นโยบายงดรับของขวัญ (No Gift Policy) เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากการผลักดันขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) นำไปสู่หน่วยงานราชการ ที่ประกาศนโยบายเป็นเรื่องเป็นราวในช่วงเทศกาลปีใหม่
เหตุผลก็คือ เพื่อป้องกัน “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ที่เกิดจากการรับของขวัญ เช่น การใช้เส้นสายเอาใจด้วยของขวัญราคาแพง เพื่อหวังผลประโยชน์ตอบแทน หรือส่งเสริมให้ได้ลาภยศ ได้ตำแหน่ง หรือได้รับการช่วยเหลือเกื้อกูลในวันข้างหน้า
นโนยายนี้ แต่ละหน่วยงานหรือองค์กร จะประกาศกันเป็นเรื่องเป็นราวว่า ไม่ต้องเดินทางมาอวยพร และให้งดกระเช้าของขวัญ ของที่ระลึก หรือสิ่งของต่างๆ แก่ผู้บริหารและพนักงาน แต่ถ้ามีของขวัญตกค้างก่อนหน้าจะนำไปบริจาคเพื่อการกุศล
บางองค์กรอาจจะเปลี่ยนจากการรับของขวัญ เป็นการร่วมกันเชิญชวนบริจาคเพื่อสาธารณกุศล เช่น บริจาคก่อสร้างหรือจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ให้แก่โรงพยาบาล บริจาควัด บริจาคให้กับมูลนิธิต่างๆ
เหลือเพียงแค่อาจจะใช้วิธีรับการ์ดอวยพร หรือส่งคำอวยพรผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ
ข้อดีของนโยบายงดรับของขวัญก็คือ ผู้ให้ไม่ต้องเปลืองค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อของขวัญ ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปหา ไม่ต้องรอคอยให้ผู้บริหารว่างก่อนที่จะลงมารับของขวัญ หรือส่งตัวแทนลงมารับของขวัญ
ที่สำคัญ ผู้รับไม่ต้องเกิดความรู้สึก “ติดหนี้บุญคุณ” ที่เกิดจากการรับของขวัญจากผู้ให้ ที่ไม่รู้ว่าให้เพราะตั้งใจอยากจะให้ ให้เพราะความสิเหน่หา หรือให้โดยหวังผลประโยชน์ตอบแทนในวันข้างหน้า
ถ้าเป็นระดับผู้ใต้บังคับบัญชาหรือลูกน้อง กับเจ้านายหรือหัวหน้างาน การให้ของขวัญแก่เจ้านาย เป็นการเสนอหน้าทำให้เจ้านายเป็นที่รักใคร่ชอบพอ ส่งผลต่อการประเมินความดีความชอบ
กลายเป็นว่า คนที่ไม่ได้ให้ของขวัญ เป็นคนที่เจ้านายหรือหัวหน้างานมองว่าไม่เห็นความสำคัญ แถมยังกระทบไปถึงการประเมินความดีความชอบ ทั้งๆ ที่การประเมินควรดูที่ผลงานเป็นหลัก มากกว่าการเอาอกเอาใจอยู่ในสายตา
หรือถ้าเป็นระหว่างบริษัท กับหน่วยงานภายนอกหรือตัวแทน เช่น ฝ่ายขาย (เซล) มอบของขวัญให้แก่ตัวแทนบริษัท เช่น ฝ่ายจัดซื้อ เพื่อเป็นใบเบิกทางให้ขายสินค้าแก่บริษัทนั้นๆ ได้ ซึ่งส่วนมากมักจะซื้อกันเป็นล็อตๆ อยู่แล้ว
ซ้ำร้าย ถ้าบริษัทนั้นมีสายสัมพันธ์กับผู้บริหารอีกบริษัทหนึ่ง อาจจะถึงขนาดตอบแทนด้วยการให้ใต้โต๊ะ (เงินหรือสิ่งของราคาแพง) ถึงมือผู้บริหารบริษัทที่สั่งซื้อสินค้าล็อตใหญ่ๆ
ปิดทางให้บริษัทรายนั้นผูกขาดกับสินค้า ไม่เปิดโอกาสให้เกิดการแข่งขันเปรียบเทียบกับบริษัทอื่น เป็นบ่อเกิดของปัญหาทุจริตคอรัปชัน ที่ไม่ได้เพียงแค่เกิดขึ้นกับหน่วยงานราชการตามที่สังคมเข้าใจ แต่ยังลุกลามขยายผลไปถึงทุกองค์กร
ที่ผ่านมา บางหน่วยงานหรือองค์กรมีนโยบายการรับ-ให้ของขวัญ ประกาศแนวทางปฏิบัติกันเลยทีเดียว
ยกตัวอย่าง บริษัทแห่งหนึ่ง กำหนดให้ของขวัญหรือของที่ระลึก ตามประเพณีนิยม สามารถทำได้โดยต้องไม่ขัดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และจารีตประเพณีท้องถิ่น เช่น สำหรับประเทศไทย ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคนต่อโอกาส ตามประกาศ ป.ป.ช.
บางบริษัทแนะให้ของขวัญในรูปแบบที่ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของบริษัทฯ เช่น ปฏิทิน ไดอารี สินค้าของกลุ่มบริษัท (Company Product) สินค้าที่ใช้เป็นสื่อประชาสัมพันธ์ของกลุ่มบริษัท (Corporate Logo / Corporate Band)
หรือสินค้าโครงการหลวง โครงการในพระราชดำริ สินค้าชุมชนในพื้นที่ปฏิบัติการของบริษัท (เช่น โรงงานตั้งอยู่ไหน ก็อุดหนุนสินค้าในย่านชุมชนนั้น) สินค้าเพื่อการกุศลหรือสาธารณประโยชน์ หรือสินค้าที่สนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน
การให้ของขวัญ ของที่ระลึก ควรดำเนินการให้เป็นมาตรฐานเดียวกันเพื่อไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติ และไม่ให้แก่คู่สมรส บุตร หรือผู้เกี่ยวข้องของเจ้าหน้าที่รัฐ ลูกค้า คู่ค้า และบุคคลที่ติดต่อด้วย เนื่องจากโดยพฤติการณ์ถือว่าเป็นการรับแทน
การให้ของที่ระลึกเนื่องในโอกาสสำคัญทางธุรกิจ อาทิ วันสถาปนาการจัดตั้ง การลงนามสัญญาทางธุรกิจ สามารถกระทำได้ แต่หากมูลค่าของที่ระลึกเกินกว่า 3,000 บาท ต้องได้รับการพิจารณาอนุมัติจากผู้บริหารสูงสุดของแต่ละบริษัท หรือตามระเบียบของบริษัทฯ กำหนด
ส่วนการรับของขวัญ บุคลากรของบริษัทฯ งดรับของขวัญ ของที่ระลึก หรือประโยชน์อื่นใดในทุกกรณี และมีหน้าที่แจ้งให้บุคคลภายนอกทราบถึงนโยบายงดรับของขวัญดังกล่าวอย่างทั่วถึง
กรณีที่มีความจำเป็นต้องรับของขวัญ ของที่ระลึก หรือประโยชน์อื่นใด และไม่สามารถส่งคืนได้ ให้บริษัทฯ แต่งตั้งหน่วยงานผู้รับผิดชอบ เพื่อดำเนินการรวบรวมสิ่งของดังกล่าว และดำเนินการบริจาคให้บุคคลหรือหน่วยงานภายนอก เพื่อการกุศลหรือสาธารณประโยชน์ หรือดำเนินการตามระเบียบของบริษัทฯ ต่อไป
เว้นแต่ ถ้าเป็นของบริโภคซึ่งมีวันหมดอายุน้อยกว่า 1 เดือน ให้เป็นดุลยพินิจของผู้บังคับบัญชาส่วนงานที่ได้รับของขวัญในการบริหารจัดการ (เช่น ถ้าเป็นอาหาร ขนมหวาน หรือผลไม้ อาจจะให้ลูกน้องแบ่งกันรับประทานในวันนั้นเลย)
กรณีปฏิทิน ไดอารี ที่ใช้เป็นสื่อประชาสัมพันธ์ของบริษัท พนักงานสามารถรับเป็นของขวัญส่วนตัวได้
กรณีเป็นการรับของขวัญ ของที่ระลึก ในนามองค์กรต่อองค์กร เช่น การลงนามสัญญาทางธุรกิจ สามารถกระทำได้ ทั้งนี้ ของขวัญ ของที่ระลึกดังกล่าว จะต้องเป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ
สำหรับองค์กรสื่อ บางค่ายออกข้อกำหนดว่า ผู้สื่อข่าวไม่ควรรับของขวัญที่มีมูลค่าสูง สินค้าตัวอย่าง เรียกร้องการยกเว้นค่าที่พัก บริการ ขอลดราคา หรือขอซื้อสินค้าราคาพิเศษ รวมถึงสิทธิพิเศษอื่นใดที่ประชาชนทั่วไปไม่ได้รับ
หากเป็นของชำร่วยที่แจกตามงานแถลงข่าวที่มูลค่าไม่สูง (ของพรีเมียม) เช่น พวงกุญแจ ที่ใส่ดินสอ ปฏิทิน และอื่นๆ อาจจะรับไว้ได้ ที่สำคัญคือต้องใช้วิจารณญาณและสามัญสำนึกของการเป็นสื่อมวลชนที่ต้องทำหน้าที่เพื่อสังคม มากกว่าเพื่อประโยชน์ส่วนตน (ส่วนมากจะมีมูลค่าไม่เกิน 3,000 บาท)
แม้นโยบายงดรับของขวัญจะเป็นค่านิยมใหม่แก่หน่วยงานหรือองค์กร แต่อีกด้านหนึ่งกลายเป็นว่าส่งผลกระทบไปถึงผู้ประกอบการบางกลุ่ม ที่เคยได้รับอานิสงส์ในช่วงเทศกาลปีใหม่เกิดประสบปัญหาขึ้นมา
ข้อมูลจาก สมาคมของขวัญของชำร่วยไทย และของตกแต่งบ้าน ระบุว่า ปีที่แล้ว (2560) ผลกระทบจากนโยบายงดรับของขวัญ ทำให้ตลาดของขวัญเพื่อส่งเสริมการขายที่จำหน่ายภายในห้างสรรพสินค้า ติดลบไป 20%
สาเหตุเป็นเพราะนโยบายงดรับของขวัญของรัฐบาลและหน่วยงานราชการ สั่งให้ข้าราชการทุกระดับงดการให้และรับของขวัญ ทำให้เกิดการสั่งซื้อที่ต่ำกว่าคาดการณ์
ในปีนี้คาดว่าภาพรวมตลาดของขวัญของชำร่วยและของแต่งบ้าน ในช่วงเทศกาลปีใหม่ยังคงทรงตัว มูลค่า 8,000 ล้านบาท ส่วนกลุ่มของขวัญตามเทศกาลและฤดูกาลหรือกระเช้าปีใหม่ มูลค่า 2,000 ล้านบาท คาดว่าจะเติบโตได้ 10%
สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือการหยิบยกเรื่องการส่งมอบกระเช้าของขวัญปีใหม่ มาเป็นประเด็นทางการเมือง หากปีนี้มีกฎเกณฑ์ห้ามส่งมอบของขวัญเกิดขึ้นอีก จะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการและตลาดทรุดลงแน่
แม้นโยบายงดรับของขวัญอาจจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจบางกลุ่ม แต่สำหรับหน่วยงานหรือองค์กรที่ประกาศออกมา อาจเป็นการสร้างค่านิยมใหม่ เพื่อลบล้างความเชื่อเรื่องใต้โต๊ะในอดีต
แต่ละหน่วยงานหรือองค์กร จะได้มุ่งมั่นปฏิบัติงาน หรือทำธุรกิจด้วยความเท่าเทียม มืออาชีพ ไม่เลือกปฏิบัติ ตามหลักจริยธรรมและธรรมาภิบาล นำมาซึ่งความสำเร็จอย่างยั่งยืน
‘บัตรของขวัญ’ ทางเลือกสำหรับคนที่คิดอะไรไม่ออก
ในช่วงเทศกาลปีใหม่ แต่ละคนเลือกที่จะส่งความสุขในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการซื้อของขวัญให้แก่กัน แต่ของขวัญบางอย่างเป็นสิ่งที่ผู้รับไม่ต้องการหรือไม่ได้ใช้ กลายเป็นของเหลือใช้โดยเปล่าประโยชน์จำนวนมาก
“บัตรของขวัญ” จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการส่งมอบความสุขแก่ผู้รับ ให้สามารถนำไปซื้อสินค้าหรือบริการที่ต้องการตามที่ร้านค้าหรือสถานประกอบการกำหนดไว้ ตามมูลค่าที่มีอยู่ในบัตร บัตรของขวัญที่ได้รับความนิยมมีดังนี้
บัตรของขวัญห้างสรรพสินค้า ราคาเริ่มต้นที่ 100-200 บาท ซื้อได้ที่จุดบริการลูกค้าของห้างสรรพสินค้าแต่ละแห่ง มีทั้งในรูปแบบบัตรกระดาษ (Gift Voucher) หรือบัตรแข็ง (Gift Card) บางห้างฯ สามารถเติมเงินลงในบัตรได้ด้วย
หากเป็นห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล จะมีบัตรให้เลือก 2 ประเภท คือ 1. บัตรของขวัญเซ็นทรัล ใช้ได้ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เซน และมาร์คแอนด์สเปนเซอร์เท่านั้น (ยกเว้นร้านค้าเช่าพื้นที่)
2. บัตรของขวัญเซ็นเพย์ (CenPay) ใช้ได้ที่ ร้านค้าในเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป เช่น เซ็นทรัล โรบินสัน ไทวัสดุ บ้านแอนด์บียอน ท็อปส์ ซูเปอร์คุ้ม เพาเวอร์บาย ซูเปอร์สปอร์ต บีทูเอส ฯลฯ
และเนื่องจากห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลมีสาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล, เชียงใหม่, ภูเก็ต, พัทยา, หาดใหญ่, สมุย และ นครราชสีมา เพราะฉะนั้นถ้าจะซื้อไปให้คนที่อยู่ต่างจังหวัด ควรเลือกบัตรของขวัญเซ็นเพย์จะมีร้านค้าให้ใช้ได้มากกว่า
บัตรกำนัลร้านค้า ร้านอาหาร ขึ้นอยู่กับจะเปิดขายแก่บุคคลทั่วไปหรือไม่ เพราะบางร้านค้าขายที่หน้าร้านนั้นเลย บางร้านค้าขายเฉพาะลูกค้าองค์กร ต้องไปติดต่อสำนักงานใหญ่และต้องสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก
บัตรของขวัญร้านกาแฟ ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด จะเป็นบัตรสตาร์บัคส์ การ์ด ในรูปแบบบัตรแข็ง เติมเงินขั้นต่ำ 100 บาทขึ้นไป หาซื้อได้ที่ร้านสตาร์บัคส์ทุกสาขาในประเทศไทย ยกเว้นสาขาที่อยู่ในสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง
บัตรของขวัญธนาคาร มีธนาคารกรุงไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยาให้บริการ ใช้ชำระค่าสินค้าแทนเงินสดกับร้านค้าที่รับบัตร ไม่สามารถใช้เบิกถอนเงินสดได้ สามารถใช้บัตรได้จนกว่ามูลค่าเงินในบัตรจะหมดหรือบัตรหมดอายุ
อย่างไรก็ตาม ทุกธนาคารจะมี "เช็คของขวัญ" ให้บริการ สำหรับมอบให้ในทุกโอกาส สามารถระบุชื่อถึงผู้รับโดยตรง ไม่กำหนดวงเงินหน้าเช็ค โดยคิดค่าธรรมเนียม 20 บาทต่อใบ
บัตรเติมน้ำมัน เหมาะสำหรับลูกค้าบริษัทหรือองค์กรที่ต้องการส่งเสริมการขาย ใช้แทนเงินสดในการเติมน้ำมัน ณ สถานีบริการน้ำมัน โดยแต่ละแห่งมีเงื่อนไขสั่งซื้อต่างกัน อาทิ
บัตร PTT GIFT CARD ของ ปตท. และธนาคารทหารไทย สั่งซื้อขั้นต่ำ 10,000 บาทต่อครั้ง เงินในบัตรขั้นต่ำ 500 บาท สูงสุดไม่เกิน 40,000 บาทต่อบัตร (เงินในบัตรต่ำกว่า 2,000 บาท เสียค่าสมัครใบละ 15 บาทไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
บัตรบางจากแคชการ์ด มีให้เลือกระหว่างธนาคารทหารไทย และธนาคารกสิกรไทย สั่งซื้อขั้นต่ำ 10,000 บาทต่อครั้ง เงินในบัตรขั้นต่ำ 500 บาท (เงินในบัตรต่ำกว่า 2,000 บาท เสียค่าธรรมเนียมใบละ 15 บาท)
บัตรเงินสดเชลล์ ธนาคารกรุงเทพ ไม่มีกำหนดยอดสั่งซื้อบัตรขั้นต่ำ 1 ใบก็ซื้อได้ เริ่มต้นที่ 500 บาทต่อครั้ง (เงินในบัตรต่ำกว่า 1,000 บาท เสียค่าธรรมเนียมบัตรใหม่ 30 บาท)
อย่างไรก็ตาม การเลือกซื้อบัตรของขวัญให้แก่ผู้รับ ควรที่จะคำนึงถึงทำเล ไลฟ์สไตล์ของผู้รับ เช่น ผู้รับบางคนไม่มีรถขับ ไม่ควรให้บัตรเติมน้ำมัน, ผู้รับบางคนอยู่ต่างจังหวัด ไม่ควรให้บัตรของขวัญที่ไม่มีสาขาให้ใช้บริการ เป็นต้น
สิ่งสำคัญก็คือ เงื่อนไข ข้อกำหนด และวันหมดอายุของบัตร ส่วนใหญ่บัตรของขวัญจะมีอายุ 1-2 ปี ควรกำชับแก่ผู้รับ เพื่อไม่ให้ผู้รับต้องเสียสิทธิในการใช้บริการนั่นเอง