื่อตรงด้านหลังอีกต่อไป แต่สามารถปรับสมุดบัญชีได้ตามปกติ

เมื่อต้องการปิดบัญชี สามารถทำรายการโดยสาขาไหนก็ได้ ใช้บัตรประชาชนตัวจริงเป็นหลักฐาน เจ้าหน้าที่จะดูข้อมูลและลายเซ็นไว้ในระบบธนาคาร ก่อนทำรายการปิดบัญชีได้ทันที

ปัจจุบัน ลูกค้าทั่วไปธนาคารไทยพาณิชย์ที่มีสมุดบัญชี สามารถปิดบัญชีต่างสาขาได้ แต่จะติดขัดตรงที่ถ้าไม่มีข้อมูลและลายเซ็นในระบบ จะต้องส่งลายเซ็นไปให้สาขาที่เปิดบัญชีรับรองทางโทรสาร แล้วถึงจะปิดบัญชีให้

ระยะเวลาขึ้นอยู่กับทางสาขาที่เปิดบัญชี จะยืนยันลายเซ็นได้เมื่อไหร่ ใช้เวลาประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง อีกทั้งหากสาขาที่เปิดบัญชีเปิดเฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-15.30 น. จะไม่สามารถปิดบัญชีต่างสาขานอกเวลาทำการได้

การยกเลิกสมุดบัญชี ข้อดีก็คือ ลูกค้าเกิดความรู้สึกไม่ยุ่งยาก เพราะปัจจุบันแทบจะไม่ค่อยได้ใช้สมุดบัญชี อาศัยการเช็กยอดผ่านแอปฯ ของธนาคาร รวมทั้งรายการเดินบัญชียังขอได้ผ่านแอปฯ แล้วรอรับได้ทางอีเมล

ขณะที่ลูกค้าบางคนใช้บัญชีธนาคารในชีวิตประจำวันบ่อยครั้ง มากบ้างน้อยบ้าง หากพิมพ์ออกมาสมุดบัญชีจะเต็มเร็ว ต้องเสียเวลาเปลี่ยนเล่มใหม่อีก เว้นเสียแต่ว่าไม่ได้พิมพ์สมุดบัญชีหลายเดือน จะสรุปยอดฝาก-ถอนเพียงเป็นบรรทัดเดียว

จะใช้สมุดบัญชีก็ต่อเมื่อทำธุรกรรมบางอย่าง เช่น บัตรเอทีเอ็มถูกกลืนหรือถูกขโมย แล้วต้องการทำบัตรใหม่ แต่สมุดบัญชีหาย ต้องไปแจ้งความที่โรงพัก แล้วนำใบแจ้งความไปสาขาที่เปิดบัญชีเพื่อทำบัตรเอทีเอ็ม และออกสมุดบัญชีเล่มใหม่

แม้คนทุกเพศทุกวัยจะเข้าถึงเทคโนโลยี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะ “ไว้วางใจ” เทคโนโลยีเหมือนกันหมด หากยกเลิกสมุดบัญชี ก็เกิดคำถามตามมาว่า แล้วจะมีอะไรยืนยันได้ว่าเราเป็นเจ้าของบัญชีตัวจริง?

ไม่นับรวมภัยคุกคามที่ไม่ได้มีเพียงแค่ช่องโหว่จากตัวเทคโนโลยี แต่ยังเกิดจากคน โดยเฉพาะพนักงานธนาคารและลูกค้า ที่รู้ไม่เท่าทันมิจฉาชีพ

ไม่นับรวมประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ ลูกค้าคนมีอายุอีกจำนวนหนึ่งยังคงสะดวกใจที่จะใช้ช่องทางสาขาฝาก-ถอน อย่างน้อยหากมีปัญหายังสามารถทักท้วงพนักงานโดยตรงได้ทันที มากกว่าต้องรอสายผ่านคอลเซ็นเตอร์

นอกจากนี้ ธุรกรรมบางอย่างที่เกิดขึ้นนานๆ ครั้ง ยังคงต้องใช้หลักฐานจากสมุดบัญชีอยู่ดี ตัวอย่างเช่น เวลาเข้าทำงานใหม่ๆ จะต้องส่งสำเนาหน้าแรกของสมุดบัญชีให้ฝ่ายบุคคล เพื่อใช้รับเงินเดือนผ่านระบบบัญชีเงินเดือน (Payroll)

เวลาสมัครผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น เปิดบัญชีหุ้น กองทุน สินเชื่อเงินสด ฯลฯ บางบริษัทจะต้องใช้สำเนาหน้าแรกของสมุดบัญชี หรือการรับเงินช่วยเหลือของทางราชการ เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ก็ต้องใช้สำเนาหน้าแรกของสมุดบัญชีอีกด้วย

การยกเลิกสมุดบัญชี จึงเป็นปัญหาที่ไม่ต่างอะไรกับการยกเลิกสำเนาบัตรประชาชน ต่อให้มีนโยบายยกเลิกสำเนา แต่บางแห่งทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ยังคงขอหลักฐานสำเนาแบบนั้นอยู่ดี

ถ้าแต่ละธนาคารคิดจะยกเลิกสมุดบัญชีเงินฝากของลูกค้าทั้งหมด แบงก์ชาติและธนาคารต่างๆ ควรที่จะร่วมกันหาทางออกโดยไม่กลายเป็นการผลักภาระแก่ลูกค้าเสียเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น